วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้เขา...รู้เรา....ด้วย D I S C (ตอนที่ 3)


            เมื่อท่านได้ทราบสไตล์ของคนทั้ง 4 ประเภทคือ D I S C ไปในตอนที่แล้วผมขอนำผังในตอนที่แล้วกลับมาให้ดูอีกครั้งเพื่ออธิบายเพิ่มดังนี้ครับ


            จากผังข้างต้นท่านจะเห็นได้ว่ารูปแบบของคนทั้งสี่แบบจะอยู่ในแกนสี่แกน อธิบายเพิ่มได้ว่าคนในแบบ D และ C นั้นมักจะมีสไตล์ที่อิงเหตุผล(Thinking) เป็นหลักจึงมักจะมีความคิดเป็นระบบ มีที่มาที่ไป

            ในขณะที่คนในสไตล์ S และ I ก็จะมีแนวโน้มที่มีสไตล์ที่อิงอารมณ์หรือความรู้สึก (Feeling) มากหน่อย  นี่เป็นสไตล์ในแนวแกนตั้งนะครับ

            คนสไตล์ S และ C จะมีส่วนที่คล้ายกันก็คือต้องการอะไรที่ตอบได้ด้วยการสัมผัสทั้งห้า คือ ต้องเห็นได้ด้วยตา ฟังมากับหู จมูกได้กลิ่น รับรสด้วยลิ้น สัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสที่ชัดเจนจึงจะพอใจ ดังนั้นคนสไตล์ S และ C จึงเป็นสไตล์ที่ต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงมายืนยันถึงจะยอมรับ

            ในขณะที่คนในแบบ D และ I มักจะใช้สัญชาติญาณหรือลางสังหรณ์ที่ฝรั่งเรียกว่า Six senses หรือสัมผัสที่หก มากกว่าพวก S หรือ C

            พูดง่าย ๆ ว่าพวก D พอเวลาจะตัดสินใจอะไรมักจะใช้ลางสังหรณ์หรือความน่าจะเป็นแล้วตัดสินใจเลย (ด้วยความใจร้อนของตัวเองเป็นทุนเดิม) โดยมีเหตุผลในใจอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีก็คือจะฉับไวทันใจ แต่ข้อเสียคือขาดความรอบคอบ ถ้าตัดสินใจถูกก็ดีไป แต่ถ้าตัดสินใจผิดก็จะมีผลกระทบตามมาให้แก้กันต่อไปอีก

            หรือพวก I เวลาตัดสินใจก็ใช้อารมณ์เป็นทุนเดิม แถมมีลางสังหรณ์เข้ามาช่วยอีกแต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นก็คือพวก I นี่ตัดสินใจโดยใช้ลางสังหรณ์แถมขาดข้อมูลและรายละเอียดนี่สิครับจะทำให้คนพวก I มักจะมีปัญหาที่เกิดตามมาหลังจากการตัดสินใจอยู่เรื่อย ๆ

            ในขณะที่คนสไตล์ S ตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน แต่ทุกอย่างจะต้องมีที่มาที่ไป ต้องพิสูจน์ได้ชัดเจน จึงเป็นลักษณะของคนแบบ S ที่ต้องการความแน่นอน เป็นขั้นเป็นตอนก่อนจึงถูกมองว่าทำงานช้าตอบสนองช้าเพราะมัวแต่ทำงานตามขั้นตอนตามสไตล์ของเขายังไงล่ะครับ

            ส่วนคนแบบ C จะตัดสินใจโดยมีเหตุผลเป็นทุนเดิม และต้องการการข้อมูลที่จะพิสูจน์ได้อย่างมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จึงทำให้คนแบบ C ต้องมีความรอบคอบระมัดระวัง และเชื่อในหลักฐานที่เห็นได้ชัดมากกว่าการใช้ความรู้สึก หรือลางสังหรณ์หรือการคาดการณ์แบบลอย ๆ

            จากตารางที่ผมแสดงให้ท่านดูข้างต้นจึงจะเห็นว่ารูปแบบของคนที่อยู่ในเส้นทะแยงมุมของกันและกันจึงเป็นอุปนิสัยหรือพฤติกรรมที่ตรงกันข้าม เช่น C จะตรงกันข้ามกับ I และ D จะตรงกันข้ามกับ S ดังนั้นหากคนในแบบ D มาพบกับ S หรือ C มาพบกับ I แล้วล่ะก็มักจะเกิด ศรศิลป์ไม่กินกัน

            ดังนั้นจากที่ผมเล่าให้ท่านฟังมาทั้งหมดนี้จึงจะพอเป็นแนวทางให้ท่านได้ทราบเพื่อทำความเข้าใจกับท่านสำหรับให้ท่านได้เข้าใจคนในแบบที่ไม่เหมือนท่าน ซึ่งจะทำให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับผู้คนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

            ผมอยากจะย้ำตรงนี้นะครับว่า ไม่มีรูปแบบใดที่ดีกว่ารูปแบบใด หรือคนในรูปแบบใดที่เป็นรูปแบบที่ดีที่สุด เพราะในแต่ละสังคม ในงานแต่ละประเภท ในสถานการณ์แต่ละสถานการณ์ย่อมต้องการคนในรูปแบบที่เหมาะสมแตกต่างกันไป

            ในองค์กรของท่านก็เช่นเดียวกัน ย่อมประกอบด้วยคนสี่รูปแบบใหญ่ ๆ ตามที่ผมเล่าให้ฟังมานี้เหมือนกัน ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่าในแต่ละประเภทของงานบางงาน เช่น งานที่ต้องการคนที่คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่  อาจต้องการคนในแบบ I             

             ในขณะที่ถ้าท่านที่เป็นคนในแบบ D หรือ C  หากต้องไปทำงานหรืออยู่ในสังคมดังกล่าวก็อาจจะเกิดความอึดอัดกับสภาพแวดล้อมแบบนั้น

จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำความเข้าใจสไตล์ของคนเพื่อปรับตัวเพื่อให้เข้ากับผู้คนรอบข้างเพื่อลดความเครียดลงยังไงล่ะครับ

บางท่านอาจจะมีคำถามว่า งั้นในหน่วยงานของฉันก็หาคนที่เป็นแบบเดียวกับฉันเข้ามาทำงานดีกว่าน่ะสิ จะได้ไม่ต้องขัดแย้งกันเพราะจะได้ทำงานไปทิศทางเดียวกัน

แหม ! ท่านเล่นหาคนแบบ มองตาก็รู้ใจ เชียวครับ

จริงอยู่ครับหากท่านทำงานกับคนที่มีลักษณะสอดคล้องกับท่านแล้ว ความขัดแย้งอาจจะน้อยลงเพราะมีวิธีคิดและวิธีการทำงานคล้าย ๆ กัน

แต่จะดีหรือครับที่ท่านไม่ต้องการมุมมองที่แตกต่าง ?

ดังนั้นเราจึงต้องการคนสไตล์ที่ต่างจากเรามาคอยติงคอยเตือนสติไม่ให้เราใช้สไตล์หลักของเราให้มากจนเกินไปจนควบคุมไม่ได้ เหมือนรถที่มีเครื่องยนต์ที่ดีก็ต้องการเบรคที่สามารถหยุดรถเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นเดียวกัน

ตอนต่อไปเรามาว่ากันในรายละเอียดของ D I S C กันต่อนะครับ

……………………………