วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เราเรียนรู้อะไรในการยกเลิก KPI


            เห็นข่าว DTAC ยกเลิก KPI แล้วเปลี่ยนมาเป็น OKR (Objectives & Key Result) แล้วก็เลยอยากชวนคิดอย่างนี้ครับ

            คงเคยได้ยินนิทานเรื่องคนเลี้ยงม้ามีหน้าที่จูงม้ามาที่ลำธารเป้าหมายคือต้องการจะพาม้ามากินน้ำ แต่ม้าจะกินน้ำตามเป้าหมายหรือไม่ก็อยู่ที่ว่าม้าอยากจะกินน้ำหรือเปล่า

            ถ้าจะเปรียบนิทานเรื่องนี้มาเป็นการทำงานก็คือ....

            ผู้บริหารมีหน้าที่ชักจูงให้ทุกคนในองค์กรทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยมีหลักคิดว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้นั้นจะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ขององค์กร-หน่วยงาน-ตัวบุคคลให้สอดคล้องกันเสียก่อนคนถึงจะทำงานบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้

            แต่การกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายในหลายครั้งก็เหมือนกับความพยายามกดคอม้าให้กินน้ำทั้ง ๆ ที่ม้ายังไม่อยากกินน้ำ

            เรียกว่ามองแต่ว่าทำยังไงจะให้บรรลุตัวชี้วัดและเป้าหมายไปโดยมองข้ามปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งคือ....

          “แรงจูงใจ”

            จึงไม่ควรมุ่งแค่ตัวชี้วัดและเป้าหมาย (ไม่ว่าจะเรียกว่า KPI หรือ OKR) แล้วมองข้ามแรงจูงใจนะครับ

            เพราะคนเราจะทำงานหรือทำอะไรก็แล้วแต่ล้วนแต่ต้องมีแรงจูงใจ

            ผมจึงมองว่าไม่ว่าจะเปลี่ยนวิธีการวัดผลงานจาก KPI หรือ OKR ไปเป็นตัวไหนก็ตาม ถ้าตัวผู้บริหารหรือหัวหน้ายังไม่สามารถเข้าถึงจิตใจลูกน้องและเข้าใจเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับลูกน้องแล้ว เราก็ยังคงมีปัญหาแบบเดิม ๆ เช่น ปีนี้ทำได้ตามเป้าหมายแต่ปีหน้าก็มีคนลาออกเพราะทนรับเป้าหมายที่ไม่ยุติธรรมสำหรับตัวเองไม่ได้

            การมีเป้าหมายในการทำงานเป็นเรื่องที่ดี แต่การบังคับให้ลูกน้องทำงานให้บรรลุเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่หน้างาน, ไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้ปฏิบัติ, ไม่เคยถามความคิดเห็นแต่จะสั่งให้ทำให้ได้ตามเป้าเท่านั้นและถ้าทำไม่ได้ก็จะมีบทลงโทษตามมา ฯลฯ

            นอกจากไม่เกิดแรงจูงใจสำหรับคนทำงานแล้วยังเกิดแรงต่อต้านกลับมาตามกฎ Action=Reaction อีกต่างหาก

          การพยายามกดคอม้าให้กินน้ำตาม KPI โดยไม่ดูว่าม้าหิวน้ำหรือยัง ผลที่ตามมาคืออาจจะถูกม้าเตะหรือสบัดหลุดแล้ววิ่งหนีเข้าป่าหายไปโดยไม่กลับมาหาเจ้าของม้าอีกเลยก็ได้นะครับ
           
……………………………………