วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

Rule of Thumb – กฎหัวแม่มือ


          คำ ๆ นี้ผมได้ยินสมัยที่เริ่มต้นทำงานใหม่ ๆ ตอนที่หัวหน้าของผมเอาหนังสือเกี่ยวกับการบริหารค่าตอบแทน(เป็นภาษาอังกฤษ)มาให้ผมอ่าน หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องของการประเมินค่างานเอาไว้ว่าการประเมินค่างานเป็นการใช้หลักการที่เป็นวิทยาศาสตร์โดยมีคณะกรรมการประเมินค่างานที่เป็นคนกลางทำการประเมินและมีการคิดคะแนนเพื่อตัดสินว่าค่างานในตำแหน่งไหนจะมากกว่ากันอย่างมีเหตุมีผล มีความแน่นอนและชัดเจนโดยไม่ใช้หลัก “Rule of Thumb”

            เจ้าคำนี้แหละครับทำให้ผมต้องไปเปิดดิกชันนารีดู (เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วยังไม่มีกูเกิ้ลนะครับ) ก็แปลคำว่า “กฎหัวแม่มือ” นี้ว่าหมายถึงกฎที่วางไว้อย่างง่าย ๆ หยาบ ๆ (หมายถึงคร่าว ๆ นะครับไม่ได้หมายถึงหยาบคาย)

            ต่อมาก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่า Rule of Thumb มีที่มายังไงซึ่งผมว่าที่มาของคำ ๆ นี้แปลกดีก็เลยอยากเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

          Rule of Thumb หมายถึงการวัดแบบคร่าว ๆ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ท่านเคยเห็นศิลปินวาดภาพโดยใช้หัวแม่มือวัดระยะตรงพู่กันกับวัตถุ (หรือตัวบุคคล) ที่จะวาดไหมครับ นั่นแหละคือการวัดระยะกว้างยาวแบบคร่าว ๆ เพราะถ้าจะวัดระยะให้ละเอียดจริง ๆ ก็ควรจะเอาไม้บรรทัดมาวัดเลยถึงจะชัวร์กว่าจริงไหมครับ

            ที่มาของคำ ๆ นี้ก็เล่ากันมาว่าเมื่อปีคศ.1782 (พศ.2325) มีผู้พิพากษาอังกฤษชื่อท่านเซอร์ฟรานซิส บุลเลอร์ ซึ่งเป็นคนที่เข้มงวดในเรื่องการตัดสินคดีความ ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้สามีสามารถลงโทษโดยการเฆี่ยนภรรยาที่ทำความผิดได้โดยใช้ไม้ที่มีขนาดความหนาไม่เกินนิ้วโป้งของสามี แต่ในภายหลังก็พิสูจน์กันแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นแต่เพียงข่าวลือต่อ ๆ กันมาเท่านั้น

            แต่คำว่า “Rule of Thumb” ก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้โดยมีที่มาจากข่าวลือที่ผมเล่าให้ฟังนี่แหละครับ

            ความรู้จากเรื่องนี้ก็คือเราจะพบว่าในการทำงานหรือการใช้ชีวิตส่วนตัวก็มักจะมีคนที่ไม่ค่อยใช้(ไม่ค่อยหา)ข้อมูลและเหตุผลให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเสียก่อน แต่จะใช้การประมาณการแบบคร่าว ๆ หรือใช้ความรู้สึกของตัวเองมาประกอบการตัดสินใจ

            ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญการใช้ Rule of Thumb หรือการประมาณแบบคร่าว ๆ ก็คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก

          แต่ถ้าเป็นเรื่องที่สำคัญ ๆ แล้วเราไม่หาข้อมูลให้ละเอียดครบถ้วนหรือเพียงพอ แล้วนำข้อมูลคร่าว ๆ มาใช้หรือใช้หลักการแบบ Rule of Thumb ก็อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดหรือความเสียหายในการตัดสินใจขึ้นได้

            ยิ่งวันนี้เป็นโลกของโซเชียลมีเดียเรามักจะเห็นคนที่อ่านข่าวอ่านเรื่องอะไรที่เป็นข่าวลือซึ่งยังไม่ได้เช็คให้ชัวร์เสียก่อน แล้วรีบด่วนนำเรื่องที่ยังไม่ชัดเจนนั้นมาวิพากษ์วิจารณ์ตัดสินไปแล้วว่าคนนั้นเลวคนนี้ดี ก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับคนที่ถูกวิจารณ์ไปแล้วอย่างไม่เป็นธรรม และในภายหลังก็กลับกลายเป็นว่าข้อมูลที่คนวิจารณ์นำมาใช้นั้นเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ไป

          ดังนั้นเราจึงไม่ควรใช้กฎหัวแม่มือ หรือ Rule of Thumb ในเรื่องที่สำคัญ ๆ แต่เราควรจะต้องหาข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนมาคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนการตัดสินใจเพื่อลดความผิดพลาดและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวเราเองจะดีกว่าจริงไหมครับ

……………………………..