วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

รับมือ Covid-19 จ่าย-ไม่จ่าย-ลดค่าจ้าง ทำไงดี?


            ตอนนี้เจ้าโควิด-19 อาละวาดออกฤทธิ์ออกเดชไปทั่วจนถือว่าเป็นวิกฤติครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งของมนุษยชาติกันเลยนะครับ ที่สำคัญคือมีผลกระทบไปถึงธุรกิจทุกประเภทและไปถึงคนทำงานในแต่ละภาคส่วนอย่างหนัก จนกระทั่งมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเจ้าไวรัสร้ายตัวนี้

หลายบริษัทก็เริ่มจะสั่งให้พนักงานหยุดงานไปโดยจ่ายค่าจ้างบ้าง ไม่จ่ายบ้าง รวมถึงทางหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจดำเนินการในภาวะฉุกเฉินสั่งให้ธุรกิจบางรายปิดไปก็มี

ก็เลยเกิดคำถามว่าแล้วบริษัทจะต้องจ่ายหรือไม่จ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่หยุดงานล่ะ หรือถ้าบริษัทสั่งให้พนักงานทำงานที่บ้านหรือที่เรียกกันว่า Work From Home (WFH) จะต้องจ่ายหรือเปล่า หรือถ้าบริษัทจะขอลดเงินเดือนลงล่ะจะทำได้ไหม

ผมก็เลยเอาเรื่องทั้งหมดมาทำความเข้าใจกันอย่างนี้นะครับ

1.      กรณีที่หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจมีคำสั่งให้บริษัทปิดชั่วคราว (เขาจะต้องมีประกาศว่าให้ปิดกิจการชั่วคราวตั้งแต่เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่) ซึ่งบริษัทของท่านก็อยู่ในธุรกิจที่เขาออกคำสั่งให้ปิดกิจการชั่วคราว กรณีนี้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 75 ของกฎหมายแรงงาน (เข้าไป Search คำว่ากฎหมายแรงงานในกูเกิ้ลแล้วอ่านมาตรา 75 นะครับ) บริษัทก็ต้องให้พนักงานหยุดอยู่กับบ้านได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างเวลาที่รัฐมีคำสั่ง

2.      กรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้มีคำสั่งให้บริษัทปิดชั่วคราวแต่บริษัทประกาศให้พนักงานหยุดอยู่ที่บ้าน (โดยต้องระบุว่าให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ถึงวันที่เท่าไหร่) เนื่องจากไม่มีลูกค้ามาติดต่อ หรือถึงผลิตสินค้าไปก็ยังขายไม่ได้ ฯลฯ กรณีอย่างนี้บริษัทก็ต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานระหว่างที่หยุดไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ในวันทำงานที่พนักงานต้องได้รับ เพราะถือว่ากรณีนี้ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเหมือนข้อ 1 ซึ่งบริษัทจะต้องแจ้งให้พนักงานและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 3 วันทำการนะครับ

3.      บริษัทสั่งให้พนักงานหยุดและทำงานอยู่ที่บ้านแบบที่เรียกว่า Work From Home (WFH) บริษัทยังต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานตามปกตินะครับ เพราะวิธีนี้พนักงานก็ยังทำงานให้บริษัทอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนที่ทำงานเป็นที่บ้านของพนักงานเท่านั้นแหละ ซึ่งการใช้วิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานของแต่ละตำแหน่ง และการควบคุมติดตามงานของบริษัทว่าจะทำยังไงถึงจะวัดผลงานได้ก็ต้องไปตกลงกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องครับ

4.      บริษัทกับพนักงานตกลงกันเอง วิธีนี้ไม่ได้เป็นวิธีการทางกฎหมายเหมือนข้อ 1 และข้อ 2 นะครับ เพราะต้องยอมรับความจริงว่าในชีวิตจริง บริษัทที่เป็น SME หรือบริษัทเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังพอที่จะจ่ายให้กับพนักงานได้ตามกฎหมาย 

               ก็คงต้องมาพูดคุยกันแหละครับว่าถ้าบริษัทจะให้พนักงานหยุดงานตั้งแต่วันที่นี้ถึงวันที่นี้นะ และระหว่างที่หยุดพนักงานไม่ได้รับค่าจ้างพนักงานจะรับได้ไหม เช่น บริษัทแจ้งให้พนักงานหยุดเดือนหน้าตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 โดยบริษัทจะจ่ายเงินเดือนให้ 20 วัน ส่วนอีก 10 วันถือเป็น Leave Without Pay คือขอให้เป็นวันหยุดของพนักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างพนักงานจะโอเคไหม แล้วก็ทำหนังสือขึ้นมาให้พนักงานเซ็นยินยอมกันเป็นรายบุคคล ถ้าพนักงานคนไหนเซ็นก็จะมีผลกับพนักงานคนนั้น ถ้าพนักงานคนไหนไม่ยินยอมก็จะไม่มีผลกับพนักงานที่ไม่เซ็นด้วยเช่นเดียวกัน วิธีนี้ต้องอาศัยการพูดคุยกันอย่างพี่อย่างน้องและด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกันครับ

5.      ใช้วิธีคล้ายข้อ 4 แต่ให้พนักงานใช้สิทธิพักร้อนให้หมดโดยจ่ายให้เต็มในวันที่ใช้สิทธิพักร้อนที่เหลือก็จะเป็น Leave Without Pay

6.      บริษัทขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือนลง ตามหลักแล้วการลดค่าจ้างทำไม่ได้เพราะเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่เป็นคุณของลูกจ้างให้กลายเป็นโทษ แต่ถ้าลูกจ้างให้ความยินยอมก็ทำได้ซึ่งมีการใช้วิธีนี้กันมากเมื่อตอนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่เมื่อปี 2540-41 โดยพนักงานก็ต้องประชุมพูดจากับพนักงานทุกระดับว่าตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้างและเพื่อช่วยกันให้บริษัทอยู่รอดฝ่าวิกฤติไปได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานในการลดเงินเดือนลงก็ว่ากันไปว่าตำแหน่งไหนจะลดลงไปกี่เปอร์เซ็นต์กี่บาท (แต่ต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนะครับ) แล้วก็ทำหนังสือแจ้งเหตุผลความจำเป็น/อัตราการลดเงินเดือนลงเท่าไหร่/มีผลตั้งแต่เมื่อไหร่ ให้พนักงานเซ็นยินยอมเป็นรายบุคคล ถ้าพนักงานคนไหนเซ็นยินยอมก็จะมีผลกับพนักงานคนนั้น แต่ถ้าพนักงานคนไหนไม่เซ็นก็ไม่มีผลกับพนักงานคนนั้นนะครับ คือถ้าใครไม่ยินยอมเซ็นบริษัทจะไปลดเงินเดือนเขาลงไม่ได้นะครับ วิธีนี้ถึงเป็นวิธีที่จะต้องพูดคุยสื่อสารกันให้ดี ๆ

7.      ผมฝากข้อคิดในเรื่องการลดเงินเดือนลงเอาไว้สำหรับฝั่งพนักงานคือ หากพนักงานเซ็นชื่อยอมลดเงินเดือนลงแล้ว สมมุติว่าอีก 6 เดือนต่อมาบริษัทแจ้งเลิกจ้างพนักงานหรือปิดกิจการ ฯลฯ โดยพนักงานไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 (ดูมาตรา 119 ในกฎหมายแรงงานด้วยนะครับ) บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานโดยใช้ “ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณ นั่นแปลว่าพนักงานจะเสียประโยชน์เพราะจะได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ และบริษัทจะได้ประโยชน์เพราะจ่ายค่าชดเชยลดลงเพราะใช้ฐานค่าจ้างตัวใหม่ที่พนักงานยินยอมลดลงครับ

8.      ดังนั้นในเรื่องการขอความร่วมมือลดเงินเดือนพนักงานของบริษัท ผู้บริหารจึงควรจะต้องมีคุณธรรมไม่ใช้วิธีนี้เพื่อหวังจะลดต้นทุนการจ่ายค่าชดเชยในการ Layoff พนักงานในภายหลัง ซึ่งตรงนี้พนักงานที่จะเซ็นลดเงินเดือนตัวเองลงจะต้องคิดและพิจารณาให้ดีว่าในอดีตที่ผ่านมาผู้บริหารมีคุณธรรมหรือไม่ ถ้าเพื่อมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทอยู่รอดจริงก็โอเค แต่ถ้ามีเจตนาแอบแฝงนี่ก็ไม่ต้องเซ็นหรอกครับ ประเด็นนี้ผมพูดแบบไม่เข้าข้างใครเพราะผมถือคติว่านายจ้างต้องไม่เอาเปรียบลูกจ้าง และลูกจ้างก็ไม่ควรเอาเปรียบนายจ้าง ต้องโปร่งใสตรงไปตรงมาแบบ Gentleman Agreement ครับ

หวังว่าผมคงทำให้ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ได้เข้าใจวิธีปฏิบัติครบทุกประเด็นที่สงสัยแล้วนะครับ รวมถึง HR ที่จะต้องทำความเข้าใจเพื่อไปอธิบายกับฝ่ายบริหารให้มีการปฏิบัติกับพนักงานอย่างเป็นธรรมต่อไป

เป็นกำลังใจให้กับทุกฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้างให้ฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากยังมีอะไรสงสัยก็สอบถามกันมานะครับยินดีให้คำปรึกษาครับ

…………………………..

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563

ให้คำปรึกษาด้าน HR ฟรี

           ระหว่างปิดกทม.ตั้งแต่ 22 มีค.ถึง 12 เมย.63 ผมก็เลยอยากจะใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์กับคนทำงาน HR ที่ตอนนี้อาจจะ Work from home และระหว่างนี้ก็อาจจะอยู่ระหว่างการคิดเตรียมงานโครงการทั้งหลายเอาไว้เมื่อเวลาที่เปิดทำงานตามปกติจะได้มี Project ดี ๆ ที่น่าสนใจไปเสนอนาย เขาจะได้เห็นว่าการทำงานแบบ Work from home ของเราก็ได้งานดี ๆ ออกมาเหมือนกัน

           ดังนั้นถ้าบริษัทไหนต้องการคำปรึกษาหรือมีข้อสงสัยในงาน HR ที่คิดว่าผมจะเป็นประโยชน์กับท่านได้ ก็นัดพูดคุยผ่านวิดีโอคอลทางไลน์กันได้นะครับ

           โดยให้ท่านที่สนใจแอดไลน์มาได้ตาม QR Code ข้างล่างนี้แล้วนัดหมายวัน-เวลาที่จะวิดีโอคอลกัน (ในเบื้องต้นผมขอจำกัดเวลาบริษัทละไม่เกิน 1 ชั่วโมงนะครับ)

            บริษัทไหนสนใจก็แอดไลน์เข้ามานัดหมายได้เลยครับ



วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563

หนังสือ "คู่มือหัวหน้างานสัมภาษณ์คัดเลือกแบบมือโปร"


หนังสือออกใหม่ของผมเองครับเพิ่งออกจากแท่นพิมพ์มาอุ่น ๆ

ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปรก็อ่านได้ทุกคน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็น Line Manager ยิ่งควรจะต้องอ่าน

ผมเจตนาเขียนไม่ให้เล่าหนาจนกลายเป็นตำรา

เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำรา!

แต่อยากให้อ่านด้วยสำนวนง่าย ๆ สบาย ๆ แบบเล่าสู่กันฟังรวดเดียวจบ

ต้องการให้อ่านแล้วนำไปใช้ได้จริง จึงมีตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายเหมือนมาเข้า Workshop ฝึกการตั้งคำถามกับผมโดยตรงแลไปปรับใช้กับงานได้เลย

หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกคนที่ "ใช่" มาร่วมงานนะครับ

สนใจติดต่อ HR Center https://www.hrcenter.co.th/?m=book  สั่งซื้อแบบออนไลน์ส่งถึงหน้าบ้านไม่ต้องเสี่ยงกับ Covid-19 ครับ



.............................

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

บริษัทขอลดเงินเดือนเนื่องจาก Covid-19 และเศรษฐกิจไม่ดีได้หรือไม่


            ตอนนี้เศรษฐกิจบ้านเราก็ได้รับผลกระทบจากหลาย ๆ เรื่องเลยนะครับตั้งแต่สงครามการค้าอเมริกา-จีนมาจนถึงเรื่อง Covid-19 หลายบริษัทที่ยืนระยะไม่ไหวก็ต้องปิดกิจการกันไป ส่วนบริษัทที่ยังอยู่ก็เริ่มมีการขอความร่วมมือจากพนักงานให้ลดเงินเดือนลงเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ซึ่งการขอความร่วมมือพนักงานให้ลดเงินเดือนลงแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยเรามีวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540-42 ดูไปแล้วก็เหมือนกับปรากฎการณ์ Déjà vu ยังไงก็ไม่รู้นะครับ

            ตอบคำถามข้างต้นให้เข้าใจง่าย ๆ ได้อย่างนี้ครับ

1.      พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือนายจ้างจะลดค่าจ้างของลูกจ้างโดยไม่ได้ครับถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม เพราะถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง แต่ถ้าลูกจ้างคนไหนยินยอมก็ทำได้โดยทำสัญญาระบุว่าลูกจ้างยินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงเท่าไหร่กี่บาทกี่เปอร์เซ็นต์ก็ว่ากันไปแล้วให้ลูกจ้างเซ็นชื่อยินยอม ใครเซ็นสัญญานี้ก็จะมีผลใช้บังคับกับคนที่เซ็นแต่ถ้าใครไม่เซ็นก็ไม่มีผลกับคนที่ไม่เซ็น

2.      การเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนของลูกจ้างต้องไม่ลดจนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนะครับ

3.      อาจมีคำถามว่าถ้าลูกจ้างคนไหนไม่ยอมเซ็นลดเงินเดือนล่ะบริษัทจะทำยังไง อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางฝ่ายบริหารแล้วล่ะครับ มาตรการหนักสุดบริษัทก็อาจจะแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนแล้วก็จ่ายค่าชดเชย+ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย

4.      แล้วลูกจ้างที่เซ็นยินยอมลดเงินเดือนล่ะจะลดไปถึงเมื่อไหร่ อันนี้ก็คงแล้วแต่ทางบริษัทแหละครับว่าจะกำหนดให้การลดเงินเดือนเพื่อให้บริษัทอยู่รอดมีผลไปอีกกี่เดือนหรือกี่ปี ซึ่งจากที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติเมื่อปี 2540-42 เมื่อเศรษฐกิจเริ่มพลิกฟื้นกลับมา ก็มีบางบริษัทเหมือนกันที่ปรับเงินเดือนขึ้นเพื่อชดเชยให้กับพนักงานที่ร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันปัญหากันมา แต่อันนี้ก็แล้วแต่นโยบายของฝ่ายบริหารแต่ละบริษัทนะครับ

5.      ถ้าบริษัทให้เราเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนลงแล้ว ต่อมาอีก 3 เดือน 6 เดือนมาแจ้งเลิกจ้างเราล่ะ เราจะได้รับค่าชดเชยยังไง ก็ตอบได้ว่าตามกฎหมายแรงงานก็ให้ใช้ “ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครับ เช่น ถ้าเรารับได้เงินเดือน 20,000 บาท แล้วเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนเหลือ 18,000 บาท ต่อมาอีก 3 เดือนบริษัทแจ้งเลิกจ้างเรา บริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยโดยใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายคือ 18,000 บาทในการคำนวณค่าชดเชยจ่ายตามมาตรา 118

6.      แต่ถ้าสมมุติว่าเพื่อนเราเงินเดือนปัจจุบัน 20,000 บาท (เหมือนกับเรา) และไม่ยอมเซ็นยินยอมลดเงินเดือนลง ถ้าบริษัทเลิกจ้างเพื่อนเราก็จะใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้ายคือ 20,000 บาทในการคำนวณการจ่ายค่าชดเชยครับ

7.      จากตัวอย่างในข้อ 5 และข้อ 6 จึงต้องควรดูพฤติกรรมของฝ่ายบริหารที่อดีตที่ผ่านมาว่าเขาจะมีความน่าเชื่อถือและมีแนวโน้มเลิกจ้างเราหลังจากเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนหรือไม่ เขามีความจริงใจและมีเจตนาที่จะให้ช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอดจริงหรือไม่ เพราะผมก็เคยเจอบางบริษัทที่ผู้บริหารใช้เทคนิคขอความร่วมมือให้พนักงานลดเงินเดือนลงเพื่อลดงบประมาณการจ่ายค่าชดเชย พอพนักงานเซ็นยินยอมลดเงินเดือนลง อีกไม่กี่เดือนก็ Layoff พนักงานออก ดังนั้นก่อนจะเซ็นยินยอมลดเงินเดือนตัวเองจึงต้องประเมินความจริงใจของฝ่ายบริหารและคิดให้ดี ๆ ครับ

8.      กรณีถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรมก็ยังมีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมหรือไม่เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกด้วยครับ

การดำเนินการในเรื่องนี้จึงต้องมีการพูดจากันแบบพี่แบบน้องด้วยความจริงใจ โปร่งใส ตรงไปตรงมา ใช้หลัก “ใจเขา-ใจเรา” จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือเกิดความไว้วางใจ หรือแม้แต่การจากกันด้วยดีในกรณีที่ต้องปิดกิจการโดยไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นโรงขึ้นศาลกันให้วุ่นวายภายหลังนะครับ

…………………………

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

พนักงานลากิจเกินสิทธิแล้วจะขอบริษัทลากิจแบบไม่รับค่าจ้างจะได้หรือไม่


         ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการทำงานหรือกฎระเบียบของบริษัทที่เขียนเรื่องการลากิจเอาไว้ยังไง ถ้าเขียนเรื่องของเงื่อนไขการลากิจโดยไม่รับค่าจ้างเอาไว้แล้วบริษัทอนุมัติก็เป็นการลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง (Leave without pay หรือ No work no pay) ก็ทำได้ครับ ซึ่งเงื่อนไขแบบนี้บริษัทควรเขียนระเบียบกติกาให้ชัดเจนว่าจะทำได้ในกรณีใดบ้าง

ถ้าบริษัทไม่อนุมัติการลากิจที่ไม่เป็นไปตามระเบียบการลากิจที่เขียนไว้ พนักงานก็หยุดไม่ได้และถ้าพนักงานยังดื้อฝ่าฝืนหยุดไปก็จะถือว่าเป็นการขาดงาน โดยบริษัทสามารถออกหนังสือตักเตือนการขาดงาน (ละทิ้งหน้าที่) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรได้ ในกรณีที่การขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรนั้นยังไม่ถึง 3 วันทำงานติดต่อกัน (ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม)

แต่ถ้าขาดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันขึ้นไปไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรบริษัทก็อาจเลิกจ้างได้ครับ

ซึ่งการขาดงานจะมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ก็คงต้องมาดูข้อเท็จจริงในรายละเอียดแต่ละกรณีกันอีกทีครับ

.............................