วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2565

20 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการลาออก

 อาจจะยาวหน่อยแต่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนครับ

1.      ถาม : หัวหน้าเรียกมาบอกให้เขียนใบลาออกจะทำยังไงดี

ตอบ : อยู่ที่ตัวเราแหละครับ ถ้าเราไม่อยากจะลาออกก็ไม่ต้องเขียน (และเซ็นชื่อใน) ใบลาออก เราก็ยังคงมีสถานะเป็นพนักงานต่อไป แต่ถ้าบริษัทอยากจะให้เราออกจากบริษัทจริง ๆ เขาก็ต้องแจ้งเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน และค่าบอกกล่าวล่วงหน้ามาให้เรา

2.      ถาม : ถ้าเรายื่นใบลาออกเอง จะได้รับค่าชดเชยเหมือนกับถูกเลิกจ้างหรือไม่

ตอบ : ถ้าลูกจ้างยื่นใบลาออกจะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ ครับ เนื่องจากเป็นความประสงค์จะลาออกของตัวลูกจ้างเอง

3.      ถาม : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุ พนักงานยังคงต้องเขียนใบลาออกหรือไม่ และเมื่อเกษียณอายุจะได้รับค่าชดเชยหรือไม่

ตอบ : หากบริษัทมีระเบียบเรื่องการเกษียณอายุพนักงานไม่ต้องเขียนใบลาออกครับ จะถือว่าพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเมื่อครบกำหนดเกษียณอายุตามระเบียบของบริษัท ซึ่งบริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118 ของกฎหมายแรงงาน) ให้กับพนักงานที่เกษียณอีกด้วยครับ

4.      ถาม : หัวหน้าสามารถใช้อำนาจ (ของหัวหน้า) บังคับให้เราเขียนและเซ็นใบลาออกได้ไหม

ตอบ : ตอบเหมือนข้อ 1 คือถ้าเราไม่เขียนหรือไม่เซ็นใบลาออก ใครก็มาบังคับไม่ได้ครับ

5.      ถาม : หัวหน้าให้เขียนใบลาออกล่วงหน้า ไม่ระบุวันที่ลาออกโดยบอกว่าจะดูผลงานไปอีก 3 เดือน ถ้าผลงานดีขึ้นก็จะยกเลิกใบลาออก แต่ถ้าผลงานไม่ดีขึ้นจะเอาใบลาออกมาใส่วันที่มีผล โดยบริษัทจะไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถือว่าให้โอกาสปรับปรุงตัวแล้ว กรณีนี้ถือเป็นการลาออกหรือการเลิกจ้าง

ตอบ : ถือเป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างครับ

6.      ถาม : ถ้าหัวหน้าบังคับให้เราเขียนใบลาออก และเราก็เซ็นใบลาออกไปแล้วเราจะไปฟ้องศาลแรงงานโดยอ้างว่าเราถูกผู้บริหารบีบบังคับ หรือกดดัน หรือข่มขู่เราทั้ง ๆ ที่เราไม่เต็มใจได้หรือไม่

ตอบ : การลาออกเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างจากทางฝั่งลูกจ้าง เมื่อเซ็นใบลาออกไปแล้วก็เท่ากับพนักงานแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างไปแล้ว พนักงานจะไปฟ้องศาลแรงงานว่าเราถูกข่มขู่จากนายจ้างก็จะต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนาพิสูจน์ให้ศาลท่านเห็นได้ว่ามีการข่มขู่ยังไง หนักหนาสาหัสยังไง ถ้าไม่เซ็นใบลาออกเราจะถูกประทุษร้ายหรือมีอันตรายถึงชีวิตยังไง ฯลฯ เพื่อให้ศาลท่านพิจารณา แต่ถ้าจะไปฟ้องศาลโดยอ้างลอย ๆ ว่าถูกข่มขู่โดยไม่มีพยานหลักฐานใด ๆ ท่านลองคิดเองนะครับว่าจะชนะคดีหรือไม่

7.      ถาม : หัวหน้าเรียกไปด่าแล้วพูดว่า “ถ้าไม่พอใจก็ลาออกไป” หรือ “คุณลาออกไปเถอะทำงานไปคุณก็ไม่มีวันก้าวหน้าหรอก” แล้วเราก็ไปเขียนใบลาออกโดยถือว่าเราถูกข่มขู่ให้ลาออกได้หรือไม่

ตอบ : อย่างที่ตอบไปแล้วว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่การข่มขู่หรือการปิดกั้นไม่ให้เรามาทำงานที่แสดงว่าจะเลิกจ้าง ดังนั้นถ้าพนักงานเขียนใบลาออกก็ถือว่าเป็นการสมัครใจลาออกเอง ไม่ใช่การถูกข่มขู่ครับ

8.      ถาม : ถ้าเขียนใบลาออกไปแล้วยื่นให้กับหัวหน้า แล้วจะเปลี่ยนใจไม่ลาออกควรทำยังไง

ตอบ : ก่อนจะยื่นใบลาออกให้หัวหน้าขอให้คิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นใบลาออกไปแล้วการลาออกก็จะมีผลลาออกตามวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออก ถ้าหากจะไปเปลี่ยนใจทีหลังว่าจะไม่ลาออกก็ต้องไปพูดคุยกับหัวหน้าซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทางบริษัทแล้วล่ะครับว่าเขาจะว่ายังไง ถ้าเขายังอยากให้เราทำงานต่อไปเขาก็ควรจะต้องคืนใบลาออกกลับมาให้เราแล้วเราก็อาจจะขอให้เขาฉีกทิ้ง (หรือเราจะขอฉีกใบลาออกทิ้งเองก็ได้) ให้เห็นกันตรงนั้นไปเลย แต่ถ้าเขาไม่อยากให้เราทำงานต่อไปใบลาออกก็จะมีผลตามวันที่เราระบุเอาไว้แหละครับ ผมถึงบอกว่าก่อนยื่นใบลาออกคิดให้ดี ๆ เพราะถ้ายื่นไปแล้วก็จะอยู่ที่การตัดสินใจของบริษัทแล้วครับ

9.      ถาม : การยื่นใบลาออกจะต้องยื่นล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัทหรือไม่ ถ้าไม่ยื่นตามระเบียบของบริษัทจะมีความผิดหรือไม่ บริษัทจะมีสิทธิไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายได้หรือไม่

ตอบ : เมื่อลูกจ้างยื่นใบลาออกและระบุวันที่มีผลเอาไว้วันใดเมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็จะมีผลทันทีไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอนุญาตแต่อย่างใด แต่ถ้าลูกจ้างไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัทแล้วทำให้บริษัทเสียหาย บริษัทก็มีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานว่าการที่ลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ทำตามระเบียบการลาออกนั้น ทำให้บริษัทเสียหายไปกี่บาทกี่สตางค์เพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัย แต่บริษัทไม่มีสิทธิไปหักเงินเดือนงวดสุดท้ายโดยอ้างว่าลูกจ้างทำผิดกฎระเบียบครับ

ดังนั้นพูดง่าย ๆ คือเมื่อพนักงานยื่นใบลาออกก็จะมีผลพ้นสภาพในวันที่ระบุเอาไว้ในใบลาออกทันที แม้การยื่นใบลาออกของลูกจ้างไม่เป็นไปตามกฎระเบียบของบริษัทก็ตาม แต่ถามว่าพนักงานที่ดีควรยื่นใบลาออกวันนี้ให้มีผลในวันพรุ่งนี้ทันทีหรือไม่ล่ะ และการลาออกก็ควรจะลาออกด้วยความรู้สึกที่ดีต่อกันจะดีกว่าหรือไม่ ก็เท่านั้นแหละครับ

10.   ถาม : บริษัทจะออกระเบียบห้ามพนักงานลาพักร้อนเมื่อยื่นใบลาออกได้หรือไม่ หรือถ้าพนักงานยื่นใบลาออกบริษัทจะถือว่าพนักงานสละสิทธิการลาพักร้อนได้หรือไม่

ตอบ : แบ่งสิทธิเป็น 2 ส่วนคือ

1.      สิทธิพักร้อนสะสม ถ้าพนักงานมีวันลาพักร้อนสะสมอยู่เท่าไหร่ก็สามารถยื่นใบลาออกพร้อมทั้งยื่นขอลาพักร้อนสะสมตามสิทธิที่มีอยู่ได้ ถ้าบริษัทไม่อนุมัติให้ใช้สิทธิพักร้อนสะสม บริษัทก็ต้องจ่ายคืนกลับมาเป็นเงินตามจำนวนวันลาพักร้อนสะสมที่พนักงานมีสิทธิอยู่

2.      สิทธิพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่ลาออก ในส่วนนี้พนักงานไม่มีสิทธิครับ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าพนักงานยื่นใบลาออกในปีใดสิทธิในการลาพักร้อนตามส่วน (หรือ Prorate) ในปีที่ลาออกนั้นจะถูกยกเลิกทันที เพราะมาตรา 67 ของกฎหมายแรงงานวรรคแรกไม่ได้พูดถึงการให้สิทธิลูกจ้างตามส่วนในปีที่ลูกจ้างลาออกเอาไว้ครับ

ดังนั้นบริษัทจึงไม่อนุมัติให้ลาพักร้อนตามส่วน (Prorate) ในปีที่พนักงานลาออกได้ และไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนตามส่วนในปีที่พนักงานลาออกอีกด้วยนะครับ

11.   ถาม : ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกแล้วแต่ยังไม่ถึงกำหนดลาออก บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานหากทำความผิดร้ายแรงได้หรือไม่

ตอบ : บริษัทยังสามารถเลิกจ้างพนักงานหากทำความผิดร้ายแรงได้ครับ เช่น พนักงานยื่นใบลาออกแล้วแต่ก่อนถึงวันที่มีผลลาออกพนักงานไปความความผิดร้ายแรง เช่น ขโมยทรัพย์สินของบริษัท, ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุผลกันสมควร เป็นต้น แต่ถ้าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานในกรณีที่ไม่เข้าข่ายความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานบริษัทก็ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายครับ

12.   ถาม : เมื่อยื่นใบลาออกแล้ว ถ้าหากพนักงานกระทำความผิดบริษัทยังมีสิทธิออกหนังสือตักเตือนพนักงานได้หรือไม่

ตอบ : ได้ครับ เพราะการยื่นใบลาออกไม่ได้เป็นใบอนุญาตให้พนักงานทำความผิดอะไรก็ได้นี่ครับ

13.   ถาม : บริษัทบอกให้เราเขียนใบลาออกจากบริษัทปัจจุบันเพื่อไปทำงานกับบริษัทในเครือแห่งใหม่โดยไม่นับอายุงานต่อเนื่องควรทำยังไง และผลจะเป็นยังไง

ตอบ : ถ้าเราเขียนใบลาออกยื่นให้บริษัทปัจจุบันก็เท่ากับเราพ้นสภาพพนักงานไปตามที่ระบุเอาไว้โดยบริษัทปัจจุบันก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะถือว่าพนักงานประสงค์จะลาออกเอง

ดังนั้นการไปทำงานในบริษัทแห่งใหม่ก็ต้องนับอายุงานใหม่ครับเพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน ในกรณีนี้พนักงานควรจะตกลงกับบริษัทปัจจุบันว่าในการไปเริ่มงานในบริษัทแห่งใหม่ขอให้นับอายุงานต่อเนื่อง และได้รับสิทธิประโยชน์สวัสดิการรวมถึงค่าจ้างต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่าที่ได้รับในปัจจุบัน แล้วควรเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อน (โดยดูเงื่อนไขและสภาพการจ้างให้เป็นไปตามที่ตกลงกันให้ดี ๆ นะครับ) แล้วจึงค่อยยื่นใบลาออกจากบริษัทปัจจุบัน

ถ้าไม่อย่างนั้นก็คงต้องให้บริษัทปัจจุบันเลิกจ้างเราพร้อมทั้งจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ถ้าบริษัทยังยืนยันว่าจะให้เราออกจากบริษัทปัจจุบัน) ครับ

14.   ถาม : เมื่อยื่นใบลาออกให้หัวหน้าไปแล้ว แต่หัวหน้าอ้างว่ายังไม่ได้รับใบลาออกและขู่ว่าถ้าไม่มาทำงานจะโดนเลิกจ้างเนื่องจากขาดงานเกิน 3 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ควรทำยังไงดี

ตอบ : ถ้าเจอหัวหน้าเจ้าเล่ห์แบบนี้ก่อนจะยื่นใบลาออกก็ควรไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานให้เขารู้ว่าเรากำลังจะไปยื่นใบลาออกและให้เขาดูใบลาออกที่เราทำเอาไว้เพื่อให้เขาเป็นพยาน แล้วเราก็ควรจะมีสำเนาใบลาออกเอาไว้แล้วให้หัวหน้าเซ็นรับไว้ในสำเนาด้วย (หัวหน้าอาจจะไม่เซ็นรับก็ได้แต่เขาก็จะรู้ว่าเรามีสำเนาเอาไว้นะครับ) ถ้าทำอย่างนี้แล้วเราก็มีพยานบุคคลและพยานหลักฐานครบแล้วล่ะครับ เรื่องทำนองนี้มีบ้างแต่ไม่บ่อยนักหรอกครับ

15.   ถาม : ควรยื่นใบลาออกก่อนไปเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ หรือควรไปเซ็นสัญญาจ้างกับบริษัทใหม่ก่อนยื่นใบลาออกดี

ตอบ : ควรไปเซ็นสัญญาจ้างกับที่ใหม่ให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยมายื่นใบลาออก เพราะถ้ายื่นใบลาออกก่อนแล้วพอไปที่ใหม่เขาอ้างเหตุสารพัดที่ยังไม่รับเราเข้าทำงานล่ะก็ลองนึกภาพต่อจากนั้นเอาเองนะครับว่าเราจะเป็นยังไง

16.   ถาม : กรณีบริษัททำสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาพนักงานจะต้องเขียนใบลาออกยื่นให้กับทางบริษัทหรือไม่

ตอบ : กรณีเป็นสัญญาจ้างแบบมีระยะเวลาและมีเงื่อนไขลักษณะงานเป็นไปตามมาตรา 118 โดยมีวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของสัญญาจ้างนั้น เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง พนักงานไม่ต้องยื่นใบลาออก (และบริษัทก็ไม่ต้องแจ้งเลิกจ้าง) ให้ถือว่าสภาพการจ้างจบสิ้นไปโดยสัญญาจ้างนั้นไปเลย โดยบริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน แต่ทั้งนี้ต้องไม่มีการจ้างพนักงานคนนั้นอีกต่อไปนะครับ

17.   ถาม : จากข้อ 16 แล้วถ้ามีจ้างต่อโดยบริษัทระบุเอาไว้ในสัญญาจ้างว่า “ถ้าพนักงานผลงานดีบริษัทจะต่อสัญญาไปอีก แต่ถ้าพนักงานผลงานไม่ดีบริษัทจะบอกเลิกสัญญาและไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น” ได้หรือไม่

ตอบ : ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ถือว่าสัญญาจ้างแบบนี้เป็นสัญญาจ้างแบบ “ไม่มีระยะเวลา” ซึ่งก็คือสัญญาจ้างพนักงานประจำนั่นเอง ถ้าพนักงานอยากจะลาออกก็ต้องยื่นใบลาออก (ถ้าพนักงานยื่นใบลาออกก็จะไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ) และถ้าหากบริษัทอยากจะเลิกจ้างพนักงานแต่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ของกฎหมายแรงงานแล้ว บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ให้กับพนักงานครับ

18.   ถาม : เมื่อส่งใบลาออกไปแล้ว บริษัทต้องการให้เปลี่ยนวันที่ลาออกใหม่ควรทำอย่างไร

ตอบ : ถ้าพูดคุยกันแล้วเห็นชอบตรงกันว่าจะเปลี่ยนวันที่ลาออกใหม่ (เช่นเลื่อนวันลาออกให้เร็วขึ้น หรือเลื่อนวันลาออกให้ขยับออกไปจากเดิม) ก็ให้ทำได้โดย 1. พนักงานทำใบลาออกใบใหม่มายื่นให้หัวหน้า หรือ 2. ใช้ใบลาออกใบเดิมนำมาขีดฆ่าวันที่ลาออกเดิมแล้วเขียนวันที่ลาออกใหม่ลงไปแทน (ห้ามใช้ป้ายขาวลบ) แล้วให้พนักงานที่จะลาออกก็เซ็นชื่อกำกับไว้ตรงจุดที่แก้ไขก็ใช้ได้ครับ

19.   ถาม : แล้วถ้าพนักงานยังยืนยันไม่เปลี่ยนกำหนดวันที่จะลาออกในใบลาออกล่ะ

ตอบ : วันที่มีผลลาออกก็ยังคงเป็นไปตามเดิมที่ระบุเอาไว้ในใบลาออกครับ ซึ่งบริษัทก็ยังต้องจ่ายค่าจ้างจนถึงวันสุดท้ายที่พนักงานมาทำงานครับ

20.   ถาม : ถ้าพนักงานระบุวันลาออกไว้ในใบลาออกแล้ว เมื่อถึงวันที่ระบุไว้ก็ยังมาทำงานต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น

ตอบ : ก็แสดงว่าทั้งบริษัทและตัวพนักงานไม่ติดใจยึดใบลาออกเป็นสำคัญอีกต่อไป ใบลาออกนั้นถือว่าเป็นโมฆะครับ พนักงานก็ยังคงสถานะเป็นพนักงานต่อไป หลังจากนั้นถ้าหากบริษัทต้องการจะให้พนักงานพ้นสภาพออกจากบริษัทแต่พนักงานไม่ยอมเขียนใบลาออก บริษัทก็ต้องแจ้งเลิกจ้างซึ่งถ้าพนักงานไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานตามาตรา 118 ด้วยครับ

เอาล่ะนะครับ ผมเล่าเรื่องเกี่ยวกับการลาออกมาให้ฟังจนถึงขนาดนี้ก็เรียกได้ว่าครบทุกซอกทุกมุมแล้วและหวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งคนที่เป็นฝ่ายบริหารและพนักงานจะได้เข้าใจในเรื่องการลาออกที่ตรงกันลดปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกันได้และมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องกันทั้งสองฝ่ายแล้วนะครับ