วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

6 คุณลักษณะสำคัญของผู้นำที่แตกต่างจากผู้ตาม

            ท่านเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้บ้างหรือไม่ ?

ฉันจะไม่ทำงานกับเขาอีกต่อไป ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นหัวหน้าคนสุดท้ายในโลกนี้ก็ตาม... !” 

            และท่านเคยได้ยินคำพูดทำนองนี้หรือเปล่าครับ

ฉันพร้อมจะทำงานกับหัวหน้าแบบนี้แหละ แม้ว่าจะต้องบุกน้ำลุยไฟ เราพร้อมที่จะประสบความสำเร็จด้วยกัน....

ทุกคนยอมรับว่า ผู้นำ มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของทีมงานใช่ไหมครับ ?

ซึ่งคุณลักษณะของผู้นำ หรือเรียกทับศัพท์ว่า สไตล์ ของผู้นำแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งการที่จะมาเป็นผู้นำ (ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในระดับต้น-ระดับกลาง-หรือระดับสูง) ได้นั้น ย่อมแสดงว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกนั้นมีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะที่แตกต่างจากพนักงานในระดับเดียวกันอย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นองค์กรคงไม่ตัดสินใจเลือกให้มาทำหน้าที่หัวหน้าหรือผู้จัดการหรอก จริงไหมครับ ?

เรามาดูกันสิว่าผู้นำที่ดีนั้นมีคุณลักษณะใดที่แตกต่างไปจากผู้ตามกันบ้าง

คุณลักษณะ (Traits) และทักษะ (Skill) ของผู้นำ

            อย่างที่ผมบอกให้ทราบแล้วในข้างต้นว่า ใครก็ตามที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้างาน หรือ Supervisor หรือ ผู้จัดการ ฯลฯ ซึ่งต่อไปนี้ผมขอเรียกตำแหน่งเหล่านี้อย่างเป็นกลาง ๆ ว่า ผู้นำ นำครับ เพราะถือว่าตำแหน่งเหล่านี้เป็นตำแหน่งที่จะต้องมีผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ ผู้ตาม ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบงานของหน่วยงานให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยงานและความรับผิดชอบที่ได้รับจากองค์กร

            แน่นอนว่าเมื่อคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำนั้น ย่อมจะต้องมี อะไร บางอย่างที่แปลกและแตกต่างจากผู้ตามหรือพนักงานทั่วไปจริงไหมครับ  เช่น อาจจะมีอายุงานที่มากกว่าพนักงานอื่น หรือมีผลการปฏิบัติงานที่ดีเด่นกว่าพนักงานอื่น หรือมีอาวุโสสูงกว่าพนักงานอื่น หรือมีความสามารถพิเศษสูงกว่าพนักงานอื่น ฯลฯ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้จะเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละองค์กรที่แตกต่างกันไป แต่ผมเชื่อว่าทุกองค์กรมีความต้องการที่ตรงกันอยู่อย่างหนึ่งคือจะมีความคาดหวังที่อยากจะได้ผู้นำที่ดีเก่งทั้งคนและเก่งงานมาเป็นผู้นำทีมงานในทุกระดับจริงไหมครับ ?

            การที่ผู้นำจะเก่งคนและเก่งงานได้นั้นย่อมจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญที่ท่านควรทราบอยู่ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่นั่นคือ

-                   Traits เมื่อเปิดดูในดิกชันนารีพบคำแปลว่าหมายถึง คุณลักษณะเฉพาะ หรือ สันดาน หรือ อุปนิสัย กล่าวคือหมายถึงคุณลักษณะของบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้(ในบางเรื่อง) หรือเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก (ต้องใช้เวลา) โดยผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมี Traits ที่สามารถชักจูงใจให้คนรอบข้างปฏิบัติในสิ่งที่ตนเองต้องการจนบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้จนสำเร็จ

-                   Skills หมายถึง ทักษะ หรือความสามารถของตนเองในการทำงานจนสำเร็จ

จากคำทั้ง 2 คำนี้จึงมีการสำรวจจาก Mr.Ralph Stogdill โดยตีพิมพ์ในหนังสือ New York : Free Press ดังนี้


คุณลักษณะเฉพาะ (Traits) และ ทักษะ (Skills) ที่แตกต่างระหว่างผู้นำกับผู้ตาม



                      คุณลักษณะเฉพาะ (Traits)                                 ทักษะ (Skills)

-                   การปรับตนเองให้เข้ากับสถานการณ์                       - มีไหวพริบปฏิภาณว่องไว

-                   ตื่นตัวต่อสภาพแวดล้อมของสังคมรอบข้าง               - สามารถสร้างแนวความคิด

-                   ทะเยอทะยาน,มุ่งผลสำเร็จ                                      - มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

-                   มุ่งมั่นในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย                            - มีชั้นเชิงแบบนักการทูต

-                   ประสานความร่วมมือ                                              - พูดจาคล่องแคล่ว

-                   กล้าตัดสินใจ                                                           - มีความรู้ในเนื้องานอย่างดี

-                   ทำงานได้โดยอิสระ                                                  - มีความสามารถบริหารจัดการ

-                   มีพลังในการจูงใจสูง                                                 - สามารถหว่านล้อมจูงใจคน

-                   มีพลังกายที่เข้มแข็ง                                                  - เข้าสังคมเก่ง

-                   มีความพากเพียรอย่างต่อเนื่อง

-                   มั่นใจในตัวเอง

-                   อดทนต่อความเครียดสูง

-                   มีสำนึกในความรับผิดชอบต่อทีม

จากการวิจัยถึงคุณลักษณะเฉพาะ (Traits) และทักษะ (Skills) ที่จำเป็นของผู้นำที่

แตกต่างจากผู้นำในข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงตัวชี้วัดที่สำคัญที่ผู้นำควรจะต้องมีเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จในยุคที่มีการแข่งขันสูงในปัจจุบัน  โดยอธิบายถึง 6 คุณลักษณะสำคัญและทักษะที่ทำให้ผู้นำแตกต่างจากผู้ตาม

คราวนี้เรามาดูกันสิครับว่าเจ้า 6 คุณลักษณะสำคัญที่ว่านี้มีอะไรกันบ้าง

1.      ผู้นำจะต้องมีพลังในการขับเคลื่อนทีมงาน : นั่นคือผู้นำจะต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า “Action Oriented” มีพลังและความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จ ไม่กลัวต่อการเข้าแข่งขันกับบรรดาคู่แข่ง ชอบความท้าทาย มีความกระตือรือร้นสูงกว่าบรรดาผู้ตามอย่างเห็นได้ชัด ท่านมักจะพบว่าผู้นำที่มีพลังในการขับเคลื่อนทีมงานเหล่านี้มักจะสามารถทำงานในแบบต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือแม้แต่เป็นปี ๆ อย่างอดทนไม่ย่อท้อง่าย ๆ ซึ่งแน่นอนล่ะครับว่า ผู้นำที่มีคุณลักษณะอย่างนี้จะต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสามารถบริหารอารมณ์ได้ดีกว่าผู้ตาม หรือบุคคลอื่น ๆ

2.      ผู้นำจะต้องสามารถสร้างแรงจูงใจผู้อื่นได้ : ในเรื่องของแรงจูงใจเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เพราะคนเราทุกคนจะทำอะไรก็ตามจะต้องมีแรงจูงใจ ท่านว่าจริงไหมครับ ?

ถ้าผู้นำยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเองได้แล้วจะไปสร้างแรงจูงใจให้กับคนอื่นได้อย่างไร เช่น เมื่อตื่นนอนตอนเช้ายังไม่อยากมาทำงานเพราะเบื่อปัญหาที่ยังแก้ไขไม่เสร็จแถมยังมีแนวโน้มจะวุ่นวายต่อไปอีก เมื่อมาถึงที่ทำงานก็จะมีสีหน้าภาษากายที่เบื่อหน่าย หน้านิ่วคิ้วขมวดซึ่งคนรอบข้างก็จะสังเกตได้ ดังนั้นผู้นำจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นบวกได้เร็วแม้ในสถานการณ์ที่เป็นลบ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดกับคนรอบข้าง เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้นำจะอยู่ในสายตาของคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลานะครับ

เห็นไหมครับว่าแรงจูงใจจะมีอิทธิพลต่อคนทุกคน ดังนั้น ผู้นำที่ดีจึงจำเป็นจะต้องศึกษาผู้ตาม และคนที่ท่านจะต้องทำงานหรือประสานงานด้วยว่า อะไร เป็นแรงจูงใจที่สำคัญสำหรับคน ๆ นั้น หรือกลุ่มนั้น ๆ เพื่อที่ท่านจะได้หาทางในการสร้างแรงจูงใจกับคนนั้น/กลุ่มนั้นให้เกิดการประสานงานร่วมมือไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในที่สุดครับ

3.      ผู้นำจะต้องซื่อสัตย์และทุ่มเทอย่างจริงจัง : แหม ! คำ ๆ นี้ฟังดูคล้าย ๆ กับเป็นคำขวัญระดับการเมืองหรือระดับชาติยังไงอยู่นะครับ แต่เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับผู้นำทั้งในภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม เพราะหากผู้นำไม่สามารถสร้าง ความน่าเชื่อถือไว้วางใจ (Trustworthiness)” ให้เกิดกับตนเองได้แล้ว จะทำให้ผู้ตามหรือบุคคลอื่นมีความเชื่อถือ (Trust) ในตัวของผู้นำนั้น ๆ ได้อย่างไรล่ะครับ ผมเชื่อว่าท่านคงเคยอ่านหรือทราบเรื่องราวของผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศนี้และในต่างประเทศที่บกพร่องในเรื่องของความซื่อสัตย์และความทุ่มเทจนเกิดเรื่องเกิดราว  เกิดวิกฤติศรัทธา ขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำขึ้นกับบรรดาผู้ตาม พนักงานในองค์กร หรือประชาชนมาไม่มากก็น้อยแล้วนะครับ

4.      ผู้นำจะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง : มีคำกล่าวอยู่ว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองจะมีบทบาทที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจของผู้นำ หากผู้นำขาดความมั่นใจหรือยังมีความลังเลหรือยังมีระดับของความสงสัยในเรื่องที่จะต้องตัดสินใจอยู่มากแล้ว ย่อมทำให้ผู้ตามขาดความเชื่อมั่นในตัวของผู้นำ และจะมีผลกระทบไปถึงเป้าหมายที่วางไว้....  เพราะผู้นำย่อมอยู่ในสายตาของคนรอบข้างอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งผู้นำอาจจะลืมไปว่าทุกสายตาก็จับจ้องพฤติกรรมของตนเองอยู่ด้วย ดังนั้นหากผู้นำแสดงความไม่มั่นใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วจำเป็นจะต้องตัดสินใจเรื่องนั้น ๆ ในขณะที่แม้แต่ตัวเองก็ยังไม่มั่นใจล่ะก็ จะทำให้คนอื่นเขามั่นใจได้อย่างไรเล่าครับ  ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่นหากลูกน้องของท่านมาบอกว่า เรื่องที่บริษัทมอบหมายให้พี่ตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการรถรับ-ส่งพนักงาน ที่พี่ศึกษาข้อมูลมา 3 เดือนแล้วและจะแจ้งผลภายในวันศุกร์นี้ พี่จะตัดสินใจว่าอย่างไร..... แล้วท่านก็ตอบไปว่า เออ...เรื่องนี้พี่ยังไม่แน่ใจเลยว่าควรจะให้ดีหรือไม่..... นี่แหละครับก็จะเป็นเหตุให้ลูกน้องนำไปตีความและสื่อสารอะไรที่เกิดความเสียหายได้มากมายแล้วล่ะ โธ่! ก็ศึกษาข้อมูลมาตั้ง 3 เดือนแล้ว ควรจะต้องชัดเจนแล้วนะครับว่าจะตัดสินใจ ให้หรือไม่ให้เพราะอะไร เพื่อจะได้ทำให้เกิดความชัดเจนและไม่เกิดความปั่นป่วนในองค์กรอันเกิดจากการขาดความมั่นใจในตัวเองของผู้นำนี่แหละครับ

5.      ผู้นำต้องมีความสามารถเป็นที่ยอมรับ : ข้อนี้เป็นข้อที่ต่อมาจากข้อ 4 กล่าวคือ ไม่มีใครจะยอมรับคนที่ตัดสินใจผิดพลาดบ่อย ๆ ได้หรอก ท่านว่าจริงไหมครับ ? เพราะหากผู้นำตัดสินใจแล้วผิดพลาดบ่อย ย่อมกระทบความเชื่อมั่นอย่างแน่นอน ดังนั้นการสร้างความสามารถให้เป็นที่ยอมรับได้นั้น ผู้นำจะต้องสามารถกำหนดแผนหรือทิศทางในการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องชัดเจน กล้าตัดสินใจ เพื่อสร้างการยอมรับจากทีมงานครับ

6.      ผู้นำต้องรอบรู้ธุรกิจ : ในยุคก่อน ผู้นำมักจะมีความรู้ในเฉพาะเนื้องานที่ตัวเองจะต้องรับผิดชอบเท่านั้น องค์กรจะมีทิศทางไปอย่างไรในแต่ละปี ฉันไม่จำเป็นต้องรู้ลึกเท่าไหร่ เช่น ผู้จัดการฝ่ายธุรการก็ต้องรู้ในงานภายในสำนักงานของบริษัท เช่น การดูแลรถยนต์ของบริษัท, การใช้ไฟฟ้า/ประปา/โทรศัพท์, การจัดให้แม่บ้านคอยบริการในหน่วยงานต่าง ๆ หรือการเบิกจ่ายเครื่องเขียนแบบพิมพ์ ฯลฯ ส่วนหน่วยงานอื่น ๆ เขาจะทำงานกันอย่างไรก็เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นเขา ไม่เกี่ยวกับฉัน ดังนั้นฉันก็ไม่จำเป็นจะต้องรู้เรื่องธุรกิจอะไรมากนัก แต่ในยุคปัจจุบันผู้จัดการฝ่ายธุรการที่ดีจะไม่เป็นอย่างที่ผมบอกมาแล้วล่ะครับ เพราะเขาควรจะต้องรอบรู้ธุรกิจรอบตัวว่าควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น เมื่อมีลูกค้ามาพบพนักงานขายที่บริษัทเราควรจะมีการต้อนรับลูกค้าอย่างไรให้เกิดความประทับใจและเกิดความรู้สึกที่ดีกับลูกค้า เช่น การบริการเครื่องดื่ม, มุมนั่งรอที่สร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับลูกค้า, การทักทายลูกค้าที่ดีโดยเริ่มจากพนักงานรักษาความปลอดภัย (ที่มักพบว่า รปภ.ในหลายองค์กรเป็นหน่วยงาน ไล่ลูกค้า ตั้งแต่แรก) โดยต้องศึกษาจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จว่าเขามีวิธีการกันอย่างไร โดยที่ไม่ต้องรอให้หน่วยงานไหนมาบอกแล้วค่อยทำ (ซึ่งมักจะเป็นสไตล์ของฝ่ายธุรการแบบดั้งเดิมคือต้องรอทำงานตามสั่ง) จริงไหมครับ เพราะหากเรารอบรู้ธุรกิจ หมั่นคอยสอดส่อง ศึกษาหาข้อมูล หรืออ่านหนังสือ แล้วนำมาประยุกต์ปรับปรุงเพื่อทำให้งานของเราดีขึ้นก็จะเป็นผลดีกับทั้งหน่วยงานและองค์กรของเราโดยรวมด้วยไม่ใช่หรือครับ  ซึ่งแน่นอนว่าย่อมดีกว่าการทำงานแบบขอให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ ซึ่งไม่ทำให้องค์กรของเราดีขึ้นเลย อย่าลืมว่าองค์กรเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่คนในองค์กรต่างหากที่จะทำให้องค์กรมีชีวิตและการที่องค์กรจะสามารถต่อสู้แข่งขันกับธุรกิจอื่น ๆ ได้ก็ด้วย คน ขององค์กรที่จำเป็นจะต้องรอบรู้ธุรกิจรอบด้านนี่แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนรู้จากการพูด การอ่าน หรือการฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันก็ตามครับ



จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ท่านจะเห็นได้ว่าทั้ง 6 คุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำนี้ เป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนสามารถสร้างให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ และไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกินวิสัยของผู้นำที่จะต้องมีศักยภาพ หรือมีคุณลักษณะที่โดดเด่นกว่าผู้ตามอื่น ๆ หรอกครับ อยู่ที่ว่าผู้นำแต่ละท่านจะมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างหรือเพิ่มเติมคุณลักษณะที่สำคัญทั้งหกอย่างนี้ให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือไม่ เพื่อความสำเร็จของตัวผู้นำและทีมงาน และจะส่งผลถึงองค์กรที่ท่านทำงานอยู่ในที่สุดครับ.



………………………………………..