วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Peter Senge เจ้าพ่อองค์การแห่งการเรียนรู้

             ใครที่ทำงานด้าน HR ในช่วงปี 2533-34 น่าจะต้องเคยได้ยินคำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Organization และ The Fifth Discipline (คำว่า Discipline ต้องออกเสียงว่า “ดิสซิปพลิน” ไมใช่ “ดิสคลิปไลน์” นะครับ)

            วันนี้เรามาทำความรู้จักกับคนที่เป็นต้นทางของคำเหล่านี้กัน

            ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Michael Senge ค.ศ.1947 พ.ศ.2490) ชาวเมืองสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เรียนจบปริญญาโท-เอกจาก MIT (Sloan)

            ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) เขียนหนังสือ The Fifth Discipline : Th Art and Practice of The Learning Organization” ที่เป็นผลมาจากงานที่เซงเก้ไปวิจัยบริษัทดัง ๆ คือ ฟอร์ด ไครสเลอร์ เอทีแอนด์ที เชลล์ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือเล่มดังกล่าว พร้อมกันนั้นก็เลยเกิดคำว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Organization ตามมา

             หลายคนอาจไม่ทราบว่าคำหลายคำในหนังสือ “The Fifth Discipline” ของเซงเก้มาจากคำเดิมที่มีอยู่แล้วจากนักคิดหลาย ๆ คนที่บัญญัติศัพท์เหล่านี้เอาไว้ก่อนหน้านี้ เช่น Systems Thinking, Mental Models, Shared Vision

            เซงเก้บอกว่าองค์การที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ จะต้องมีหลัก 5 ประการในการเปลี่ยนองค์การดังนี้ครับ

1.      Systems Thinking ต้องมีการคิดอย่างเป็นระบบเพื่อผลในระยะยาวโดยให้ใช้แผนผังระบบ (System Map) เพื่อจะได้มองเห็นภาพความสัมพันธ์ที่โยงใยของทั้งระบบได้ทั้งหมด เพราะคนที่มองไม่เห็นภาพทั้งระบบมักจะโทษคนอื่นเมื่อมีผลกระทบมาถึงตนเอง ถ้ามีการคิดอย่างเป็นระบบและเห็นภาพทั้งหมดแล้วจะลดปัญหาลงได้ในระยะยาว

2.      Personal Mastery การที่องค์กรจะพัฒนาให้ไปสู่ความเป็นเลิศได้ก็ต้องมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดเวลาและมีการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะพัฒนาให้คนในองค์กรมีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นเลิศให้กับตนเอง

3.      Mental Models คนทุกคนจะแสดงพฤติกรรมออกมาจากความคิดที่มีผลจากจิตใจ ถ้าคนในองค์การมีแบบอย่างทางจิตใจที่ดีก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง องค์การจึงต้องสนับสนุนให้มีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาจะได้พัฒนาแบบอย่างทางจิตใจให้กับคนในองค์การให้เกิดพฤติกรรมในการเรียนรู้และทำให้กลายเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

4.      Shared Vision วิสัยทัศน์ของผู้นำมีผลต่ออนาคตขององค์การและควรจะต้องเป็นวิสัยทัศน์ร่วมให้ผู้คนในองค์การได้รับรู้ร่วมกัน ไม่ควรเป็นวิสัยทัศน์ส่วนตัวของผู้นำเพียงคนเดียวแล้วเขียนไว้ให้ดูสวยงามเพื่อให้คนท่องจำ ทุกคนจึงต้องมีความมุ่งมั่น กระตือรือร้น ทุ่มเทและร่วมมือกันเพื่อให้วิสัยทัศน์ร่วมกันบรรลุเป้าหมาย

5.      Team Learning เมื่อคนในองค์กรมีความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อให้วิสัยทัศน์บรรลุเป้าหมายแล้ว ก็ควรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันในทีมงานเพื่อให้เกิดความคิดร่วมกัน การวางแผนและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

ปัจจุบันแนวคิดในเรื่ององค์การแห่งการเรียนรู้ก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศก็ผ่านยุคสมัยมาถึงตอนนี้ก็ 30 กว่าปีแล้ว และก็ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนาองค์กรในยุคต่อไปครับ