วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สารพันปัญหาเรื่องค่าตอบแทน_คำถามจากผู้เข้าร่วมสัมมนา (เมื่อ 12 ตค.54)

คำถามที่ 1 ค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อส่งเงินสมทบประกันสังคมมีอะไรบ้าง ?

ถาม

กรณีเงินสวัสดิการ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมัน ที่บริษัทให้พนักงานเท่า ๆ กันทุกเดือน ไม่ใช่ค่าจ้าง แต่เงินสวัสดิการตัวนี้ บริษัทต้องนำมาคำนวณเพื่อสบทบประกันสังคมหรือไม่ ?

ตอบ

อย่างแรกเลยนะครับ คือคุณจะคิดและสรุปเองว่าเงินที่บอกมานั้นยังไม่ใช่ค่าจ้างทันทียังไม่ได้ครับ เพราะคุณต้องมาดูคำว่าค่าจ้างของประกันสังคมนั้นหมายถึง....

เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใดหรือ โดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร

ถ้าดูตามความหมายข้างต้นแล้วก็ต้องมาพิจารณาองค์ประกอบ เงื่อนไขการจ่าย หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจ่ายเงินของบริษัทคุณ รวมถึงเจตนาในการจ่ายเงินของบริษัทครับว่าเป็นอย่างไร เช่น เงินเดือน, ค่าตำแหน่ง, ค่าวิชา, ค่าเบี้ยขยัน (ที่จ่ายเท่ากันทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไข), ค่าคอมมิชชั่นจากการขายสินค้าต่อชิ้นโดยคำนวณจากจำนวนชิ้นที่ขายได้ (ขายน้อยได้น้อย..ขายมากได้มาก), ค่าน้ำมันที่จ่ายเท่ากันทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไข ฯลฯ อย่างนี้ต้องนำมารวมคำนวณหักเงินสมทบส่งประกันสังคม

แต่ถ้าเป็น ค่าล่วงเวลา, โบนัสตามผลงาน (ผลงานดีได้มากผลงานไม่ดีได้น้อยหรือไม่ได้), ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเบี้ยขยัน (คำนวณจากผลงานที่ทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย), ค่าคอมมิชชั่นที่คำนวณจากเป้าหรือยอด เช่น ขายสินค้าได้ 100 ชิ้นจะได้คอมฯ 5,000 บาทถ้าขายได้น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้, เงินที่บริษัทจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการเช่น ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเช่าบ้านที่พนักงานมีหลักฐานว่าเช่นบ้านจริง (เช่นมีใบเสร็จ) ฯลฯ อย่างนี้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณหักเงินสมทบส่งประกันสังคม

จากตัวอย่างข้างต้นคุณจะเห็นได้ว่าแม้เงินที่มีชื่อเรียกเดียวกัน เช่น ค่าคอมมิชชั่น หรือค่าเบี้ยขยันแต่มีเงื่อนไข หลักเกณฑ์ วิธีการที่แตกต่างกันก็ยังต้องมาพิจารณากันในข้อเท็จจริงให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลักก็คือเงินที่บริษัทของคุณจ่ายนั้นเป็นเงินที่จ่ายเป็นประจำทุกเดือนเท่า ๆ กันมีความแน่นอนชัดเจนเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานหรือไม่ ถ้าใช่อย่างนี้แล้วก็จะต้องถือเป็นค่าจ้างเพื่อนำไปรวมคำนวณเพื่อหักสมทบส่งประกันสังคม หรือผมอยากจะสรุปว่าเงินที่คุณถามมาว่าจะเป็นค่าจ้างหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่คุณต้องพิจารณาตามที่ผมบอกมาข้างต้นนี้ให้ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงสรุปว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ครับ
................................