วันพุธที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

มาทำงานสาย..หักเงิน..ดีไหม ?

            วันนี้ผมมีดราม่าเรื่องหนึ่งมาเล่าให้ท่านฟังกันอีกแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าดราม่าเรื่องนี้เกิดในบริษัทหลาย ๆ แห่งอย่างสม่ำเสมอซะด้วย

          ก็เรื่องการหักเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายไงล่ะครับ เป็นไงครับเป็นประเด็นเรียกแขกดีไหมล่ะ ?
          
             หลายบริษัทชอบมีกฎระเบียบในทำนองที่ว่า....

 ถ้าหากพนักงานมาทำงานสายบริษัทจะหักเงินเดือน เช่น กำหนดเวลามาทำงาน 8.00 น. ถ้ามาสายเกินเวลานี้ 3 ครั้งในหนึ่งเดือน จะหักเงินเดือนเท่ากับ 1 วัน ถ้ามาสาย 6 ครั้งในหนึ่งเดือนจะหักเงินเดือนเท่ากับ 2 วัน ยกตัวอย่างเช่น พนักงานเงินเดือน 9,000 บาท คิดเป็นรายวันคือ 300 บาท ถ้ามาสาย 6 ครั้งในเดือนนี้ก็จะถูกหักเงินเดือนไป 600 บาท เหลือรับในเดือนนี้เท่ากับ 8,700 บาท เป็นต้น

ถามว่าบริษัทจะออกกฎระเบียบทำนองนี้มาบังคับใช้ได้หรือไม่ ?

ถ้าดูตามมาตรา 76 ของกฎหมายแรงงานแล้วจะพูดถึงเรื่องการหักเงินจากลูกจ้างไว้ดังนี้....

มาตรา ๗๖  ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ
(๑)  ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
(๒)  ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
(๓)  ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
(๔)  เป็นเงินประกันตามมาตรา ๑๐ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้าง ซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
(๕)  เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสมการหักตาม (๒) (๓) (๔) และ (๕) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา ๗๐ เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

ดังนั้น ถ้าจะคิดแบบเร็ว ๆ ตามมาตรานี้ก็จะบอกว่า “หักเงินค่ามาสายไม่ได้” ครับ

แต่....ถ้ากรณีนี้เป็นกรณี “ไม่จ่ายค่าจ้าง”  เนื่องจากลูกจ้างไม่มาทำงานให้นายจ้างล่ะ ?

ผมยกตัวอย่างเช่น กรณีพนักงานขาดงานไป 1 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เมื่อบริษัทไม่อนุญาตโดยถือว่าขาดงาน (ไม่ได้มาทำงานจริง) บริษัทมีสิทธิจะ “ไม่จ่าย” (ไม่ใช่หักเงินนะครับ) พนักงานรายนี้หรือไม่ ?

ก็ตอบได้ว่าถ้าบริษัทมีกฎระเบียบเรื่องของการไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากลูกจ้างไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในลักษณะที่เรียกกันว่า No work no pay” บริษัทก็สามารถไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่พนักงานขาดงานได้ครับ แต่เรามักจะเรียกกันว่า “หักเงิน” ในวันที่ขาดงานกันจนติดปาก

ในกรณีมาสายก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อพนักงานมาสายไม่ได้มาทำงานตามเวลาที่กำหนด หากบริษัทมีกฎระเบียบในเรื่องการไม่จ่ายเนื่องจากพนักงานไม่ได้มาทำงานให้กับบริษัทในเวลาทำงาน บริษัทก็ย่อมจะมีสิทธิ “ไม่จ่าย” ตามเวลาที่พนักงานยังไม่มาทำงานได้

เพียงแต่การไม่จ่ายเงินเมื่อพนักงานมาทำงานสายตามตัวอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นไม่เป็นธรรมเพราะไม่ได้คิดตามเวลาที่พนักงานมาสาย นั่นคือควรจะต้องมาคำนวณว่าในเดือนนั้นพนักงานมาสายรวมกี่นาที พนักงานได้ค่าจ้างนาทีละกี่บาท แล้วนำค่าจ้างต่อนาทีคูณจำนวนนาทีที่มาสายถึงจะเป็นธรรมครับ

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ วิธีการไม่จ่ายค่าจ้างเมื่อลูกจ้างมาทำงานสายเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาการมาสายได้จริงหรือ ? แล้วไม่มีวิธีอื่นจะทำนอกจากนี้บ้างหรือ ?

โดยความเห็นส่วนตัวของผม ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการหักเงินค่ามาสายทำนองนี้นัก เพราะจากประสบการณ์ของผม มักจะพบว่าพนักงานยอมให้บริษัทหักเงินเมื่อเขามาสายได้แต่บริษัทจะมาออกใบเตือนอะไรเขาไม่ได้เพราะยอมจ่ายค่ามาสาย (ซึ่งเขาถือว่าบริษัทได้ลงโทษเขา) แล้วจะตักเตือนอะไรกันอีก

ผมกลับมองว่ากรณีพนักงานมาทำงานสายนั้น  บริษัทน่าจะมีวิธีปฏิบัติได้ดังนี้

1. ดำเนินการทางวินัยตามระเบียบอย่างชัดเจน เช่น ตักเตือนด้วยวาจา, ตักเตือนเป็นลายลักษณัอักษร หากผิดซ้ำคำเตือนเรื่องมาสายจนถึงจุดที่ระเบียบบอกไว้ก็คือบริษัทก็ต้องเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยเพราะผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานทราบว่าบริษัทจะมีหลักในการปฏิบัติกับพนักงานในลักษณะแบบนี้กับทุกคนที่มาทำงานสาย คือพูดง่าย ๆ ว่าขันน็อตเรื่องนี้กันอย่างจริงจังโดยไม่ต้องมีระเบียบเรื่องการหักเงินค่ามาสายเข้ามาวุ่นวายใจกันทั้งสองฝ่าย หรือ

2. บริษัทอาจจะกำหนดวิธีปฏิบัติอีกแบบหนึ่งที่น่าจะสร้างแรงจูงใจที่ดีกว่าการหักเงินค่ามาสาย เช่น สมมุติให้พนักงานทุกคนมีคะแนนการมาทำงานทั้งปีเท่ากับ 100 คะแนน ถ้าพนักงานคนใดมาสาย 1 ครั้งหักครั้งละ 5 คะแนน หากคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนนบริษัทจะไม่จ่ายโบนัสให้กับพนักงานคนนั้น โดยไม่ต้องมาหักเงินค่ามาสายอีกเช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ทำควบคู่กับการตักเตือนตามข้อ 1 ไปด้วยก็ยังได้

         ที่สำคัญคือคนที่เป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานนั้น ๆ ได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกน้องในเรื่องการมาทำงานแล้วหรือยัง? ไม่ใช่หัวหน้ามาสายเสมอ หรือออกไปกินข้าวกลางวันก็ 2-3 ชั่วโมง ฯลฯ ให้ลูกน้องเห็นเป็นประจำ แล้วอย่างนี้จะมีหน้าไปตักเตือนให้ลูกน้องมาทำงานตรงเวลา รักษาผลประโยชน์ให้บริษัทได้ยังไงล่ะครับ

            ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ
………………………………………