วันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567

ลูกน้องไม่เคยลาหยุดงานเลย..ดีไหม?

             ผมว่ายังมีคนที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารอีกไม่น้อยเลยนะครับที่อยากเห็นลูกน้องมาทำงานทุกวันโดยไม่อยากจะให้ลาหยุดงาน 

             จึงมีคำถามว่า “การที่พนักงานไม่เคยลาหยุดงานบ้างเลยดีหรือไม่ ?”
            แน่นอนว่าถ้ามองจากทางฝั่งผู้บริหารหรือเถ้าแก่เจ้าของกิจการ (บางคน) ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะคนเราต้องขยันทำงาน 
            คือมุมมองของผู้บริหารทางฝั่งที่อยากให้ลูกน้องหรือพนักงานมาทำงานทุกวันก็จะชื่นชมพนักงานที่ไม่เคยป่วย สาย ลา ขาดงาน และมองแบบเหมารวมว่าคนที่มาทำงานทุกวันเป็นคนขยัน ทุ่มเท รับผิดชอบในงาน
            ถ้าลองย้อนกลับมานั่งนิ่ง ๆ คิดให้ดี ๆ โดยไม่ยึดติดค่านิยมแบบเดิม ๆ มองแต่มุมของนายจ้างเพียงฝั่งเดียว แล้วลองตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า....
            คนที่มาทำงานทุกวันโดยไม่มีวันหยุด หรือคนที่มาทำงานตรงเวลา ไม่เคยป่วย สาย ลา ขาดงาน ฯลฯ จะเป็นคนที่ทำงานดีมีผลงาน เป็นคนทุ่มเท หรือมีความรับผิดชอบที่ดีในงานที่ทำทุกคนจริงหรือ ?
            ผมมีข้อสังเกตในเรื่องที่พนักงานไม่เคยหยุดงานเลยจากประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังดังนี้ครับ
1.        พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานเลยก็เพราะอยากจะได้เงินจูงใจที่บริษัทตั้งเอาไว้ว่าถ้าไม่หยุดงานทุกประเภทในเดือนใด ก็จะได้รับค่าเบี้ยจูงใจในการทำงาน (บางที่อาจจะเรียกว่าค่าเบี้ยขยัน) เต็มตามจำนวนก็เลยทำให้ต้องรักษาประวัติการทำงานเอาไว้เพื่อให้ได้เงินจูงใจจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น
            อันนี้เป็นเรื่องปกติเห็นได้ทั่วไป
2.        แม้บางบริษัทที่ไม่ได้มีค่าเบี้ยจูงใจให้มาทำงานทุกวัน แต่พนักงานบางคนก็ยังมาทำงานทุกวันโดยไม่เคยหยุดเลยแม้แต่วันเดียว ซึ่งหัวหน้าอาจจะมองด้วยความชื่นชมว่าพนักงานคนนี้ขยันขันแข็งและรับผิดชอบในงานดีมาก แต่เชื่อไหมครับว่าจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาคือการยักยอกเงินบริษัทหลายครั้งมักจะพบว่าคนที่ทุจริตจะไม่เคยหยุดงานเลย 
          เพราะถ้าหยุดงานไปแล้วมีคนมาทำงานแทนก็จะรู้ว่าตัวเองนั่งทับอะไรเอาไว้บ้างก็เลยไม่กล้าหยุด แม้จะเจ็บป่วยมากยังไงก็จะพยายามมาทำงานให้ได้ซึ่งหัวหน้าก็จะชื่นชมว่าเป็นคนมีความรับผิดชอบ ? 
          แต่บอกก่อนนะครับว่าผมไม่ได้กล่าวหาว่าคนที่ไม่เคยหยุดงานเลยจะทุจริตซะทุกคน อันนี้งดดราม่านะครับผมเล่าประสบการณ์ให้ฟังเฉย ๆ คนที่ขยันมาทำงานและไม่ได้เป็นคนทุจริตก็ไม่เกี่ยวกับข้อนี้นะครับ
           เพียงแต่อยากให้คนที่เป็นผู้บริหารคิดในมุมนี้เอาไว้บ้าง
3.        ท่านใช้โทรศัพท์มือถือโดยไม่เคยต้องชาร์ตแบตฯบ้างเลยไหมครับ ? 
             คนเราก็เช่นเดียวกันเมื่อทำงานไปทั้งปีก็ควรจะต้องมีการหยุดพักผ่อนชาร์ตแบตฯกันบ้าง ไม่ใช่ทำงานไปทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เคยได้หยุดพักกันบ้างเลย อย่างนี้คุณภาพชีวิตของคน ๆ นั้นในอนาคตจะเป็นยังไง 
            เคยได้ยินโรคไหลตายจากการทำงานหรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าโรค “คะโรชิ” บ้างไหมครับ เพราะพนักงานไม่เคยพักผ่อนและโหมงานเครียดจากงานที่ทำจนร่างกายรับไม่ไหว
              ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจึงควรจะมองเรื่องของสวัสดิภาพและสุขภาพในการทำงานของพนักงานด้วยนะครับ ไม่ใช่คิดแต่จะใช้งานพนักงานแบบไม่เคยให้หยุดพักจนกรอบ (Burn out) สุขภาพเสื่อมโทรม
                และเมื่อเขาสุขภาพเสื่อมโทรมก็แก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการเลิกจ้างหรือ Lay off เขาออกไปแล้วหาคนใหม่มาแทน ระวังว่ากฎแห่งกรรมมีจริงนะครับ แต่ถ้าผู้บริหารหรือหัวหน้าคนไหนไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมก็ทำต่อไปก็แล้วกัน
4.        พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานเลยหลายคนก็จะเก็บงานไว้กับตัวเองไม่มีใครทำแทนได้ เพราะแกก็จะมาทำงานทุกวันจึงไม่จำเป็นต้องสอนงานให้ใครทำเป็นเพราะขืนไปสอนให้ใครทำแทนตัวเองได้เดี๋ยวตัวเองก็จะหมดค่าหมดความหมายในสายตาของหัวหน้า 
              ผู้บริหารหลายคนไม่คิดถึงประเด็นเหล่านี้ก็มักจะเป็นคนประเภท “มองสั้นไม่มองยาว” แล้วพอวันหนึ่งวันใดที่พนักงานที่ไม่เคยหยุดงานลาออก (กระทันหัน-ส่วนมากได้งานใหม่), ตาย, หรือเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจนไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ บริษัทก็จะวุ่นวายปั่นป่วนเพราะคน ๆ นี้รู้งานอยู่คนเดียว
               แต่ถ้าบริษัทหาคนมาเรียนรู้เอาไว้บ้างและให้พนักงานตัวหลักได้หยุดพักผ่อนประจำปีไปบ้างแล้วให้คนมาทำแทน อย่างน้อยก็จะมีคนที่รู้งานและสามารถมาทำแทนได้เมื่อเกิดเหตุอย่างที่ผมบอกมานี้ ซึ่งจะลดปัญหาเหล่านี้ลง
5.       ในชีวิตของคนเราไม่ได้มีแต่มิติเรื่องงานเพียงมิติเดียว เรายังมีมิติครอบครัว, เพื่อนฝูง, สันทนาการ, สุขภาพ ฯลฯ ดังนั้นถ้าจะมุ่งให้คนทุกคนยึดมิติในเรื่องงานเพียงเรื่องเดียวผมมักจะพบว่าคนหลายคนเกิดปัญหาในงานเพราะมีสาเหตุมาจากมิติอื่น ๆ เช่นเรื่องที่บ้านเรื่องครอบครัว, สุขภาพ ทำให้มีผลกระทบมาถึงการทำงานไปด้วย
                ดังนั้น Work life balance ยังเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งในยุคของคนรุ่นใหม่แล้วเขาไม่ได้มองว่าการจมอยู่ในที่ทำงานนาน ๆ ตลอดทั้งวันหรือทำงานโดยไม่มีวันหยุดนั้น ถ้าไม่ได้ทำให้เกิด Productivity ที่เพิ่มขึ้นแล้วจะทำอย่างนั้นไปทำไม
                และเรื่องนี้ก็จะเป็นสาเหตุของการลาออกของคนรุ่นใหม่ในที่สุด !
                ข้อสังเกตทั้งหมดที่เล่ามานี้มาจากประสบการณ์ของผมนะครับซึ่งท่านที่เป็นผู้บริหารที่ยังอยากให้ลูกน้องมาทำงานทุกวันตลอดทั้งปีอ่านแล้วจะเชื่อหรือไม่ก็คงเป็นสิทธิในการคิดของแต่ละคน 
                คงต้องกลับไปคิดทบทวนดูว่าจะชื่นชมพนักงานที่มาทำงานทุกวันโดยไม่เคยหยุดพักบ้างเลยต่อไปดีหรือไม่ 
                 แต่ถ้าคิดแล้วยังเห็นว่าดีก็เอาที่สบายใจก็แล้วกันนะครับ

...........................

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2567

บริษัทมีสิทธิขอต่อทดลองงานได้ไหม ?

             ถ้าจะถามว่าทำไมต้องมีการทดลองงานก็คงจะได้คำตอบทำนองที่ว่าเพราะบริษัทอยากจะดูผลงานกันให้แน่ใจเสียก่อนว่าจะทำงานได้จริงไหม เป็นยังไงบ้าง ก็เลยกำหนดช่วงเวลาในการทดลองงานขึ้นมา

            โดยทั่วไปมักจะมีระยะเวลาทดลองงานไว้คล้ายกันคือไม่เกิน 120 วัน          ถ้าจะถามต่อว่า “ทำไมต้องทดลองงานกันไม่เกิน 120 วันด้วย” ??          ผมได้ยินคำตอบของคนส่วนใหญ่ก็คือ “เพราะกฎหมายแรงงานกำหนดเอาไว้” !!??          จริงหรือครับที่กฎหมายแรงงานกำหนดให้ทดลองงานไม่เกิน 120 วัน ?           ถ้าเป็นอย่างนี้จริง บริษัทที่มีการต่อทดลองงานออกไปเกินกว่า 120 วันก็จะทำผิดกฎหมายแรงงานแหงแก๋            เรื่องนี้ก็เลยมาเป็นคำถามในวันนี้ยังไงล่ะครับว่าบริษัทมีสิทธิจะขอต่อทดลองงานพนักงานใหม่ได้หรือไม่            แถมพนักงานเข้าใหม่บางคนยังเข้าใจว่าบริษัทที่ขอต่อทดลองงานกำลังทำผิดกฎหมายแรงงานที่กำหนดให้ทดลองงานไม่เกิน 120 วัน            ผมเลยขออธิบายให้เข้าใจตรงกันตรงนี้ว่า....          ไม่มีมาตราไหนในกฎหมายแรงงานที่ระบุให้มีการทดลองงานเลยแม้แต่มาตราเดียวนะครับ !           การทดลองงานจึงเป็นเรื่องที่ตกลงกันเองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง            แล้วทำไมบริษัทส่วนใหญ่ถึงทดลองงานกันไม่เกิน 120 วันล่ะ ?            ก็ตอบแบบตรงไปตรงมาได้ว่า….           ถ้าหากมีการทดลองงานยังไม่ถึง 120 วัน แล้วลูกจ้างผลงานไม่ดีมีปัญหาเช่น ในระหว่างการทดลองงานพนักงานก็ชอบมาสาย, อู้งาน, ไม่รับผิดชอบงาน, ไม่สนใจเรียนรู้งาน, ไม่สามารถทำงานได้อย่างที่บริษัทคาดหวัง  ฯลฯ            บริษัทก็สามารถจะแจ้งเลิกจ้างพนักงานที่มีปัญหาเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน (รายละเอียดให้ดูในมาตรา 118 เพิ่มเติมนะครับ)            เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว สมมุติว่าบริษัทรับพนักงานเข้ามาทำงานและทดลองงานมาแล้วเมื่อถึงกำหนด 120 วัน บริษัทอยากจะต่อทดลองงานจึงเป็นสิ่งที่บริษัททำได้ครับ            แต่บริษัทจะต้องเข้าใจว่าสถานะของพนักงานทดลองงานคนนี้กลายเป็น “ลูกจ้าง” ที่ทำงานครบ 120 วันไปแล้วนะครับ            ดังนั้นเมื่อต่อทดลองงานออกไปไม่ว่าจะกี่วันหรือกี่เดือน แต่ถ้าอายุงานของลูกจ้างทดลองงานคนนี้ครบ 120 วันขึ้นไป หากบริษัทไม่พึงพอใจกับผลการทำงานแล้วบริษัทต้องการจะเลิกจ้าง บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามมาตร 118 ก็เท่านั้นแหละครับ            มาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงเข้าใจเรื่องของการต่อทดลองงานตรงกันแล้วนะครับ

วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567

หนังสือเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี

             เนื่องจากยังมีคำถามมาที่ผมอยู่เป็นระยะเพื่อขอซื้อหนังสือที่ผมเคยเขียนมานานแล้วและทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้พิมพ์เป็นเล่มแล้ว แต่เนื่องจากผมเป็นคนเขียนไม่ใช่สำนักพิมพ์จึงไม่มีขาย ผมก็เลยนำเอาหนังสือเหล่านั้นมาปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยและเข้าใจง่ายมากขึ้น (เนื้อหาในหนังสือที่แจกฟรี Update มากกว่าที่เคยพิมพ์เป็นเล่ม) แล้วเอามาแจกฟรีในบล็อกของผมคือ http://tamrongsakk.blogspot.com

            หรือถ้าใครอ่านพบในเฟซบุ๊คของผมก็ให้ดาวน์โหลดเล่มที่ต้องการได้ตามนี้

1. Download หนังสือ "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)"

https://www.dropbox.com/s/uho10vpz55vt5xu/JE%26SS_Free.pdf?dl=0

 2. ดาวน์โหลด Micro Pocket Book "25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์"

 https://www.dropbox.com/s/cc8to40p10ojyat/25%20%20Q%26A_SS.pdf?dl=0

 

3. ดาวน์โหลดหนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนแบบง่าย ๆ”

https://www.dropbox.com/s/xaks9yls6nyw7nk/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%20%E0%B9%86.pdf?dl=0

4. Download หนังสือ “การบริหารความเสี่ยงด้าน HR”

https://www.dropbox.com/s/5rlqkq5yjcfblt3/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20HR_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD.pdf?dl=0

 5. Download หนังสือ “หัวหน้างานกับการบริหารลูกน้อง HR for NON HR”

https://www.dropbox.com/s/shwz3usn4wbs4l4/%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf?dl=0

6. Download หนังสือ "จัดการฝึกอบรมให้มีประสิทธิผลอย่าง Training Officer มืออาชีพ"

https://www.dropbox.com/s/urvq70samjd3tfr/TO_Free.pdf?dl=0

 7. ดาวน์โหลดหนังสือ "เรียนรู้โหราศาสตร์ไทยมาใช้ในงาน HR - ภาคปฏิบัติ"

https://www.dropbox.com/s/oe537r47y4yk8g6/HR_Horasad.pdf?dl=0

8. ดาวน์โหลดหนังสือ "คู่มือการเป็นวิทยากร" หรือ Train the trainer

https://www.dropbox.com/s/52as4h4fvo57k8b/TrainTheTrainer.pdf?dl=0

9. ดาวน์โหลดหนังสือ “การทำ Training & Development Roadmap ตามแผนงานขององค์กร (ภาคปฏิบัติ)”

https://www.dropbox.com/s/0rq5x9ukx0zatqm/TRM_By%20Strategic%20Plan.pdf?dl=0

10. ดาวน์โหลดหนังสือ "สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก"

https://www.dropbox.com/s/i4ceoesgslzi6ac/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99Free.pdf?dl=0

11. ดาวน์โหลดหนังสือ “กระตุกต่อมคิดชีวิตคนทำงาน”

https://www.dropbox.com/s/xlfhf6uf9277luj/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99.pdf?dl=0

12. ดาวน์โหลดไฟล์ "รู้เขา..รู้เราด้วย D I S C"

https://www.dropbox.com/s/3287l1mnva2jeq8/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20D%20I%20S%20C%20%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%205%20%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

  13. ดาวน์โหลดไฟล์ “ทำไม Functional Competency ถึงไม่เวิร์ค”

https://www.dropbox.com/s/xy4thcslhifo5qh/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%20Functional%20Competency%20%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84-%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%991%2B2%2B3.pdf?dl=0

14. ดาวน์โหลดหนังสือ “คุยเฟื่องเรื่องค่าตอบแทน”

https://www.dropbox.com/s/i8xmaozgs8zhwrw/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

 ดาวน์โหลดประวัติวิทยากร

https://www.dropbox.com/s/ej25o4cbhup93qc/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3_pic.pdf?dl=0

 15. ดาวน์โหลดหนังสือ “เสริมทักษะหัวหน้างานยุคใหม่”

https://www.dropbox.com/s/8rhbfz8g7vf0crd/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.pdf?dl=0

16. ดาวน์โหลดไฟล์ “อคติกับพฤติกรรมคน”

https://www.dropbox.com/s/ziy5ms95g7yac0h/%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

 17. รวมเรื่องนักคิดจิตวิทยาและการจัดการ

https://www.dropbox.com/s/vlsvrrcvx9ixohc/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf?dl=0

18. Micro Pocket Book “25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์

https://www.dropbox.com/s/g797sxbkp1chkgo/25%20%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

 19. Check list ปัญหาค่าตอบแทน

https://www.dropbox.com/s/tbkd1i8js9hrfbh/Check%20List%20%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

 20. หนังสือ “เขาว่า..ที่ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารคน”

https://www.dropbox.com/s/5l56ygqzmzu78i2/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

21.หนังสือ “ถาม-ตอบปัญหาค่าจ้างเงินเดือนจากหน้างาน”

https://www.dropbox.com/scl/fi/7tcldqpsqqfjtywaxye0e/.pdf?rlkey=vo26my5vwpyud811wkg84968k&dl=0

 

วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2567

พลังของโซเชียลมีเดียกับการบริหารงานบุคคล

 ต้องยอมรับกันแล้วว่าพลังของโซเชียลมีเดียมีมากมายจริง ๆ ทั้งทางบวกและลบ

 มองไม่เห็นแต่สัมผัสได้ว่ามีพลังจริง ๆ ครับพลังของโซเชียลฯทางบวกสามารถโอบอุ้มช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก คนถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรมให้มีกำลังใจลุกขึ้นมายืนหยัดในสังคมได้ในขณะที่พลังโซเชียลฯทางลบสามารถลงทัณฑ์คนที่ทำไม่ดีทำผิดแบบทัวร์ลง เล่นงานจนทำให้คนที่ถูกข่าวลือไปในทางที่ไม่จริงเสียผู้เสียคนไปก็ไม่น้อยแล้วพลังของโซเชียลฯมาเกี่ยวอะไรกับการบริหารงานบุคคล ?ในสมัยก่อนบริษัทจะทำยังไงกับพนักงานก็ได้แล้วแต่ใจของฝ่ายบริหารแล้วแต่ใจของเถ้าแก่หรือตามใจฝ่ายบริหาร เช่น....- เงินเดือนพนักงาน 20,000 บาท ก็จ่ายแค่ 18,000 บาท ที่เหลืออีก 2,000 บาทเอาไว้จ่ายเดือนหน้า (ขอต๊ะไว้ก่อน) หรือบางเดือนก็จ่ายเงินเดือนไม่ตรงเวลาอีกต่างหาก- หักเงินค้ำประกันการทำงานทุกตำแหน่งงาน ใครจะเข้าทำงานตำแหน่งไหนต้องเอาเงินมาวางค้ำประกันความเสียหายแม้ตำแหน่งนั้นไม่เกี่ยวกับความรับผิดชอบในตัวเงินหรือทรัพย์ของนายจ้างก็ตามซึ่งผิดกฎหมายแรงงาน- ทำสัญญาจ้างงานบอกเอาไว้ว่าถ้าไม่ผ่านทดลองงานบริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าผลงานไม่ดี- หากพนักงานไม่ลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัท บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำผิดกฎระเบียบเรื่องการลาออก- ไม่ใช้ “ค่าจ้าง” เป็นฐานในการคำนวณโอที- ฯลฯ       หากบริษัททำสิ่งที่ผิด ๆ ตามที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ในสมัยก่อนมีสื่อโซเชียลก็ไม่ค่อยมีผลกระทบอะไรกลับมาที่บริษัทนัก       เพราะพนักงานก็ไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนเอากับใคร อย่างมากก็เขียนจดหมายไปที่หนังสือพิมพ์เพื่อร้องเรียนซึ่งก็ไม่รู้ว่าจดหมายจะไปถึงสำนักพิมพ์หรือเปล่า, เขาจะลงพิมพ์ให้ไหม, ถ้าตีพิมพ์ไปแล้วจะมีคนสนใจติดตามเรื่องไหม ฯลฯ       ถ้าไม่ใช่เรื่องเด่นประเด็นฮ็อตหรือเรื่องน่าสนใจจริง ๆ ก็มักจะเงียบหายไป       แต่ในปัจจุบันนี้ทุกคน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่คน Gen Y เป็นต้นไป) มีสื่อโซเชียลฯอยู่ในมือไม่ว่าจะเป็นไลน์, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม,ติ๊กตอก ฯลฯถ้าบริษัทไหนไปทำแบบที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นในยุคนี้ เรื่องเหล่านี้ก็จะถูกเผยแพร่ออกไปในสื่อออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นข้อความ, ภาพ, คลิปยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดียิ่งมีการแชร์ต่อกันไปอย่างรวดเร็ว เท่า ๆ กับชื่อเสียงขององค์กรก็จะเสียหายอย่างรวดเร็วและกู้กลับคืนมาได้ยากลำบากอีกด้วยยังจำเรื่องพี่กบที่ไม่อนุญาตให้ลูกน้องไปงานศพคุณแม่ได้ใช่ไหมครับดังนั้น องค์กรและผู้บริหารทุกระดับควรจะต้องหันกลับมาทบทวนกฎ ระเบียบ วิธีการปฏิบัติ รวมไปถึงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลที่ปฏิบัติกับพนักงานแบบไม่ถูกต้องเสียใหม่ให้มีความถูกต้อง ชัดเจน มีเหตุมีผลที่อธิบายให้เข้าใจตรงกันได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นจำเลยของสังคมในสื่อโซเชียล          ซึ่ง HR เองก็จะต้องปรับตัวเองให้เข้าสู่โหมดออนไลน์เพื่อหาข้อมูลให้มากขึ้นเพื่อนำมาสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริหารและพนักงานให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร รวมถึงคนที่ทำงาน HR ควรจะต้องกล้าให้ความเห็นคัดค้านฝ่ายบริหารหากจะมีการตัดสินใจใด ๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ถูกต้องในหลักของการบริหารงานบุคคลHR ต้องกล้าพูดกล้าชี้ให้เห็นถึงผลดี-ผลเสียเพื่อให้ฝ่ายบริหารทบทวนการตัดสินใจใหม่อีกครั้งอย่างมืออาชีพ เพื่อลดผลกระทบความเสียหายและลดโอกาสที่จะทำให้องค์กร (หรือตัวผู้บริหารในองค์กร) ถูกนำไปโพสในเชิงลบผ่านสื่อโซเชียลด้วยนะครับ      ที่ผมพูดมานี้ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องกลัวสื่อโซเชียลฯจนไม่เป็นอันทำอะไรนะครับ เพียงแค่อยากให้ตระหนักว่า....       สื่อโซเชียล....อยู่ในอากาศในคลื่นไวไฟหรือ 5G มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้..แต่มีพลังอยู่จริง       ถ้าองค์กรหรือฝ่ายบริหาร (รวมถึงหัวหน้างานทุกระดับ) มีหลักและวิธีการบริหารงานบุคคลด้วยความถูกต้องมีเหตุผล และรู้จักใช้สื่อโซเชียลเป็นก็จะได้รับพลังนี้ในเชิงบวก         แต่ถ้ามีการบริหารงานบุคคลแบบไม่ถูกต้องหรือใช้สื่อนี้ไม่เป็นก็ต้องระวังพลังของสื่อโซเชียลในเชิงลบเอาไว้ให้ดีครับ

วันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2567

หนังสือ “ถาม-ตอบปัญหาค่าจ้างเงินเดือนจากหน้างาน”

           มาตามสัญญาถือว่าวันนี้วันครูเป็นฤกษ์สะดวกที่ผมจะเปิดให้คนที่สนใจดาวน์โหลดหนังสือ “ถาม-ตอบปัญหาค่าจ้างเงินเดือนจากหน้างาน” ที่รวบรวมเคสและคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารค่าจ้างเงินเดือนเอาไว้ให้คนที่สนใจเรื่องเหล่านี้ได้นำไปปรับใช้กับงานที่ทำอยู่นะครับ

            ดาวน์โหลดหนังสือได้ที่ https://www.dropbox.com/scl/fi/7tcldqpsqqfjtywaxye0e/.pdf?rlkey=vo26my5vwpyud811wkg84968k&dl=0

            ถ้าใครเห็นว่ามีประโยชน์จะแชร์จะส่งต่อให้ญาติมิตรก็ทำได้เลยนะครับ

#Pay it forward

วันจันทร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567

จะแก้ปัญหาระวังเจอ Cobra Effect

           เคยมีคำกล่าวว่าแขกกับงูเป็นของคู่กัน 

ในยุคสมัยที่อินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็เจอปัญหาวุ่นวายเกี่ยวกับงูนี่แหละครับ

โดยเฉพาะในเดลีเมืองหลวงมีอัตราการเกิดของประชากรงูเห่า (ที่ไม่ใช่คนที่ย้ายพรรคนะครับ) เพิ่มขึ้นมาก

แหม..ถ้าเป็นหมูเห็ดเป็ดไก่วัวควายเพิ่มขึ้นก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอก แต่นี่ดันเป็นงูเห่าเพิ่มขึ้น จะไปไหนมาไหนก็ต้องคอยระวังระแวงว่าจะปุ๊บปั๊บรับโชคไปฉีดเซรุ่มกันเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

แน่นอนครับว่าผู้ปกครองชาวอังกฤษก็คงไม่อยากจะให้ชาวบ้านชาวเมืองต้องมาลุ้นกับการถูกงูเห่ากัดก็เลยคิดแก้ปัญหานี้แบบตรงไปตรงมา

ด้วยการออกประกาศให้คนอินเดียออกล่างูเห่าแล้วนำซากงูเห่ามาขึ้นรางวัลโดยคิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้จะทำให้ประชากรงูเห่าลดลงได้

เรียกว่ายิ่งฆ่างูเห่าได้มากก็ยิ่งได้เงินมาก

ก็เลยทำให้คนอินเดียในยุคนนั้นออกล่างูเห่าเอาเงินรางวัลกันขนานใหญ่

ช่วงแรก ๆ ของนโยบายล่างูเห่าขึ้นเงินรางวัลนี้ก็เป็นไปด้วยดีหรอกครับ

แต่เมื่อช่วยกันออกล่างูเห่าไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้ประชากรงูเห่าลดลงไปตามที่อังกฤษต้องการ ในขณะที่รายได้ของแขกก็ลดลงตามไปด้วย

จึงทำให้แขกปิ๊งไอเดียคิดแก้ปัญหาของตัวเองเพิ่มรายได้ให้กลับมาเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมแบบหักปากกาเซียน

คือแทนที่จะใช้วิธีไปล่างูเห่าแบบเดิม แขกก็เอางูเห่าไปเพาะเลี้ยงแบบทำฟาร์มงูเห่าแล้วก็นำมาฆ่าเพื่อเอาซากงูเห่าไปขายเพื่อขึ้นเงินกับอังกฤษ

ในเวลาต่อมาอังกฤษก็รู้ว่าตัวเองต้องการจะแก้ปัญหาหนึ่งแต่กลับกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ก็เลยประกาศยกเลิกการล่างูเห่าเอาเงินรางวัลซะงั้น

ข้างฝ่ายแขกพอถูกอังกฤษเท อาบังแกก็เลยเทบ้าง

เทงูเห่าที่เพาะเลี้ยงไว้นี่แหละครับ ก็คือเอางูเห่าที่เลี้ยงไว้แล้วขายไม่ได้ไปปล่อยทิ้ง

ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า Cobra Effect

ผลก็คืองูเห่าในเดลีมีมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก !!??

ก็เลยเป็นข้อคิดสำหรับนักแก้ปัญหาว่าในการแก้ปัญหาต้องมองอย่างรอบด้าน ต้องมองการแก้ปัญหาและผลกระทบจากมุมอื่นที่ไม่ใช่เพียงมุมมองของตัวเราเองเพียงฝ่ายเดียว

เพื่อไม่ให้เกิด Cobra Effect อย่างที่ผมฝอยมานี่แหละครับ

ปิดท้ายด้วยคำถามว่าบริษัทของท่านเคยแก้ปัญหาแล้วเจอ Cobra Effect บ้างไหมครับ ?


วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567

PMS-เป้าหมายของบริษัท vs เป้าหมายของพนักงานคือเป้าหมายเดียวกัน ?

             ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่าในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ก็ล้วนแต่จะมีการกำหนดเป้าหมายให้พนักงานทำงานให้บรรลุผลที่วางไว้กันอยู่ไม่น้อย ซึ่งมักจะเรียกกันว่าการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System-PMS) บ้าง หรือบางแห่งก็เรียกให้ดูดีขึ้นเป็นการบริหารผลการปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Performance System-SPMS) 

            ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นยังไงก็ตามผมมีข้อสังเกตดังนี้ครับ
1.      การกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ มักถูกกำหนดโดยฝ่ายบริหารเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นการกำหนดจาก CEO, MD, ผู้จัดการฝ่ายต่าง  ๆ แล้วจึงมีการถ่ายทอดเป้าหมายนั้น ๆ ลงมาสู่พนักงานระดับล่างแบบ TOP DOWN กันเป็นลูกระนาด เป็นทอด ๆ ลงไป 
           โดยพนักงานระดับล่างจะต้องรับทราบ (จะทราบด้วยความเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ต้องถือว่ารับทราบ) และจะต้องปฏิบัติตามที่ถูกสั่งมา ซึ่งหลายครั้งพบว่าแค่ทำให้มีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายไปแบบสักแต่ว่าให้มีตามนโยบายเท่านั้น 
                 นี่ยังไม่รวมการกำหนดเป้าหมายลงมาจากฝ่ายบริหารมีความชัดเจนและเป็นธรรมด้วยหรือไม่ ซึ่งบางครั้งเป้าหมายก็ไม่ได้นำมาใช้เชื่อมโยงกับระบบ Rewards ที่ชัดเจน ไม่มีความเป็นธรรมกับพนักงานผู้ปฏิบัติ 
               หรือมีแค่เอาไว้คุยกับคนอื่นว่าฉันก็มีเหมือนกัน อีกทั้งการทำงานจริงก็ไม่ได้ทำตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็มีครับเพราะไม่มีการควบคุมติดตามจากหัวหน้าอย่างจริงจัง
2.      หลายครั้งจะพบว่าพนักงานที่อยู่ในระดับล่าง ๆ ลงไปที่ได้รับการถ่ายทอดเรื่องของเป้าหมาย ก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายตั้งแต่แรก 
          เพียงแต่รับฟังการพูดสื่อสารผ่านมาจากหัวหน้าลงมาเป็นลำดับซึ่งทำให้เรื่องเป้าหมายที่ได้ยินได้ฟังมาเกิดความคลาดเคลื่อนเหมือนเล่นเกม “พรายกระซิบ” ที่นำคนมาเรียงต่อกันสัก 10 คน 
           พอให้คนแรกบอกข้อความให้คนที่สองและบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ ก็จะพบว่าคนที่สิบจะพูดข้อความคนละเรื่องกับคนแรกยังไงยังงั้นเลยครับ 
           การบอกเล่าเรื่องของตัวชี้วัดและเป้าหมายแบบเป็นทอด ๆ ลงมาแบบ TOP DOWN นี่ก็มีอาการเดียวกัน 
          ดังนั้นถ้าฝ่ายบริหารไม่เปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมก็จะมีปัญหาแบบนี้แหละครับ
3.      แม้จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ทำ Workshop (ถ้ามี) กำหนดเป้าหมายแล้วก็ตาม แต่ต้องเข้าใจสัจธรรมเกี่ยวกับการรับรู้ของคนด้วยว่าแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้และนำไปใช้ไม่เท่ากัน 
          ดูอย่างเช่นตอนเรียนเลขก็ได้ครับ ครูสอนคนเดียวกันสอนโจทย์เลขเดียวกันแต่ทั้งเราและเพื่อนยังทำความเข้าใจในเลขข้อเดียวกันได้ไม่เท่ากันเลย เพื่อนบางคนเข้าใจได้เร็วมากใช้เวลาเพียงแป๊บเดียว แต่เราอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเพื่อนถึงจะเข้าใจ หรือเพื่อนอีกหลายคนอาจจะไม่เข้าใจเลขข้อนี้เลยก็ได้ 
          ดังนั้นในเรื่องการทำความเข้าใจกับการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายก็เช่นเดียวกันฝ่ายบริหารจะต้องแน่ใจว่าจะต้องสามารถสื่อสารให้พนักงานส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจได้ตรงกันแล้วจริง ๆ นะครับ
4.      ทัศนคติของพนักงานต่อฝ่ายบริหารจะมีผลต่อเรื่องการทำงานอยู่มาก ถ้าพนักงานมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อผู้บริหารการทำงานก็จะราบรื่นจะกำหนดเป้าหมายอะไรมาให้ทำก็จะมีปัญหาน้อยเพราะพนักงานมีแรงจูงใจและทัศนคติที่ดีในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย 
           แต่ถ้าพนักงานส่วนใหญ่มีทัศนคติไม่ดีต่อผู้บริหาร ไม่มีความศรัทธาเลื่อมใส หรือผู้บริหารที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วยแล้วยิ่งจะทำให้เกิดการต่อต้านในเรื่องการกำหนดเป้าหมายได้มาก
          เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากแต่มักถูกมองข้าม
5.      ฝ่ายบริหารมักจะคิดและกำหนดเป้าหมายด้วยฐานความคิดที่ว่าคนทุกคนจะต้องมีเป้าหมายในการทำงาน จะต้องทุ่มเทอุทิศตนตั้งใจในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พนักงานจะต้องพร้อมทำงานหนักอุทิศตนเพื่อบริษัท
           แต่....พนักงานอาจจะคิดแตกต่างจากฝ่ายบริหารคือเมื่อเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจอุทิศตัวในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่บริษัทตั้งไว้แล้วเขาจะได้รับผลตอบแทนอะไรกลับมาบ้าง ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของเขาจะมีอะไรที่ดีขึ้นตามเป้าหมายที่เขาบรรลุบ้างหรือไม่ 
            หรือพูดง่าย ๆ ว่าถ้าการบรรลุเป้าหมายของบริษัทคือกำไรเพิ่มขึ้น, รายได้เพิ่มขึ้น, บริษัทก้าวหน้ามากขึ้น แล้วตัวพนักงานล่ะจะมีอะไรที่เพิ่มขึ้นดีขึ้นในลักษณะเดียวกันด้วยหรือไม่
          บริษัทบรรลุเป้าหมายบริษัทดีขึ้นแต่พนักงานยังได้รับอะไรที่เหมือนเดิมเขาก็ต้องคิดแหละครับว่าถ้างั้นฉันจะทำไปเพื่อ....?
            ตรงนี้จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับฝ่ายบริหารที่จะต้องนำมาคิดว่า “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้บริษัทจะมีอะไรมาเป็นตัวกระตุ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานดีขึ้นกว่าเดิมแบบ WIN-WIN ไปกับบริษัทบ้าง?” 
           ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เป็นปัญหาในหลาย ๆ บริษัทคือไม่สามารถตอบคำถามพนักงานได้ว่าเมื่อบริษัทดีขึ้นแล้วพนักงานที่ทำงานได้ตามเป้าหมายจะดีขึ้นตามไปด้วยอย่างไร 
         พูดง่าย ๆ ว่า “ไม่มีระบบรางวัลรองรับ” ที่ยุติธรรมเพียงพอ
            ดังนั้นระบบรางวัลตลอดจนการให้คุณให้โทษสำหรับพนักงานที่ทำงานได้ตามเป้าหมายกับพนักงานที่ทำงานไม่ดีควรจะต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่ให้ทั้งคนที่ทำงานได้ตามเป้าหมายกับคนที่ทำงานไม่ดีได้รับรางวัล (เช่นการปรับเงินเดือนหรือการจ่ายโบนัสหรืออื่น ๆ ฯลฯ) ที่ใกล้เคียงกัน
            ทั้งหมดที่แชร์มานี้คงจะพอทำให้บริษัทที่กำลังคิดทำระบบ PMS หรือ SPMS ได้เห็นปัญหาและคิดหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้บ้างแล้วนะครับ