วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คำถามที่ 3 ผู้จัดการกับพนักงานเงินมีรายได้ใกล้เคียงกัน, ทำไงดี ?

คำถาม

บริษัททำธุรกิจขายเสื้อผ้า มีพนักงาน 2 คนเริ่มงานพร้อมกัน วุฒิปริญญาตรีเท่ากัน

ก.      เป็นผู้จัดการร้าน เงินเดือน 10,000 บาท

ข.      เป็นพนักงานขายเงินเดือน 7,500 บาท

ทั้ง 2 คนอยู่คนละสาขา ข อยู่ที่ร้านมีทำเลดีกว่า ได้ค่าคอมมิชชั่น 4,000 บาทต่อเดือน ส่วน ก อยู่ในทำเลไม่ดี ได้ค่าคอมมิชชั่น 2,000 บาท ดังนั้นรายได้ต่อเดือนของ ก เท่ากับ 12,000 บาท ส่วนรายได้ของ ข เท่ากับ 11,500 บาท จะปรับเงินเดือนของ ก อย่างไรดี เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างในตำแหน่งเดียวกัน เพราะความสามารถและตำแหน่งงานของ ก ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับ ข แต่รายได้กลับใกล้เคียงกัน

ตอบ
คำถามนี้น่าสนใจดีนะครับ และเป็นสิ่งที่ผมได้อธิบายไปแล้วในห้องสัมมนาในเรื่องของความสำคัญในการประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (จากค่างานและการสำรวจตลาดแข่งขัน) ให้เป็นมาตรฐานเพื่อลดปัญหาทำนองนี้แหละครับ

ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะ

1.      ไม่มีการประเมินค่าของงานในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้ทราบอย่างชัดเจนว่า ผู้จัดการร้าน หรือพนักงานขาย มีงานอะไรต้องรับผิดชอบ, ต้องการคุณวุฒิหรือประสบการณ์ทำงานอย่างไรบ้าง, ต้องมีการบังคับบัญชาหรือบริหารจัดการอะไรบ้าง, ต้องมีการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจเป็นอย่างไร, มีสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นอย่างไร ฯลฯ จากที่ผมบอกมานี้แหละครับคือสิ่งที่เรียกว่า “ปัจจัย” ที่ใช้ในการประเมินค่างานเพื่อให้คะแนนให้ชัดเจนว่าตกลงแล้ว ผู้จัดการร้านมีค่างานกี่คะแนน หรือพนักงานขายมีค่างานกี่คะแนน ตำแหน่งงานไหนมีค่างานที่สูงหรือต่ำกว่ากัน เพื่อจะได้นำมาสู่ข้อ 2 คือ

2.      ทำโครงสร้างเงินเดือนสำหรับงานและความรับผิดชอบในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม โดยนำตำแหน่งที่เราทำการประเมินค่างานแล้วไปเปรียบเทียบกับข้อมูลตำแหน่งงานต่าง ๆ และเงินเดือนในตลาดแข่งขันเพื่อออกแบบโครงสร้างเงินเดือนที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานต่อไป

ถ้าบริษัทของคุณทำอย่างที่ผมบอกมา 2 ข้อข้างต้นนี้ (รายละเอียดผมอธิบายไว้ในการสัมมนาแล้วคงยังพอจำได้นะครับ) คำถามนี้จะไม่เกิดขึ้นครับ !

            ถ้าจะมาดูว่าสาเหตุของปัญหาที่คุณถามมานี้เกิดจากอะไร ก็สรุปได้ดังนี้

1.      กำหนดตำแหน่งงานรวมทั้งอัตราเงินเดือนขึ้นเองโดยขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนรองรับ เช่น ผู้จัดการร้านจบปริญญาตรี เท่า ๆ กับพนักงานขายก็จบปริญญาตรีเช่นเดียวกัน จบมาพร้อม ๆ กัน เข้าทำงานก็พร้อม ๆ กัน (ตามที่คุณให้ข้อมูลมา) แต่กลับตั้งตำแหน่งให้ต่างกัน และเงินเดือนก็ต่างกันไปตามตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่ตำแหน่งทั้ง 2 นี้ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทำงาน ผมก็เลยสงสัยว่าบริษัทใช้หลักเกณฑ์อะไรมากำหนดว่าใครควรเป็นผู้จัดการ ใครควรเป็นพนักงานขาย

2.      เหตุใดจึงกำหนดเงินเดือนตำแหน่งผู้จัดการร้านไว้ที่ 10,000 บาท และเงินเดือนพนักงานขายที่ 7,500 บาท มีฐานความคิด หรือฐานข้อมูลจากไหนมากำหนดอัตรานี้ ที่แตกต่างกัน 2,500 บาท เช่นมีฐานคิดมาจากการสำรวจตลาด   หรือผู้บริหารระดับสูงกำหนดขึ้นมาเองเฉย ๆ ตามความรู้สึก ? ซึ่งผมได้เคยเล่าให้ฟังในตอนสัมมนาไปแล้วว่าการกำหนดค่าจ้างนั้นควรจะต้องมีหลักเกณฑ์หรือฐานที่มาที่ไม่ใช่กำหนดขึ้นมาลอย ๆ ไม่งั้นก็เหมือนกับ “ทฤษฎีแจ๋ว” ที่ผมเคยอธิบายไว้แล้วนั่นแหละครับ หวังว่ายังคงจำได้นะครับ

3.      เช่นเดียวกับข้อ 2 นั่นคือการกำหนดค่าคอมมิชชั่นตามทำเลของ ก และ ข นั้น บริษัทมีฐานคิดมาจากอะไร เหตุใดจึงกำหนดให้ทำเลของ ก ได้ค่าคอมฯ 2,000 บาท และทำเลของ ข ได้ค่าคอมฯ 4,000 บาท ความหมายของผมก็คือความแตกต่างกันของทำเลดังกล่าวแตกต่างกันถึง 2 เท่าเลยหรือครับ ดูคล้าย ๆ กับว่าทำเลของ ก อยู่ในชนบทกันดารมาก ๆ  ส่วนของ ข เหมือนกับอยู่ใจกลางเมืองที่ลูกค้าหาง่าย (ตามข้อมูลที่คุณแจ้งมาว่า ก อยู่ในทำเลไม่ดีเลยได้ 2,000 บาท ส่วน ข อยู่ในทำเลดีกว่าได้ 4,000 บาท) ถ้าอย่างนั้นใครจะอยากไปอยู่ในทำเลที่ ก อยู่ล่ะครับ หรือไปอยู่ไม่นานก็ลาออกแหละ เพราะทำเลไม่ดี ยากลำบากแล้วยังได้ค่าคอมฯ น้อยเสียอีก สู้มาอยู่ทำเล ข ที่สบายกว่าแถมได้ค่าคอมฯ สูงกว่า (4,000 บาท) ไม่ดีกว่าหรือครับ

ดังนั้น ทางแก้ปัญหานี้ก็ต้องกลับไปตอนต้นที่ผมบอกไปแล้วนั่นก็คือบริษัทควรจะต้องกลับมาทบทวนเรื่อง

1.      ค่าของงานในตำแหน่งต่าง ๆ ให้ชัดเจนเสียก่อนว่าตำแหน่งไหนจะต้องรับผิดชอบอะไรมากน้อยแค่ไหน

2.      ทำโครงสร้างเงินเดือนให้เหมาะสมกับค่างาน รวมถึงการพิจารณาเงินพิเศษต่าง ๆ เช่น ค่าคอมฯ อย่างเหมาะสม โดยมีเหตุและผลรองรับ มีหลักเกณฑ์หรือที่มาของการกำหนดค่าตอบแทนประเภทต่าง ๆ แทนการใช้ความรู้สึก หรือคาดเดาเป็นหลักอย่างในปัจจุบันครับ



................................