วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การบอกกล่าวล่วงหน้า....ต้องบอกกล่าวอย่างไรให้ถูกต้อง ?

            ผมได้เคยเขียนบทความในเรื่องที่ว่าหัวหน้างานควรจะทำอย่างไรเมื่อพนักงานไม่ผ่านทดลองงานซึ่งได้พูดถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าเอาไว้แล้ว แต่อาจจะยังทำให้บางท่านเกิดข้อสงสัยในเรื่องของการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจะบอกกล่าวอย่างไรให้ถูกต้อง ผมจึงนำมาอธิบายในฉบับนี้อีกครั้งหนึ่งให้กระจ่างเลยนะครับ

การบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อมีการเลิกจ้าง

            เมื่อมีการเลิกจ้างอันเนื่องจากสัญญาจ้างไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ (กรณีที่สัญญาจ้างระบุระยะเวลาไว้ชัดเจนก็ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้านะครับ เพราะถือว่าการจ้างนั้นจะสิ้นสุดไปโดยสัญญาตามกำหนด) เช่น บริษัททำสัญญาจ้างพนักงานเข้าทำงานตามปกติโดยกำหนดวันเริ่มต้นทำงาน, กำหนดระยะเวลาทดลองงาน, ค่าตอบแทน ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้น และวันสิ้นสุดของสัญญาจ้างนั้น หากบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานนอกเหนือจากความผิดตามมาตรา 119 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ซึ่งท่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือ FQ คราวที่แล้วในเรื่อง การเลิกจ้างจะทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง ?) จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า หากบริษัทไม่แจ้งบอกกล่าวล่วงหน้าก็จะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (ซึ่งบางคนจะเรียกว่า ค่าตกใจ)

การบอกกล่าวล่วงหน้าจะต้องมีระยะเวลาอย่างไร ?

            คราวนี้เรามาว่ากันถึงระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไรจึงจะถูกต้อง ซึ่งผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายดังนี้คือ

1.      กรณีจ่ายเงินเดือน ๆ ละครั้งทุกวันที่ 25 ของเดือน



ผมขอวาดผังให้ดูดังนี้ครับ

                    25 เมย.                                          25 พค.

 ................วันบอกเลิก.................................วันที่มีผล....................>


จากผังข้างต้นท่านจะต้องแจ้งพนักงานให้ทราบว่าท่านจะเลิกจ้างเขาภายในวันที่ 25 เมษายน หรือก่อนหน้าวันที่ 25 เมษายน เพื่อให้การเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เป็นต้นไป
แต่หากท่านแจ้งเขาว่าบริษัทจะเลิกจ้างเขาในวันที่ 26 เมษายน จะทำให้การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 25 มิถุนายน นั่นคือท่านจะต้องให้เขาทำงานไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน หรือประมาณ 2 เดือนเลยทีเดียวครับ

            เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ ?

ก็เพราะว่าตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าจะยาวนานแค่ไหนก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายค่าจ้างแต่ละครั้งของนายจ้าง (หรือของบริษัท) นั่นเอง แต่หากระยะเวลาการจ่ายค่าจ้างยาวเกินกว่า 3 เดือนก็บอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 3 เดือนเท่านั้นครับ

            ดังนั้นจากตัวอย่างการจ่ายเงินเดือนข้างต้น จะเห็นได้ว่าหากบริษัทบอกเลิกจ้างหลังจากกำหนดการจ่ายเงินเดือน (วันที่ 25 เมษายน) ไปเพียงวันเดียว (คือไปแจ้งเอาวันที่ 26 เมษายน) ก็จะมีผลให้พนักงานนั้นต้องถูกเลิกจ้างในวันที่ 25 มิถุนายน ไปตามกฎหมายที่กำหนดไว้ครับ

            คราวนี้ถ้าหากบริษัทไม่อยากจะให้พนักงานอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน ล่ะจะทำยังไง ?

            คำตอบก็คือบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า (ซึ่งตามกฎหมายเขาจะเรียกว่า สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือมักจะเรียกกันเล่น ๆ แบบไม่เป็นทางการว่า ค่าตกใจ ครับ) ให้กับพนักงานรายนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงวันที่ 25 มิถุนายน

            เมื่อท่านจ่ายให้อย่างนี้แล้วท่านก็แจ้งพนักงานในวันที่ 26 เมษายน แล้วบอกพนักงานว่าพรุ่งนี้ (วันที่ 27 เมษายน) ไม่ต้องมาทำงานแล้วนะเพราะบริษัทเลิกจ้างคุณแล้ว พร้อมทั้งจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้ไปตามที่ผมบอกไปแล้วก็ถือว่าท่านได้ทำตามกฎหมายแรงงานแล้วครับ

2.      กรณีจ่ายเงินเดือน ๆ ละ 2 ครั้ง ทุกวันที่ 15 ของเดือนและวันสิ้นเดือน

หากท่านเข้าใจการบอกกล่าวล่วงหน้าตามข้อ 1 แล้ว ในกรณีการจ่ายเงินเดือน ๆ ละ 2 ครั้งทุกวันที่ 15 ของเดือนและวันสิ้นเดือนก็ถือปฏิบัติแบบเดียวกันครับ แต่รอบการบอกกล่าวล่วงหน้าก็จะสั้นลงกว่าการจ่ายแบบเดือนละครับ เช่น


                              15 เมย.                       30 เมย.                 15 พค.      
                    .......วันบอกเลิก..................วันที่มีผล.......................................>


            จากกรณีข้างต้น ท่านก็จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในวันที่ 15 เมษายน หรือก่อนหน้าวันที่ 15 เมษายน เพื่อให้การเลิกจ้างมีผลในวันที่ 30 เมษายน หากท่านแจ้งเลิกจ้างในวันที่ 16 เมษายน ก็จะมีผลให้การเลิกจ้างเกิดขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคมไงล่ะครับ                       

            แต่ทั้งสองกรณีข้างต้นนั้นยังไม่รวม ค่าชดเชย ตามอายุงานถ้าบริษัทเลิกจ้างพนักงานโดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 119 ตามสาเหตุดังต่อไปนี้

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(1)  ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2)  จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3)  ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4)  ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5)  ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6)  ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ในกรณีที่ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุ

ให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

            ดังนั้น หากพนักงานไม่ได้ทำความผิดเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งในหกข้อข้างต้น บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานอีกด้วยนะครับ

          คราวนี้หวังว่าท่านคงจะเข้าใจในเรื่องรอบของการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ถูกต้องแล้วนะครับ


........................................