วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Sigmund Freud บิดาแห่งจิตวิเคราะห์

             ก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงคาร์ล ยุง (Carl Jung) ปรมาจารย์ด้านจิตวิทยาชื่อดังต้นตำรับที่ทำให้เกิดแนวคิด MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) ที่โด่งดังในเวลาต่อมา

ในตอนที่แล้วผมได้พูดถึงเรื่องที่คาร์ล ยุงเคยทำงานร่วมกับปรมาจารย์ชื่อดังด้านจิตวิทยาอีกท่านหนึ่งคือซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือจะออกเสียงแบบออสเตรียว่าซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud ค.ศ.1856-1939 พ.ศ.2399-2482) ถ้าจะไม่พูดถึงซิกมันด์ ฟรอยด์เลยก็ยังไงอยู่

            วันนี้ผมก็เลยขอนำเรื่องราวของอีกหนึ่งปรมาจารย์ชื่อดังด้านจิตวิทยาท่านนี้มาเล่าสู่กันฟังจะได้หายคาใจ (ของผมเองแหละ)

            ซิกมันด์ ฟรอยด์มีเชื้อสายยิวที่เกิดในสาธารณรัฐเชคซึ่งขณะนั้นอยู่ในจักรวรรดิออสเตรีย ในวัยเด็กฟรอยด์จะมีความสามารถด้านวิชาเรียงความทำให้เขามีภาษาเขียนที่ดี

ต่อมาเขาก็เข้าเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเวียนนาแต่ขณะนั้นยังเรียนไม่จบเพราะไปสนใจศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเพศของปลาไหลและทำงานวิจัยเกี่ยวกับปลาไหลจนสำเร็จ ซึ่งทำให้ฟรอยด์หันเหความสนใจไปศึกษาเรื่องสรีระศาสตร์แทน

            ที่สถาบันสรีระศาสตร์นี่เองที่ทำให้ฟรอยด์สนใจศึกษาด้านจิตและประสาทวิทยาและกลับมาเรียนแพทย์จนสำเร็จในปีค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)

            ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) ฟรอยด์เป็นอาจารย์สอนด้านประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาและได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น และในปีนี้เองเขาก็ได้รับทุนไปดูงานด้านจิตเวชศาสตร์ที่กรุงปารีส ได้เรียนรู้การบำบัดโรคฮิสทีเรียด้วยการสะกดจิตผู้ป่วย

            แต่เมื่อเขานำความรู้ด้านนี้กลับมาที่เวียนนากลับไม่ได้รับความสนใจทำให้ฟรอยด์ผิดหวังและหันไปทำคลีนิกส่วนตัวและรับรักษาผู้ป่วยแบบจิตบำบัดโดยเฉพาะการรักษาโรคฮิสทีเรียกับการสะกดจิตที่เขาเรียนรู้มา

          ตรงนี้ผมขอขยายความให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับโรคฮิสทีเรีย (Hysteria) กันก่อนนะครับ

            หลายคนยังเข้าใจว่าโรคฮิสทีเรียคือโรคที่มักเกิดกับผู้หญิงที่บ้าผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีความต้องการทางเพศสูงและขาดผู้ชายไม่ได้

            ที่จริงแล้วโรคฮิสทีเรียไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจกันแบบผิด ๆ ข้างต้นนะครับ

          ความจริงก็คือโรคฮิสทีเรียคือโรคทางจิตเวชที่เกิดได้ทั้งหญิงและชายโดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลหรือควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้เหมือนคนปกติทั่วไป

          โดยผู้ป่วยอาจเกิดความขัดแย้งในจิตใจของตนเองอย่างรุนแรงจนทำให้การเคลื่อนไหวผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มองไม่เห็นภาพ หรือพูดจาแสดงท่าทางเกินจริงเพื่อให้คนรอบข้างสนใจ หรืออารมณ์แปรปรวนไม่คำนึงถึงจิตใจของคนอื่น มีอารมณ์โกรธรุนแรงแม้เป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรืออาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองเพื่อเรียกร้องความสนใจ

            ถึงตรงนี้เราคงเข้าใจอาการของฮิสทีเรียตรงกันแล้วนะครับ

          ผลงานของฟรอยด์ที่ช่วงแรก ๆ ไม่ได้รับการยอมรับ แต่ต่อมาเขาก็ได้ศึกษาทดลองและปฏิบัติจริงจนคนยอมรับคือการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psycho Analysis)

โดยการให้ผู้ป่วยเล่าความคับข้องใจและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นและลดความขัดแย้งในใจทำให้ผู้ป่วยหลายรายหายจากอาการอัมพาตได้

ฟรอยด์ศึกษาเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์ของมนุษย์โดยแบ่งจิตออกเป็น 3 ระดับคือ

1.      จิตรู้สำนึก (Conscious Mind) คือจิตที่รู้ตัวตนของเราและแสดงพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

2.      จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind) คือจิตที่รู้ตัวในขณะนั้นแต่ไม่ได้แสดงพฤติกรรมออกมา เช่น ลูกน้องถูกหัวหน้าลวนลามบอกกับใครไม่ได้เพราะรู้สึกอับอายก็ต้องทนเก็บไว้ในใจ และรู้ตลอดเวลาเมื่อไหร่ที่อยู่ในที่ลับตาคนหัวหน้าจะฉวยโอกาสลวนลาม

3.      จิตใต้สำนึก (Unconscious Mind) เป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจของแต่ละคนและถูกเก็บกดเอาไว้ในส่วนลึกและจะแสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การเผลอเรียกชื่อแฟนใหม่เป็นชื่อแฟนเก่า เป็นต้น

            นอกจากนี้ฟรอยด์ยังศึกษาโครงสร้างของจิต (The Ego and the Id) ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีโดยอธิบายว่าจิตประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1.      Id (อิด) คือสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือสันดานดิบของคนที่จะแสดงพฤติกรรมไปตามความพอใจของตนเอง เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหนีจากอันตราย โดยไม่คำนึงถึงค่านิยมทางสังคมถ้าใครมีบุคลิกภาพแบบนี้สังคมจะไม่ยอมรับ

2.      Ego (อีโก้) คือส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมของ Id เอาไว้ได้โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม การอบรมสั่งสอน ศีลธรรมจรรยาที่ดี ทำให้คนแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมกับกาละเทศะ ได้รับการยอมรับในสังคม

3.      Superego (ซุปเปอร์อีโก้) คือส่วนที่เป็นมโนธรรมที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างดีทำให้มีศีลธรรมจรรยา รู้จักการยับยั้งชั่งใจสามารถควบคุมพฤติกรรมให้แสดงออกในทางที่ดีกว่าปกติ

เนื่องจากฟรอยด์มีเชื้อสายยิวจึงทำให้ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวของเขาต้องลี้ภัยไปอยู่ลอนดอน ประเทศอังกฤษและได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกราชสมาคมแพทย์แห่งลอนดอน และเสียชีวิตในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) ที่บ้านพักในกรุงลอนดอน

แปลกแต่จริงว่าถึงแม้ฟรอยด์จะศึกษาและสอนเรื่องเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์มามากมายหลายเรื่อง แต่ตัวเขาเองกลับไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่ถึงขนาดบันทึกเรื่องของเขาไว้ว่าตัวเขาเองเป็นผู้ป่วยคนสำคัญที่เขาอยู่ด้วยมากที่สุด

แนวคิดด้านจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญและได้รับการศึกษาวิจัยในรุ่นต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบันครับ