วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566

ใครมีอำนาจเซ็นหนังสือตักเตือนกันแน่ ?

             ขึ้นหัวเรื่องมาด้วยคำถามแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะตอบตรงกันว่า “ก็หัวหน้าน่ะสิ”

            หัวหน้าหมายถึงคนที่มีลูกน้องไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม เช่น Sub Leader, Leader, Supervisor, ผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ, AVP, VP, SVP, Director ฯลฯ

          ถามอีกครั้งว่า “แน่ใจไหมครับ ?”

            การที่องค์กรอยากให้หัวหน้ามีอำนาจตักเตือนลูกน้องได้เมื่อลูกน้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ขาดงานไม่มีเหตุผลอันสมควร, มาสายบ่อย, เกเร, ไม่รับผิดชอบการงาน ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ

            แต่อย่าลืมมอบอำนาจให้หัวหน้ามีอำนาจในการตักเตือนลูกน้องเอาไว้ด้วย

            โดยเฉพาะการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (หรือเรามักจะเรียกกันว่าหนังสือตักเตือน) ที่มีผลทางกฎหมายแรงงานนั้น จะต้องลงนามโดยผู้ที่มีอำนาจในการตักเตือนครับ

            ซึ่งคนที่มีอำนาจในการตักเตือนก็ต้องเป็น “นายจ้าง” หรือ “ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงาน

          สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าหัวหน้าออกหนังสือตักเตือนลูกน้อง แต่หัวหน้าไม่ได้รับมอบอำนาจในการตักเตือนจากกรรมการผู้จัดการ หนังสือตักเตือนนั้นก็จะใช้อ้างอิงว่าเป็นหนังสือตักเตือนไม่ได้

            ผมมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงานมาประกอบตามนี้ครับ

ฎ.1543/2526

“..การที่หัวหน้าแผนกของนายจ้างออกใบเตือนแก่ลูกจ้างโดยไม่ปรากฎว่าผู้มีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างของนายจ้างมอบหมายอำนาจในการออกใบเตือนให้ จะถือว่าหัวหน้าแผนกเป็นตัวแทนของนายจ้างในการออกใบเตือนด้วยหาได้ไม่..”

            บริษัทไหนที่ยังไม่มีการมอบอำนาจให้หัวหน้ามีอำนาจในการตักเตือนลูกน้องก็ควรทำไว้นะครับ ที่มักจะทำกันก็คือจะอยู่ในระเบียบการบริหารงานบุคคลในเรื่องการมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัย โดยระบุให้ชัดเจนว่ากรรมการผู้จัดการมอบอำนาจให้ผู้บริหารตำแหน่งใดบ้างมีอำนาจในการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชา

            รู้อย่างนี้แล้ว HR อย่าลืมทำเรื่องการมอบอำนาจตักเตือนในบริษัทของท่านให้ถูกต้องจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ตามมาในภายหลังนะครับ



วันอังคารที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2566

เงินเดือนควรเป็นความลับหรือไม่ ?

             หัวเรื่องนี้มาจากคนที่เป็น Friend ในเฟซบุ๊กของผมบอกมาว่าอยากจะให้เขียนเรื่องนี้ ผมก็มาคิดย้อนดูว่าเราก็ทั้งบรรยายเขียนบทความเรื่องเกี่ยวกับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนมาก็หลายปี แต่ไม่เคยพูดเรื่องนี้แบบเฉพาะเจาะจงสักที ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ในความเห็นส่วนตัวของผมมีอยู่หลายมุมมองก็เลยขอเอามาเล่าสู่กันฟังตามนี้นะครับ

มุมมองที่ 1 : มุมมองด้าน Payroll

            ในมุมมองนี้จะพูดตรงกันว่า “เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ” สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้คือจะมีการให้ Payslip กันเป็นรายบุคคล

แถมบางบริษัทก็มีกฏเหล็กทำนองว่าเรื่องเงินเดือนเป็นความลับ ใครเอามาบอกกันมีโทษถึงโดนไล่ออก !!

ทำไม่เงินเดือนถึงต้องลับ ? ก็เพราะ....

1.      กลัวว่าถ้าพนักงานรู้จะทำใจไม่ได้ เพราะสัจธรรมที่ว่า “เงินเดือนของเราได้เท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” นั่นแหละครับ

2.      พอทำใจไม่ได้ก็จะมีดราม่าตามมาสารพัด เช่น อย่างเบาะ ๆ ก็โกรธ (งอน) หัวหน้าไปสักพัก ความตั้งใจทำงานลดลง (เพราะเซ็งหัวหน้า) ผลงานตกต่ำลง,

ถ้าหนักกว่านี้ก็จะเดินไปหาหัวหน้าเพื่อขอให้ปรับเงินเดือนเพิ่ม หนักยิ่งกว่านั้นก็อาจจะมีการรวมตัวกันไปเรียกร้องฝ่ายบริหาร หรือคนที่คิดว่าตัวเองมีของมีฝีมือก็ลาออกไป ฯลฯ

ผู้บริหารก็เลยคิดว่าให้เงินเดือนเป็นเรื่องลับเสียจะดีกว่าเป็นแน่แท้

มุมมองที่ 2 : มุมมองด้านการสรรหาว่าจ้าง

            แปลกแต่จริงว่าแม้มองในมุม Payroll ว่าเงินเดือนเป็นเรื่องลับ แต่พอไปอยู่ในซีกของ Recruit & Selection กลับเอาตำแหน่ง (ทั้งมีและไม่มีประสบการณ์) พร้อมอัตราเงินเดือนไปลงในประกาศรับสมัครงานซะงั้น

            ในมุมมองของบริษัทที่ลงประกาศรับสมัครงานพร้อมแจ้งอัตราเงินเดือนก็มีเหตุผลว่าถ้าไม่ลงอัตราเงินเดือนเอาไว้ก็อาจจะไม่จูงใจให้คนอยากมาสมัครงานกับเรา

            แต่ถ้ามองในมุมของพนักงานบริษัทเราที่ดำรงตำแหน่งเดียวกันนั้น

แต่เงินเดือนยังไม่ถึงตามประกาศรับสมัครงานอยู่ล่ะ เขาจะคิดยังไง ?

            หรือบางบริษัทอาจจะไม่ได้ลงอัตราเงินเดือนเอาไว้ในประกาศรับสมัครงานก็จริง

            แต่เวลาสัมภาษณ์แล้วผู้สมัครถามว่าที่เขาขอเงินเดือนตามที่ระบุไว้ในใบสมัคร บริษัทจะให้ได้หรือไม่

            ก็จะเจอกรรมการสัมภาษณ์ที่เป็น Line Manager ที่อยากจะได้ตัวผู้สมัครรายนี้มาก ก็จะตอบทำนองว่า....

            “ก็น่าจะอยู่ในโครงสร้างของบริษัทนะ” หรือ “เดี๋ยวจะคุยกับ HR ให้” หรือหนักกว่านั้นคือ “สบายมากเลยน้อง คนเก่าก่อนหน้านี้ที่เขาลาออกไปยังได้เยอะกว่านี้อีก”

            ลองคิดดูนะครับว่าถ้าท่านเป็นผู้สมัครงานแล้วกรรมการสัมภาษณ์ตอบมาทำนองนี้ ท่านคิดว่าเราจะได้เงินเดือนตามที่ขอไปหรือไม่ ?

            เมื่อออกมาจากห้องสัมภาษณ์ ผู้สมัครรายนี้ก็โพสตั้งกระทู้ในเว็บไซด์ชื่อดังว่า “วันนี้เรามาสัมภาษณ์ตำแหน่ง......บริษัท.......เขาให้เงินเดือนเรา 40,000 เพื่อน ๆ ว่าไง ?”

            แล้วถ้าพนักงานในบริษัทของเราในตำแหน่งเดียวกันนี้แต่เงินเดือนปัจจุบัน 37,000 บาท ไปเปิดอ่านกระทู้นี้เข้า สัจธรรม “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่ ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” จะตามมาไหมครับ ?

            ทั้ง ๆ ที่บริษัทเราก็ยังไม่ชัวร์เลยว่าจะรับผู้สมัครรายนี้เข้ามาทำงานหรือเปล่า แต่อัตราเงินเดือนตามตำแหน่งงานก็หลุดออกไปสู่โลกโซเชียล (และไปถึงบริษัทคู่แข่ง) เรียบร้อยแล้ว

          ดูมันจะย้อนแย้งกับนโยบายเรื่อง “เงินเดือนเป็นความลับ” ไหมครับ ?

            เล่าเรื่องมาจนถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าจะทำให้ได้มีไอเดียกลับไปทบทวนดูนะครับว่าจะเอาไงดีกับเรื่องนี้

มุมมองที่ 3 : มุมมองด้านการบริหารค่าจ้างเงินเดือน

            ปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยมุมมองที่ 3 คือ ถ้าเราบอกว่าเงินเดือนเป็นความลับ แต่ผมจะขอเติมว่า “หลักเกณฑ์ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือน” ของบริษัทไม่ใช่ความลับนะครับ

            นั่นคือบริษัทของท่านควรจะต้องมีระเบียบหรือหลักเกณฑ์ในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนให้ชัดเจนและประกาศให้พนักงานรับทราบว่าเรามีกติกาในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนยังไงบ้าง เช่น....

            ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา, ระเบียบเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและจ่ายโบนัส, ระเบียบเกี่ยวกับการให้ค่าตำแหน่ง, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ระเบียบเกี่ยวกับค่ารับรอง, ระเบียบการจ่ายค่าคอมมิชชั่น, ระเบียบการจ่ายค่าน้ำมัน, ระเบียบการจ่ายค่ารถ, ค่า Car Allowance, ระเบียบการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ฯลฯ

            ระเบียบเกี่ยวกับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนตามที่ผมบอกมาข้างต้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ผมยืนยันว่าบริษัทจำเป็นจะต้องมี และจะเป็นกติการ่วมกันเพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนในบริษัทเป็นไปอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม แม้ว่าเรื่องเงินเดือนจะเป็นความลับก็ตามครับ



วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2566

ประเภทของหัวหน้ากับการพัฒนาลูกน้อง

            ผมมักเจอหัวหน้า 2 ประเภทหลัก ๆ คือ....

          ประเภทแรก : มีปัญหาด่าไว้ก่อน

หัวหน้าที่สั่งงานลูกน้องไปแล้วเวลาลูกน้องมีปัญหากลับมาถามก็จะเจอด่าไว้ก่อน (แต่คงไม่ใช่พ่อสอนไว้) เช่น “ผมให้คุณไปทำงานอะไรก็ดูมีปัญหาไปซะทุกเรื่องเลยนะ ทำงานมาตั้งหลายปีแล้วรู้จักแก้ปัญหาเองบ้างสิ ไม่ใช่อะไร ๆ ก็วิ่งมาถามผมอยู่นั่นแหละ มาถามอะไรกันตอนนี้ผมไม่มีเวลา พี่ต้องการให้งานเสร็จวันที่......ไปทำให้ได้ก็แล้วกัน”

            หรือ “พี่ไม่มีหน้าที่มารับฟังปัญหาของคุณไปทำมาให้ได้ก็แล้วกัน จบนะ....”

            อย่างงี้จะมีหัวหน้าไปเพื่อ....?

          ประเภทที่ 2 : มีปัญหารอหัวหน้าสั่ง

หัวหน้าประเภทนี้คือเมื่อสั่งงานลูกน้องไปแล้ว พอลูกน้องเจอปัญหาแล้วกลับมาถามหัวหน้า หัวหน้าก็จะเป็นเหมือนพี่ใหญ่ที่มีอำนาจมีความสำคัญที่รู้ทุกเรื่องที่จะคอยบอก (ก็คือ “สั่ง”) ให้ลูกน้องแก้ปัญหาตามสั่ง เช่น “อ๋อ..ปัญหานี้น้องไปทำอย่างงี้เลยนะ 1,2,3,4,5,6,7,8….” แล้วลูกน้องก็ต้องทำตามที่หัวหน้าสั่งการ

ดูผิวเผินในมุมของลูกน้องก็ดีนะครับ เพราะพอมีปัญหาอะไรก็วิ่งไปหาพี่เขาเดี๋ยวพี่เขาก็บอกเองแหละว่าจะให้เราทำอะไร ลูกน้องก็ไม่ต้องใช้สมองคิดอะไรให้มาก ทำตามที่พี่เขาสั่งมาทุกปัญหาก็จบ ??

            แต่..ถ้าหัวหน้าทำอย่างนี้และติดวิธีนี้คิดว่าเป็นวิธีช่วยลูกน้องแก้ปัญหาที่ดีแล้ว ผมว่าหัวหน้ากำลังแก้ปัญหานี้เพื่อสร้างปัญหาใหญ่กว่าในอนาคตแล้วล่ะครับ

            เพราะหัวหน้าประเภทนี้มักจะไปบ่นกับคนรอบข้างอยู่เสมอ ๆ ว่า “โอย..เหนื่อยใจจริง ๆ ลูกน้องผมคิดอะไรเองไม่เป็นเลยจริง ๆ มีปัญหาอะไรก็ต้องวิ่งมาหาผมทุกครั้ง ขนาดผมป่วยนอนโรงพยาบาลยังโทรมาให้ผมช่วยแก้ปัญหาเลย....”

            อย่างงี้หัวหน้าก็เหนื่อย ลูกน้องก็คิดเองไม่เป็นและโตต่อไปได้ยากนะครับ

            งั้นหัวหน้าควรทำยังไง ?

            ก็เป็นประเภทที่ 3 : สิครับคือหัวหน้าที่เป็นพี่หรือเป็นเพื่อนที่คอยเป็นที่ปรึกษาหรือเป็น Coach ให้กับลูกน้อง

            หลักการสำคัญคือไม่ควรด่าหรือปัดความรับผิดชอบเสียทั้งหมด (เหมือนหัวหน้าประเภทที่ 1) และก็ไม่ใช้วิธี “สั่ง” ลูกน้องทุกครั้ง (เหมือนหัวหน้าประเภทที่ 2)

            แต่ควรจะเป็นหัวหน้าประเภทที่ 3 คือหัวหน้าที่เป็นพี่เป็นเพื่อนหรือเป็นโค้ชหรือเป็นที่ปรึกษา เช่น....

            “ปัญหาที่น้องมาถามนี่พี่ให้เวลาน้องกลับไปลองคิดดูสักคืนดีไหมว่าไอเดียของน้องคิดว่าควรจะแก้ยังไงได้บ้าง มีทางแก้ที่เป็นไปได้ได้สักกี่ทาง แล้วพรุ่งนี้มาคุยกันตอนบ่ายสามนะ....”

            แล้วเมื่อถึงเวลานัดก็ฟังไอเดียของลูกน้อง อะไรดีก็ชมเชย อะไรที่ยังไม่ใช่ไม่ถูกต้องก็ให้คำแนะนำเพิ่มเติม แต่หลักก็คือควรจะต้องให้ลูกน้องคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเขาเองเป็นส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมดได้ยิ่งดี) โดยหัวหน้าเป็นที่ปรึกษาคอยใช้คำพูดคำถามเพื่อให้เขาเกิดไอเดียขึ้นมา ซึ่งหัวหน้าต้องเปิดใจรับฟัง มีทักษะการรับฟังที่ดี การให้คำปรึกษาและมี EQ ที่ดี

            วิธีนี้ผมว่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาทั้งเรื่องงานที่ลูกน้องเจออยู่และแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวลูกน้องได้แบบยั่งยืนและทำให้ลูกน้องมีพัฒนาตัวเองให้สามารถเติบโตก้าวหน้าได้ดีขึ้นและเก่งขึ้นจริงไหมครับ



วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2566

หลักสูตรกลยุทธ์การบริหารค่าจ้างเงินเดือน

หลักสูตรนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ด้านบริหารค่าตอบแทนของวิทยากรที่ทำงานด้านนี้มากว่า 35 ปี เน้นการให้ผู้เข้าอบรมลงมือทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง

เนื้อหากระชับ เข้าประเด็น ไม่มีน้ำท่วมทุ่ง เน้น Workshop โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการมากกว่า 35 ปี พร้อมตอบทุกข้อสงสัย

ติดต่อได้ที่ HR Center โทร 02-736-2245-7

ลงทะเบียน https://www.hrcenter.co.th/?m=public_reserv&id=3647