วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

ยื่นใบลาออกแล้วหัวหน้าขอให้อยู่ต่อและขึ้นเงินเดือนให้จะอยู่ต่อดีไหม?

           นาย A (นามสมมุติ) ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 30 วันตามระเบียบของบริษัทเนื่องจากได้งานใหม่ โดยยื่นใบลาออกวันที่ 1 มีค.และให้มีผลลาออกตั้งแต่วันที่ 1 เมย.เป็นต้นไปแล้วหัวหน้าก็รับใบลาออกไว้

            ต่อมาวันที่ 15 มีค.หัวหน้าก็มาขอร้องว่าอยากให้นาย A อยู่ต่อเพราะคนไม่พอโดยยื่นเงื่อนไขว่ารอบการขึ้นเงินเดือนที่จะถึงนี้จะพิจารณาเงินขึ้นให้เป็นพิเศษ นาย A เริ่มลังเลว่าควรจะอยู่ต่อตามที่หัวหน้าขอ หรือจะไปที่ใหม่ดี

            ถ้าท่านเป็นนาย A จะตัดสินใจยังไงดีครับ ?

            ผมก็ได้แต่ตั้งคำถามเพื่อให้นาย A ตั้งสติแล้วคิดให้ดีก่อนตัดสินใจคือ

1.      ถามและตอบใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าอะไรคือสาเหตุของการลาออกในครั้งนี้ เช่น สาเหตุเกิดจากเงินเดือนน้อย, ไม่ก้าวหน้า, งานมีปัญหาเยอะ, หัวหน้าปฏิบัติต่อตัวเองไม่ดี, เพื่อนร่วมงานไม่ดี ฯลฯ

2.      ถ้าตัดสินใจอยู่ที่นี่ต่อไปตามที่หัวหน้าขอ ปัญหาตามข้อ 1 จะหมดไปไหม

3.      ถ้านาย A ไม่ยื่นใบลาออกหัวหน้าจะพิจารณาเงินเดือนขึ้นให้เป็นพิเศษหรือไม่ ลองดูสถิติย้อนหลังการขึ้นเงินเดือน 3 ปีที่ผ่านมาของตัวเองก็ได้ว่าหัวหน้าเห็นคุณค่าของนาย A มากน้อยแค่ไหน

4.      นาย A ทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้มากี่ปีแล้ว ถ้าอยู่ต่อจะมีโอกาสก้าวหน้าได้รับการ Promote หรือไม่

5.      ที่หัวหน้าบอกว่าคนไม่พอก็เลยต้องให้นาย A อยู่ทำงานต่อไปนั้น เป็นปัญหาของหัวหน้าหรือของนาย A

6.      ถ้านาย A ตัดสินใจไม่อยู่ต่อ จะไม่มีใครมาทำงานนี้ได้อีกเลยหรือ ถ้าตอบว่า “ใช่” แปลว่านาย A จะต้องรับผิดชอบงานนี้ตลอดไป แล้วนาย A จะมีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปได้หรือ ?สุดท้ายคนที่จะต้องตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ก็อยู่ที่นาย A แหละครับ

ถ้านาย A ตัดสินใจจะไปต่อกับบริษัทใหม่ เมื่อถึงวันที่ 1 เมย.นาย A ก็ไปเริ่มงานที่บริษัทใหม่ได้เลย แม้ว่าหัวหน้าจะอ้างว่าใบลาออกยังไม่ได้รับการอนุมัติก็ตาม

เพราะหลักของการลาออกก็คือเมื่อพนักงานระบุวันที่มีผลลาออกเอาไว้ในใบลาออกแล้ว เมื่อถึงวันที่ระบุ การลาออกจะมีผลทันทีไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอนุมัติแต่อย่างใด

แต่ถ้านาย A ตัดสินใจจะอยู่ต่อก็อย่าลืมไปขอใบลาออกคืนกลับมาจากหัวหน้าด้วยนะครับ ไม่งั้นอาจมีดราม่าภาคสองตามมาภายหลัง

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

หนังสือดาวน์โหลดฟรี

 

            เนื่องจากยังมีคำถามมาที่ผมอยู่เป็นระยะเพื่อขอซื้อหนังสือที่ผมเคยเขียนมานานแล้วและทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้พิมพ์เป็นเล่มแล้ว แต่เนื่องจากผมเป็นคนเขียนไม่ใช่สำนักพิมพ์จึงไม่มีขาย ผมก็เลยนำเอาหนังสือเหล่านั้นมาปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัยและเข้าใจง่ายมากขึ้น (เนื้อหาในหนังสือที่แจกฟรี Update มากกว่าที่เคยพิมพ์เป็นเล่ม) แล้วเอามาแจกฟรีในบล็อกของผมคือ https://tamrongsakk.blogspot.com

            หรือถ้าใครอ่านพบในเฟซบุ๊คของผมก็ให้ดาวน์โหลดเล่มที่ต้องการได้ตามนี้

1. Download หนังสือ "การประเมินค่างานและการทำโครงสร้างเงินเดือน (ภาคปฏิบัติ)"

https://www.dropbox.com/s/uho10vpz55vt5xu/JE%26SS_Free.pdf?dl=0

 

2. ดาวน์โหลด Micro Pocket Book "25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์"

 https://www.dropbox.com/s/cc8to40p10ojyat/25%20%20Q%26A_SS.pdf?dl=0

 

3. ดาวน์โหลดหนังสือ “ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนแบบง่าย ๆ”

https://www.dropbox.com/s/xaks9yls6nyw7nk/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%87%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%20%E0%B9%86.pdf?dl=0

4. Download หนังสือ “การบริหารความเสี่ยงด้าน HR”

https://www.dropbox.com/s/5rlqkq5yjcfblt3/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20HR_%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD.pdf?dl=0

5. Download หนังสือ “หัวหน้างานกับการบริหารลูกน้อง HR for NON HR”

https://www.dropbox.com/s/shwz3usn4wbs4l4/%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87.pdf?dl=0

6. Download หนังสือ "จัดการฝึกอบรมให้มีประสิทธิผลอย่าง Training Officer มืออาชีพ"

https://www.dropbox.com/s/urvq70samjd3tfr/TO_Free.pdf?dl=0

 

7. ดาวน์โหลดหนังสือ "เรียนรู้โหราศาสตร์ไทยมาใช้ในงาน HR - ภาคปฏิบัติ"

https://www.dropbox.com/s/oe537r47y4yk8g6/HR_Horasad.pdf?dl=0

8. ดาวน์โหลดหนังสือ "คู่มือการเป็นวิทยากร" หรือ Train the trainer

https://www.dropbox.com/s/52as4h4fvo57k8b/TrainTheTrainer.pdf?dl=0

9. ดาวน์โหลดหนังสือ “การทำ Training & Development Roadmap ตามแผนงานขององค์กร (ภาคปฏิบัติ)”

https://www.dropbox.com/s/0rq5x9ukx0zatqm/TRM_By%20Strategic%20Plan.pdf?dl=0

10. ดาวน์โหลดหนังสือ "สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก"

https://www.dropbox.com/s/i4ceoesgslzi6ac/%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9B%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99Free.pdf?dl=0

 

11. ดาวน์โหลดหนังสือ “กระตุกต่อมคิดชีวิตคนทำงาน”

https://www.dropbox.com/scl/fi/4wv00ukyln55soxp7n49i/.pdf?rlkey=lnb4umxi96twyafp9nsf1u32i&dl=0

 

12. ดาวน์โหลดไฟล์ "รู้เขา..รู้เราด้วย D I S C"

https://www.dropbox.com/s/3287l1mnva2jeq8/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%20D%20I%20S%20C%20%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%205%20%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

13. ดาวน์โหลดไฟล์ “ทำไม Functional Competency ถึงไม่เวิร์ค”

https://www.dropbox.com/s/xy4thcslhifo5qh/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%20Functional%20Competency%20%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84-%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%991%2B2%2B3.pdf?dl=0

14. ดาวน์โหลดหนังสือ “คุยเฟื่องเรื่องค่าตอบแทน”

https://www.dropbox.com/s/i8xmaozgs8zhwrw/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

 

15. ดาวน์โหลดหนังสือ “เสริมทักษะหัวหน้างานยุคใหม่”

https://www.dropbox.com/s/8rhbfz8g7vf0crd/%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88.pdf?dl=0

16. ดาวน์โหลดไฟล์ “อคติกับพฤติกรรมคน”

https://www.dropbox.com/s/ziy5ms95g7yac0h/%E0%B8%AD%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

 

17. รวมเรื่องนักคิดจิตวิทยาและการจัดการ

https://www.dropbox.com/s/vlsvrrcvx9ixohc/%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3.pdf?dl=0

18. Micro Pocket Book “25 คำถามเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนจากประสบการณ์

https://www.dropbox.com/s/g797sxbkp1chkgo/25%20%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99.pdf?dl=0

 

19. Check list ปัญหาค่าตอบแทน

https://www.dropbox.com/s/tbkd1i8js9hrfbh/Check%20List%20%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99.pdf?dl=0

 

20. หนังสือ “เขาว่า..ที่ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารคน”

https://www.dropbox.com/s/5l56ygqzmzu78i2/%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD_%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%99.pdf?dl=0

21.หนังสือ “ถาม-ตอบปัญหาค่าจ้างเงินเดือนจากหน้างาน”

https://www.dropbox.com/scl/fi/7tcldqpsqqfjtywaxye0e/.pdf?rlkey=vo26my5vwpyud811wkg84968k&dl=0


22. บทความ “คุยเฟื่องเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน_Mar 2024

https://www.dropbox.com/scl/fi/eulilaxw4q5dii3mwefdj/_Mar-2024.pdf?rlkey=5htz95m3hrc5jxbcpcsv1ng1t&dl=0

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

Cc และ Bcc ในอีเมล์มาจากไหน?

             ผมเริ่มรู้จักและใช้อีเมล์เป็นครั้งแรกในปี 2534 ตอนนั้นทำงานเป็น Com & Ben Manager อยู่ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย ถ้าใครทำงานในองค์กรไทย ๆ ผมเชื่อว่าน่าจะยังไม่มีอีเมล์ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในองค์กร ในสมัยนั้นยังไม่มี Yahoo Hotmail Gmail เหมือนทุกวันนี้นะครับ เพราะอินเตอร์เน็ตในบ้านเราแบบที่ใช้กันในปัจจุบันยังไม่เกิด จึงแน่นอนว่าไม่มีอีเมล์ใช้กันแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้

            การใช้อีเมล์จึงเป็นการสื่อสารภายในธนาคารชาร์เตอร์ดในช่วงที่ผมทำงานในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับผมที่มาจากองค์กรไทย ๆ ที่ยังสื่อสารกันด้วยการใช้พิมพ์ดีดส่งจดหมายกันอยู่ ผมรู้สึกว่ามันไฮเทคและว้าวเป็นครั้งที่สองหลังจากการว้าวครั้งแรกหลังจากที่ผมได้ใช้เครื่อง PC (Personal Computer) ของ IBM รุ่น XT เมื่อปี 2527

            เพราะผมสามารถจะติดต่อสื่อสารกับ Group HR ที่ลอนดอน หรือติดต่อกับ Regional HR ที่สิงคโปร์และฮ่องกงได้โดยทางอีเมล์ลดความสิ้นเปลืองการใช้โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ แถมมีลายลักษณ์อักษรในการติดต่องานที่ชัดเจนเอาไว้อ้างอิงได้ เพราะการติดต่อทางโทรศัพท์จะไม่มีอะไรอ้างอิงได้ (ยุคนั้นยังไม่มีการอัดเสียงเพื่อเอามาแฉกันแบบในยุคปัจจุบันนะครับ)

            คราวนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องที่ผมจั่วหัวเอาไว้คือจากวันนั้นถึงวันนี้คือเวลาที่เราจะส่งอีเมล์ก็จะต้องใส่ Address ของปลายทาง และจะมีตัวเลือกเพิ่มเติมคือ Cc และ Bcc

            Cc (Carbon Copy) คือเราต้องการจะส่งก๊อปปี้อีเมล์ฉบับนี้อย่างเปิดเผยและรู้กันทั้งวงว่าจะส่งไปให้ใครบ้าง ส่วน Bcc (Blind Carbon Copy) คือผู้ส่งต้องการจะส่งก๊อปปี้อีเมล์ฉบับนี้ไปแบบลับ ๆ ไปให้ผู้รับโดยไม่ให้คนอื่นรู้ บางคนอาจจะเรียกวิธี Bcc ว่าวิธีแทงข้างหลัง หรือการฟ้องแบบแอบ ๆ ก็ว่ากันไป

          เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมถึงใช้คำว่า Cc หรือคำเต็มคือ Carbon Copy มาจากไหน?

            จากที่เคยคุยกันมาเป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคน Gen Y ตอนปลายหรือ Gen Z หลายคนยังไม่รู้ว่าทำไมถึงใช้คำว่า Carbon Copy ผมก็เลยขอนำเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ถ้าใครรู้แล้วก็เลื่อนผ่านไปก็แล้วกันนะครับ

            ในสมัยที่เรายังใช้พิมพ์ดีดอยู่ ถ้าใครเคยใช้พิมพ์ดีดคงจะจำได้ว่าเราจะต้องสอดกระดาษเข้าไปในลูกยางแล้วหมุนให้กระดาษตรงกับตำแหน่งที่เราต้องการจะพิมพ์ แล้วจึงพิมพ์ดีดข้อความลงไป

            แต่ถ้าเราต้องการให้มี “สำเนา” ก็ต้องใส่กระดาษ 2 แผ่นแล้วใส่แผ่นคาร์บอนกั้นเอาไว้ เวลาที่พิมพ์ดีดลงไปที่แผ่นแรกก็จะทำให้กระดาษแผ่นที่สองถูกทำสำเนาเอาไว้เหมือนกับแผ่นแรกเพราะตัวอักษรที่ตีลงไปที่แผ่นแรกจะแรงพอที่จะทำให้หมึกคาร์บอนประทับอยู่บนกระดาษแผ่นที่สอง จึงทำให้ข้อความของกระดาษทั้งสองแผ่นเหมือนกัน

            ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า Carbon Copy หรือย่อว่า Cc จากวันนั้นจนถึงวันนี้ และก็เลยนำมาใช้ในอีเมล์ในเวลาต่อมาครับ

            คน Gen BB กับ Gen X คงจะอ่านแล้วผ่านไป แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ Gen Y ตอนปลายและ Gen Z จะได้เอาไว้เล่าให้ Gen Alpha กับ Beta รู้ว่า Cc มาจากไหน

            แต่ก็ไม่แน่ว่าอีเมล์ยังจะอยู่ต่อไปได้อีกนานไหมเพราะรูปแบบการสื่อสารในองค์กรยุคนี้ก็มีหลาย Application เข้ามาเป็นทางเลือกให้ใช้ และในที่สุด Cc ก็อาจจะหายไปกลายเป็นตำนานการสื่อสารในยุคเก่าตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็เป็นไปได้นะครับ

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ แต่หลักการบริหารเงินเดือนไม่ลับ

           ทุกบริษัทมักจะมีหลักปฏิบัติที่เหมือน ๆ กันก็คือ “เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ” มีการแจก Pay Slip ให้พนักงานทราบเป็นรายบุคคลเพราะถือว่าเป็นเรื่องความลับและบอกการนำเงินเดือนมาบอกกันถือเป็นความผิดทางวินัย

จากจุดเริ่มต้นตรงนี้เรื่องของเงินเดือนก็เลยกลายเป็นความลึกลับดำมืดโดยจะมีเพียง HR กับ MD เท่านั้นที่จะเป็นผู้กุมความลับเหล่านี้ไว้

จากแนวคิดว่า “เรื่องเงินเดือนเป็นความลับ” นี่เองเมื่อพนักงานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเงินเดือนก็ไม่รู้จะถามใครเพราะถ้าถาม HR ก็จะตัดบทง่าย ๆ ว่าเป็นความลับตอบไม่ได้

ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับเงินเดือนเหล่านี้เช่น

1.      บริษัทเอาหลักเกณฑ์อะไรมากำหนดว่าพนักงานในตำแหน่งไหนควรจะได้เงินเดือนเท่าไหร่

2.      ทำไมทำงานมานานถึงเงินเดือนตัน แล้วบริษัทจะทำยังไงกับคนเงินเดือนตัน

3.      เมื่อได้รับการเลื่อนตำแหน่งจะได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นหรือไม่ ถ้าได้จะปรับหรือไม่ เท่าไร่ ยังไง

ฯลฯ

คำถามที่ผมบอกมาข้างต้นนี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นนะครับที่พนักงานรวมถึงผู้บริหาร

เมื่อไปถาม HR ก็บอกว่าเป็นความลับเสียอีก มันก็เลยลับกันไปเรื่อย ๆ ยิ่งถ้าบริษัทไหนยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ไม่เคยมีการสำรวจค่าตอบแทนของตลาด ไม่มีหลักในการบริหารค่าตอบแทนของบริษัทที่ชัดเจนแล้ว HR ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาตอบข้อสงสัยของพนักงาน

ตรงนี้แหละครับที่เป็นเรื่องที่คุยกันในวันนี้คือเรื่องเงินเดือนของแต่ละคนน่ะเป็นความลับ แต่เรื่องหลักการบริหารเงินเดือนนั้นไม่ลับ

และควรจะมีการอธิบายหลักการบริหารเงินเดือนของบริษัทให้พนักงานทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผู้บริหารทุกระดับในบริษัทที่ไม่ได้ทำงานด้าน HR รับทราบและเข้าใจตรงกัน

หลักการบริหารเงินเดือนของบริษัทมีอะไรบ้าง?

1.      บริษัทมีโครงสร้างเงินเดือนหรือไม่ ถ้าบริษัทยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือนก็คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันต่อไปแล้วนะครับ เพราะโครงสร้างเงินเดือนเหมือนเสาเข็มของบ้าน ถ้าบริษัทไหนไม่มีโครงสร้างเงินเดือนก็เหมือนปลูกบ้านโดยไม่ตอกเสาเข็ม

ถ้าบริษัทใดยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน หรือเคยมีแต่ไม่เคย Update ให้เหมาะสมกับตลาดแข่งขันก็ไม่รู้จะใช้อะไรมาอธิบายหลักการบริหารเงินเดือน

2.      โครงสร้างเงินเดือนของบริษัททำมาได้อย่างไร บริษัทมีการสำรวจตลาดค่าตอบแทนกันเมื่อไหร่อย่างไร

3.      อธิบายให้พนักงานได้เข้าใจความหมายของโครงสร้างเงินเดือนว่าคืออะไร Min, Max, Midpoint, Midpoint Progress, Range Spread, Compa Ratio รวมไปถึงค่างาน (Job Value) คืออะไรเรื่องเหล่านี้จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารค่าตอบแทนของบริษัทอย่างไร

4.      หลักการบริหารจัดการค่าตอบแทนของบริษัทเป็นยังไง เหตุใดพนักงานถึงเงินเดือนตัน, Over pay, Under Pay คืออะไร และหลักในการบริหารจัดการเงินเดือนพนักงานเมื่อเกิด Over หรือ Under Pay รวมถึงหลักปฏิบัติเมื่อพนักงานเงินเดือนตัน เพื่อให้พนักงานได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน

5.      หลักเกณฑ์ในเรื่องการปรับเงินเดือนเมื่อ Promote ของบริษัทเป็นอย่างไร จะปรับเงินเดือนเมื่อเลื่อนตำแหน่งกี่เปอร์เซ็นต์ จะมีการเลื่อนตำแหน่งกรณีไหนบ้างที่ไม่มีการปรับเงินเดือน รวมไปถึงเหตุผลของการปรับหรือไม่ปรับเงินเดือนเมื่อมีการเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่ง

6.      หลักเกณฑ์ในการขึ้นเงินเดือนประจำปีคืออะไร สัมพันธ์กับตัวชี้วัดผลงานยังไง ระบบงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปียังไง และผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ จะช่วยกันควบคุมงบประมาณขึ้นเงินเดือนประจำปีได้อย่างไร

ฯลฯ

เหล่านี้แหละครับคือเรื่องของ “หลักในการบริหารค่าตอบแทนของบริษัท” ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนทำงานด้าน HR จำเป็นจะต้องอธิบายให้กับ Line Manager ตลอดจนพนักงานในบริษัททุกคนได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและไม่ได้เป็นความลับนะครับ

บางคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามว่า “อ้าว..แล้วถ้า HR ต้องอธิบายเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนให้พนักงานทุกคนรับรู้แล้วอย่างงี้ก็ต้องเอาโครงสร้างเงินเดือนที่ถือว่าเป็นความลับของบริษัทมาเปิดเผยน่ะสิ”

ไม่ใช่อย่างงั้นนะครับ..อย่าเข้าใจผิดคิดว่าผมจะให้เอาโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทมาเปิดเผยสักหน่อย

วิธีการที่ผมเคยใช้อธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนให้พนักงานเข้าใจหลักการบริหารเงินเดือนก็ง่าย ๆ ครับ

ผมก็ทำโครงสร้างเงินเดือนสมมุติขึ้นมาสิครับโดยใช้ตัวเลข Min, Max ของแต่ละกระบอกเงินเดือนที่สมมุติขึ้นมาโดยไม่ต้องนำโครงสร้างเงินเดือนของจริงมานี่ครับ เพราะเราต้องการเพียงแค่อธิบาย “หลักการ” ในการบริหารโครงสร้างเงินเดือนให้พนักงานเข้าใจเท่านั้นเองครับ

แต่ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีโครงสร้างเงินเดือน บริษัทนั้นก็คงไม่สามารถจะอธิบายหลักในการบริหารค่าตอบแทนให้พนักงานได้หรอกนะครับ จนกว่าจะทำโครงสร้างเงินเดือนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน

ส่วนบริษัทที่มีโครงสร้างเงินเดือนแล้วก็คงเป็นหน้าที่ของHR ที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานตามที่ผมได้อธิบายไปแล้วข้างต้น

มาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าท่านที่รับผิดชอบงานด้าน HR คงเริ่มเห็นความจำเป็นและหาวิธีการสื่อสารอธิบายหลักการบริหารค่าตอบแทนให้พนักงานของท่านทราบและเข้าใจเหมือนกับที่ HR เข้าใจบ้างแล้วนะครับ

สิ่งสำคัญก็คือ HR ยุคใหม่จำเป็นจะต้องสื่อสารเรื่องของ HR ให้ Line Manager และพนักงานทั้งบริษัทได้เข้าใจในสิ่งที่ HR เข้าใจมันถึงจะเกิดความร่วมมือที่ดีซึ่งกันและกัน

แต่ถ้า HR เอาแต่พูดภาษาของตัวเอง โดยไม่พยายามสื่อสารให้คนอื่นเข้าเข้าใจภาษา HR บ้างเลย HR ที่บริษัทแห่งนั้นก็คงจะเหมือนกับมนุษย์ต่างดาวที่คุยกับมนุษย์โลกไม่รู้เรื่อง

อย่าลืมว่างานของ HR จะสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในบริษัท ไม่ได้สำเร็จได้เพราะฝีมือของคนในฝ่าย HR เพียงฝ่ายเดียวนะครับ

............................

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

วัฒนธรรมองค์กรจะเปลี่ยนไปยังไงเมื่อ Gen Beta เกิดใหม่และ Baby Boomer เกษียณ

             ก่อนอื่นคงต้องเอาข้อมูลช่วงอายุของคนแต่ละ Gen มาปูพื้นกันก่อนตามนี้ครับ (ที่มา : รายการกรรมกรข่าว)


            ภาพนี้บอกอะไรกับเรา?

          คน Gen Baby Boomer หรือคนที่มีอายุ 60-79 ปีเกษียณอายุแล้วทั้งหมดตั้งแต่สิ้นปี 2567 เป็นต้นมา ในขณะที่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปก็จะเป็นปีแรกเกิดของคน Gen Beta

            แล้วเรื่องนี้สำคัญยังไงกับคนทำงาน?

            ก็ตอบได้ว่าเราจะเหลือคนทำงานในระบบเพียง 3 Gen คือ Gen X, Y และ Z ซึ่งอยู่ในวัยทำงานประมาณ 33 ล้านคน

            ผลจากการเกษียณของ Baby Boomer ย่อมมีผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กรที่เคย Build กันมาในยุคเก่าก่อนที่มักจะกำหนดขึ้นมาโดยความต้องการของคนรุ่นเก่าและกำหนด (หรือบังคับ) ให้คนรุ่นต่อ ๆ มาต้องทำตามค่านิยม (Core Value) หรือวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่ผู้อาวุโสวางเอาไว้

            แต่เมื่อเวลาเปลี่ยน ตัวคนเปลี่ยน ผู้อาวุโสเกษียณไปจนหมดแล้ว แถมสถานการณ์และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาสู่ยุคของ AI ครองโลกจึงเกิดคำถามตามมาว่า

          คน (รุ่นใหม่) จะเป็นคน Renovate วัฒนธรรมองค์กรเสียใหม่ให้เข้ากับตัวเองและยุคสมัย หรือจะยังยอมปรับตัวเองให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรตามที่คนรุ่นเก่า (ที่เกษียณไปหมดแล้ว) วางเอาไว้?

            แม้อาจจะมีคนบอกว่า Gen X ก็ยังมีกลิ่นอายของ Baby Boomer อยู่ก็น่าจะยังรักษาขนบธรรมเนียมเดิมเอาไว้ได้บ้างล่ะน่า แต่ต้องไม่ลืมว่า Gen X ก็มีโจทย์ที่ท้าทายคือจะรักษาคนทำงานที่มีคุณภาพเอาไว้ยังไงให้อยู่กับองค์กรให้นานกว่าค่าเฉลี่ยที่นับวันจะลดลงไปเรื่อย ๆ

            ถ้า Gen X จะยังยืนยันการบริหารโดยใช้กฎ 3 คือคือ 1. หัวหน้าถูกเสมอ 2. ถ้าไม่แน่ใจว่าหัวหน้าถูกหรือไม่ให้กลับไปดูข้อ 1 และ 3. ให้ปฏิบัติตามข้อ 1 และข้อ 2 อย่างเคร่งครัด เหมือนยุคที่ Gen Baby Boomer สั่งมาโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของคน Gen Y และGen Z จะรักษาคนรุ่นใหม่ให้อยู่กับองค์กรได้หรือไม่

            หรือควรจะเปิดใจพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางทำงานร่วมกันกับคนรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

            อย่างไหนจะดีกว่ากัน

            เรื่องนี้คงจุดประกายความคิดให้กับ HR และคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้างแล้วนะครับ

                                                   ..........................


วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

การบริหารผลการปฏิบัติงานที่มุ่งแต่ผลงานอย่าลืมปัจจัยข้างเคียงที่สำคัญ

             ปัจจุบันหลายองค์กรจะนำระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System-PMS) มาใช้ในการวัดผลการทำงานตั้งแต่ระดับองค์กร ระดับหน่วยงาน ลงมาจนถึงระดับตัวบุคคล สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับระบบนี้ผมคงไม่เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนอีกครั้งหรอกนะครับ

            แต่เรื่องที่ผมจะเอามาคุยกันวันนี้เป็นข้อสังเกตและข้อคิดของผมจากประสบการณ์ที่พบกับระบบนี้มานานหลายสิบปีก็เลยอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังเผื่อว่าจะเป็นข้อคิดสะกิดใจสำหรับท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และได้มีมุมมองที่เปลี่ยนไปจากมุมมองเดิมเพื่อจะได้บริหารผลการปฏิบัติงานได้ดีขึ้นดังนี้ครับ

1.      ต้องระลึกไว้เสมอว่าระบบตัวชี้วัดหรือ KPI ที่เราใช้กันอยู่นั้นเป็นเพียงหลักการที่ดูเหมือนจะได้ผลในการวัดผลการทำงานของคน แต่ต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ (โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้า) จะแทรกแซง (Overrule) ระบบได้เสมอ หลายครั้งจะพบว่าคนที่เป็นลูกรักของหัวหน้าก็จะถูกกำหนด KPI ต่างจากคนที่เป็นลูกชัง

2.      หลายครั้งที่พบว่าการกำหนด KPI เปะปะ ไม่ใช่ตัววัดผลที่สำคัญแต่เป็นตัวชี้วัดทั่ว ๆ ไปในงาน Routine ที่กำหนดไปก็ไม่ได้ทำให้ผลการทำงานของคนที่รับผิดชอบ KPI ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้แก้ปัญหาที่สำคัญในงานนั้น ๆ เป็นการกำหนด KPI เชิงพิธีกรรมแบบนายสั่งให้มี KPI ฉันก็ทำตามนายสั่ง

3.      ขาดการเชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานกับระบบการให้คุณให้โทษ (Rewards) ที่ชัดเจน คือไม่เห็นความแตกต่างกันเลยว่าคนที่ทำงานได้ตาม KPI ในเกณฑ์เฉลี่ยจะได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือได้รับโบนัสต่างไปจากคนที่ทำงานได้เกินเป้าหมายไปมาก ๆ ยังไงบ้าง

หลายครั้งจะพบว่าไม่ว่าจะทำงานได้ตาม KPI หรือมากกว่าหรือน้อยกว่าเป้าหมายก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและโบนัสในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แถมไม่เคยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ของเปอร์เซ็นต์ความห่างระหว่างเกรดที่จะทำให้เกิดแรงจูงใจสำหรับคนทำงานได้ตามเป้าหมายในแต่ละเกรด หรือไม่เคยมีการกำหนดความต่างของโบนัสของคนที่ทำงานที่จะสร้างแรงจูงใจให้อย่างมีนัยสำคัญ

4.      ปัญหาจากข้อ 3 มักจะเกิดจากการมองและบริหารอย่างแยกส่วน กล่าวคือคนที่รับผิดชอบเรื่องการประเมินผลงานจะมุ่งไปแต่เรื่องการ Implement ระบบ PMS ให้พนักงานรู้ How to กำหนดเป้าหมาย การประเมินผลและ Feedback ผลงานให้ลูกน้องทราบเท่านั้น แต่ไม่ได้นำเรื่องนี้ไปคุยกับคนที่รับผิดชอบด้าน Com & Ben เพื่อออกแบบระบบ PMS ให้สอดคล้องกับระบบ Rewards รวมไปถึงให้สอดคล้องกับการพัฒนาพนักงานตามผลงาน ซึ่งก็จะเหมือนกับการวางกับระเบิดเอาไว้ให้กับระบบนี้ในอนาคต

5.      ให้น้ำหนักกับ KPI แบบทิ้งตัว 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมองว่าพนักงานคนไหนทำงานได้ตาม KPI หรือทำงานได้ดีกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ หรือทำงานได้ทะลุเป้าที่ตกลงกันคือพนักงานที่ยอดเยี่ยม เป็นคนเก่ง เป็นคนมีฝีมือ

จึงมีคำถามว่าการทิ้งน้ำหนักแบบเต็มร้อยโดยมีความเชื่อว่าคนที่มีผลงานยอดเยี่ยมตาม KPI ที่กำหนดไว้คือ Star หรือเป็น Talent หรือเป็น Successor นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ?

เคยพบไหมครับว่าคนที่มีผลงานดีเยี่ยม เป็นคนเก่งงานมีความรู้มีทักษะในงานที่ดีแต่มีลักษณะแบบนี้

1.      ขาด Leadership ไม่สามารถโน้มน้าวจูงใจลูกน้องได้ มองลูกน้องว่ามือไม่ถึง มองว่าลูกน้องโง่กว่าตัวเอง ไม่เก่งเท่าตัวเอง หรือคนที่เก่งงานหลายคนมีลักษณะที่เป็นเผด็จการไม่ยอมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง

2.      มีทัศนคติเชิงลบกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ฝ่ายบริหาร องค์กร คิดเข้าข้างตัวเองว่าฉันก็ทำงานได้ทะลุเป้าเกิน KPI แต่ทำไมฉันได้เงินเดือนเท่านี้เอง โบนัสก็ได้ไม่เท่าที่คาดหวัง คิดว่าบริษัทเอาเปรียบ ใช้งานหนักแต่ไม่ตอบแทนฉันให้สมกับที่ฉันทุ่มเทให้บริษัท หรือมีทัศนคติแบบฉันสิแน่ แกสิแย่ (I’m OK, You’re not OK.)

3.      EQ มีปัญหาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจุดเดือดต่ำ ฟิวส์ขาดง่าย มีวาจาเป็นอาวุธมีดาวพุธเป็นวินาศ ลูกน้องทำดีไม่เคยจำแต่ทำพลาดไม่เคยลืม ฯลฯ

ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ทำงานเก่งทำงานได้ตาม KPI คนที่มีความรู้และทักษะในงานที่ดีมาก ๆ จะเป็นอย่างนี้เสียทุกคนนะครับ

เพียงแต่อยากจะให้ท่านมองอีกมุมหนึ่งว่าถ้าฝ่ายบริหารจะทิ้งน้ำหนักไปที่ KPI ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์โดยไม่ดูปัจจัยอื่นประกอบกันเลยจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่

แล้วจะแก้ปัญหาข้างต้นยังไงดี?

อธิบายตัวอย่างแบบฟอร์มด้านล่างนี้ครับ

1.      ส่วนที่ 1 : Key Job Assignment คือส่วนที่เป็น MBO ตามแนวคิดของ Drucker นั่นแหละครับ หลักการที่สำคัญสำหรับส่วนนี้คืองานที่หัวหน้าตกลงกับลูกน้องในส่วนที่ 1 นี้ ขอให้เอาเฉพาะงานที่สำคัญจริง ๆ 3-5 เรื่อง (สูงสุดไม่เกิน 5 เรื่อง) เท่านั้น

โดยหัวหน้าเป็นคนกำหนดงานสำคัญ 3-5 ตัวพร้อมตัววัดผลงานแล้วเรียกลูกน้องมาแจ้งให้ทราบตั้งแต่ต้นงวดเลยว่าอยากจะให้ลูกน้องคนไหนทำงานอะไรบ้าง จะวัดผลติดตามผลงานกันยังไง และจะมีผลกับการขึ้นเงินเดือนและโบนัสยังไงบ้าง ให้เข้าใจชัดเจนตรงกันตั้งแต่แรก

ซึ่งงานในส่วนที่ 1 จะต้องเป็นงานสำคัญที่หัวหน้าต้องการให้ลูกน้องทำให้สำเร็จในรอบการประเมินครั้งนี้นะครับ

ส่วนในรอบการประเมินถัดไป หัวหน้าก็อาจจะมอบหมายงานต่อเนื่องจากงานชิ้นนี้ หรือจะตกลงกับลูกน้องให้ทำงานใหม่ที่สำคัญที่จะใช้ประกอบการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็ย่อมได้

ซึ่งหัวหน้าจะต้องติดตามผลการทำงานและ Feedback ลูกน้องในแต่ละงวดเป็นระยะว่าเป็นไปตามตัวชี้วัดหรือไม่

2.      ส่วนที่ 2 : ความรู้/ทักษะ/คุณลักษณะที่มีผลกับงาน (Competencies) บอกก่อนว่าตัวอย่างในส่วนที่ 2 นี้เป็นตัวอย่างที่ผมสมมุติขึ้นมานะครับ ในส่วนนี้ถ้าบริษัทไหนมีระบบ Competency อยู่แล้วก็ต้องนำเอา Competency ของตำแหน่งนั้น ๆ มาใส่ไว้ในส่วนนี้ได้เลย ส่วนการประเมินหา Competency Gap ก็ทำไปตามระบบของบริษัทของท่าน

เมื่อประเมิน Competency Gap ของพนักงานแล้วได้เท่าไหร่ก็เอามาใส่ไว้ในช่องระดับการประเมินโดยใช้หลักตามนี้ครับ

เช่น บริษัทกำหนดเอาไว้ว่า

ถ้าพนักงานคนไหนมี Competency Gap -2 ก็จะได้เกรด 1

มี Competency Gap -2 จะได้เกรด 2

ไม่มี Competency Gap จะได้เกรด 3

มี Competency Gap +1 จะได้เกรด 4

และถ้ามี Competency Gap +2 จะได้เกรด 5

แต่ถ้าบริษัทไหนยังไม่มีระบบ Competency หัวหน้ากับลูกน้องในหน่วยงานนั้นคงจะต้องมาพูดคุยกันแล้วตกลงร่วมกันว่าในตำแหน่งที่จะประเมินนั้น หัวหน้าจะประเมินความรู้ ทักษะ หรือคุณลักษณะอะไรที่สำคัญกับตำแหน่งงานนั้นมาก และมีผลที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี

ส่วนในช่องระดับการประเมินก็ประเมินแบบตรงไปตรงมาคือดีมากที่สุด=5 และแย่ที่สุด=1 คงไม่ได้ประเมินจาก Competency Gap เหมือนที่ผมอธิบายข้างต้น เพราะบริษัทนี้ยังไม่มีระบบ Competency

หรือถ้าบริษัทไหนมีการทำระบบ Skill Matrix ก็อาจนำเอาเรื่องของ Skill Matrix ที่สำคัญ ๆ ที่จะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ทำงานประสบความสำเร็จ

มาใส่ในส่วนนี้เพื่อประเมินก็ย่อมได้ครับ

3.      ส่วนที่ 3 : Leadershipและศักยภาพที่จะเติบโต (Ability to Growth)  ในส่วนนี้ผู้ประเมินจะต้องอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรและมีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมประกอบการประเมินว่า ลูกน้องคนนั้น ๆ มีภาวะผู้นำและมีศักยภาพที่จะเติบโตก้าวหน้าไปกับหน่วยงานและองค์กรได้ในระดับไหน

4.      ส่วนที่ 4 : ทัศนคติของพนักงาน จากตัวอย่างนี้ผมกำหนดทัศนคติที่พนักงานจะต้องถูกประเมินมา 3 ตัวคือ ทัศนคติต่อบริษัท ต่อเพื่อนร่วมงาน และต่อผู้บังคับบัญชา ถ้าท่านจะไปกำหนดให้มากกว่านี้หรือคิดตัวไหนเพิ่มได้ก็ไปคิดต่อเติมเสริมเข้าไปได้นะครับ

ซึ่งหัวหน้าผู้ประเมินก็จะต้องเขียนคำอธิบายประกอบการประเมินเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเหตุผลที่ประเมินทัศนคติแต่ละตัวให้ลูกน้องได้เกรด 5 4 3 2 1 นั้นเป็นเพราะอะไร

5.      ส่วนที่ 5 : การควบคุมอารมณ์ในการทำงานร่วมกับบุคคลอื่น คำว่าบุคคลอื่นในส่วนนี้ผมหมายถึงทั้งเพื่อนร่วมงานในและนอกหน่วยงานรวมไปถึงลูกค้า, หัวหน้า, ผู้บริหาร ฯลฯ

โดยหัวหน้าผู้ประเมินจะต้องมีคำอธิบายประกอบผลการประเมินในส่วนนี้ด้วยว่าเหตุใดถึงประเมินลูกน้องคนนี้ให้ได้เกรดนั้น ๆ เพราะอะไร

ที่ต้องนำเรื่องนี้มาประกอบการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสเพราะจะเห็นได้ว่าปัญหาในการทำงานของคนตั้งแต่ระดับล่างไปยังระดับสูงมักเกิดจากการไม่ควบคุมอารมณ์ ซึ่งการกำหนดหัวข้อนี้ขึ้นมาจะทำให้พนักงานทุกระดับเกิด Awareness ว่าบริษัทต้องการให้พนักงานทุกระดับมี EQ อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่ดีในบริษัท

6.      ส่วนที่ 6 : ป่วย สาย ลา ขาดงาน (Attendance) ส่วนนี้ก็เป็นช่องยอดนิยมส่วนหนึ่งที่มักจะนำเข้ามามีผลกับการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสในบริษัทต่าง ๆ จริงไหมครับ ในส่วนนี้คงไม่ต้องอธิบายกันให้มากความ

ถ้าเป็นตำแหน่งที่เป็นพนักงานหรือผู้บริหารในระดับที่ไม่ได้นำเอาเรื่องป่วย สาย ลา ขาดงานเข้ามาร่วมในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็อาจตัดส่วนนี้ออกไปได้ แล้วท่านจะนำน้ำหนักในส่วนนี้ไปเพิ่มให้กับส่วนอื่น ๆ หรือจะกำหนดปัจจัยสำคัญตัวใหม่ขึ้นมาก็ย่อมได้ครับ

7.      การถ่วงน้ำหนักของส่วนต่าง ๆ ในแบบประเมิน : จากตัวอย่างแบบฟอร์มข้างต้นจะเห็นว่าผมถ่วงน้ำหนักในส่วนที่ 1 มากที่สุดคือ 50% รองลงมาคือส่วนที่ 4 คือเรื่องทัศนคติ และน้อยที่สุดคือส่วนที่ 6 คือป่วย สาย ลา ขาดงาน

ที่ผมกำหนดให้ส่วนที่ 1 มีน้ำหนักมากที่สุดคือ 50% นั้น ถ้าท่านให้ความสำคัญกับผลสำเร็จของงานตามเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญมากกว่านี้ก็อาจถ่วงน้ำหนักให้มากกว่านี้ก็ได้นะครับ

ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของผม ๆ เห็นว่ายังไงก็ตามในการประเมินผลงานเพื่อนำผลไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสก็ต้องวัดกันที่ตัวผลงานว่าได้ตามเป้าหมายหรือไม่เป็นหลัก

เพราะผลงานจะมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ชัดเจนและเกิดการยอมรับจากผู้ปฏิบัติ จึงควรจะถ่วงน้ำหนักตัวเนื้องานในส่วนนี้ไม่ต่ำกว่า 50% ครับ

สำหรับส่วนอื่น ๆ ท่านก็ลองไปคิดต่อเอาเองว่าควรจะถ่วงน้ำหนักตัวไหนเท่าไหร่ก็ตามสะดวก

8.      หมายเหตุ 1 และ 2 สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ : ในส่วนของหมายเหตุ 1 และหมายเหตุ 2 นั้น ผมทำมาเพื่อเป็นตัวอย่างให้ดูนะครับ ท่านอาจจะปรับเปลี่ยนจำนวนเกรด หรือแก้ไขช่วงคะแนนดิบ (ที่เป็นคะแนนรวม) ให้สอดคล้องกับแต่ละเกรดใหม่ตามที่ฝ่ายบริหารต้องการก็ย่อมได้ครับ

แบบฟอร์มนี้เหมาะกับใคร ?

ตอบได้ว่าเหมาะกับองค์กรที่กำลังจะเปลี่ยนจากวิธีการประเมินผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือน (หรือจ่ายโบนัส) จากระบบการประเมินผลงานแบบจิตสัมผัส แล้วต้องการให้ความรู้กับผู้บริหารระดับสูงให้มีความรู้เรื่องของการทำแผนกลยุทธ์ให้ดีเสียก่อน

แล้วให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นคนกำหนดเป้าหมายของงานให้กับลูกน้องที่เป็นผู้บริหารระดับรองลงมาและพนักงานระดับปฏิบัติการทำงานตามแผนกลยุทธ์ที่ระดับสูงวางไว้ เพราะกลัวว่าถ้า Implement เรื่องการทำแผนกลยุทธ์ทันทีทั่วทั้งองค์กรจะเกิดปัญหาการรับรู้และการนำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัส

หรือองค์กรที่ใช้ระบบ KPI อยู่แล้วแต่ทำไปทำมายิ่งยุ่งยิ่งวุ่นวายเป็นลิงแก้แห แถมพอนำ KPI ไปใช้ร่วมกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีและจ่ายโบนัสตาม KPI แล้วยิ่งมีปัญหาวุ่นวายมากขึ้นไปอีก

ก็ลองถอยกลับมาตั้งหลักกันใหม่แบบ Back to the basic โดยใช้แบบประเมินผลเพื่อขึ้นเงินเดือนแบบนี้ไปก่อน แล้วค่อยมานั่งนิ่ง ๆ คิดดูอีกครั้งว่าจะเอายังไงเพื่อจะได้เดินหน้าต่อไปก็ได้ครับ

หวังใจว่าสิ่งที่ผมเสนอมานี้จะช่วยลดความซับซ้อน ลดการเสียเวลา ลดการเสียงบประมาณในการอบรมที่สูญเปล่าของระบบการประเมินผลงานแบบยัดเยียด KPI เยอะ ๆ แล้วมาให้ความสำคัญกับส่วนที่เป็น Soft skills ที่สำคัญโดยไม่ได้มองแต่มิติ KPI เพียงด้านเดียว

ซึ่งการประเมินผลงานที่ผมนำเสนอนี้ นอกจากจะมีผลกับการปรับขึ้นเงินเดือนหรือจ่ายโบนัสให้สอดคล้องกับระบบรางวัล (Rewards) ขององค์กรแบบที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแล้ว

ยังนำไปใช้เพื่อการพัฒนา Soft skills ที่สำคัญของพนักงานแต่ละคนให้มี Career Path เติบโตก้าวหน้าไปกับองค์กรในอนาคตได้อีกด้วยครับ

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ไม่ได้อ้างอิงมาจากทฤษฎีหรือเป็นผลงานทางวิชาการใด ๆ นะครับ ผมเพียงแต่นำปัญหาต่าง ๆ ที่เคยเจอมาในเรื่องนี้มาประมวลแล้วหาวิธีการแก้ปัญหาโดยให้เกิดความสมดุลระหว่างการประเมินผลการปฏิบัติงานกับระบบรางวัลซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารค่าตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

เมื่ออ่านทั้งหมดนี้แล้วถ้าใครคิดว่ามีประโยชน์จะเอาแบบฟอร์มนี้ไปดัดแปลงแก้ไขอะไรให้เหมาะกับองค์กรของท่านก็ตามสะดวกเลยนะครับ ไม่มีลิขสิทธิ์ใด ๆ

                                       ................................