วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565

พนักงานยื่นใบลาออก..บริษัทต้องจ่ายค่าพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่ลาออกให้หรือไม่

             มีคำถามเกี่ยวกับการลาออกและการลาพักร้อนว่า....

“กรณีที่บริษัทไม่มีการให้สะสมวันลาพักร้อน (คือใช้พักร้อนให้หมดไปปีต่อปี) ถ้าหากพนักงานยื่นใบลาออกจะสามารถใช้สิทธิลาพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่ลาออกได้หรือไม่ ?

ถ้าบริษัทไม่อนุญาตให้ลาพักร้อนตามส่วน (Prorate) บริษัทจะต้องจ่ายค่าพักร้อนหรือไม่ ?”

            เพื่อให้เข้าใจตรงกันผมขอยกตัวอย่างจะได้เข้าใจง่าย ๆ อย่างงี้ครับ

สมมุติว่านาย A มีสิทธิลาพักร้อนใด้ปีละ 12 วัน นาย A ยื่นใบลาออกวันที่ 1 มิย. มีผลวันที่ 1 กค. (ยื่นใบลาออกล่วงหน้าตามระเบียบบริษัท 30 วัน) แต่เนื่องจากตั้งแต่เดือนมค. จนถึงวันที่ยื่นใบลาออก นาย A ยังไม่เคยใช้สิทธิลาพักร้อน ก็เลยยื่นขอลาพักร้อน 6 วันตามส่วนในปีที่ลาออก (1 มค.ถึง 30 มิย.)

ถ้าบริษัทไม่อนุญาตให้นาย A พักร้อน คำถามคือบริษัทจะต้องจ่ายค่าพักร้อน 6 วัน (Prorate) คืนกลับให้นาย A หรือไม่?

แล้วท่านคิดว่าเคสนี้บริษัทควรจะต้องจ่ายค่าพักร้อน 6 วันให้นาย A ไหมครับ ?

จากที่ผมถามมาหลายบริษัทส่วนใหญ่จะตอบว่า ถ้าไม่ติดขัดอะไรก็จะอนุมัติให้นาย A พักร้อน 6 วัน แต่ถ้าไม่สามารถให้นาย A พักร้อนได้บริษัทก็จะจ่ายเป็นเงินกลับมาให้ 6 วัน

บริษัทของท่านทำแบบนี้หรือเปล่าครับ ?

แล้วอยากทราบไหมครับว่า แล้วที่ถูกต้องน่ะคือยังไง ?

คำตอบคือ....

บริษัทมีสิทธิไม่อนุญาตให้นาย A พักร้อนแบบ Prorate ได้ครับ !

          แถมบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนแบบ Prorate ให้กับนาย A ด้วยอีกต่างหาก !!

          พูดง่าย ๆ ว่าจากตัวอย่างข้างต้นคือ..นาย A ไม่มีสิทธิลาพักร้อน Prorate 6 วันในปีที่ลาออกครับ

            เพราะอะไร ?

เพราะมาตรา 67 ของกฎหมายแรงงานบอกไว้ว่า "ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30"

            "ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณีตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30"

            จะเห็นได้ว่าในวรรคแรกที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง (หรือที่เราเรียกว่า Prorate) มีได้กรณีเดียวคือลูกจ้างต้องถูกเลิกจ้างที่ไม่ใช่กรณีที่ลูกจ้างทำความผิดร้ายแรงตามม.119

            เพราะเหตุนี้ลูกจ้างที่ลาออกเองจึงไม่ได้สิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปีที่ลาออกครับ

            อีกทั้งยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎ.8324/2544 ซึ่งนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในเรื่องนี้คือ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8324/2544  : “....การจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนในปีที่เลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 หาได้นำมาใช้บังคับแก่กรณีลูกจ้างลาออกจากงานโดยความสมัครใจด้วยไม่ เพราะการลาออกโดยความสมัครใจของลูกจ้างย่อมไม่เป็นการกลั่นแกล้งของนายจ้าง....”

            ดังนั้นจึงสรุปเรื่องนี้ได้ว่า ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกในปีใด สิทธิการลาพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีนั้นจะถูกยกเลิกได้ทันทีโดยบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่พนักงานลาออกคืนให้พนักงานครับ