วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2566

ใครมีอำนาจเซ็นหนังสือตักเตือนกันแน่ ?

             ขึ้นหัวเรื่องมาด้วยคำถามแบบนี้เชื่อว่าหลายคนคงจะตอบตรงกันว่า “ก็หัวหน้าน่ะสิ”

            หัวหน้าหมายถึงคนที่มีลูกน้องไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่าอะไรก็ตาม เช่น Sub Leader, Leader, Supervisor, ผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ, AVP, VP, SVP, Director ฯลฯ

          ถามอีกครั้งว่า “แน่ใจไหมครับ ?”

            การที่องค์กรอยากให้หัวหน้ามีอำนาจตักเตือนลูกน้องได้เมื่อลูกน้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ขาดงานไม่มีเหตุผลอันสมควร, มาสายบ่อย, เกเร, ไม่รับผิดชอบการงาน ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้และควรทำ

            แต่อย่าลืมมอบอำนาจให้หัวหน้ามีอำนาจในการตักเตือนลูกน้องเอาไว้ด้วย

            โดยเฉพาะการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (หรือเรามักจะเรียกกันว่าหนังสือตักเตือน) ที่มีผลทางกฎหมายแรงงานนั้น จะต้องลงนามโดยผู้ที่มีอำนาจในการตักเตือนครับ

            ซึ่งคนที่มีอำนาจในการตักเตือนก็ต้องเป็น “นายจ้าง” หรือ “ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงาน

          สรุปง่าย ๆ ว่าถ้าหัวหน้าออกหนังสือตักเตือนลูกน้อง แต่หัวหน้าไม่ได้รับมอบอำนาจในการตักเตือนจากกรรมการผู้จัดการ หนังสือตักเตือนนั้นก็จะใช้อ้างอิงว่าเป็นหนังสือตักเตือนไม่ได้

            ผมมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแรงงานมาประกอบตามนี้ครับ

ฎ.1543/2526

“..การที่หัวหน้าแผนกของนายจ้างออกใบเตือนแก่ลูกจ้างโดยไม่ปรากฎว่าผู้มีอำนาจว่าจ้างหรือเลิกจ้างของนายจ้างมอบหมายอำนาจในการออกใบเตือนให้ จะถือว่าหัวหน้าแผนกเป็นตัวแทนของนายจ้างในการออกใบเตือนด้วยหาได้ไม่..”

            บริษัทไหนที่ยังไม่มีการมอบอำนาจให้หัวหน้ามีอำนาจในการตักเตือนลูกน้องก็ควรทำไว้นะครับ ที่มักจะทำกันก็คือจะอยู่ในระเบียบการบริหารงานบุคคลในเรื่องการมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัย โดยระบุให้ชัดเจนว่ากรรมการผู้จัดการมอบอำนาจให้ผู้บริหารตำแหน่งใดบ้างมีอำนาจในการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชา

            รู้อย่างนี้แล้ว HR อย่าลืมทำเรื่องการมอบอำนาจตักเตือนในบริษัทของท่านให้ถูกต้องจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ตามมาในภายหลังนะครับ