วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Workshop เทคนิคการทำโครงสร้างเงินเดือนภาคปฏิบัติ - หลักสูตรออนไลน์

รุ่นส่งท้ายปลายปีนี้วันที่ 24 พย.64 ครับ

พร้อมตอบทุกคำถามแบบชัดเจน ตรงไปตรงมาเหมือนเดิม

ใครที่มีแผนเรียนแล้วจะเอาไปทำช่วงปลายปีนี้เพื่อใช้จริงต้นปีหน้าก็มาได้เลยครับ

แจกไฟล์หนังสือที่ผมเขียนมาจากประสบการณ์ตรงและใช้ประกอบการทำงานได้จริง

1. "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)"

2.  "25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์"

3. "คุยเฟื่องเรื่องค่าตอบแทน"

ลงทะเบียนเรียนคลิ๊ก

https://bit.ly/3Ck521s



วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

บริษัทจัดกิจกรรมเที่ยวประจำปีทำไมพนักงานไม่อยากจะเข้าร่วม

             ผมเห็นเรื่องนี้เป็นกระทู้หนึ่งที่น่าสนใจในโลกออนไลน์ก็เลยอยากเอามาแชร์เล่าสู่กันฟังเผื่อจะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับ HR และฝ่ายบริหารนำกลับไปทบทวนดูว่าเราควรจะปรับปรุงแก้ไขเรื่องนี้ยังไงต่อไป

            เป็นเรื่องปกติของหลายบริษัทที่มักจะจัดทริปท่องเที่ยวให้กับพนักงานประจำปี ซึ่งวัตถุประสงค์หลัก ๆ ก็คืออยากให้พนักงานได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานกันมาทั้งปี และถือเป็นการตอบแทนที่ให้กับพนักงาน (สำหรับบริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายในการไปทริปนี้ทั้งหมด)

          พูดง่าย ๆ คือวัตถุประสงค์ก็ดีอยู่หรอกครับ แต่ทำไมพนักงานถึงยังไม่อยากไปเที่ยวล่ะ ?

ผมก็เลยขอนำ Feedback ของคนที่ไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมในเรื่องนี้มาให้ดูดังนี้

1.      บริษัทชอบจัดในวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) เพื่อไม่ให้กระทบกับงาน แต่พนักงานหลายคนมีภาระครอบครัว ต้องพาลูกไปเรียนพิเศษ, ซักผ้า, ทำความสะอาดบ้าน ฯลฯ

2.      วันอาทิตย์กลับมาถึงที่บ้านก็ค่ำมากแล้ว วันรุ่งขึ้นเป็นวันจันทร์ต้องทำงานต่อทำให้ไม่พร้อมในการทำงานเพราะเพลียจากการเดินทาง

3.      การไปเที่ยวกับบริษัทไม่เหมือนการไปพักผ่อน เพราะมีเจ้านาย, มีเพื่อนร่วมงานที่อาวุโส ที่ต้องคอยเกรงใจ ต้องคอยระมัดระวังตัวเองไม่ให้ถูกหัวหน้ามองด้วยสายตาไม่ดี ยิ่งบริษัทไหนที่ผู้บริหารมี Gap กับพนักงานมาก ๆ ทำให้พนักงานยิ่งเกร็งและไม่รู้สึกว่ามาเที่ยวมาพักผ่อน

4.      มีกิจกรรมที่บังคับคนให้มาทำ เช่น บังคับให้ออกมาเต้นไก่ย่างถูกเผาโดยที่คนไม่อยากออกมาทำกิจกรรรม หรือไม่อยากเล่นเกมเหล่านั้น เพราะคนไปเที่ยวก็อยากพักผ่อนจริง ๆ อยากทำตัวตามสบาย แต่กลับต้องมาถูกบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่อยากทำ ถ้าไม่เข้าร่วมกิจกรรมหัวหน้าก็จะมองว่าเป็นคนมนุษยสัมพันธ์ไม่ดี

5.      บอกว่ามาพักผ่อนแต่กลับมีการจัดอบรม สัมมนากันอีกครึ่งวันหรือหนึ่งวันแล้วทุกคนต้องเข้าอบรม หรือไม่งั้น CEO ก็จะมาพูดเรื่องเป้าหมายการดำเนินงาน พูดเรื่องนโยบาย ฯลฯ ตกลงเป็นการมาพักผ่อนหรือมาสัมมนาวิชาการกันแน่

6.      บางบริษัทจัดวันธรรมดา (เช่นวันศุกร์) แต่บังคับให้เป็นวันลาพักร้อน ทำให้พนักงานไม่อยากไปเที่ยวเพราะเสียวันลาพักร้อนไปฟรี ๆ 1 วัน

7.      บางบริษัทจัดไปเที่ยวแต่หักเงินจากพนักงานทำให้พนักงานไม่อยากไปเที่ยว แถมของขวัญที่จับฉลากก็มาจากเงินของพนักงานอีกนั่นแหละ

ฯลฯ

ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ตัดสินนะครับว่าความเห็นข้างต้นนี้ถูกหรือผิด เป็นเพียงการสรุปนำเสนอ Feedback บางส่วนสำหรับคนที่ไม่อยากไปเที่ยวและไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมทำนองนี้ของบริษัทเท่านั้น

ส่วนตัวผมเองสมัยทำงานประจำก็เคยเป็นผู้จัดกิจการมทำนองนี้อยู่แทบทุกปีก็ไม่เคยได้ Feedback อย่างข้างต้น

วิธีที่ผมเคยจัดจะเป็นแบบนี้ครับ

1.      บริษัทเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่เคยหักเงินพนักงานในการไปเที่ยวประจำปีรวมถึงของขวัญจับฉลากก็ไม่ได้ให้พนักงานออกเงินซื้อ

2.      จัดวันศุกร์-เสาร์ (วันศุกร์นับเป็นวันทำงานตามปกติไม่ได้ถือเป็นวันลา) แล้วกลับบ่าย ๆ วันเสาร์ พนักงานจะได้มีเวลาพักผ่อนวันอาทิตย์

3.      ตั้งเป็นคณะทำงานโดยมีตัวแทนของฝ่ายต่าง ๆ เป็นกรรมการ แล้ว HR จะเข้าร่วมประชุมรับฟังความเห็นเพื่อจัดงานร่วมกัน ทำกำหนดการต่าง ๆ โดยมติที่ประชุม   แล้วให้ตัวแทนไปบอกเล่ากับเพื่อน ๆ ในฝ่ายตัวเองทราบกำหนดการเที่ยวประจำปี

4.      ไม่มีการจัดสัมมนาฝึกอบรมแทรกไปในกำหนดการเพราะถือว่าการไปเที่ยวพักผ่อนประจำปีคือไปพักผ่อนสนุกสนานร่วมกันปีละครั้ง

5.      ขอความร่วมมือผู้บริหารทุกระดับนั่งรถบัสไปกับพนักงาน ส่วนตัวผมเองนั่งรถบัสไปกับพนักงานทุกครั้งไม่เคยขับรถส่วนตัวไปเองซึ่งผู้บริหารส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือดี

6.      การทำกิจกรรมใด ๆ จะไม่สร้างกิจกรรมที่ทำให้พนักงานขายหน้า หรือทำให้รู้สึกอับอาย เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานร่วมกัน และไม่บังคับใจกัน ผู้บริหารก็เข้าร่วมกิจกรรมเช่นเดียวกัน ถ้าใครไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมไม่มีผลใด ๆ กับคน ๆ นั้น เพราะคนที่อยากทำกิจกรรมและสนุกกับเพื่อน ๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย

7.      คนที่เป็นผู้นำกิจกรรมมีความสำคัญมาก จะต้องเป็นคนทุกฝ่ายยอมรับและเป็นคนมีทักษะการพูดโน้มน้าวใจคน มีไหวพริบ และมีอารมณ์ขัน คนที่เป็นตัวจี๊ดแบบนี้ผมว่าคนในบริษัทจะรู้กันดีว่ามีใครบ้าง

อยากจะสรุปความเห็นส่วนตัวของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ ถ้าบริษัทไหนที่ผู้บริหารกับพนักงานมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน มีความเป็นกันเอง มีวัฒนธรรมองค์กรแบบพี่แบบน้อง ใจเขาใจเราปัญหาดังกล่าวจะมีน้อยถึงน้อยมาก

แต่ถ้าบริษัทไหนที่มีความขัดแย้งกันสูง ผู้บริหารกับพนักงานต่างก็ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ขาดความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกันหรือมีความเป็นพิษในองค์กรสูง (Unhealthy Organization) ก็คงจะเจอปัญหาปัญหาอย่างที่บอกมาข้างต้นแหละครับ

อย่าว่าแต่ไปเที่ยวกันประจำปีเลยครับ เรื่องอื่น ๆ ที่ไม่น่าจะมีปัญหามันก็มีปัญหาไปหมดแหละ

หวังว่าที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้คงจะทำให้เกิดข้อคิดสะกิดใจเพื่อทบทวนและปรับปรุงการจัดกิจกรรมเที่ยวประจำปีของบริษัทของท่านในครั้งต่อไปให้ราบรื่นเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นทั้งพนักงานและผู้บริหารได้บ้างแล้วนะครับ


วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

หลักสูตรออนไลน์ กลยุทธ์การบริหารค่าจ้างเงินเดือน

       วันศุกร์ที่ 29 ตค.64 นี้ 9.00-12.00 น. 

      ใครสนใจติดต่อได้ที่ HR Center 02-736-2245-7 ครับ

     https://www.hrcenter.co.th/file/public/hr_training_pb_20210813_135042.pdf 

      


ผู้บริหารไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาในอนาคต

             ผมเคยเขียนเรื่องการบริหารแบบเจี่ยะป้าบ่อสื่อซึ่งหมายถึงผู้บริหารบางคนที่อยู่ดี ๆ ไม่มีเรื่องอะไรก็ไปหาเรื่องให้มันวุ่นวายเกิดปัญหากับผู้คนและเกิดปัญหากับบริษัทซะงั้น

            เช่นอยู่ดี ๆ ก็ไปออกระเบียบว่าถ้าพนักงานคนไหนไม่ลาออกตามระเบียบของบริษัทก็จะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งระเบียบแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงานและจะเกิดปัญหากับบริษัทได้ภายหลังถ้าพนักงานไปฟ้องร้อง

            วันนี้ผมก็ได้รับคำถามทำนองเดียวกันก็เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าเป็นผู้บริหารอีกแล้วครับ

          เรื่องมีอยู่ว่าในบริษัทแห่งหนึ่งมีระเบียบว่าถ้าบริษัทอนุมัติให้พนักงานลาพักร้อนเกินสิทธิไปในปีนี้ บริษัทสามารถจะนำวันลาพักร้อนที่ลาเกินสิทธิในปีนี้ไปหักจำนวนวันลาพักร้อนในปีถัดไปได้ !

            เช่น สมมุติว่าพนักงานมีสิทธิลาพักร้อนปีละ 10 วัน แต่ปีนี้หัวหน้าอนุมัติให้ลาพักร้อนไป 12 วัน (บริษัทไม่มีการสะสมวันลาพักร้อน) บริษัทก็สามารถจะนำ 2 วันที่ลาเกินสิทธิในปีนี้ไปหักออกในปีหน้าได้

            ดังนั้น ปีหน้าพนักงานคนนี้ก็จะเหลือสิทธิพักร้อนอยู่ 8 วัน

          คำถามคือบริษัทมีระเบียบแบบนี้ผิดกฎหมายแรงงานไหม ?

            นี่แหละครับคือเรื่องที่เราคุยกันในวันนี้คือผู้บริหารไปสร้างเงื่อนไขเพื่อให้เกิดปัญหากับตัวเองในวันข้างหน้า

            หรือเปรียบเสมือนการวางกับระเบิดเอาไว้ในบ้านตัวเอง รอวันที่จะพลาดเดินไปเตะให้มันเกิดเรื่องขึ้นมา !!

          ผมได้แต่ถามกลับไปว่าทำไมบริษัทถึงไม่ให้หัวหน้าแต่ละหน่วยงานบริหารจัดการวันลาพักร้อนของลูกน้องตัวเองให้เป็นไปตามปกติที่ชาวบ้านเขาทำกัน

ลูกน้องมีสิทธิลาพักร้อนได้กี่วันก็บริหารสิทธิของลูกน้องไปตามนั้น จะไปอนุมัติให้ลาเกินสิทธิเพื่อรอให้เกิดปัญหาในวันข้างหน้าไปทำไม ?

            ถ้าจะอ้างว่าปีนี้งานน้อยก็เลยให้ลาพักร้อนเยอะ ปีหน้างานเยอะจะได้ไม่ต้องลาพักร้อนเยอะ

            แล้วถ้าปีหน้างานก็ยังน้อยอยู่อีกล่ะจะทำยังไงล่ะครับ ?

            ถ้าสมมุติว่าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานแล้วบอกว่าก็บริษัทอยากไปอนุมัติให้เขาลาพักร้อนเกินสิทธิในปีนี้ก็ถือว่าเป็นการให้สภาพการจ้างที่เป็นคุณไปแล้ว ในปีถัดไปเขาก็ยังต้องมีสิทธิเต็มอยู่ 10 วันตามเดิมสิบริษัทจะไปหักสิทธิลาพักร้อนของเขาในปีถัดไปได้ยังไง เพราะถ้าทำอย่างงั้นก็จะเท่ากันไปลดสภาพการจ้างที่เป็นคุณของเขาในปีถัดไป

          พูดง่าย ๆ คือพนักงานจะอ้างว่าก็บริษัทอนุมัติให้ลาพักร้อนเกินสิทธิในปีนี้ไปแล้ว (ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเกินสิทธิ) ก็ถือว่าเป็นการอนุมัติโดยสุจริต

บริษัทจึงไม่มีสิทธิไปหักวันลาพักร้อนคืนในปีถัดไปเพราะเป็นคนละปีกัน แม้บริษัทจะอ้างว่ามีระเบียบว่าสามารถทำได้ แต่ระเบียบนี้ขัดกฎหมายแรงงานจึงเป็นโมฆะ

            ตรงนี้ก็คงต้องอยู่ที่ศาลแล้วล่ะครับว่าท่านจะตัดสินว่ายังไง ผมคงตอบไม่ได้

          แต่ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือผู้บริหารจะไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาในอนาคตทำไมล่ะครับ ?

            หรือคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา พนักงานคงไม่ฟ้องหรอก ?

            ถ้าพนักงานยังไม่ฟ้องก็ยังไม่มีปัญหาหรอกครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่พนักงานไปฟ้องผมว่าไม่สนุกแน่ ๆ

            สู้เอาเวลาที่จะต้องมาเตรียมตัวเตรียมข้อมูล เสียเวลาขึ้นลงศาลแรงงานเสียเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์กับบริษัทดีกว่าไหมครับ ?

          หลักก็คือ สัญญาจ้าง กฎระเบียบ คำสั่ง ประกาศ ข้อบังคับใด ๆ ของบริษัทถ้าขัดต่อกฎหมายแรงงานแล้วเป็นโมฆะเสมอ ถ้าไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงานแต่เอาเปรียบลูกจ้างเกินสมควรศาลมีอำนาจสั่งให้ใช้กับลูกจ้างได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

            หวังว่าเรื่องนี้คงเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับผู้บริหารทุกท่านที่จะออกคำสั่งหรือสัญญาจ้างหรือคำสั่งหรือระเบียบใด ๆ ในอนาคตเอาไว้ด้วย

          ตบท้ายด้วยศัพท์ฮิตในยุคนี้ว่า “อย่าหาทำ” จะดีกว่าครับ

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Douglas McGregor ต้นกำเนิดทฤษฎี X Y

             คนที่เคยเรียนจิตวิทยาล้วนแต่ต้องเคยได้ยินทฤษฎี X Y ของปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาที่โด่งดังท่านหนึ่งคือ ดั๊กกลาส แมคเกรเกอร์ (Douglas McGregor ค.ศ.1906-1964 พ.ศ.2449-2507) ชาวเมืองดีทรอยส์ รัฐมิชิแกน

แมคเกรเกอร์จบปริญญาโท-เอกด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อมาก็ย้ายมาสอนที่ MIT ด้านจิตวิทยา

            ปี ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503) เขียนหนังสือชื่อ Managing the Human Side of Enterprise เนื้อหาที่สำคัญในหนังสือเล่มนี้พูดถึงพฤติกรรมของคนในรูปแบบของทฤษฎี X และ Y (โดยสรุปแบบย่อ ๆ) คือ

คนที่เป็นแบบ X จะเชื่อว่า....

-          โดยธรรมชาติของคนจะไม่ชอบทำงาน และจะพยายามหลีกเลี่ยงงานถ้าทำได้

-          ดังนั้นจึงต้องมีการบังคับ ควบคุม สั่ง (เผลอ ๆ อาจจะต้องถึงกับขู่) ให้คนทำงาน และหากคนยังไม่ขยันก็จะต้องใช้วิธีการลงโทษเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว

-          แต่ถ้าใครทำงานดีก็จะมีการให้รางวัลโดยเน้นเงินเป็นหลักเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายให้ได้

-          ผู้บริหารตามทฤษฎีนี้จะมุ่งเป้าหมายผลสำเร็จของงานเป็นหลัก

ส่วนคนที่เป็นแบบ Y จะเชื่อว่า....

-          คนเราทำงานก็เหมือนกับการเล่น หรือการพักผ่อน คนทั่วไปก็อยากจะทำงานอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

-          คนมีความกระตือรือร้นมีความรับผิดชอบ

-          หากมีการให้รางวัลหรือมีผลตอบแทนที่ดีก็จะทำให้คนเกิดความตั้งใจและเกิดแรงจูงใจในการทำงานที่ดีตามไปด้วย

-          หากมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมแล้ว คนก็จะแสวงหาความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นและมีความมุ่งมั่น

-          คนเราทุกคนจะมีความเฉลียวฉลาดมีจินตนาการและมีความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อยู่แล้วและจะสนุกไปกับงานที่ทำเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของหัวหน้า

-          ผู้บริหารตามทฤษฎีนี้จะมุ่งคนเป็นหลัก

แม๊คเกรเกอร์เชื่อว่าการบริหารจัดการคนจะมีอยู่ 2 ทางนี้แหละครับและบอกว่าการใช้ทฤษฎี Y จะจูงใจคนได้ดีกว่าทฤษฎี X โดยผู้บังคับบัญชาต้องเปิดโอกาสให้กับลูกน้องได้ใช้ความสามารถได้อย่างเต็มที่

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นหัวหน้าจะไม่ควบคุมดูแลการทำงานของลูกน้อง

ถ้าจะว่าไปแล้วคนที่เป็นหัวหน้าก็ต้องสามารถสมดุลทั้ง X และ Y ให้ดีแหละครับ

ปีค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) แมคเกรเกอร์เขียนหนังสือชื่อ The Professional Manager” แต่หนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ภายหลังจากที่เขาหัวใจวายตายกระทันหันเมื่ออายุได้ 58 ปี

ฝากผลงานทฤษฎี X และ Y อันโด่งดังไว้เป็นที่กล่าวขานกันมาจนถึงปัจจุบันนี้



วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ดาวน์โหลดฟรี หนังสือ "รวมเรื่องนักคิดจิตวิทยาและการจัดการ"

         ตามที่ผมเขียนบทความเกี่ยวกับนักจิตวิทยาที่เป็นผู้คิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่ใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานบุคคล รวมถึงนักคิดที่เป็นผู้นำเสนอเครื่องมือในการบริหารจัดการในองค์กรเป็นตอน ๆ ไปแล้ว

         ผมก็เลยรวบรวมเรื่องน่ารู้ทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันเป็น PDF File โดยใช้ชื่อว่า "รวมเรื่องนักคิดจิดวิทยาและการจัดการ" เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจให้ดาวน์โหลดได้ตามนี้ครับ

        คลิ๊ก 

https://www.dropbox.com/s/vlsvrrcvx9ixohc/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf?dl=0


วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Peter Senge เจ้าพ่อองค์การแห่งการเรียนรู้

             ใครที่ทำงานด้าน HR ในช่วงปี 2533-34 น่าจะต้องเคยได้ยินคำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Organization และ The Fifth Discipline (คำว่า Discipline ต้องออกเสียงว่า “ดิสซิปพลิน” ไมใช่ “ดิสคลิปไลน์” นะครับ)

            วันนี้เรามาทำความรู้จักกับคนที่เป็นต้นทางของคำเหล่านี้กัน

            ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Michael Senge ค.ศ.1947 พ.ศ.2490) ชาวเมืองสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เรียนจบปริญญาโท-เอกจาก MIT (Sloan)

            ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) เขียนหนังสือ The Fifth Discipline : Th Art and Practice of The Learning Organization” ที่เป็นผลมาจากงานที่เซงเก้ไปวิจัยบริษัทดัง ๆ คือ ฟอร์ด ไครสเลอร์ เอทีแอนด์ที เชลล์ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็เลยเกิดคำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Organization ตามมา

             หลายคนอาจไม่ทราบว่าคำหลายคำในหนังสือ “The Fifth Discipline” ของเซงเก้มาจากคำเดิมที่มีอยู่แล้วจากนักคิดหลาย ๆ คนที่บัญญัติศัพท์เหล่านี้เอาไว้ก่อนหน้านี้ เช่น Systems Thinking, Mental Models, Shared Vision

            เซงเก้บอกว่าองค์การที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ จะต้องมีหลัก 5 ประการในการเปลี่ยนองค์การดังนี้ครับ

1.      Systems Thinking ต้องมีการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อผลในระยะยาวโดยให้ใช้แผนผังระบบ (System Map) เพื่อจะได้มองเห็นภาพความสัมพันธ์ที่โยงใยของทั้งระบบได้ทั้งหมด เพราะคนที่มองไม่เห็นภาพทั้งระบบมักจะโทษคนอื่นเมื่อมีผลกระทบมาถึงตนเอง ถ้ามีการคิดอย่างเป็นระบบและเห็นภาพทั้งหมดแล้วจะลดปัญหาลงได้ในระยะยาว

2.      Personal Mastery การที่องค์กรจะพัฒนาให้ไปสู่ความเป็นเลิศได้ก็ต้องมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดเวลาและมีการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพัฒนาให้คนในองค์กรมีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นเลิศให้กับตนเอง

3.      Mental Models คนทุกคนจะแสดงพฤติกรรมออกมาจากความคิดที่มีผลจากจิตใจ ถ้าคนในองค์การมีแบบอย่างทางจิตใจที่ดีก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง องค์การจึงต้องสนับสนุนให้มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจะได้พัฒนาแบบอย่างทางจิตใจให้กับคนในองค์การให้เกิดพฤติกรรมในการเรียนรู้และทำให้กลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

4.      Shared Vision วิสัยทัศน์ของผู้นำมีผลต่ออนาคตขององค์การและควรจะต้องเป็นวิสัยทัศน์ร่วมให้ผู้คนในองค์การได้รับรู้ร่วมกัน ไม่ควรเป็นวิสัยทัศน์ส่วนตัวของผู้นำเพียงคนเดียวแล้วเขียนไว้ให้ดูสวยงามเพื่อให้คนท่องจำ ทุกคนจึงต้องมีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ทุ่มเทและร่วมมือกันเพื่อให้วิสัยทัศน์ร่วมกันบรรลุเป้าหมาย

5.      Team Learning เมื่อคนในองค์กรมีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันในทีมงานเพื่อให้เกิดความคิดร่วมกัน การวางแผนและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

ปัจจุบันแนวคิดในเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศก็ผ่านยุคสมัยมาถึงตอนนี้ก็ 30 กว่าปีแล้ว และก็ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนาองค์กรในยุคต่อไปครับ



วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2564

สาเหตุและแนวทางลดผลกระทบ Great Resignation หลังโควิด 19

             ต้องยอมรับกันนะครับว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบกับโลกใบนี้หลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือมีการพยากรณ์กันว่าจะมีการลาออกครั้งใหญ่หรือ Great Resignation ของพนักงานทั่วโลก

            มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคือ

1.      กระทรวงแรงงานของสหรัฐแจ้งว่าในเดือนเมษายน 2564 มีคนลาออกจากงาน 4 ล้านคนซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

2.      บริษัทจัดหางาน Bankrate ระบุว่า 55 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานกำลังจะหางานใหม่ภายในปีหน้า

3.      บริษัทไมโครซอฟท์บอกว่าพนักงานของตัวเอง 41 เปอร์เซ็นต์กำลังคิดจะเปลี่ยนอาชีพและ0tลาออกภายในสิ้นปี 2564

4.      บริษัท Personio (เป็นบริษัทซอฟแวร์ด้าน HR) สำรวจคนทำงานในอังกฤษและไอร์แลนด์พบว่า 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนจะลาออกในอีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

(ข้อมูลข้างต้นมาจากเว็บไซด์ workpointtoday.com วันที่ 2 กย.2564)

จากข้อมูลข้างต้นผมก็เลยมาคิดต่อว่าในเมืองไทยจะมีโอกาสเกิดปัญหาการลาออกครั้งใหญ่เหมือนข่าวในต่างประเทศหรือไม่

“ถ้า” ในบ้านเราจะมีโอกาสเกิดปัญหาดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุมาจากเรื่องไหนบ้าง ?

ผมก็เลยสรุปสาเหตุเบื้องต้นเอาไว้อย่างนี้ครับ

1.      Mindset ของทั้งนายจ้างและลูกจ้างเปลี่ยนไป เช่น ฝั่งนายจ้างก็จะเริ่มเห็นว่าบางตำแหน่ง บางงานไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานแต่สามารถให้ทำงานที่ไหนก็ได้เพียงแต่ส่งผลลัพธ์ของงานที่ต้องการมาให้เท่านั้นก็พอ

ดังนั้นเรื่องของเวลาในการเข้าทำงานหรือเข้าที่ทำงานจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็น บริษัทก็อาจจะตกลงเปลี่ยนสภาพการจ้างใหม่กับพนักงาน

ในขณะที่ฝั่งของลูกจ้างเองก็เริ่มเคยชินกับสภาพการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนไป รู้สึกว่าตัวเองมีอิสระมากขึ้น ได้ทำงานอะไรที่จะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตมากขึ้น ก็เลยไม่อยากกลับไปใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ Office เหมือนเดิม ก็จะเริ่มมองหาบริษัทที่ให้เงื่อนไขใหม่ ๆ นี้กับตัวเอง

2.      ลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายของตัวเอง (ถ้ามีการเปลี่ยนสภาพการทำงานใหม่) ไปได้หลายเรื่อง เช่น ฝั่งนายจ้างจะประหยัดค่าเช่าสถานที่ทำงาน, ค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, ค่าวัสดุสำนักงาน ฯลฯ

ส่วนฝั่งลูกจ้างจะประหยัดค่าเดินทางมาทำงาน, ค่าใช้จ่ายกินอยู่ระหว่างทำงาน แถมยังมีเวลาเหลือ (ที่ไม่ต้องหมดเวลาไปกับเดินทางไปทำงาน) มาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองและครอบครัว รวมถึงไม่ต้องมาเสียสุขภาพกับมลภาวะทั้งระหว่างการเดินทางและในที่ทำงาน (บางบริษัท) แถมมีเวลาดูแลสุขภาพของตัวเองทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อีกต่างหาก

3.      ถูกปฏิบัติจากฝ่ายบริหารอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับคำสั่ง ที่เอาเปรียบพนักงานเกินควรมาแต่เดิม รวมไปถึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากหัวหน้าจนถึงจุดฟางเส้นสุดท้าย ก็เลยถือโอกาสช่วงโควิดนี้เปลี่ยนงานไปหาที่อื่นที่คิดว่าจะดีกว่านี้

4.      เกิดภาวะ Burnout Syndrome พนักงานที่เหนื่อยล้าจากการทำงานแบบเดิมมานานก็อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่าหมดไฟและหมดใจในการทำงาน (ในที่ทำงานปัจจุบัน) ที่เรียกว่า “Burnout Syndrome” ก็เลยมองหางานใหม่

5.      ตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะหาคนมาทำงานด้วยสภาพการทำงานใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากที่ผมเล่ามาข้างต้นว่าจากสถานการณ์โควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ Mindset ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นฝั่งนายจ้างหรือลูกจ้าง ซึ่งทางฝั่งของบริษัทหลายแห่งก็จะมีการเปลี่ยนนโยบายในการรับคนเข้าทำงานที่ไม่ต้องเข้าที่ทำงานทุกวันและมีการยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้นซึ่งก็ตรงกับความต้องการของลูกจ้าง จึงเป็นโอกาสของคนที่จะเริ่มมองหางานในวิถีการทำงานแบบใหม่อย่างที่ตัวเองคาดหวังเพิ่มขึ้น

แล้วจะลดผลกระทบเรื่องนี้ได้ยังไง ?

1.      ทบทวนนโยบายที่ไม่เป็นธรรม บริษัทควรตรวจสอบดูว่ามีนโยบายใดบ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือผิดกฎหมายแรงงาน เช่น การออกกฎ ระเบียบ คำสั่งข้อบังคับ การทำสัญญา ประกาศ ฯลฯ ถ้ามีนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน หรือเอาเปรียบมากเกินไปก็ต้องปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่

2.      แก้ไขปัญหาที่ตัวหัวหน้าเพื่อลดการลาออก โดยสำรวจดูว่ามีหัวหน้า/ผู้บริหารในหน่วยงานไหนที่ขาดทักษะในการบริหารลูกน้อง มีการปฏิบัติกับลูกน้องอย่างไม่เป็นธรรม มีปัญหาด้าน ทัศนคติ EQ, Leadership แล้วทำแผนหาทางพัฒนาหัวหน้า/ผู้บริหารที่มีปัญหาเหล่านี้

เรื่องนี้จากประสบการณ์ผม ผมเห็นว่าแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายในการแก้ปัญหานี้ แต่ถ้าผู้บริหารระดับสูงรู้ปัญหาแล้วยังหลับตาข้างหนึ่ง หรือยังปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ยังไม่แก้ไขนี้อย่างจริงจังก็จะเกิดปัญหาแบบเดิม ๆ วนเวียนไม่จบสิ้น เพราะสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้คนตัดสินใจลาออกก็คือหัวหน้าครับ

ผู้บริหารระดับสูงจึงต้องกล้า Feedback ตัวปัญหาและหาทางแก้ไขแบบจริงจัง

3.       ทบทวนวิธีการทำงานใหม่ โดยมุ่งผลลัพธ์ของงานเป็นหลักมากกว่าการลงเวลามาทำงาน งานไหนที่จะ WFH ได้ งานไหนที่ควรจะ Outsource ออกไป จะปรับเปลี่ยนระบบหรือวิธีการทำงานแบบไหนถึงจะเหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เรื่องนี้ฝ่ายบริหารต้องมาวิเคราะห์ลักษณะของงานในองค์กรร่วมกันแบบแยกแยะความแตกต่างของแต่ละตำแหน่งงาน ไม่ควรมองแบบองค์รวม แล้วหาข้อสรุปเกี่ยวกับวิธีการทำงานใหม่ร่วมกัน

4.      ทบทวนระบบค่าตอบแทนและสวัสดิการให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ เช่น ความแตกต่างระหว่างการจ่ายค่าตอบแทนคนที่เข้าทำงานตามปกติ, คนที่ทำงานแบบ WFH, คนที่ทำงานแบบ Outsource ฯลฯ จะมีระบบการจ่ายแบบไหน ยังไง มีเงื่อนไขอะไรบ้าง หรือวิธีการประเมินผลงานเพื่อการขึ้นเงินเดือน, การปรับเงินเดือน, การจ่ายโบนัสของคนแต่ละกลุ่มควรทำอย่างไร เป็นต้น

5.      สำรวจปัญหาในองค์กรที่จะทำให้พนักงานเกิด Burnout แล้วหาทางแก้ไข

ทั้งหมดนี้หวังว่าจะเป็นไอเดียให้กับท่านที่กำลังวางแผนรับมือกับการทำงานแบบ Next Normal เพื่อนำไปปรับใช้กันดูนะครับ



วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Frederick Herzberg กับทฤษฎีสองปัจจัย

             คนเราเมื่อคิดจะทำอะไรก็ตามล้วนแต่ต้องมีแรงจูงใจอยู่เบื้องหลังการคิดและการตัดสินใจแต่ละครั้งอยู่เสมอ

            ท่านว่าจริงไหมครับ ?

            ถ้าพูดถึงเรื่องแรงจูงใจก็ต้องนึกถึงศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่เป็นต้นตำรับคิดทฤษฎีที่เกี่ยวกับแรงจูงใจชื่อว่า “ทฤษฎีสองปัจจัย” ที่คนเรียนจิตวิทยารู้จักกันดีคือ “เฮิร์ซเบิร์ก” ครับ

            เฟรเดอริก เฮิร์ซเบิร์ก (Frederick Irving Herzberg - ค.ศ.1923-2000 พ.ศ.2466-2543) เกิดที่รัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Pittsburgh

            เฮิร์ซเบิร์กได้รับแรงบันดาลใจให้ศึกษาเรื่องการจูงใจตอนที่เป็นทหารประจำการอยู่ที่ประเทศเยอรมนีแล้วได้พูดคุยกันชาวบ้านแถวฐานที่ตั้งพบว่าคนแถวนั้นมีระดับแรงจูงใจในเรื่องต่าง ๆ ที่สูงมาก

            เฮิร์ซเบิร์กเขียนหนังสือชื่อ Motivation of Work” ในปีค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) ร่วมกับ Bernard Mausner และ Babara Synderman โดยบอกว่าความพึงพอใจในการทำงานไม่ได้มีเพียงมิติเดียวด้านเดียว แต่จะเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ

1.      ปัจจัยอนามัย (Hygiene Factor) ปัจจัยตัวนี้ในตำรามักจะแปลเอาไว้แบบนี้ แต่ผมอ่านแล้วก็จะงง ๆ และไปเข้าใจถึงเรื่องของสุขอนามัยหรือสุขภาพความเจ็บป่วยซะงั้น ก็เลยขอแปลแบบตรง ๆ ว่า “ปัจจัยภายนอก” นะครับจะได้ไม่ไปเข้าใจปะปนกับเรื่องสุขศึกษาอนามัย

เฮิร์ซเบิร์กบอกว่าปัจจัยตัวนี้ถือเป็น “ปัจจัยภายนอก (Extrinsic Factor) ที่องค์กรต้องมีให้กับพนักงานแบบ “ขาดไม่ได้” เพราะถ้าขาดเมื่อไหร่ก็จะทำให้เกิดปัญหาความไม่พอใจจากพนักงานเอาได้ง่าย ๆ

แต่ปัจจัยภายนอกตัวนี้ถึงเพิ่มเข้าไปมากขึ้นเท่าไหร่ก็ไม่ได้แปลว่าพนักงานจะทุ่มเทมากขึ้นในการพัฒนาตัวเองให้มีประสิทธิภาพในงานที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วยเสมอไป ปัจจัยประเภทนี้คือ

1.1   ค่าตอบแทนและผลประโยชน์พนักงาน

1.2   นโยบายในการบริหารจัดการของบริษัท

1.3   ปฏิสัมพันธ์ในระหว่างพนักงานด้วยกัน

1.4   การควบคุมบังคับบัญชาของหัวหน้า

1.5   สภาพแวดล้อมในการทำงาน

1.6   สถานะความมีตัวตนในการทำงาน เช่น การได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ

1.7   ความมั่นคงในงาน

2.      ปัจจัยจูงใจ (Motivation Factor) เฮิร์ซเบิร์กบอกว่าปัจจัยตัวนี้แหละครับที่จะทำให้คนทำงานได้อย่างมีความสุข มีประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น มีความรักในองค์กรและเพื่อนร่วมงานมากขึ้นและถือว่าเป็น “ปัจจัยภายใน” หรือ “Intrinsic Factor” ครับ

ตัวอย่างของปัจจัยภายใน เช่น

2.1 การได้รับการยอมรับ หรือได้รับคำชมเชยจากคนรอบข้างในที่ทำงาน

2.2 ความสำเร็จในงานที่ทำ

2.3 ได้รับผิดชอบงานที่ท้าทาย น่าสนใจ หรือเป็นงานที่สำคัญ

2.4 การได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา

2.5 การได้รับความก้าวหน้าได้รับการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง

มีข้อสังเกตว่าปัจจัยภายในที่เป็นปัจจัยจูงใจนี้เป็นเรื่องของจิตใจล้วน ๆ ถึงแม้จะไม่มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ก็มีความสำคัญในการจูงใจคนไม่แพ้ปัจจัยภายนอกเลยนะครับ

ในขณะที่ถ้าใช้ปัจจัยภายนอกในการจูงใจคนมากจนเกินไปก็อาจจะเกิดผลเสียตามมาประเภท “เงินไม่มา งานไม่เดิน” ก็เป็นได้

การสมดุลระหว่างปัจจัยภายนอกและภายในในการจูงใจคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

จากแนวคิดทฤษฎีของเฮิร์ซเบิร์กนี่แหละครับจึงเป็นที่มาของการนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรต่าง ๆ เพื่อจูงใจและรักษาคนที่ดีมีคุณค่าเอาไว้ให้อยู่กับองค์กรเพื่อทำให้องค์กรเติบโตก้าวหน้าต่อไป

เมื่อไหร่ที่พูดถึงเรื่องของแรงจูงใจก็ต้องเป็นเฮิร์ซเบิร์กนี่แหละครับที่ยืนหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน



วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์

             ก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงคาร์ล ยุง (Carl Jung) ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังต้นตำรับที่ทำให้เกิดแนวคิด MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) ที่โด่งดังในเวลาต่อมา

ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงเรื่องที่คาร์ล ยุงเคยทำงานร่วมกับปรมาจารย์ชื่อดังด้านจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งคือซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือจะออกเสียงแบบออสเตรียว่าซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud ค.ศ.1856-1939 พ.ศ.2399-2482) ถ้าจะไม่พูดถึงซิกมันด์ ฟรอยด์เลยก็ยังไงอยู่

            วันนี้ผมก็เลยขอนำเรื่องราวของอีกหนึ่งปรมาจารย์ชื่อดังด้านจิตวิทยาท่านนี้มาเล่าสู่กันฟังจะได้หายคาใจ (ของผมเองแหละ)

            ซิกมันด์ ฟรอยด์มีเชื้อสายยิวที่เกิดในสาธารณรัฐเชคซึ่งขณะนั้นอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย ในวัยเด็กฟรอยด์จะมีความสามารถด้านวิชาเรียงความทำให้เขามีภาษาเขียนที่ดี

ต่อมาเขาก็เข้าเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนาแต่ขณะนั้นยังเรียนไม่จบเพราะไปสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเพศของปลาไหลและทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลาไหลจนสำเร็จ ซึ่งทำให้ฟรอยด์หันเหความสนใจไปศึกษาเรื่องสรีระศาสตร์แทน

            ที่สถาบันสรีระศาสตร์นี่เองที่ทำให้ฟรอยด์สนใจศึกษาด้านจิตและประสาทวิทยาและกลับมาเรียนแพทย์จนสำเร็จในปีค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)

            ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) ฟรอยด์เป็นอาจารย์สอนด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาและได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น และในปีนี้เองเขาก็ได้รับทุนไปดูงานด้านจิตเวชศาสตร์ที่กรุงปารีส ได้เรียนรู้การบำบัดโรคฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิตผู้ป่วย

            แต่เมื่อเขานำความรู้ด้านนี้กลับมาที่เวียนนากลับไม่ได้รับความสนใจทำให้ฟรอยด์ผิดหวังและหันไปทำคลีนิกส่วนตัวและรับรักษาผู้ป่วยแบบจิตบำบัดโดยเฉพาะการรักษาโรคฮิสทีเรียกับการสะกดจิตที่เขาเรียนรู้มา

          ตรงนี้ผมขอขยายความให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) กันก่อนนะครับ

            หลายคนยังเข้าใจว่าโรคฮิสทีเรียคือโรคที่มักเกิดกับผู้หญิงที่บ้าผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศสูงและขาดผู้ชายไม่ได้

            ที่จริงแล้วโรคฮิสทีเรียไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจกันแบบผิด ๆ ข้างต้นนะครับ

          ความจริงก็คือโรคฮิสทีเรียคือโรคทางจิตเวชที่เกิดได้ทั้งหญิงและชายโดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลหรือควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้เหมือนคนปกติทั่วไป

          โดยผู้ป่วยอาจเกิดความขัดแย้งในจิตใจของตนเองอย่างรุนแรงจนทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มองไม่เห็นภาพ หรือพูดจาแสดงท่าทางเกินจริงเพื่อให้คนรอบข้างสนใจ หรืออารมณ์แปรปรวนไม่คำนึงถึงจิตใจของคนอื่น มีอารมณ์โกรธรุนแรงแม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ

            ถึงตรงนี้เราคงเข้าใจอาการของฮิสทีเรียตรงกันแล้วนะครับ

          ผลงานของฟรอยด์ที่ช่วงแรก ๆ ไม่ได้รับการยอมรับ แต่ต่อมาเขาก็ได้ศึกษาทดลองและปฏิบัติจริงจนคนยอมรับคือการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psycho Analysis)

โดยการให้ผู้ป่วยเล่าความคับข้องใจและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นและลดความขัดแย้งในใจทำให้ผู้ป่วยหลายรายหายจากอาการอัมพาตได้

ฟรอยด์ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ของมนุษย์โดยแบ่งจิตออกเป็น 3 ระดับคือ

1.      จิตรู้สำนึก (Conscious Mind) คือจิตที่รู้ตัวตนของเราและแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

2.      จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind) คือจิตที่รู้ตัวในขณะนั้นแต่ไม่ได้แสดงพฤติกรรมออกมา เช่น ลูกน้องถูกหัวหน้าลวนลามบอกกับใครไม่ได้เพราะรู้สึกอับอายก็ต้องทนเก็บไว้ในใจ และรู้ตลอดเวลาเมื่อไหร่ที่อยู่ในที่ลับตาคนหัวหน้าจะฉวยโอกาสลวนลาม

3.      จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind) เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของแต่ละคนและถูกเก็บกดเอาไว้ในส่วนลึกและจะแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การเผลอเรียกชื่อแฟนใหม่เป็นชื่อแฟนเก่า เป็นต้น

            นอกจากนี้ฟรอยด์ยังศึกษาโครงสร้างของจิต (The Ego and the Id) ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีโดยอธิบายว่าจิตประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.      Id (อิด) คือสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือสันดานดิบของคนที่จะแสดงพฤติกรรมไปตามความพอใจของตนเอง เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหนีจากอันตราย โดยไม่คำนึงถึงค่านิยมทางสังคมถ้าใครมีบุคลิกภาพแบบนี้สังคมจะไม่ยอมรับ

2.      Ego (อีโก้) คือส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมของ Id เอาไว้ได้โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม การอบรมสั่งสอน ศีลธรรมจรรยาที่ดี ทำให้คนแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมกับกาละเทศะ ได้รับการยอมรับในสังคม

3.      Superego (ซุปเปอร์อีโก้) คือส่วนที่เป็นมโนธรรมที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างดีทำให้มีศีลธรรมจรรยา รู้จักการยับยั้งชั่งใจสามารถควบคุมพฤติกรรมให้แสดงออกในทางที่ดีกว่าปกติ

เนื่องจากฟรอยด์มีเชื้อสายยิวจึงทำให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเขาต้องลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน ประเทศอังกฤษและได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกราชสมาคมแพทย์แห่งลอนดอน และเสียชีวิตในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) ที่บ้านพักในกรุงลอนดอน

แปลกแต่จริงว่าถึงแม้ฟรอยด์จะศึกษาและสอนเรื่องเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์มามากมายหลายเรื่อง แต่ตัวเขาเองกลับไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่ถึงขนาดบันทึกเรื่องของเขาไว้ว่าตัวเขาเองเป็นผู้ป่วยคนสำคัญที่เขาอยู่ด้วยมากที่สุด

แนวคิดด้านจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญและได้รับการศึกษาวิจัยในรุ่นต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันครับ