วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

จะปรับคนเก่าอย่างไร..ถ้าคนใหม่ได้ 300 หรือ 15,000 ?

            ตอนนี้บรรดาผู้ประกอบการคงกำลังจะใจเต้นตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ กันพอสมควรกับนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และปรับค่าจ้างปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท ในขณะที่คนเป็นลูกจ้างก็อาจจะกำลังดีใจกันถ้วนหน้า

            วันนี้ผมคงไม่ได้มาวิจารณ์นโยบายอะไรหรอกนะครับ พอดีเห็นกำลังเป็นข่าวเด่นประเด็นร้อนที่พูดกันในแทบทุกวงสนทนาก็เลยอยากจะแลกเปลี่ยนให้ข้อคิดกับคนที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้เผื่อจะเป็นประโยชน์กับทุก ๆ ท่าน
           ผมขอข้ามช็อตไปตรงที่ว่าหากมีการปรับคนใหม่ที่ 300 บาท หรือ 15,000 บาทจริง ๆ ตามนโยบายแล้ว ผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการคงไม่ใช่แค่เพียงการรับคนใหม่เข้าทำงานเพียงกลุ่มเดียวหรอกครับ

            แต่คนที่เข้ามาก่อนสัก 2-3 ปีที่รายได้ยังไม่ถึง 300 บาท หรือ 15,000 บาท เช่นสมมุติว่าผมจบปริญญาตรีเข้ามาทำงานกับบริษัทนี้สัก 2 ปีมาแล้ว แต่ตอนนั้นบริษัทรับผมเข้ามาที่เงินเดือน 10,000 บาท แล้วผมก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีมาปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ 2 ปีแล้ว ปัจจุบันผมก็จะมีเงินเดือนอยู่ที่ 11,025 บาท (ขึ้นเงินเดือนปีแรกคือ 10,000x5%=10,500 และในปีที่สองก็ได้ขึ้นอีก 5% จะเป็น 10,500x5%=11,025 บาท)

          แต่คนใหม่รุ่นน้องผมที่เพิ่งจบมาเขาจะได้เงินเดือนใหม่ 15,000 บาท !

            อย่างนี้ถ้าบริษัทไม่ปรับอะไรให้ผมบ้าง..ผมก็ลาออกแล้วไปสมัครงานใหม่ไม่ดีกว่าหรือ เพราะผมจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ (จาก 11,025 ถึง 15,000 คิดเป็น 36.05%)

            ถ้าผมเป็นผู้บริหารของบริษัทผมก็ต้องหาวิธีการปรับคนเก่าเพื่อให้หนีคนใหม่แหง ๆ แหละครับ เพราะคนเก่าก็มีประสบการณ์ทำงานกับผมมาแล้ว ในขณะที่คนใหม่ผมต้องมาฝึกมาเทรนด์กันอีกเป็นปีกว่าจะมีความรู้และทักษะในงานเท่ากับคนเก่า (ซึ่งปัจจุบันก็เงินเดือนน้อยกว่าคนใหม่เสียแล้ว)

          ปัญหาคือจะปรับอย่างไร..และปรับเท่าไหร่ ?

            อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลยนะครับ สำหรับคนที่เคยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารค่าตอบแทน (Compensation Manager) ขององค์กร ซึ่งก็คือคนที่ทำงานในฝ่ายบุคคลที่ต้องดูแลรับผิดชอบด้านการบริหารค่าตอบแทนนั่นแหละครับ

            สูตรสำหรับการปรับคนเก่านี้เราเรียกกันว่าการปรับแบบ Compression Adjustment (CA) ซึ่งผมมักจะเรียกเองว่าเป็นสูตรการปรับแบบคลื่นกระทบฝั่ง กล่าวคือคนที่เงินเดือนปัจจุบันที่เข้ามาก่อนที่เงินเดือนน้อยก็จะได้รับการปรับมากกว่าคนที่เงินเดือนปัจจุบันที่สูงกว่า และเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งคนที่เข้ามาก่อนที่เงินเดือนสูงถึงจุดที่องค์กรกำหนดก็จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนเพื่อหนีคนใหม่

            เริ่มอย่างนี้ครับ

1.      จุดตัด =เงินเดือนเริ่มต้นใหม่ + (1.5(เงินเดือนเริ่มต้นใหม่-เงินเดือนเริ่มต้นปัจจุบัน))

2.      เงินเดือนใหม่ (สำหรับพนักงานเดิมที่เงินเดือนยังไม่ถึงจุดตัด) =

เงินเดือนปัจจุบัน + ((จุดตัด-เงินเดือนปัจจุบัน)/2)

            จากสูตรข้างต้น ผมยกตัวอย่างดีกว่าเพื่อให้ท่านเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้

            สมมุติว่าบริษัทมีนโยบายในการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปริญญาตรีจากเดิม 10,000 บาท เป็น 15,000 บาท และมีพนักงานคนหนึ่งที่เข้ามาก่อนปัจจุบันมีเงินเดือน 11,025 บาท เขาควรจะได้รับการปรับขึ้นเท่าไหร่เพื่อลดผลกระทบจากการปรับเงินเดือนตามคุณวุฒิใหม่นี้

            เริ่มจากการหาจุดตัดที่ต้องการตามข้อ 1 เสียก่อนคือ

จุดตัด   =          15,000+ (1.5(15,000-10,000))

            =          22,500 บาท

            ความหมายของสูตรในข้อแรกก็คือ หากพนักงานในปัจจุบันที่มีอัตราเงินเดือนตั้งแต่ 22,500 บาทเป็นต้นไป (หรือพูดง่าย ๆ ว่าเงินเดือนเท่าจุดตัดหรือมากกว่า) จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือน เพราะถือว่าเงินเดือนสูงพอที่จะไม่ถูกกระทบจากการปรับเงินเดือนพนักงานเข้าใหม่แล้ว
            ดังนั้น หากบริษัทต้องการปรับจุดตัดให้สูงขึ้น เนื่องจากเมื่อดูข้อมูลคนในปัจจุบันแล้วยังเห็นว่ามีผลกระทบจากการปรับเงินเดือนตามคุณวุฒิสำหรับพนักงานใหม่ แล้วต้องการจะเพิ่มจุดตัดก็สามารถทำได้โดยการเพิ่มค่าตัวคูณหน้าวงเล็บจาก 1.5 เป็น 2 หรือ 2.5 หรือ 3.0 ก็ย่อมได้ ซึ่งก็หมายความว่าคนเก่าจะมีโอกาสได้รับการปรับเงินเดือนมีมากขึ้น (ซึ่งบริษัทต้องใช้งบประมาณในการปรับเงินเดือนคนเก่ามากขึ้น)

            ท่านลองเพิ่มค่าตัวคูณจาก 1.5 เป็น 2 หรือ 3 ดูก็ได้ครับ จะพบว่าจุดตัดจะขยายเพิ่มขึ้น ผลก็คือจะทำให้คนเก่าได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะมีค่าใช้จ่าย (Staff Cost) ด้านบุคลากรมากขึ้น

            คราวนี้เรามาดูว่าพนักงานปัจจุบันที่เงินเดือน 11,025 บาท จะได้รับการปรับเงินเดือนใหม่เป็นเท่าไหร่ ก็ใช้สูตรตามข้อ 2 ดังนี้คือ

เงินเดือนใหม่      =          11,025 + ((22,500-11,025)/2)

                        =          16,762.50 หรือปัดเป็น 16,765 บาท

            ดังนั้น พนักงานเก่าที่เงินเดือน 11,025 บาท จะได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มอีก = 5,740 บาท ครับ

            สำหรับพนักงานเก่าคนอื่น ๆ จะได้รับการปรับเงินเดือนเป็นเท่าไหร่ ท่านก็นำสูตรที่ผมให้มานี้ผูกใน Excel แล้วท่านก็จะสามารถคำนวณได้แล้วว่าองค์กรของท่านจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับเงินเดือนคนเก่ารวมทั้งหมดแล้วกี่บาทต่อเดือน หรือต่อปี

            ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะต้องปรับคนเก่าเท่าไหร่เราก็สามารถใช้สูตรเดียวกันเพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่จะเพิ่มขึ้นได้แล้วนะครับ ผมคงไม่ต้องฉายซ้ำให้เปลืองหน้ากระดาษ

            เชื่อว่าสูตรการปรับเงินเดือนคนเก่าที่ผมแลกเปลี่ยนเล่าสู่กันฟังคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านนะครับ



..........................................