วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยเนื่องจากผิดซ้ำคำเตือนต้องเป็นเรื่องเดิมที่เคยเตือน

             เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทเคยออกหนังสือตักเตือนพนักงานเรื่องที่พนักงานขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร(แจ้งลาป่วยเท็จ) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน

ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคมผู้บังคับบัญชาสั่งให้พนักงานคนนี้ไปทำงานแทนเพื่อนที่ประสบอุบัติเหตุต้อง Admit ในโรงพยาบาล 7 วัน

แต่พนักงานคนนี้ก็ไม่ยอมไปทำงานตามที่สั่งและยังโต้เถียงกับผู้บังคับบัญชาว่าที่ไม่ไปทำงานตามสั่งเพราะตัวเองมีงานที่รับผิดชอบอยู่ ก็เลยถูกหนังสือตักเตือนฉบับที่ 2 ในเรื่องการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและในหนังสือตักเตือนฉบับนี้ก็อ้างถึงก่อนหน้านี้ก็เคยถูกเตือนเรื่องขาดความรับผิดชอบในงานมาทำงานสายไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน

โดยหนังสือตักเตือนฉบับนี้แจ้งว่าเป็นการตักเตือนครั้งสุดท้ายถ้าพนักงานยังไม่รับผิดชอบงานให้ดีขึ้น ครั้งต่อไปบริษัทจะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคมพนักงานคนนี้ถูกลูกค้าแจ้งมาว่าพูดจาไม่สุภาพ บริษัทก็เลยจะแจ้งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้นโดยอ้างว่าเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา 119 ข้อ 4 คือ “ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว....”

จากเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดถามว่าบริษัทจะแจ้งเลิกจ้างด้วยสาเหตุข้อ 4 ตามมาตรา 119 ข้างต้นได้หรือไม่ ?

คำตอบคือ....

ถ้าเลิกจ้างก็ยังต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน (ตามมาตรา 118) ครับ

เพราะอะไร ?

ก็พนักงานเกเร ขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา กิริยาวาจาไม่สุภาพกับลูกค้าจริง ๆ นี่นา บริษัทก็ออกหนังสือตักเตือนไปแล้ว และเตือนชัดเจนเป็นครั้งสุดท้ายแล้วว่าถ้ายังทำงานมีปัญหาจะโดนไล่ออกไม่ได้รับค่าชดเชย พนักงานก็รับทราบแล้วนี่

ทำไมยังต้องมาจ่ายค่าชดเชยให้อีกล่ะ ?

คำตอบคือการเลิกจ้างตามข้อ 4 มาตรา 119 ข้างต้นจะต้องเป็นการทำความผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดิมครับ

จะเห็นได้ว่าความผิดที่ถูกเตือนครั้งแรกเป็นเรื่องการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ครั้งต่อมาเตือนเรื่องการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา

และในครั้งนี้เป็นเรื่องการพูดจากับลูกค้าไม่ดี

ความผิดทั้ง 3 ครั้งเป็นความผิดคนละเรื่องหรือความผิดคนละกระทงกันครับ

            ถ้าบริษัทระบุชัดเจนในหนังสือตักเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่าห้ามไม่ให้พนักงานคนนี้ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาในกรณีสั่งให้ย้ายไปทำหน้าที่แทนเพื่อนพนักงานในแผนก ถ้าฝ่าฝืนเรื่องนี้ซ้ำอีกบริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น

แล้วครั้งต่อไปเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปทำงานแทนเพื่อนในแผนก แต่พนักงานคนนี้ก็ยังขัดคำสั่ง ฝ่าฝืนไม่ยอมย้ายไปทำงานตามคำสั่งซ้ำอีก

อย่างงี้แหละครับที่บริษัทสามารถจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะถือว่าพนักงานฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้าง ตามข้อ 4 มาตรา 119 ซึ่งมักจะเรียกว่าเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือน (ในความผิดเดิมที่เคยเตือนไปแล้ว)

          จึงสรุปได้ว่าถ้าเป็นความผิดคนละกระทงหรือคนละเรื่องกัน บริษัทจะจับเอามารวมกันแล้วแจ้งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ครับ

            หวังว่าตัวอย่างที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนแล้วและไม่ผิดพลาดในเรื่องนี้แล้วนะครับ