ในสมัยก่อนเมื่อบริษัทจะรับคนเข้าทำงานไม่ว่าจะตำแหน่งใดก็มักจะมีแนวคิดในด้านลบไว้ก่อนว่าพนักงานที่รับเข้ามาทำงานนั้นอาจทำความเสียหายให้กับบริษัทได้ เช่น พนักงานเก็บเงินจากลูกค้าเงินเชื่อ, แคชเชียร์
หรือแม้แต่พนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านเงิน ๆ ทอง ๆ
ของบริษัทเช่น พนักงานที่ทำงานในฝ่ายผลิตอาจจะประมาทเลินเล่อทำให้เครื่องจักร
หรือเครื่องมือเครื่องใช้ของบริษัทเสียหาย
จึงมีการเรียกเก็บเงินค้ำประกันความเสียหายเกิดขึ้น และบริษัทต่าง ๆ
ก็มักจะถือปฏิบัติตามกันอย่างนี้มาเนิ่นนาน
โดยวิธีปฏิบัติก็คือ
การให้พนักงานเข้าใหม่นำเงินสดมาฝากไว้ที่บริษัทเพื่อเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันความเสียหายจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง
แล้วแต่ว่าบริษัทไหนจะกำหนดไว้เท่าไหร่ เช่น บางบริษัทกำหนดไว้คนละ 5,000 บาท
ทำให้พนักงานใหม่ก็ต้องขวนขวายหาเงินมาวางค้ำประกันให้กับบริษัท
หากยังหาเงินมาค้ำให้ไม่ได้ก็อาจจะมีผลทำให้บริษัทพิจารณาไม่ผ่านทดลองงานหรือไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ
หรืออาจมีผลอื่น ๆ ตามมาแล้วแต่ว่าบริษัทจะเขียนกฎระเบียบไว้อย่างไร
เมื่อบริษัทได้รับเงินค้ำประกันจากพนักงานมาแล้วจะทำยังไงล่ะครับ
วิธีง่าย ๆ
ก็คือนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของบริษัทแล้วดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นก็เป็นของบริษัทไป
ลองคิดดูสิครับว่าถ้าสมมุติพนักงาน 1 คนต้องนำเงินค้ำประกันมาให้บริษัทคนละเพียง 1,000
บาท แล้วบริษัทรับพนักงานเข้ามา 100 คนต่อปี
บริษัทก็จะมีเงินเข้าบัญชีบริษัทอย่างเหนาะ ๆ ปีละ 1 แสนบาท
(นี่ยังไม่รวมดอกเบี้ยนะครับ) ยิ่งมีพนักงานใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ ต่อเนื่อง
บริษัทจะมีเงินหมุนเวียนในบัญชีได้ขนาดไหน
และที่สำคัญก็คือเมื่อพนักงานลาออก
หรือพ้นสภาพไปจากบริษัทโดยไม่ได้ทำความเสียหายใด ๆ
ก็จะมีบริษัทที่ไม่คืนเงินค้ำประกันดังกล่าวให้กับพนักงาน โดยอาจจะทำเป็นเฉย ๆ
หรือบางทีพนักงานที่ลาออกก็ไม่อยากจะมีเรื่องมีราวกับบริษัทก็เลยไม่ทวงถาม ฯลฯ
ทำให้มีการทำมาหากินกับพนักงานอยู่ในลักษณะนี้อยู่เสมอมา
จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ปี 2541 และฉบับแก้ไขเมื่อปี 2551 ได้กำหนดไว้ว่า
มาตรา ๑๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๕๑ วรรคหนึ่ง
ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน
ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง
เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง
ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้
ทั้งนี้
ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง
ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน
หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ
เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง
หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย
ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก
หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี
ทำให้บริษัทที่เคยประพฤติปฏิบัติเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นต้องยุติการเรียกรับเงินหรือหลักประกันการเข้าทำงาน
ยกเว้นแต่งานที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหาย
เช่น พนักงานแคชเชียร์, พนักงานที่ขายเพชรขายทอง เป็นต้น
สำหรับลักษณะงานนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว
บริษัทก็ไม่สามารถจะเรียกหรือรับเงินค้ำประกันการเข้าทำงานในทุกตำแหน่งงานได้อีกต่อไป
(แม้แต่จะให้หาคนมาค้ำประกันก็ไม่ได้นะครับ)
แถมถ้าหากพนักงานลาออกบริษัทก็ต้องคืนเงินค้ำประกันทั้งหมดพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้กับพนักงานอีกด้วย
แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังได้รับคำบอกเล่าจากผู้เข้าอบรมอยู่เป็นระยะ
ๆ
ว่ายังมีบริษัทที่เรียกเก็บเงินค้ำประกันการทำงานในทุกตำแหน่งงานกันอยู่เลยนะครับ
ซึ่งก็มีทั้งที่ผู้บริหารรู้และไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำผิดกฎหมายแรงงานอยู่
ดังนั้น
บริษัทที่ยังทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอยู่ก็ควรจะทำให้ถูกต้องได้แล้วนะครับ
โดยเฉพาะผู้ที่รับผิดชอบงานด้าน HR ควรจะต้องอธิบายให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบเพื่อให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานและลดความเสี่ยงของบริษัทในการถูกพนักงานร้องเรียนไปที่แรงงานเขตฯ
หรือไปฟ้องศาลแรงงานเอาไว้ด้วย
วันนี้บริษัทของท่านยังมีการเรียกรับเงินค้ำประกันการทำงานหรือให้หาบุคคลมาค้ำประกันการทำงานในทุกตำแหน่งงานอยู่หรือเปล่าครับ?
………………………