วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การทำ Training & Development Roadmap แบบ “นอกกรอบ” ในยุคความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว


            ในหลายองค์กรมีการทำแผนพัฒนาระยะยาวซึ่งจะคิดหลักสูตรฝึกอบรมและวิธีการพัฒนาพนักงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสอนงาน, การมอบหมายงาน, การสับเปลี่ยนเวียนงาน ฯลฯ มาจาก Competency แล้วนำเอาหลักสูตรหรือวิธีการพัฒนาต่าง ๆ มาใส่ไว้ในผังที่มักจะเรียกกันว่า Training & Development Roadmap” ดังนี้





            สังเกตช่อง “กำหนดการพัฒนา/ฝึกอบรม (ปี)” ในกรอบสีแดงจะบอกปีที่พนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ จะเข้ารับการฝึกอบรมหรือพัฒนาตาม Competency ที่ยังขาดอยู่ เช่น เจ้าหน้าที่บัญชีในปีแรกควรจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรความรู้ระบบบัญชีของบริษัท หรือหัวหน้าแผนกบัญชีจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรเทคนิคการตรวจสอบความถูกต้องในการลงบัญชีในปีที่ 4 เป็นต้น

          ตรงจุดนี้แหละครับคือประเด็นที่เราจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกันในวันนี้ !!

            การกำหนด Roadmap เป็นล็อคตายตัวแบบนี้จะมีปัญหาในทางปฏิบัติในหลายบริษัท เช่น....

1.      บริษัทที่ยังไม่มีการทำ Career Path ที่ชัดเจน

2.      บริษัทที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่ง

3.      บริษัทที่มีการเลื่อนตำแหน่งจริงแบบไม่แน่นอนว่าอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ กี่ปีถึงจะเลื่อนได้แล้วแต่ใจผู้บริหาร

4.      บางบริษัทที่มีการเลื่อนตำแหน่งแบบไม่ผูกมัดกับระยะเวลามากนัก ถ้าเห็นว่าเหมาะอาจจะให้เลื่อนขึ้นไปได้เลย

            ในบริษัทแบบที่ผมยกตัวอย่างมานี้ ถ้าไปทำ Roadmap แบบดั้งเดิมที่ผมยกตัวอย่างให้ดูข้างต้นก็มักจะทำแล้วอาจจะใช้ไม่ได้จริงตามที่ทำเอาไว้ เพราะบางครั้งพนักงานผ่านการอบรมหรือพัฒนามานานจนหมดมุขแล้วก็ยังไม่ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเลยก็มี ทำให้เกิดอิหลักอิเหลื่อใจระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง และอาจจะเกิดอาการ “ไปต่อไปเป็น” ได้เหมือนกันนะครับ

            ยิ่งในยุคปัจจุบันเราท่านทราบกันดีว่า “ความเปลี่ยนแปลง” เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก การไปวาง Roadmap แบบเดิม (ตามตัวอย่าง) ที่ยาวนานถึง 12 ปีก็อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

          อย่าว่าแต่ 10 ปี 12 ปีเลยครับ เดี๋ยวนี้วางแผน 5 ปียังจะนานเกินไปด้วยซ้ำ!!

            เพราะความเปลี่ยนแปลงรอบตัวจะเร็วกว่าแผนที่วางไว้ยาว ๆ มากเลยนะครับ ดูตัวอย่างง่าย ๆ ว่าเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้วตอนที่มีการประมูลทีวีดิทัลยังแข่งกันประมูลกันแบบเทหมดหน้าตักเพราะคิดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้สวย แต่พอ 4 ปีให้หลังเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คือคนหันมาเสพ Content ต่าง ๆ ผ่านหน้าจอโทรศัพท์แทนหน้าจอทีวีซะงั้น จนทำให้ทีวีดิจิทัลต้องกระอักกันอยู่ทุกวันนี้

            นี่แค่เพียงเวลา 4 ปีเท่านั้นนะครับ

            ผมจึงเห็นว่าถ้าเราไปวาง Roadmap แบบดั้งเดิมอนุรักษ์นิยม 10 ปีขึ้นไปนี่น่าจะไม่เหมาะกับยุคสมัยนี้และต่อไปแล้วล่ะครับ

            ถ้างั้นควรทำ Roadmap ยังไงล่ะ?

            คำตอบของผมก็คือ....

          ตัดช่อง “กำหนดเวลาพัฒนา/ฝึกอบรม (ปี)” คือช่องขวาสุดออกไปซะ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นติดกรอบเวลาแบบเดิมสิครับ (ตามที่ผมกากบาทสีแดงให้เห็นชัด ๆ ตั้งแต่ต้นเลยครับ)

            จากตัวอย่าง Roadmap เราก็ดูเพียงว่าพนักงานที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ควรจะถูกพัฒนาหรือเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรใดก็สามารถทำได้ตามที่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควรประกอบการผลการประเมิน Competency ว่าพนักงานในตำแหน่งนั้น ๆ ยังมี Competency Gap ตัวไหนอยู่มากน้อยเท่าไหร่ และควรจะถูกพัฒนาไปตามแผนอย่างไรในเรื่องไหนเท่านั้นก็พอ

             เช่นในกรณี Roadmap ตัวอย่างนี้ก็คือ เจ้าหน้าที่บัญชีจะต้องถูกพัฒนาทั้งหมด 5 หัวข้อคือ ความรู้ระบบบัญชีของบริษัท, เทคนิคการทำงบการเงิน, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ SAP, การลงบัญชีด้วยระบบ SAP, ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีในงานบัญชี

            ก็อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาจะพิจารณาว่าลูกน้องที่เป็นเจ้าหน้าที่บัญชีคนไหนควรจะได้รับการพัฒนาในหัวข้อไหน (ใน 5 หัวข้อ) ก่อน-หลัง โดยดูจากผลประเมิน Competency ของลูกน้องแต่ละคนประกอบ โดยไม่ต้องไปยึดติดกรอบเวลาว่าลูกน้องที่เป็นเจ้าหน้าที่บัญชีที่จะเข้าอบรมหลักสูตรความรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีในงานบัญชีจะต้องทำงานมาแล้ว 3 ปีถึงจะเข้าอบรมได้ (ตามตัวอย่างในตาราง Roadmap) ซึ่งถ้าล็อคปีที่ทำงานเอาไว้แบบเดิมก็อาจจะไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงรอบตัวแล้วก็ได้

            พูดง่าย ๆ ว่าตัดไส้ติ่ง (คือกรอบเวลา) ออกไปแล้วท่านก็จะหลุดพ้นกับดักของกรอบเวลาในการพัฒนาคนตาม Roadmap แบบเดิมครับ

            ว่าแต่ว่าครูบาอาจารย์ที่ยังชอบ (หรือสอน) ทำ Roadmap แบบเดิม (คือมีกรอบเวลากำกับเอาไว้) อย่าเพิ่งต่อว่าผมว่าเป็นพวกนอกคอกนอกตำรานะครับ เพราะผมก็เคยสอนการทำ Roadmap แบบเดิมตามตำรามาเหมือนกัน แต่ผมเห็นว่าในยุคปัจจุบันนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก การมาทำ Roadmap ล่วงหน้า 10 ปีขึ้นไปตามตำราทฤษฎีแบบเดิม ๆ คงจะไม่เหมาะกับยุคนี้และยุคต่อไปอีกแล้วครับ

            อยากให้ท่านที่อ่านใช้หลักกาลามสูตรควบคู่กับการอ่านไปด้วยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผมทั้งหมดแต่อยากจะให้ท่านลองกลับไปคิดทบทวนดูว่าไอเดียที่ผมเสนอพอจะเป็นประโยชน์และเหมาะนำไปปรับใช้กับ Roadmap ของท่านหรือไม่

            ส่วนการตัดสินใจว่าจะทำ Roadmap ของท่านให้เป็นแบบไหนยังไงต่อไปก็ขึ้นอยู่กับตัวท่านเองครับ

........................................