วันจันทร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา...รู้เรา....ด้วย D I S C (ตอนที่ 5) - ตอนจบ


            ในตอนนี้ผมจะมาอธิบายในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับคนแต่ละสไตล์ว่าเราจะสามารถสื่อสารกันยังไง อะไรเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังในการติดต่อสื่อสารกับคนแต่ละสไตล์เพื่อให้ท่านได้ข้อคิดในการทำงานหรือใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างทั้งที่ทำงานและที่บ้านได้อย่างราบรื่นขึ้นดังนี้ครับ


วิธีในการติดต่อกับคนแต่ละสไตล์
            เมื่อท่านได้ทราบถึงสิ่งที่คนในแต่ละสไตล์ชอบ หรือไม่ชอบมาแล้ว (หากจำไม่ได้ต้องไปย้อนอ่านในตอนที่แล้ว) ผมจึงขอพูดต่อถึงวิธีการติดต่อคนในแต่ละสไตล์โดยสรุปดังนี้ครับ

            หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ D : ท่านควรพูดเข้าประเด็นตรง ๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมชักแม่น้ำทั้ง 5 สายมาให้คนสไตล์ D รำคาญ เพราะเขาไม่ชอบประเภทน้ำท่วมทุ่ง ขอเนื้อ ๆ น้ำไม่ต้อง เพราะคนสไตล์ D ชอบพูดหรือทำอะไรที่ชัดเจนตรงไปตรงมาโดยเฉพาะเรื่องที่เป็นเรื่องของงาน ซึ่งท่านสามารถพูดเข้าเป้าหมายและได้ผลลัพธ์เลยทันที

            อ้อ ! หากหัวหน้าของท่านเป็นคนสไตล์ D ท่านก็อย่าลืมวิธีการตอบคำถามด้วยความรวดเร็ว ชัดเจน ว่องไว ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วด้วยนะครับ มัวแต่อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ คิดช้า ๆ ล่ะก็โดยไล่ออกมาจากห้องหัวหน้าไม่รู้ด้วยนะครับ

            หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ I : ท่านควรจะต้องมีการพูดนำหว่านล้อมชักแม่น้ำทั้งห้าเสียก่อน ไม่ควรนำเรื่องเครียด ๆ เขาไปคุยเสียตั้งแต่เริ่มต้นพูดง่าย ๆ ว่าควรจะมีอินโทรเสียก่อน โดยอาจจะคุยในเรื่องส่วนตัว เรื่องทั่ว ๆ ไป ลม ฟ้า อากาศหรือมีการเกริ่นนำที่มาที่ไปของเรื่องราวต่าง ๆ ปูพื้นเสียก่อน แล้วจึงมุ่งเข้าหาประเด็นที่ต้องการ เพื่อทำให้คนสไตล์ I มีการปรับอารมณ์ในเบื้องต้นเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความสนุกสนาน รื่นเริง สังคม การสมาคมล่ะก็เขาจะชอบเป็นพิเศษ แล้วเรื่องงานค่อย ๆ แทรกเข้าไปทีหลังแบบเนียน ๆ เพราะคนสไตล์ I เขาเน้นมนุษยสัมพันธ์เป็นหลักครับ

            หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ S : เนื่องจากคนสไตล์นี้ไม่ชอบถูกกดดันเพราะเขาเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตที่อยู่ในกรอบ ในหลักเกณฑ์แบบเรียบ ๆ ไม่หวือหวา ค่อนเป็นค่อยไป ไม่ชอบอะไรที่เร่งรีบ เพราะเขามองว่าความเร่งรีบอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลังได้ ดังนั้นจึงต้องคุยแบบเรื่อย ๆ แล้วให้เขาได้มีเวลาคิดเป็นลำดับ ๆ ไปก่อน อย่าเพิ่งไปรีบกดดันว่าจะต้องรีบตัดสินใจ หรือต้องรีบเซ็นชื่อในงานด่วนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวไม่ทัน ฯลฯ เหล่านี้จะทำให้เขาอึดอัด ท่านควรนัดหมายเขาไว้ล่วงหน้า ทำตามขั้นตอนและกฎระเบียบเป็นหลัก ถ้าทำได้อย่างนี้คนพวก S เขาจะแฮปปี้กับท่านมากเลยแหละครับ

            หากท่านต้องติดต่อกับคนสไตล์ C : คนสไตล์นี้จะคล้าย ๆ กับคนสไตล์ D ตรงที่หากท่านจะพูดกับเขาก็จะต้องเข้าประเด็นที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะในเรื่องงานเป็นหลักเลยว่าต้องการอะไร ผลสำเร็จเป็นอย่างไร แต่อย่าลืมเพิ่มเติมเรื่องของข้อมูลรายละเอียดเยอะๆ หน่อย (เพราะคนพวก C จะมีความละเอียดมากกว่าพวก D ) ตลอดจนวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียอย่างละเอียดให้เขาด้วย เป็นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนสไตล์ C แล้วปล่อยให้เขาได้ตัดสินใจจากข้อมูลหลักฐานที่มี ส่วนคำพูดที่ว่า ผมคิดว่า.... หรือ ดิฉันคิดว่า..... นั้นคนสไตล์ C จะไม่ค่อยชอบใจนักเพราะเขาไม่ชอบการใช้ความรู้สึกเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์หรือตัดสินใจ แต่เขาต้องการคำว่า จากข้อมูล (หรือหลักฐาน) ที่มีอยู่ทำให้เชื่อได้ว่าสิ่งที่เราควรจะต้องทำคือ 1…2…3…4....... มากกว่าครับ

เรามองตัวเอง กับ คนอื่นมองเรา

            คนเราบางครั้งอาจจะมองจากมุมของตัวเราออกไป โดยลืมไปว่ายังมีอีกมุมหนึ่งที่ถูกมองโดยคนอื่นรอบข้างด้วยเช่นกัน เปรียบไปก็เหมือนกับการที่ถ้าเราลืมส่องกระจกเราก็อาจจะเข้าข้างตัวเองว่าตัวเราสมบูรณ์เพียบพร้อม ทั้ง ๆ ที่เราอาจจะมีสิว ไฝ ฝ้า กระ ฯลฯ อยู่ที่ใบหน้าโดยที่เราไม่รู้

            คราวนี้เราลองมาดูกันนะครับว่าในสไตล์ทั้งสี่นั้น เมื่อเขามองดูตัวเองเขาคิดว่าเป็นยังไง และเขาจะถูกมองโดยผู้อื่นอย่างไร ซึ่งเปรียบเสมือนมีด้านสว่างแล้วก็ย่อมจะมีด้านมืดเป็นของคู่กันดังนี้

คนสไตล์ D มองตัวเอง
            คนสไตล์ D เขาจะมองตัวเขาว่าเป็นคนที่ทำอะไรรวดเร็ว ตรงไปตรงมา ชัดเจน กล้าคิดกล้าทำกล้าตัดสินใจ เขาจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และคิดว่าสิ่งที่เขาตัดสินใจทำไปนั้นถูกต้องเสมอ เขามองว่าเขาเป็นคนรวดเร็ว และเป็นนักแก้ปัญหาตัวฉกาจ ที่ไหนมีปัญหาต้องการการจัดการแบบเด็ดขาดแล้วล่ะก็เขาพร้อมเสมอ

คนอื่นมองคนสไตล์ D
            คนอื่นรอบข้างจะมองคนสไตล์ D ว่าเป็นพวกเผด็จการ บ้าอำนาจ ดื้อรั้น ไม่ค่อยจะฟังใคร หยิ่งผยอง ก้าวร้าว ทำอะไรบุ่มบ่าม ไม่คิดก่อนพูด (หรือก่อนทำ) ขาดความละเอียดรอบคอบ ไม่เป็นนักวางแผนที่ดีเลย เอาแต่กำลังหรือเอาแต่อำนาจเป็นที่ตั้ง

คนสไตล์ I มองตัวเอง
            เขามองตัวเขาเองว่าเป็นคนที่เข้าใจผู้คน เขาเป็นคนดีมีมนุษยสัมพันธ์กับทุก ๆ คน แคร์ความรู้สึกคน มองเห็นคุณค่าของคน เขาเป็นคนเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นคนทุกคน เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีอยู่เสมอ พร้อมที่จะเข้าอกเข้าใจผู้คน จึงมักจะมีอารมณ์ที่ อิน ไปกับเรื่องราวของคนได้ง่าย

คนอื่นมองคนสไตล์ I
            คนสไตล์ I มักจะถูกมองจากคนอื่นว่าเป็นคนที่โลเลไม่ชัดเจน ตัดสินใจก็ไม่เด็ดขาดมัวแต่ฟังคนโน้นคนนี้แล้วก็หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเพราะกลัวว่าจะไปกระทบกระเทือนใจใครเขาเข้า เป็นคนที่พูดมากกว่าทำ และไม่ตัดสินใจจัดการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงทั้ง ๆ ที่อยู่ในวิสัยจะทำได้ก็ไม่ยอมทำ มัวแต่กลัวว่าถ้าทำอะไรไปก็จะทำให้คนอื่น ๆ เขามองว่าเราไม่ดีก็เลยไม่ค่อยกล้าจะทำอะไรขัดใจผู้คนรอบข้าง

คนสไตล์ S มองตัวเอง
            คนสไตล์ S จะมองตัวเองว่าเป็นคนทำอะไรถูกต้องเสมอ เพราะตนเองทำตามขั้นตอน กฎระเบียบข้อบังคับ หรือทำตามหลักการหลักเกณฑ์ทุกอย่าง เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำไปนั้นโอกาสผิดพลาดน้อยมากเพราะความที่เขาเป็นคนทำงานตามขั้นตอนที่ชัดเจน และเขาก็ยังรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มหรือที่ประชุมอีกด้วย เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็ตามเป็นสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังรอบคอบ เขาคิดว่าการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้นมักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือทำตามแบบอย่างที่เคยทำมาจะปลอดภัยที่สุด

คนอื่นมองคนสไตล์ S
            คนอื่นจะมองคนสไตล์ S ว่าเป็นคนที่มักหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ไม่กล้าตัดสินใจอะไรที่อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ ไม่มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ หรือแม้แต่ถ้าหากลูกน้องมีไอเดียอะไรใหม่ ๆ มาเสนอก็จะถูกคนสไตล์ S เบรคก่อนเสมอว่า พี่เคยทำมาก่อนแล้ว แต่ไม่เวิร์คหรอกเพราะ....... หรือ คุณใช้อะไรคิดโครงการนี้ขึ้นมา.......  นานเข้าลูกน้องก็ไม่เสนออะไรอีกเพราะคนสไตล์ S จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

คนสไตล์ C มองตัวเอง
            เขาจะมองตัวเองว่าเป็นคนละเอียดรอบคอบ งานแต่ละชิ้นของเขามีการกลั่นกรองพิจารณาอย่างรอบคอบถี่ถ้วนแล้ว เขามองผู้คนว่าต้องการการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพราะคนมีแนวโน้มจะทำอะไรผิดพลาดได้ง่ายไม่ค่อยจะละเอียดรอบคอบเท่าที่ควร เขาจึงต้องควบคุมลูกน้องอย่างใกล้ชิด เขามองตัวเองว่าเป็นคนที่มีมาตรฐานการทำงานสูง ตัดสินใจชัดเจน การตัดสินใจของเขาเป็นเรื่องถูกต้องที่สุด และผลงานของเขาเหนือกว่าคนอื่นเสมอ

คนอื่นมองคนสไตล์ C
            คนอื่นจะมองคนสไตล์ C ว่าเป็นพวกสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) หรือคุณชาย (คุณหญิง) ละเอียด ลงลึกในรายละเอียดมากจนเกินไป ไม่ไว้ใจกันเลย เป็นคนที่ชอบควบคุมทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมใกล้ชิดถึงขนาดนั้น มีคำถามจุกจิกมากมายในรายละเอียดเยอะแยะไปหมด ไม่มีงานทำหรือจึงต้องมาคอยดูแลการทำงานของคนอื่นจนอึดอัดกันไปหมด โดยเฉพาะใครก็ตามที่มีหัวหน้าเป็นคนสไตล์ C จะอึดอัดกับการที่ถูกสั่งให้ทำรายงานหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการรายงานในรายละเอียดเยอะแยะไปหมดทั้ง ๆ ที่งานประจำก็มากจนล้นทำแทบไม่ทันอยู่แล้ว

            แล้วก็มาถึงตอนจบของซีรีส์ชุดนี้แล้วนะครับ       

ผมเชื่อว่าท่านจะได้ข้อคิดจากเรื่องของ D I S C เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้ เพื่อให้ท่านได้เข้าใจถึงธรรมชาติและพื้นฐานของคนที่แตกต่างกันไปในแต่ละสไตล์ มากยิ่งขึ้น และหาแนวทางในการปรับตัวของท่านให้เข้ากับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้นต่อไปนะครับ.


................................................

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา...รู้เรา....ด้วย D I S C (ตอนที่ 4)


            ในตอนนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องของการบริหารจัดการคนด้วย D I S C เพื่อให้ท่านได้รู้เรา-รู้เขาให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ท่านสามารถจะอ่านสไตล์ของคนได้ดีขึ้นไปอีก ผมก็เลยขอนำภาพของ D I S C มาประกอบไว้อีกครั้งหนึ่งดังนี้



การบริหารจัดการคนด้วย D I S C

            ขอทบทวนความเดิมตอนที่แล้วอีกสักครั้ง กล่าวคือเมื่อท่านได้ทราบลักษณะหรือสไตล์ของคนทั้ง 4 แบบแล้ว ท่านลองมองกลับมาที่ตัวท่านเอง (อย่างไม่ลำเอียง) นะครับว่าท่านมีสไตล์ใดเป็นสไตล์หลัก

          เมื่อท่านทราบสไตล์หลักของท่านแล้ว ท่านควรจะทำความเข้าใจถึงผู้คนรอบข้างในสไตล์อื่นด้วยเพื่อให้การทำงาน หรือการใช้ชีวิตร่วมกันเกิดความราบรื่นมากยิ่งขึ้น

            อย่างน้อยเมื่อท่านอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านอาจจะเริ่มเข้าใจคนในแบบที่ไม่เหมือนท่านบ้างแล้วนะครับ !!
สิ่งที่ชอบและไม่ชอบของคนแต่ละสไตล์

            มาถึงตรงนี้ผมอยากจะให้ท่านได้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่าคนในแต่ละสไตล์ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง เพื่อที่ท่านจะได้ระมัดระวังในการปรับตัวกับคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คนที่บ้านของท่านได้ดียิ่งขึ้น  เราลองมาดูกันนะครับว่ามีอะไรบ้าง

สิ่งที่คนสไตล์ D ชอบ
            คือต้องการทำงานอย่างอิสระ เมื่อมอบหมายงานให้แล้วต้องให้อำนาจตัดสินใจเขาไปด้วยนะครับ เพราะเขาเป็นคนที่มุ่งผลลัพธ์ (Result Oriented) สูง ชอบงานที่ท้าทายความก้าวหน้าในหน้าที่/ตำแหน่ง ชอบเสี่ยง กล้าตัดสินใจ งานหรือกิจกรรมที่จะต้องการคนเข้าไปลุยแก้ปัญหาหรือจัดการให้เสร็จในภารกิจเฉพาะที่ต้องการให้เห็นผลเร็ว หรือมีการแข่งขันสูง และมีเป้าหมาย หรือตัวชี้วัดผลสำเร็จที่ชัดเจน

สิ่งที่คนสไตล์ D ไม่ชอบ
            การที่เข้าไปควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด เพราะเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความไว้วางใจ การตัดสินใจที่ชักช้า (ก็เพราะเขาเป็นคนใจร้อนนี่ครับ) การมีขั้นตอนที่มากหรือมีงานจุกจิกหยุมหยิม หรือการมอบหมายงานให้ไปแล้วแต่ไม่ให้อำนาจตัดสินใจจะทำให้เขาอึดอัด ตลอดจนการเข้าไปแทรกแซงสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจสั่งการ หรือดำเนินการไปแล้วถูกสั่งให้แก้ไขโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร จะทำให้เขารู้สึกหงุดหงิดและอึดอัดมากขึ้น

สิ่งที่คนสไตล์ I ชอบ
            คนสไตล์ I จะชอบงานที่ต้องพบปะติดต่อผู้คน งานสมาคม งานสังสรรค์ เจ๊าะแจ๊ะ การเข้าไปให้กำลังใจกับผู้คน การเข้าไปโน้มน้าวชักจูงผู้คน การให้ไปร่วมประสานงานระดมความคิด งานอีเว้นท์ใหม่ ๆ  งานที่ต้องทำกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

สิ่งที่คนสไตล์ I ไม่ชอบ
            งานที่เป็นงานประจำโดยเฉพาะงานที่ไม่ค่อยได้พบปะกับผู้คน เพราะเขาจะรู้สึกว่ามันจำเจน่าเบื่อหน่าย หรือการไปขอข้อมูลรายละเอียดลึก ๆ กับคนสไตล์ I หรืองานที่ต้องมีกฎระเบียบมาก ๆ หรืองานวิเคราะห์ข้อมูลนี่คนสไตล์ I จะไม่ชอบ รวมไปถึงงานที่ต้องเข้าไปแก้ปัญหาการทะเลาะเบาะแว้งหรือต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งของผู้คน เพราะคนสไตล์ I ไม่ชอบทำอะไรที่ขัดใจคนอื่นนี่ครับ

สิ่งที่คนสไตล์ S ชอบ
            คนสไตล์ S จะชอบงานที่เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน ไม่ต้องเร่งรีบนักค่อยเป็นค่อยไป เพราะเขาไม่ชอบเสี่ยงนี่ครับ เรียกว่าทำช้า ๆ แต่ชัวร์ เขาจะเป็นผู้ร่วมทีมงานที่ดีไม่ละเมิดกฏเกณฑ์ของกลุ่ม เป็นผู้รับฟังที่ดีด้วยท่าทีที่นุ่มนวลด้วยบรรยากาศมิตรภาพ ให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพที่ดีซึ่งกันและกันจึงไม่ชอบทำอะไรที่จะทำให้คนมองว่าเขาเป็นคนไม่ดี ชอบอยู่อย่างสงบไม่รุกรานใคร ชอบที่จะให้มีเวลาในการทำงานหรือมีเวลาในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ชอบทำอะไรที่ไม่เสี่ยงและชอบทำงานมีหลักเกณฑ์หรือมีขั้นตอนที่ชัดเจน

สิ่งที่คนสไตล์ S ไม่ชอบ
            เขาจะไม่ชอบบรรยากาศของความขัดแย้ง การงานด่วนงานเร่งหรือการบีบบังคับให้ตัดสินใจแบบทันทีทันใด เพราะเขาจะรู้สึกว่าทำไมไม่คิดให้ดีให้รอบคอบเสียก่อน ไม่ชอบการลัดขั้นตอน หรือการมีกฎเกณฑ์ที่คลุมเครือจะทำให้เขาตัดสินใจไม่ถูก ก็เขาจำเป็นต้องตัดสินใจตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ชัดเจนนี่ครับ เพราะเดี๋ยวทำอะไรผิดหลักเกณฑ์เกิดปัญหาขึ้นมารับผิดชอบไม่ไหวเหมือนกัน ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ชอบความขัดแย้งในทีมงาน การไม่ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน เมื่อเขาพูด (กรณีที่เขาเป็นหัวหน้างาน) ท่านก็ต้องฟัง เพราะเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี่ครับ

สิ่งที่คนสไตล์ C ชอบ
            คนสไตล์ C เขาจะชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความถูกต้องของผู้มูลที่เชื่อถือและพิสูจน์ได้ ก็เขาเป็นคนที่ชอบข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วนี่ครับ ชอบข้อมูลเอกสารแนบเยอะๆ รับรองว่าเขาจะอ่านทุกหน้าทุกบรรทัดผิดตรงไหนจะหาที่ผิดมาให้ดูจนได้ เขาจึงเป็นคนที่มีมาตรฐานในการทำงานสูง แม้แต่การจัดวางอุปกรณ์ข้าวของที่บ้านก็ตามต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยด้วยนะครับ เป็นคนที่เน้นงานมาก่อนเรื่องส่วนตัว มีความละเอียดถี่ถ้วนสูง หรือที่เรียกกันว่าเป็นพวกต้องการความครบถ้วนสมบูรณ์สูงมาก (Perfectionism) หากเขาพบว่ามีใครที่ให้ข้อมูลที่ไม่จริงหรือไม่ถูกต้องแล้วล่ะก็เขาจะจำไว้นานเลยครับ

สิ่งที่คนสไตล์ C ไม่ชอบ
            นั่นก็คือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีข้อมูลรายละเอียดรองรับเพราะจะทำให้เขาตัดสินใจไม่ถูกเนื่องจากเป็นสไตล์ที่รับฟังหรือค้นหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน (หรือพยานวัตถุ) มากกว่าพยานบุคคล ดังนั้นเขาจะอึดอัดใจหากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ

            ในขณะเดียวกันหากมีใครวิจารณ์ตัวเขาหรือผลงานของเขาว่าไม่ดีควรปรับปรุงแล้วล่ะก็เขาจะหงุดหงิดมากขึ้น เขาไม่ชอบให้ใครมาเร่งรัดงานของเขาจนไม่มีเวลาตรวจสอบความถูกต้องให้แน่ใจเสียก่อน เพราะเขากลัวว่างานจะบกพร่องเป็นจุดที่ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกตำหนิได้ อีกประการหนึ่งคือเขาไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบที่จะต้องเป็นจุดเด่นในที่สาธารณะครับ

            เอาล่ะครับเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนจบของซีรีส์ชุดนี้ ผมจะมาพูดถึงวิธีการติดต่อกับคนในแต่ละสไตล์ในตอนต่อไปนะครับ
  
............................................

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา...รู้เรา....ด้วย D I S C (ตอนที่ 3)


            เมื่อท่านได้ทราบสไตล์ของคนทั้ง 4 ประเภทคือ D I S C ไปในตอนที่แล้วผมขอนำผังในตอนที่แล้วกลับมาให้ดูอีกครั้งเพื่ออธิบายเพิ่มดังนี้ครับ


            จากผังข้างต้นท่านจะเห็นได้ว่ารูปแบบของคนทั้งสี่แบบจะอยู่ในแกนสี่แกน อธิบายเพิ่มได้ว่าคนในแบบ D และ C นั้นมักจะมีสไตล์ที่อิงเหตุผล(Thinking) เป็นหลักจึงมักจะมีความคิดเป็นระบบ มีที่มาที่ไป

            ในขณะที่คนในสไตล์ S และ I ก็จะมีแนวโน้มที่มีสไตล์ที่อิงอารมณ์หรือความรู้สึก (Feeling) มากหน่อย  นี่เป็นสไตล์ในแนวแกนตั้งนะครับ

            คนสไตล์ S และ C จะมีส่วนที่คล้ายกันก็คือต้องการอะไรที่ตอบได้ด้วยการสัมผัสทั้งห้า คือ ต้องเห็นได้ด้วยตา ฟังมากับหู จมูกได้กลิ่น รับรสด้วยลิ้น สัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสที่ชัดเจนจึงจะพอใจ ดังนั้นคนสไตล์ S และ C จึงเป็นสไตล์ที่ต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงมายืนยันถึงจะยอมรับ

            ในขณะที่คนในแบบ D และ I มักจะใช้สัญชาติญาณหรือลางสังหรณ์ที่ฝรั่งเรียกว่า Six senses หรือสัมผัสที่หก มากกว่าพวก S หรือ C

            พูดง่าย ๆ ว่าพวก D พอเวลาจะตัดสินใจอะไรมักจะใช้ลางสังหรณ์หรือความน่าจะเป็นแล้วตัดสินใจเลย (ด้วยความใจร้อนของตัวเองเป็นทุนเดิม) โดยมีเหตุผลในใจอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีก็คือจะฉับไวทันใจ แต่ข้อเสียคือขาดความรอบคอบ ถ้าตัดสินใจถูกก็ดีไป แต่ถ้าตัดสินใจผิดก็จะมีผลกระทบตามมาให้แก้กันต่อไปอีก

            หรือพวก I เวลาตัดสินใจก็ใช้อารมณ์เป็นทุนเดิม แถมมีลางสังหรณ์เข้ามาช่วยอีกแต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือพวก I นี่ตัดสินใจโดยใช้ลางสังหรณ์แถมขาดข้อมูลและรายละเอียดนี่สิครับจะทำให้คนพวก I มักจะมีปัญหาที่เกิดตามมาหลังจากการตัดสินใจอยู่เรื่อย ๆ

            ในขณะที่คนสไตล์ S ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน แต่ทุกอย่างจะต้องมีที่มาที่ไป ต้องพิสูจน์ได้ชัดเจน จึงเป็นลักษณะของคนแบบ S ที่ต้องการความแน่นอน เป็นขั้นเป็นตอนก่อนจึงถูกมองว่าทำงานช้าตอบสนองช้าเพราะมัวแต่ทำงานตามขั้นตอนตามสไตล์ของเขายังไงล่ะครับ

            ส่วนคนแบบ C จะตัดสินใจโดยมีเหตุผลเป็นทุนเดิม และต้องการการข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้อย่างมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จึงทำให้คนแบบ C ต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง และเชื่อในหลักฐานที่เห็นได้ชัดมากกว่าการใช้ความรู้สึก หรือลางสังหรณ์หรือการคาดการณ์แบบลอย ๆ

            จากตารางที่ผมแสดงให้ท่านดูข้างต้นจึงจะเห็นว่ารูปแบบของคนที่อยู่ในเส้นทะแยงมุมของกันและกันจึงเป็นอุปนิสัยหรือพฤติกรรมที่ตรงกันข้าม เช่น C จะตรงกันข้ามกับ I และ D จะตรงกันข้ามกับ S ดังนั้นหากคนในแบบ D มาพบกับ S หรือ C มาพบกับ I แล้วล่ะก็มักจะเกิด ศรศิลป์ไม่กินกัน

            ดังนั้นจากที่ผมเล่าให้ท่านฟังมาทั้งหมดนี้จึงจะพอเป็นแนวทางให้ท่านได้ทราบเพื่อทำความเข้าใจกับท่านสำหรับให้ท่านได้เข้าใจคนในแบบที่ไม่เหมือนท่าน ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

            ผมอยากจะย้ำตรงนี้นะครับว่า ไม่มีรูปแบบใดที่ดีกว่ารูปแบบใด หรือคนในรูปแบบใดที่เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เพราะในแต่ละสังคม ในงานแต่ละประเภท ในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ย่อมต้องการคนในรูปแบบที่เหมาะสมแตกต่างกันไป

            ในองค์กรของท่านก็เช่นเดียวกัน ย่อมประกอบด้วยคนสี่รูปแบบใหญ่ ๆ ตามที่ผมเล่าให้ฟังมานี้เหมือนกัน ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าในแต่ละประเภทของงานบางงาน เช่น งานที่ต้องการคนที่คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่  อาจต้องการคนในแบบ I             

             ในขณะที่ถ้าท่านที่เป็นคนในแบบ D หรือ C  หากต้องไปทำงานหรืออยู่ในสังคมดังกล่าวก็อาจจะเกิดความอึดอัดกับสภาพแวดล้อมแบบนั้น

จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจสไตล์ของคนเพื่อปรับตัวเพื่อให้เข้ากับผู้คนรอบข้างเพื่อลดความเครียดลงยังไงล่ะครับ

บางท่านอาจจะมีคำถามว่า งั้นในหน่วยงานของฉันก็หาคนที่เป็นแบบเดียวกับฉันเข้ามาทำงานดีกว่าน่ะสิ จะได้ไม่ต้องขัดแย้งกันเพราะจะได้ทำงานไปทิศทางเดียวกัน

แหม ! ท่านเล่นหาคนแบบ มองตาก็รู้ใจ เชียวครับ

จริงอยู่ครับหากท่านทำงานกับคนที่มีลักษณะสอดคล้องกับท่านแล้ว ความขัดแย้งอาจจะน้อยลงเพราะมีวิธีคิดและวิธีการทำงานคล้าย ๆ กัน

แต่จะดีหรือครับที่ท่านไม่ต้องการมุมมองที่แตกต่าง ?

ดังนั้นเราจึงต้องการคนสไตล์ที่ต่างจากเรามาคอยติงคอยเตือนสติไม่ให้เราใช้สไตล์หลักของเราให้มากจนเกินไปจนควบคุมไม่ได้ เหมือนรถที่มีเครื่องยนต์ที่ดีก็ต้องการเบรคที่สามารถหยุดรถเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นเดียวกัน

ตอนต่อไปเรามาว่ากันในรายละเอียดของ D I S C กันต่อนะครับ

……………………………

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา..รู้เรา..ด้วย D I S C (ตอนที่ 2)


          เมื่อตอนที่แล้วผมได้เกริ่นนำให้ท่านได้ทราบถึงความแตกต่างของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้แต่ละคนมีพฤติกรรมหรือสไตล์ในการใช้ชีวิตโดยมีการศึกษาในเรื่องนี้โดย Dr.William Moulton Marston ได้ทำการวิจัยและเขียนหนังสือที่ชื่อว่า The Emotions of Normal People โดยจัดแบ่งสไตล์หรือลักษณะของคนออกเป็น 4 ประเภทที่เรียกว่า D I S C ซึ่งผมจะขยายความให้ท่านทราบในตอนนี้ล่ะครับ

D I S C คืออะไร ?

            พอเห็นคำ ๆ นี้หลายท่านอาจจะนึกถึงเบรครถยนต์ หรือ แผ่น CD ฯลฯ แต่ไม่ใช่อย่างที่ท่านคิดไว้นะครับ

D I S C ที่ผมจะพูดถึงในวันนี้เป็นตัวอักษรที่ย่อมาดังนี้

          D - Dominance
          I – Influence
          S – Steadiness
          C – Compliance

            ทั้งสี่คำนี้คือสไตล์หรือคุณลักษณะของคนที่สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 4 แบบ แต่ก่อนที่ผมจะเล่าให้ท่านทราบมากกว่านี้ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนนะครับว่าสไตล์ทั้ง 4 แบบนี้ไม่มีสไตล์ใดที่ดีกว่าหรือแย่กว่าสไตล์ใด ซึ่งแต่ละสไตล์ก็จะมีลักษณะเด่นและด้อยในตัวของมันเอง ไม่มีสไตล์ใดที่สมบูรณ์แบบหรือดีที่สุด

            ทั้งผมทั้งท่านต่างก็มีสไตล์เป็นของตัวเองในสี่รูปแบบนี้แหละครับ !


            เรามาดูกันว่าแต่ละสไตล์จะมีจุดเด่นจุดด้อยยังไงกันบ้าง

D = Dominance/Directive ผู้กร้าวแกร่ง ฉับไว

            คนสไตล์ D หรือ Dominance ท่านจะสังเกตลักษณะเด่นเขาและเธอได้จากการที่เป็นคนมุ่งมั่น มุ่งผลสำเร็จของงาน(และชีวิต)สูง ของการควบคุม การตัดสินใจชัดเจน เด็ดขาด ปากกับใจตรงกัน ชอบเปลี่ยนแปลง กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจแม้จะเกินอำนาจที่มี ใจถึงพึ่งได้ ชอบการแข่งขัน ไม่กลัวใคร ชอบทำงานโดยอิสระ ไม่ชอบการถูกควบคุม มีความรับผิดชอบในงานสูง ชอบความท้าทาย

            จุดที่เป็นเงามืดของคนแบบ D คือ หากเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากก็จะเป็นคนที่มีปากหาศัตรู คนรอบข้างจะไม่ชอบในความก้าวร้าว และเข้ามาควบคุมงาน คนแบบ D มักจะถูกคน (แอบ) นินทาว่าเอาแต่ใจตัวเองแต่ไม่ยอมเข้าใจคนอื่น(รอบข้าง)เสียบ้างเลย ทำให้ถูกมองว่าเป็นเผด็จการเอาง่าย ๆ

I = Influence/Interactive ช่างเจ๊าะแจ๊ะ ชอบสังคม อารมณ์ศิลปิน

            คนสไตล์ I จะเป็นคนที่ชอบเข้าหาพูดคุย พูดเก่ง เสียงดัง ร่าเริง มีอารมณ์ศิลปินสูง มีความคิดสร้างสรรค์บรรเจิด ชอบงานสังคม งานรื่นเริงบรรเทิงปาร์ตี้ เข้ากับคนได้ง่าย เจอคนแปลกหน้านี่จะพูดคุยกันได้อย่างกับเป็นญาติสนิทกันมาตั้งแต่ชาติที่แล้ว สามารถหว่านล้อมจูงใจให้คนมาร่วมมือได้อยู่เสมอ แต่เป็นคนไม่ชอบลงรายละเอียด และไม่กล้าที่จะตัดสินใจถ้าจะต้องไปขัดใจใคร คนสไตล์ I จึงแคร์กับความรู้สึกของคนรอบข้าง จะเข้าใจผู้คนมาก

            วิธีคิดของคนแบบ I จึงจะมีอารมณ์ (Feeling) เข้ามาร่วมด้วยเสียเป็นส่วนมาก คนแบบ I จึงมองโลกในแง่ดี

            ในขณะที่จุดอ่อนของคนแบบ I คือมักจะเป็นคนที่คุยแบบน้ำท่วมทุ่ง ฝันเฟื่อง เชื่อคนง่ายโดยไม่แยกแยะว่าใครน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน การตัดสินใจมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ทำให้คนรอบข้างดูว่าตัดสินใจแบบไม่มีหลักการที่ชัดเจน บ่อยครั้งที่ทำให้คนรอบข้างสับสนกับการตัดสินใจที่หาคำตอบที่มีเหตุผลไม่ได้

S = Steadiness/Support เห็นใจผู้คน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง อนุรักษ์นิยม ทำตามขั้นตอน

            คนสไตล์ S จะเป็นคนที่มีความเป็นมิตรเป็นอันเอง ดูอบอุ่นรับฟัง แต่งตัวตามสบายไม่พิถีพิถัน เป็นคนชอบทำอะไรตามกฎระเบียบที่มี ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ชอบอะไรที่เร่งรีบ ไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง ไม่ชอบความเร่งด่วนฉุกเฉิน ชอบอยู่เบื้องหลังมากกว่าเบื้องหน้า ตัดสินใจตามกฎระเบียบที่มีเท่านั้น และอนุรักษ์นิยมสูง

            ดังนั้นจุดอ่อนของคนแบบ S ก็คือ คนรอบข้างจะดูว่าเป็นคนเฉื่อย เปลี่ยนแปลงอะไรก็ยาก ยึดติดแต่ภาพอดีต ขาดความกระตือรือร้น แถมเป็นคนดื้อเงียบ และมักจะผลัดวันประกันพรุ่ง

C = Compliance/Cautious หญิงมั่นชายมั่น ละเอียด รอบคอบสุดฤทธิ์ คุยกันด้วยข้อมูลเท่านั้น

            คนสไตล์ C เป็นคนที่ต้องการความละเอียดถี่ถ้วนสูงมาก(กว่าปกติคนทั่วไป) ไม่เชื่ออะไรง่าย  ๆ ต้องมีข้อเท็จจริง (หรือข้อมูล) ที่ยืนยันมาพิสูจน์กันได้เท่านั้น เป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยจะพูดอะไรมากนัก ชอบคิดการวิเคราะห์ เป็นคนที่ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบหรือเรียกว่าเป็น Perfectionist มักจะมองว่าคนอื่นรู้น้อยกว่าตัวเอง มีข้อมูลน้อยกว่าตัวเอง หรือหนักกว่านั้นคือมองว่าคนอื่นโง่กว่าตัวเองเพราะตัวเองเป็นคนมีข้อมูลเยอะรู้มาก คนสไตล์ C กล้าตัดสินใจและเด็ดขาดจนหลายครั้งทำเอาคนรอบข้างเป็นงงว่าทำไมกล้าตัดสินใจแบบนี้ได้ ก็เพราะเขาเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก

            จุดอ่อนของคนแบบ C ก็คือ มักจะมองโลกในแง่ร้าย ขี้จุกจิก ค่อนข้างเก็บตัว ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น และชอบรายละเอียด หรือจมอยู่กับเวลาของรายงานมากเกินไปจนทำให้งานที่จะต้องปฏิบัติหรืองานที่ต้องการการตัดสินใจไม่เดินหน้า และมีปัญหาเรื่องมนุษยสัมพันธ์

            ในตอนนี้ขอจบลงตรงนี้ก่อนนะครับ แล้วตอนต่อไปค่อยมาว่ากันต่อ

…………………………..

วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา..รู้เรา..ด้วย D I S C (ตอนที่ 1)


            อันที่จริงผมเคยเขียนเรื่อง “รู้เขา-รู้เราด้วย D I S C” ไปเมื่อหลายปีที่แล้วรวม 4 ตอน แต่เมื่อผมนำมาอ่านทบทวนดูแล้วก็เห็นว่ายังมีเนื้อหาที่น่าจะปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้ดีมากขึ้นก็เลยนำทั้ง 4 ตอนมาแก้ไขแล้วเรียบเรียงใหม่เป็น 5 ตอนเพื่อให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมจะค่อย ๆ ทะยอยนำมาลงไปทีละตอนนะครับ

            หากผมจะถามท่านว่า ท่านเคยประสบปัญหาในการพูดจา ติดต่อสื่อสาร หรือทำงานประสานงานกับผู้คนบ้างหรือไม่ ?” คงจะมีน้อยคนนะครับที่ตอบว่าไม่เคยมีปัญหาลองคิดดูง่าย ๆ ว่าแม้แต่ภายในครอบครัวเดียวกัน บางครั้งยังเกิดการกระทบกระทั่งไม่เข้าใจกันเพราะการพูดจาก็มีให้เห็นอยู่ นับประสาอะไรกับการทำงานท่านก็จะต้องมีการพูดจาติดต่อสื่อสาร หรือประสานงานซึ่งกันและกัน ซึ่งบางครั้งท่านก็สามารถประสานงานกันได้ราบรื่น แต่หลายครั้งที่ท่านเกิดปัญหาตลอดจนมีความขัดแย้งกับผู้คนที่ท่านจำเป็นจะต้องประสานงานด้วย

          อย่างที่โบราณเขาเรียกว่า ศรศิลป์ไม่กินกัน ยังไงล่ะครับ

            แต่ถ้าจะถามว่าสาเหตุของศรศิลป์ไม่กินกันน่ะมันเป็นเพราะอะไรล่ะ ? ชักจะตอบได้ยากขึ้นแล้วใช่ไหมครับ เพราะท่านก็จะมองอีกฝ่ายหนึ่งในมุมของท่านแล้วสรุปรวดรัดว่าเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านพูดเพราะเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็จะมองและคิดกับท่านในทำนองเดียวกัน

            ยิ่งหากไม่พยายามค้นหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดการกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน แถมต่างฝ่ายต่างยึดมั่นถือมั่นในหลักการ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ของตัวเองแล้ว ปัญหานั้นก็มีแต่จะบานปลายหนักขึ้นจนถึงขั้นทำลายล้างกันไปข้างหนึ่งก็มีให้เราเห็นได้บ่อย ๆ ไปนะครับ

          อะไรเป็นสาเหตุของความไม่เข้าใจกันล่ะครับ ?

            จากที่ผมพูดมาข้างต้น จึงมีการศึกษาถึงความแตกต่างกันของคน โดยนักจิตวิทยาที่ชื่อ Dr.William Moulton Marston แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดโดยเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ The Emotions of Normal People และจำแนกคนเราออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทไม่มีประเภทใดที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์และการปรับตัวเองตามแบบของตนเอง

            และนี่เองครับจึงเป็นที่มาของคำว่า D I S C ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้

ภูเขาน้ำแข็งกับพฤติกรรมของคน

            ท่านคงเคยได้ยินคำว่า ภูเขาน้ำแข็ง หรือ Iceberg กันมาบ้างแล้ว และหลายท่านคงทราบว่าเจ้าภูเขาน้ำแข็งที่ผมพูดถึงนี้จะมีส่วนน้อยที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา  ในขณะที่ส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็ง (ประมาณ 9 ใน 10 ส่วน) จมซ่อนอยู่ใต้น้ำ

            ทำนองเดียวกันเราจะรู้จักคนเพียงผิวเผินเฉพาะส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่จริง ๆ แล้วยังยังมีส่วนที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับคนที่ซ่อนอยู่อีกตั้งเยอะ หรือเรียกว่ารู้หน้าไม่รู้ใจตามรูปนี้ครับ

            ส่วนที่ท่านจะพบเห็นได้ชัดคือส่วนที่ (1) ใช่ไหมครับเพราะเป็นสิ่งที่วัดได้จับต้องสัมผัสได้ แต่ส่วนที่ (2) เป็นสิ่งที่ต้องใช้การสังเกตหรือการค้นหาที่ต้องใช้เวลานานกว่าส่วนที่ (1) เพื่อที่จะยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

            เมื่อท่านอ่านเรื่องนี้จนจบท่านจะได้แนวทางในการสังเกต และพอจะบอกได้ว่าพฤติกรรมของผู้สมัครงานคนนั้น ๆ น่าจะเป็นอย่างไร

ธรรมชาติของมนุษย์

            สังเกตไหมครับว่าเวลาที่เราอยู่ที่บ้านเราทำตัวอย่างไร และเมื่อเราต้องมาสวมหัวโขนอยู่ในที่ทำงาน เราทำตัวเหมือนอยู่ที่บ้านหรือไม่ ?

            เช่น...

            อยู่ที่บ้านเราอาจจะสวมเสื้อยืด นุ่งกางเกงขาสั้นแบบสบาย ๆ เดินออกไปรอบ ๆ บ้าน หรือไปซื้อของที่ตลาดก็สวมรองเท้าแตะไป

            แต่พอมาอยู่ที่ทำงานเราอาจจะต้องแต่งตัวให้ดูดีดูเหมาะสม ฯลฯ

            หลาย ๆ คนก็จะอึดอัดถ้าเราเป็นคนชอบแต่งตัวตามสบาย

            หลายคนที่สมัยเรียนหนังสือก็ใส่เสื้อนุ่งยีนส์ไปเรียน ไม่เคยผูกเน็คไท แต่วันแรกที่ต้องไปสัมภาษณ์งานก็ต้องผูกไท ก็ต้องให้รุ่นพี่ (ที่จบไปทำงานก่อนหน้า) สอนให้เพราะผูกไม่เป็น แถมเมื่อทำงานก็ยังต้องผูกเน็คไทอยู่ทุกวันทั้งที่รู้สึกอึดอัดเพราะความไม่เคยชิน

            นี่ไงครับชีวิตที่แตกต่างกันระหว่างที่บ้านหรือเวลาที่เป็นส่วนตัวของเรากับที่ทำงาน

            จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้เพื่อที่จะให้ท่านได้ทบทวนภาพของคน และพฤติกรรมของคนที่แตกต่างกันตามพื้นฐาน หรือพื้นเพที่แตกต่างกันไป ซึ่งจะสะท้อนถึงความเก่งหรือความสามารถทั้งทางทักษะฝีมือ และความสามารถทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย

            ซึ่งเจ้า ความเก่ง ที่ผมพูดถึงนี้มักจะเป็นทักษะทางธรรมชาติที่ไม่เหมือนกับการเรียนเลข เรียนภาษา หรือความรู้อื่น ๆ ซึ่งทุกท่านก็ใช้ทักษะหรือความเก่งเฉพาะตัวนี้ในการทำงาน หรือในชีวิตประจำวันอยู่ทั้งโดยที่รู้ตัวและโดยไม่รู้ตัว

            ทักษะความสามารถที่ท่านใช้อยู่ทุก ๆ วันในการโต้ตอบ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ผมพูดถึงนี้แหละครับที่คุณ William Marston บอกว่ามันเป็นสไตล์ (Style) ของแต่ละบุคคลและแกก็ได้ค้นคว้าและเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ The Emotions of Normal People ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า D I S C ที่ผมนำมาเล่าให้ท่านฟังในเบื้องต้นนี้ไงล่ะครับ

            วันนี้หมดเนื้อที่พอดี ขอยกยอดให้ท่านติดตามตอนต่อไปนะครับ.....

…………………………………………….

วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2561

15 สัญญาณที่บอกว่าคุณกำลังจมอยู่ในงานที่ไม่เหมาะกับตัวคุณแล้วล่ะ


            ผมไปเห็นบทความหนึ่งบนโลกออนไลน์คือ Business Insider เขียนโดยคุณ Aine Cain เขียนเรื่องนี้เอาไว้และเห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยขอแปลแบบง่าย ๆ และนำเรื่องนี้มาแชร์เพื่อเป็นข้อคิดเตือนใจเพื่อทบทวนตัวเองดูว่าเรามีอาการแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า
1.      คุณต้องพยายามอย่างหนักมาก ๆ กว่าจะทำผลงานออกมาให้ได้แต่ละเรื่อง (You have to try really hard to get by)
2.      คุณเกลียดวันอาทิตย์ (You loathe Sundays)
3.      งานที่ทำอยู่มันน่าเศร้า (Your job is making you sad)
4.      คุณได้รับ Feedback ที่น่ากลัวในเชิงลบจากหัวหน้า (You get terrible feedback)
5.      คุณอยู่ในธุรกิจที่กำลังจะไปไม่รอด (You’re in a dying industry)
6.      เจ้านายไม่ชอบขี้หน้าคุณ (Your boss is out to get you)
7.      คุณรู้สึกว่าไปทำงานเหมือนยังกะจะต้องไปสู้รบ (Getting work is a fight)
8.      คุณรู้สึกว่าคุณเสียสมดุลชีวิต (Your work life balance is terrible)
9.      คุณไม่สามารถจะก้าวหน้าต่อไปได้ (You’re unable to advance)
10.   คุณอายที่จะบอกเพื่อน ๆ ว่าทำงานอะไร (You’re embarrassed by your job)
11.   ผลตอบแทนขององค์กรไม่คุ้มค่ากับผลงานที่คุณทำให้ (You’re not being paid what you’re worth)
12.   คุณรู้สึกไม่แยแสองค์กร หรือรู้สึกดูถูกองค์กรที่คุณทำงาน (You feel completely apathetic about the company)
13.   คุณไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ในงาน (You’re not learning anything)
14.   คุณเข้ากับใครไม่ได้ในที่ทำงาน (You don’t get along with anyone at work)
15.   คุณทำงานนี้เพื่อเงินเท่านั้น (You’re only doing it for the money)
เป็นยังไงบ้างครับลองเช็คดูนะครับว่าท่านมีอาการแบบข้างต้นอยู่กี่ข้อ จะได้เอามาคิดทบทวนตัวเองดูว่าเราจะเอายังดีกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปยังไง
แต่สำหรับท่านที่เช็คดูแล้วมีอาการข้างต้นน้อยถึงน้อยที่สุด ผมก็ขอแสดงความยินดีกับชีวิตดี๊ดีที่ท่านอยู่ถูกที่ถูกเวลาถูกงานด้วยนะครับ


..............................