วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

หนังสือออกใหม่ครับ

   
         สัปดาห์นี้ผมขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ที่เพิ่งจะวางแผงคือ "เสริมทักษะหัวหน้างานยุคใหม่" ครับ

         ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนคือคำว่า "หัวหน้างาน" ของผมนั้นหมายถึง "คนที่มีลูกน้อง" ไม่ว่าจะเรียกชื่อตำแหน่งว่า Leader, Chief, Foreman, Supervisor.... ไปจนถึงผู้ช่วยผู้จัดการ, ผู้จัดการ, VP,  GM จนกระทั่ง MD หรือ CEO ก็คือ "หัวหน้างาน" นะครับ

          หัวหน้ากับลูกน้องก็เหมือนลิ้นกับฟันต้องพึ่งพากัน หัวหน้าก็อยากจะได้ลูกน้องเก่งและดีเพื่องานของทีมงานจะได้ราบรื่น ทำนองเดียวกันลูกน้องก็อยากได้หัวหน้าดีและเก่งเพื่อจะได้เรียนรู้จากหัวหน้าเช่นเดียวกัน

          หนังสือเล่มนี้ผมเขียนมาจากสิ่งที่พบเห็นมาในการทำงานเพื่ออยากให้หัวหน้างานได้นำเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กลับไป Feedback ตัวเองว่ามีพฤติกรรมยังไงบ้างกับลูกน้องและในการทำงาน พฤติกรรมใดที่่ดีอยู่แล้วก็ปฏิบัติต่อไป แต่พฤติกรรมใดที่ไม่เหมาะก็ควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดปัญหาในการทำงานร่วมกัน
       
           สำหรับผู้บริหารระดับสูงเมื่ออ่านแล้วจะได้ข้อคิดในการพิจารณาคุณสมบัติสำหรับคนที่องค์กรจะเลื่อนขึ้นมาเป็นหัวหน้า เพื่อลดปัญหาในองค์กรลง

           หาซื้อได้ตามร้านซีเอ็ดฯ และร้านหนังสือทั่วไป หรือถ้าใครสะดวกจะซื้อไปอ่านบน Tablet ผ่านทาง AIS Book หรือ ซีเอ็ดบุ๊ค ก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเข้าไปที่ Books แล้วค้นหาชื่อผู้เขียนคือ "ธำรงศักดิ์" เท่านั้น ท่านก็สามารถซื้อดาวน์โหลดออนไลน์มาอ่านได้เช่นเดียวกันครับ

....................................................

วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มาทำงานสาย..หักเงิน..ดีไหม ?

            วันนี้ผมมีดราม่าเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ท่านฟังกันอีกแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าดราม่าเรื่องนี้เกิดในบริษัทหลาย ๆ แห่งอย่างสม่ำเสมอซะด้วย

          ก็เรื่องการหักเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายไงล่ะครับ เป็นไงครับเป็นประเด็นเรียกแขกดีไหมล่ะ ?
          
             หลายบริษัทชอบมีกฎระเบียบในทำนองที่ว่า....

 ถ้าหากพนักงานมาทำงานสายบริษัทจะหักเงินเดือน เช่น กำหนดเวลามาทำงาน 8.00 น. ถ้ามาสายเกินเวลานี้ 3 ครั้งในหนึ่งเดือน จะหักเงินเดือนเท่ากับ 1 วัน ถ้ามาสาย 6 ครั้งในหนึ่งเดือนจะหักเงินเดือนเท่ากับ 2 วัน ยกตัวอย่างเช่น พนักงานเงินเดือน 9,000 บาท คิดเป็นรายวันคือ 300 บาท ถ้ามาสาย 6 ครั้งในเดือนนี้ก็จะถูกหักเงินเดือนไป 600 บาท เหลือรับในเดือนนี้เท่ากับ 8,700 บาท เป็นต้น

ถามว่าบริษัทจะออกกฎระเบียบทำนองนี้มาบังคับใช้ได้หรือไม่ ?

ถ้าดูตามมาตรา 76 ของกฎหมายแรงงานแล้วจะพูดถึงเรื่องการหักเงินจากลูกจ้างไว้ดังนี้....

มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(๑)  ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(๒)  ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
(๓)  ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(๔)  เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
(๕)  เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสมการหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้น ถ้าจะคิดแบบเร็ว ๆ ตามมาตรานี้ก็จะบอกว่า “หักเงินค่ามาสายไม่ได้” ครับ

แต่....ถ้ากรณีนี้เป็นกรณี “ไม่จ่ายค่าจ้าง”  เนื่องจากลูกจ้างไม่มาทำงานให้นายจ้างล่ะ ?

ผมยกตัวอย่างเช่น กรณีพนักงานขาดงานไป 1 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อบริษัทไม่อนุญาตโดยถือว่าขาดงาน (ไม่ได้มาทำงานจริง) บริษัทมีสิทธิจะ “ไม่จ่าย” (ไม่ใช่หักเงินนะครับ) พนักงานรายนี้หรือไม่ ?

ก็ตอบได้ว่าถ้าบริษัทมีกฎระเบียบเรื่องของการไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในลักษณะที่เรียกกันว่า No work no pay” บริษัทก็สามารถไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงานได้ครับ แต่เรามักจะเรียกกันว่า “หักเงิน” ในวันที่ขาดงานกันจนติดปาก

ในกรณีมาสายก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อพนักงานมาสายไม่ได้มาทำงานตามเวลาที่กำหนด หากบริษัทมีกฎระเบียบในเรื่องการไม่จ่ายเนื่องจากพนักงานไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในเวลาทำงาน บริษัทก็ย่อมจะมีสิทธิ “ไม่จ่าย” ตามเวลาที่พนักงานยังไม่มาทำงานได้

เพียงแต่การไม่จ่ายเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายตามตัวอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้คิดตามเวลาที่พนักงานมาสาย นั่นคือควรจะต้องมาคำนวณว่าในเดือนนั้นพนักงานมาสายรวมกี่นาที พนักงานได้ค่าจ้างนาทีละกี่บาท แล้วนำค่าจ้างต่อนาทีคูณจำนวนนาทีที่มาสายถึงจะเป็นธรรมครับ

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ วิธีการไม่จ่ายค่าจ้างเมื่อลูกจ้างมาทำงานสายเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาการมาสายได้จริงหรือ ? แล้วไม่มีวิธีอื่นจะทำนอกจากนี้บ้างหรือ ?

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการหักเงินค่ามาสายทำนองนี้นัก เพราะจากประสบการณ์ของผม มักจะพบว่าพนักงานยอมให้บริษัทหักเงินเมื่อเขามาสายได้แต่บริษัทจะมาออกใบเตือนอะไรเขาไม่ได้เพราะยอมจ่ายค่ามาสาย (ซึ่งเขาถือว่าบริษัทได้ลงโทษเขา) แล้วจะตักเตือนอะไรกันอีก

ผมกลับมองว่ากรณีพนักงานมาทำงานสายนั้น  บริษัทน่าจะมีวิธีปฏิบัติได้ดังนี้

1. ดำเนินการทางวินัยตามระเบียบอย่างชัดเจน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณัอักษร หากผิดซ้ำคำเตือนเรื่องมาสายจนถึงจุดที่ระเบียบบอกไว้ก็คือบริษัทก็ต้องเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานทราบว่าบริษัทจะมีหลักในการปฏิบัติกับพนักงานในลักษณะแบบนี้กับทุกคนที่มาทำงานสาย คือพูดง่าย ๆ ว่าขันน็อตเรื่องนี้กันอย่างจริงจังโดยไม่ต้องมีระเบียบเรื่องการหักเงินค่ามาสายเข้ามาวุ่นวายใจกันทั้งสองฝ่าย หรือ

2. บริษัทอาจจะกำหนดวิธีปฏิบัติอีกแบบหนึ่งที่น่าจะสร้างแรงจูงใจที่ดีกว่าการหักเงินค่ามาสาย เช่น สมมุติให้พนักงานทุกคนมีคะแนนการมาทำงานทั้งปีเท่ากับ 100 คะแนน ถ้าพนักงานคนใดมาสาย 1 ครั้งหักครั้งละ 5 คะแนน หากคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนบริษัทจะไม่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานคนนั้น โดยไม่ต้องมาหักเงินค่ามาสายอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ทำควบคู่กับการตักเตือนตามข้อ 1 ไปด้วยก็ยังได้

         ที่สำคัญคือคนที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานนั้น ๆ ได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้องในเรื่องการมาทำงานแล้วหรือยัง? ไม่ใช่หัวหน้ามาสายเสมอ หรือออกไปกินข้าวกลางวันก็ 2-3 ชั่วโมง ฯลฯ ให้ลูกน้องเห็นเป็นประจำ แล้วอย่างนี้จะมีหน้าไปตักเตือนให้ลูกน้องมาทำงานตรงเวลา รักษาผลประโยชน์ให้บริษัทได้ยังไงล่ะครับ

            ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ
………………………………………

วันพุธที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กลับบ้านตรงเวลา..ไม่ทุ่มเทให้กับงาน ?

            พนักงานที่ทำงานแล้วกลับบ้านดึก ๆ เป็นคนทุ่มเทให้กับงาน จริงหรือครับ ?

            หัวหน้างานหลายคนมักจะนำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณาช่วงขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสเสียด้วยสิ

            หลักคิดก็ไม่ซับซ้อนอะไรมาก ใครกลับดึกคนนั้นอุทิศตัวให้กับงาน ใครกลับเร็ว (หมายถึงพอถึงเวลาเลิกงานแล้วสักพักก็กลับบ้าน ไม่ได้หมายถึงกลับก่อนเวลาเลิกงานนะครับ) ก็แสดงว่าคน ๆ นั้นไม่สู้งาน ไม่ขยัน ไม่ทุ่มเทให้กับงาน ฯลฯ แล้วแต่สารพัดข้อหาจะยัดเยียดให้

            หัวหน้าหลายคนที่มีความคิดทำนองนี้ก็มักจะเรียกลูกน้องประชุมช่วงใกล้ ๆ จะเลิกงานอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อง (บางคน) กลับบ้านเร็วเกินไป และการประชุมก็มักจะลากยาวไปจนค่ำ ๆ เสียด้วย

          ท่านเคยเจอหัวหน้างานทำนองนี้บ้างไหมครับ ?

            ผมว่าปัญหาทำนองนี้เป็นปัญหาในเรื่องของวิธีคิดแบบเชื่อมโยงตรรกะที่อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ซึ่งความคิดทำนองนี้ก็เลยทำให้เกิดค่านิยมบางอย่างในตัวคนขึ้นมา ยิ่งถ้าคน ๆ นั้นได้เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหารแล้วยังมีวิธีคิดแบบรวบยอดที่อาจจะไม่ถูกต้องทำนองนี้ก็ย่อมจะทำให้คนที่เป็นลูกน้องอึดอัดหาวเรอ เผลอ ๆ นั่งเซ็งกันได้เป็นธรรมดา

            ส่วนลูกน้องที่ “ทำงานเป็น” รู้ว่าหัวหน้าชอบคนกลับดึก ๆ ก็มักจะดึงเช็งในช่วงเวลางาน คือในชั่วโมงทำงานก็ทำแบบเนียน ๆ เรื่อย ๆ จะได้มีอะไรเอาไว้ทำตอนหลังเลิกงาน บางคนก็อาจจะคิดว่ากลับค่ำ ๆ ดึก ๆ หน่อยก็ดี รถจะได้ไม่ติดมาก ก็นั่งเล่น Facebook ไปตอนที่หัวหน้าไม่ได้เดินมาตรวจงาน พอหัวหน้าเดินมาก็ทำเป็นเอางานขึ้นมาทำ  ฯลฯ ก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน

            เรามาลองดูอีกมุมหนึ่งไหมครับว่า การมีค่านิยมให้ลูกน้องกลับบ้านดึก ๆ ทั้ง ๆ ที่ลูกน้องก็เคลียงานหมดแล้ว บริษัทจะเกิดความเสียหายอะไรบ้าง

1. ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ในกรณีที่หัวหน้าสั่งให้ลูกน้องทำงานหลังเวลาทำงานปกติ ซึ่งบริษัทก็จะมีค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้
2. ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าโทรศัพท์ ที่บริษัทต้องจ่าย เพราะการที่พนักงานอยู่หลังเวลางานหน่วยงานนั้น ๆ ยังต้องเปิดไฟแสงสว่าง, เปิดแอร์, พนักงานยังต้องไปเข้าห้องน้ำใช้น้ำใช้กระดาษทิชชู่, ใช้เครื่องถ่ายเอกสาร, เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์(แต่อาจเล่น Facebook  ส่วนตัว), โทรศัพท์คุยกับคนที่บ้าน ฯลฯ ลองให้ฝ่ายบัญชีเก็บข้อมูลค่าใช้จ่ายของแต่ละฝ่ายหลังเวลางานดูสิครับว่าวัน ๆ หนึ่ง หรือเดือน ๆ หนึ่งคิดเป็นเงินกี่บาท ปีละกี่บาท
3. พนักงานที่คุณภาพชีวิตที่แย่ลง Work life balance” ที่ต้องเสียไป กว่าจะกลับถึงบ้านกี่โมง หลายคนต้องมีครอบครัวต้องดูแล การพักผ่อนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกายทำให้เสียสุขภาพในระยะยาวบริษัทก็อาจจะมีคนขี้โรคเพิ่มมากขึ้นจากการไม่สมดุลชีวิตกับการทำงาน คนนะครับไม่ใช่เครื่องจักร (ขนาดเครื่องจักรยังต้องมีการพักซ่อมบำรุงเลย) ต้องมีการพักผ่อนให้เหมาะสมด้วย ไม่ใช่โหมงานดึกทุกวันทุกเดือนตลอดทั้งปี

4. จากผลกระทบข้อ 3 พนักงานบางคนก็มีปัญหาครอบครัว เช่น ภรรยา (บางคนที่ทำตัวเป็นฝ่ายสืบสวน) จะคอยซักถามว่าทำไมสามีกลับบ้านดึกมีกิ๊กหรือเปล่าแล้วก็ทะเลาะกัน หรือ ลูกไม่มีใครดูแลทำให้เป็นเด็กติดเกม ฯลฯ ซึ่งปัญหาครอบครัวเหล่านี้หลายครั้งก็จะกลับมาเป็นปัญหาในเรื่องงาน เพราะเมื่อพนักงานเครียดเรื่องครอบครัวก็เลยทำให้เซ็ง เบื่อ ไม่อยากทำงานไปเลยก็มี อย่าลืมว่าแต่ละคนล้วนมีครอบครัว มีญาติพี่น้อง ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก หรือมีแต่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องมีชีวิตส่วนตัวและครอบครัวด้วยนะครับ

5. พนักงานที่รับแนวคิดทำนองนี้ไม่ได้ (โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ไฟแรงพวก Gen Y) ก็จะมองว่าหัวหน้าเป็นพวกบริหารเวลาไม่ดี ครอบครัวมีปัญหา โลกแคบเพราะมีแต่ที่ทำงานไม่รู้จักไปสังคมสังสรรค์ซะบ้างเลย ฯลฯ ก็เลยลาออกไปอยู่ที่อื่นดีกว่า บริษัทก็จะต้องเสียเวลามาสัมภาษณ์หาคนมาแทนกันอีก ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการหาคนมาทดแทน แถมเมื่อได้คนมาแทนแล้วอีกไม่นานก็มีแนวโน้มจะทำให้พนักงานใหม่ลาออกอีกเช่นเคยเพราะรับค่านิยมแบบนี้ไม่ได้ ยิ่งบางแห่งทำงานสัปดาห์ละ 6 วันแล้วต้องกลับดึก ๆ ทุกวัน ก็จะพบว่าอัตราการลาออกสูงเพราะสาเหตุนี้แหละครับ

          ที่ผมพูดมาข้างต้นนี้ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้ท่านทำงานกันไปวัน ๆ โดยคอยจ้องนาฬิกาว่าพอถึงเวลาเลิกงานก็รีบกระโจนไปรูดบัตรออกจากบริษัททันทีนะครับ !!
          เพียงแต่อยากจะให้ข้อคิดว่า ในการทำงานนั้นเขาให้เวลาทำงานกัน 8 ชั่วโมงต่อวัน เราก็ควรจะทำให้เต็มประสิทธิภาพหรือเต็มที่กับมัน บริหารเวลาให้ดี ทำงานให้เสร็จสิ้นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือควบคุมดูแลงานของเราให้ดีในแต่ละวัน และมีเวลาหลังเลิกงานในการสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานบ้าง, ออกกำลังกายบ้าง, พักผ่อนบ้าง ฯลฯ เพื่อสมดุลชีวิตไม่ให้บ้างาน (Workaholic มากจนเกินไป)

            แต่ถ้าช่วงไหนที่มีงานด่วน งานเร่ง งานฉุกเฉินที่ต้องรับผิดชอบ อาจจะต้องอยู่ดึกดื่นเพื่อเคลียงานด่วนเหล่านั้น อย่างนี้ก็ยังพอรับได้เพราะเป็นงานที่จำเป็นเร่งด่วน 

             ซึ่งคงไม่ใช่การทำงานเกินเวลาแบบเป็นประจำทุกวัน ๆ ละเกิน 12 ชั่วโมงไปอย่างนี้ตลอดทั้งปี และติดต่อกันหลายปี แถมเมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาทำงานก็ต้องทำงานกันตามค่านิยมอย่างนี้แหละถึงจะอยู่ด้วยกันได้

            ถ้ามีแนวคิดอย่างนี้ล่ะก็ผมว่าคงไม่สมเหตุสมผลแล้วล่ะครับ !

          ก็ในเมื่อถ้าพนักงานทำงานเสร็จสิ้นตามที่ได้รับมอบหมาย ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะมีเหตุผลอะไรอีกที่หัวหน้าจะต้องให้อยู่ดึก ๆ ทุกวันล่ะ

          ก็คงมาสรุปกันตรงที่หลักพระพุทธองค์ท่านเคยสอนไว้ก็คือการเดินสายกลาง ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่งน่ะ น่าจะเป็นทางที่ดีที่สุด

เพียงแต่หัวหน้างานหันกลับมาใช้คติ “Work life balance” ให้ดีทั้งตัวเองและลูกน้องจะได้มีความสุขทั้งในงานและชีวิตส่วนตัวจะได้ Win-Win ไม่ดีกว่าหรือครับ


……………………………….

วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

กฎหมายแรงงานสำคัญยังไงกับการทำงาน

            มีคำพูดหนึ่งที่มักจะใช้กันอยู่เสมอ ๆ คือ “ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้”

            ในการทำงานก็เหมือนกัน เราก็มีกฎหมายแรงงานที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่หลายครั้งนายจ้างหรือฝ่ายบริหารไม่รู้กฎหมายแรงงานแล้วยังปล่อยให้มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องกับลูกจ้างหรือพนักงานจนทำให้เกิดการไปร้องเรียนกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน (หรือเรามักจะเรียกว่าไปแรงงานเขตพื้นที่นั่นแหละครับ) หรือไปฟ้องศาลแรงงานซึ่งก็จะทำให้เกิดเรื่องดราม่าเป็นหนังชีวิตเรื่องยาว  เพราะทั้งนายจ้างลูกจ้างต้องขึ้นลงศาลเสียเวลาทำมาหากินไปเปล่า ๆ ทั้ง ๆ ที่ถ้าทำให้ถูกต้องปัญหาเหล่านี้ก็คงไม่เกิดขึ้น

            ผมจึงมีข้อแนะนำว่าไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือจะเป็นพนักงานต่างก็ควรจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแรงงานเอาไว้บ้าง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวซึ่งปัจจุบันเราก็สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ไม่ยาก เช่น เข้าไปในกูเกิ้ลแล้วพิมพ์คำว่า “กฎหมายแรงงาน” ดูสิครับ มีขึ้นมาให้ศึกษาเรียนรู้เป็นล้านเว็บเลย

          แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายแรงงานแล้วจะทำให้ต่างฝ่ายต่างกลายเป็นคนหัวหมอไปนะครับ....ไม่ใช่อย่างงั้น....

            เพราะการเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องนี้จะทำให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างก็จะเข้าใจกฎกติการมารยาทในการทำงานร่วมกันมากขึ้น รู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายมากขึ้น ไม่ทำอะไรไปโดยไม่รู้หรือรู้ไม่จริงที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลังต่างหากครับ หรือพูดง่าย ๆ ว่ารู้ดีกว่าไม่รู้นั่นแหละครับ

            แม้แต่เรื่องในวันนี้ก็อีก....ความไม่รู้กฎหมายแรงงานในเรื่องพื้น ๆ เช่นเรื่องการจ่ายโอทีก็จะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานร่วมกันได้แล้วครับ เช่น....

            นายสมนึกได้เงินเดือน ๆ ละ 12,000 บาท หัวหน้างานสั่งให้ทำงานล่วงเวลาเพราะเป็นงานเร่งด่วนจะต้องทำให้เสร็จเพื่อนำเสนอผู้บริหารในวันพรุ่งนี้เช้า ถ้าไม่ทำรายงานนี้ให้เสร็จฝ่ายบริหารจะขาดข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจทางธุรกิจทำให้บริษัทเสียหายได้
            นายสมนึกก็ทำงานล่วงเวลาตามที่หัวหน้าสั่งโดยใช้เวลาทำโอทีไป 4 ชั่วโมงในวันนั้น แต่พอสิ้นเดือนกลับได้ค่าโอที 200 บาท (บริษัทคิดค่าทำโอทีให้ชั่วโมงละ 50 บาท) นายสมนึกก็ไปถามเพื่อนที่อยู่อีกบริษัทหนึ่งว่าบริษัทของเพื่อนเขาคิดโอทีกันยังไง

            เพื่อนก็บอกว่าการคิดโอทีมีหลักเกณฑ์ตามกฎหมายแรงงานดังนี้

1. หากทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ บริษัทจะต้องจ่ายค่าโอทีให้ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน
2. หากทำงานในวันหยุด บริษัทจะต้องจ่าย 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน
3. หากทำงานล่วงเวลาในวันหยุด บริษัทจะต้องจ่าย 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงาน(รายละเอียดไปดูได้ในมาตรา 61-63 ในกฎหมายแรงงานนะครับ)

             ในกรณีของสมนึกจะมีวิธีคิดโอทีที่ถูกต้องก็คือ 12,000 หาร 30 (ให้คิดหนึ่งเดือนมี 30 วัน) = 400 บาทต่อวัน หากคิดเป็นต่อชั่วโมงก็นำ 400 หาร 8 = 50 บาท/ชั่วโมง (ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง) ดังนั้นกรณีนี้นายสมนึกต้องได้รับค่าโอทีชั่วโมงละ 50x1.5=75 บาท ถึงจะถูกต้อง ดังนั้นเมื่อบริษัทจ่ายโอทีให้สมนึกชั่วโมงละ 50 บาทก็เท่ากับว่าบริษัทจ่ายค่าโอทีให้สมนึกแค่ 1 เท่าซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน

            พอสมนึกไปถามหัวหน้า ก็ได้รับคำตอบว่า “ก็บริษัทมีระเบียบการเบิกจ่ายโอทีให้แค่ 1 เท่า คุณก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัท”

            ตรงนี้แหละครับที่ผมบอกไว้ข้างต้นว่า ความไม่รู้กฎหมาย (แรงงาน) ของฝ่ายบริหารก็จะทำให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ขึ้นทำนองนี้ เพราะแม้บริษัทจะอ้างว่าบริษัทมีกฎระเบียบไว้แบบนี้ แต่ผู้บริหารต้องรู้ต่อว่า....

            หากกฎระเบียบ คำสั่ง ใด ๆ ของบริษัทถ้ามันขัดกับหลักกฎหมายแรงงานแล้ว กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อบังคับของบริษัทจะเป็นโมฆะเสมอเมื่อไปถึงศาลแรงงาน

            ในกรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้านายสมนึกไปฟ้องศาลแรงงาน ก็แน่นอนว่าบริษัทจะแพ้คดีนี้ เพราะกฎระเบียบการจ่ายโอทีของบริษัทไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานครับ

            แพ้คดียังไม่พอ แถมยังจะก่อให้เกิดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ระยะยาวเป็นดราม่าต่อมาอีกด้วย เพราะพนักงานก็จะนำไปพูดต่อ ๆ กันว่าบริษัทเอาเปรียบพนักงาน ผู้บริหารทำไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดการต่อต้านผู้บริหาร หรือพนักงานที่ทำงานดี ๆ เห็นว่าผู้บริหารไม่เป็นธรรมเลยลาออกไปที่อื่น ฯลฯ  ซึ่งเรื่องทำนองนี้หากผู้บริหารศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายแรงงาน (ที่มีเพียง 166 มาตรา) เสียหน่อย ก็คงไม่เกิดปัญหาเหล่านี้ตามมา

              อ่านมาถึงตรงนี้ท่านเริ่มจะสนใจและเห็นความสำคัญของกฎหมายแรงงานขึ้นบ้างหรือยังครับ ?


………………………………….

วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จบวิศวะได้เงินเดือนเท่านี้..น้อยไปไหม ?

            “ผมจบวิศวะจากมหาวิทยาลัย....(ชื่อดังของเมืองไทย) แห่งหนึ่งด้วยเกรดเฉลี่ย 2.90 แต่ผมสอบสัมภาษณ์ในบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง SCG, PTT ไม่ติดซักที่ จนผมคิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เพื่อน ๆ ผมยังทักเลยว่าทำไมไม่ติด

            แล้วมาวันหนึ่งผมไปสัมภาษณ์ติดที่บริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งได้ทำงานตรงตามที่ผมจบมา เงินเดือนทดลองงาน 17,000 พ้นทดลองงาน 18,000 บาทเองครับ คนจบมาเกรดต่ำกว่าผมยังได้อย่างน้อย ๆ 20,000 บาทเลย คิดแล้วน้ำตาจะไหล แต่ผมก็เริ่มชอบสังคมที่ทำงานนี้เพราะบรรยากาศอบอุ่น น่ารัก ได้ทำงานอย่างที่อยากทำและได้เรียนรู้งาน ผมควรจะหางานใหม่ดีไหมครับ….

            นี่เป็นคำถามจากน้องที่เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัยมาหมาด ๆ และผมก็เชื่อว่าคำถามนี้คงจะตรงกับประสบการณ์ที่น้อง ๆ อีกหลายคนเจออยู่ตอนนี้ เลยอยากจะเอามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันในเรื่องนี้

            ถ้าดูจากความต้องการของคนจบใหม่ และยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ Gen Y ไฟแรง ผมเชื่อว่าความต้องการของน้อง ๆ เหล่านี้คือ....

1. ได้ทำงานในองค์กรที่มีชื่อเสียง เวลาคุยกับเพื่อนในงานสังสรรค์ศิษย์เก่าเลี้ยงรุ่น ฯลฯ จะได้พูดชื่อองค์กรที่ทำงานอยู่ได้เสียงดัง (ให้คนอื่นได้ยินไปด้วย) ฟังชัด เพราะคนอื่นฟังแล้วรู้ว่าองค์กรนี้คือที่ไหนใหญ่โตแค่ไหน แต่ถ้าอยู่ในบริษัทโนเนมบอกไปแล้วคนฟังร้อง “ฮ๊า..บริษัทอะไรน่ะ” ก็คงจะรู้สึกเสียเซฟล์ไปไม่น้อย จริงไหมครับ
2. ได้เงินเดือน (รวมถึงสวัสดิการ) เยอะ ยิ่งเยอะกว่าเพื่อนยิ่งดี ตามคำขวัญที่ผมบอกอยู่เสมอ ๆ ว่า “เงินเดือนเราได้เท่าไหร่..ไม่สำคัญเท่ากับเพื่อนได้เท่าไหร่” เพราะเอาไว้พูดเกทับ บรั๊ฟข่มเพื่อน ๆ ให้อิจฉาเล่น นอกจากนี้ควรจะมีโอกาสให้ได้ก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งได้เร็วยิ่งดี
3. บรรยากาศและสภาพการทำงานต้องดี คือไม่ใช่อยู่กลางแจ้ง แดดร้อน เดี๋ยวโดน UV ผิวหยาบกระด้าง เดี๋ยวเป็นสิวฝ้าขึ้นมาแล้ว Selfie ภาพไม่สวยอายเพื่อน ๆ  ถ้าอยู่ในห้องแอร์จะพิจารณาเป็นพิเศษ (555) ถ้าจะให้ดีกว่านั้นอยู่ในกรุงเทพจะดีที่สุด ถ้าเป็นต่างจังหวัด ยิ่งเป็นจังหวัดไกล ๆ ขอคิดดูก่อน
4. มีหัวหน้าดี เป็นกันเอง คอยเอาใจใส่ พูดคุยสอนงานเรา มีปัญหาอะไรก็สอบถามปรึกษาหารือพี่เขาได้เพราะเขาคอยรับฟัง คอยสอนงานเหมือนพี่เหมือนน้อง พูดจาภาษาเดียวกัน และมีเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานที่เพียงพอ เหมาะสมกับงานที่เราทำ

         ผมว่าหลัก ๆ คงมีประมาณนี้สำหรับน้อง ๆ ที่จบมาใหม่จริงไหมครับ ?

        แต่ที่ผมเล่ามาทั้งหมดข้างต้นสามสี่ข้อนั้นน่ะ ผมอยากจะบอกว่ามันเป็น “บริษัทในฝัน” น่ะครับ !!

          บริษัทในฝันหมายถึงเป็นบริษัทที่อยู่ในความฝันไงครับ เพราะพอตื่นมาอยู่ในสภาพความเป็นจริงมันก็ไม่เหมือนในฝัน เพราะเราอาจจะฝัน (หรือคาดหวัง) เรื่องราวเกี่ยวกับการทำงานไว้ว่าจะต้องเพียบพร้อมสมบูรณ์อย่างที่เราต้องการ แต่ชีวิตจริงก็คือในคนส่วนใหญ่ไม่มีใครได้ทำงานอย่างที่ตัวเองฝันนักหรอกครับ

            สิ่งสำคัญก็คือ “ถ้าเราไม่ทำงานที่เรารัก..แต่เรารักงานที่เราทำ” บ้างหรือเปล่า ?

          ถ้าเราสามารถจะเลือกทำงานที่เรารักเราชอบได้ก็คงจะต้องถือว่าทำบุญมาดี….

          แต่ถ้าเราไม่สามารถเลือกได้ล่ะ เราจะคิดกับงานที่เราต้องทำอยู่ยังไงให้อยู่กับมันได้ ?

เพราะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพ หรือเป็นเถ้าแก่ผู้ประกอบการหลายคน ก็อาจจะไม่ได้ทำงานที่เขารัก หรือที่เขาเคยฝันที่จะทำ แต่คนเหล่านั้นเขารักงานที่เขาทำอยู่ตรงหน้า (แม้จะไม่ใช่งานที่ฝันอยากจะทำมาก่อน) และรับผิดชอบ มุ่งมั่นเอาใจใส่ทำงานนั้นให้ดีที่สุดจนประสบความสำเร็จต่างหาก

            ผมคงต้องย้อนกลับมาพูดเรื่อง “ทัศนคติคือทุก ๆ อย่างในชีวิต” กับน้อง ๆ ที่จบใหม่อีกครั้งหนึ่ง นั่นคือความสำเร็จในอนาคตทุก ๆ อย่างจะขึ้นอยู่กับทัศนคติหรือวิธีคิดของน้อง ๆ ครับ

            ถ้าในกรณีของคำถามข้างต้น ถ้าหากน้องมีวิธีคิดเสียใหม่ว่า

1. ไม่เอาเงินเดือนเราไปเปรียบเทียบกับเงินเดือนของเพื่อน
2. ไม่เอาบริษัทที่เราทำอยู่ไปเปรียบเทียบกับบริษัทของเพื่อน
3. ไม่ยึดติดหรือมี Ego ว่าเราจบมาได้เกรดเฉลี่ยสูงกว่าเพื่อน ทำไมเราถึงไม่ได้ทำงานบริษัทใหญ่ ๆ เหมือนเพื่อน
4. ฯลฯ

       น้องจะเห็นว่าตัวอย่างที่บอกมา 3-4 ข้อข้างต้นนี้น่ะ มันเป็นทัศนคติเชิงลบ (Negative Thinking) คิดแต่ในทางลบ ๆ

         แบบนี้คิดไปก็ไม่มีประโยชน์หรอกครับ แถมยังจะทำให้จิตใจของเราย่ำแย่ลงไปอีก

        แต่ถ้าเรามีวิธีคิดเชิงบวก (Positive Thinking) เสียใหม่ว่า

1. เราอยู่ในบริษัทที่ได้ทำงานตรงกับที่เราเรียนรู้มา นี่เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้สั่งสมความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่หาได้ยาก ได้เรียนรู้งานหลาย ๆ ด้าน ที่ถ้าแม้เราไปทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ก็ไม่มีโอกาสแบบนี้ เพราะในองค์กรใหญ่คงเรียนรู้ได้ด้านใดด้านเดียว (หรือแม้ว่าวันนี้เราอาจจะไม่ได้ทำงานตรงกับที่เรียน หรือที่อยากทำก็ตาม แต่อยากให้ลองคิดดูให้ดี ๆ ว่างานที่ทำอยู่นี้น่ะ ยังมีข้อดีอะไรบ้างไหม เราจะมีโอกาสได้เรียนรู้หรือทำงานนี้ให้ดีขึ้นกว่านี้ได้บ้างไหม) ลองมองหาเรื่องบวกในเรื่องลบให้เจอสิครับว่ามีบ้างไหม ซึ่งผมไม่เชื่อว่างานที่น้อง ๆ ทำอยู่จะมีแต่เรื่องเลวร้ายไม่ดีไปเสียทุกเรื่อง อยู่ที่ว่าเรา “อดทน” และให้เวลาอย่างเพียงพอที่จะเรียนรู้หรือค้นหาข้อดีของงานที่เราทำอยู่ได้หรือไม่ แต่ผมบอกไว้ได้อย่างหนึ่งว่า ตราบใดที่เรายังมีทัศนคติเชิงลบอยู่ เราจะไม่มีทางมองเห็นข้อดีของงานที่เราทำอยู่ได้เลย

2. แม้ว่าเงินเดือนของเราในวันนี้จะน้อยกว่าเพื่อน ๆ แต่มันก็เป็นเงินเดือนของวันนี้ แต่ในอนาคตเมื่อเรามีความรู้ความสามารถในงานที่เพิ่มมากขึ้น เราเร่งทำงานที่เป็นชื่อเสียงหรือเป็นชิ้นงานที่สำคัญของเราเอาไว้เรื่อย ๆ ถึงวันนั้นแหละ เราก็จะเป็นคนกำหนดอนาคตในงานของเราได้เองไม่ใช่องค์กรหรือใครจะมาเป็นคนกำหนด เพราะทุกวันนี้คนที่ทำงานดีมีฝีมือย่อมเป็นที่ต้องการขององค์กรต่าง ๆ อยู่เสมอ

3. การได้เกรดเฉลี่ยที่สูง ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคน ๆ นั้นจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานระยะยาวเสมอไปครับ เพราะเกรดเฉลี่ยมันใช้แค่ตอนที่เพิ่งจบใหม่แล้วไปสมัครงานเท่านั้นแหละครับ พอทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครเขามาสนใจถามอีกหรอกว่า “คุณได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่” แต่เขาจะดูว่า “คุณทำงานได้ดีหรือไม่” ต่างหาก เพราะความก้าวหน้าและความสำเร็จในงานขึ้นอยู่กับผลงานและความสามารถในงาน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกรดเฉลี่ยตอนจบครับ จบป่ะ....

      ถ้าน้อง ๆ คิดได้อย่างนี้และทำวันนี้ให้ดีที่สุด ผมเชื่อว่าเมื่อปัจจุบันดี อนาคตย่อมดีตามไปด้วยอย่าง
แน่นอน อย่าลืมว่าถ้าเราเลือกที่จะคิดในทางบวกอนาคตก็มีแนวโน้มจะเป็นบวก แต่ถ้าเราคิดลบอนาคตก็จะเป็นลบตามไปด้วย

ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ที่กำลังหางานและทำงานทุกคนครับ


………………………………..