วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

Cc และ Bcc ในอีเมล์มาจากไหน?

             ผมเริ่มรู้จักและใช้อีเมล์เป็นครั้งแรกในปี 2534 ตอนนั้นทำงานเป็น Com & Ben Manager อยู่ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประเทศไทย ถ้าใครทำงานในองค์กรไทย ๆ ผมเชื่อว่าน่าจะยังไม่มีอีเมล์ใช้ติดต่อสื่อสารกันภายในองค์กร ในสมัยนั้นยังไม่มี Yahoo Hotmail Gmail เหมือนทุกวันนี้นะครับ เพราะอินเตอร์เน็ตในบ้านเราแบบที่ใช้กันในปัจจุบันยังไม่เกิด จึงแน่นอนว่าไม่มีอีเมล์ใช้กันแพร่หลายเหมือนทุกวันนี้

            การใช้อีเมล์จึงเป็นการสื่อสารภายในธนาคารชาร์เตอร์ดในช่วงที่ผมทำงานในสมัยนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับผมที่มาจากองค์กรไทย ๆ ที่ยังสื่อสารกันด้วยการใช้พิมพ์ดีดส่งจดหมายกันอยู่ ผมรู้สึกว่ามันไฮเทคและว้าวเป็นครั้งที่สองหลังจากการว้าวครั้งแรกหลังจากที่ผมได้ใช้เครื่อง PC (Personal Computer) ของ IBM รุ่น XT เมื่อปี 2527

            เพราะผมสามารถจะติดต่อสื่อสารกับ Group HR ที่ลอนดอน หรือติดต่อกับ Regional HR ที่สิงคโปร์และฮ่องกงได้โดยทางอีเมล์ลดความสิ้นเปลืองการใช้โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ แถมมีลายลักษณ์อักษรในการติดต่องานที่ชัดเจนเอาไว้อ้างอิงได้ เพราะการติดต่อทางโทรศัพท์จะไม่มีอะไรอ้างอิงได้ (ยุคนั้นยังไม่มีการอัดเสียงเพื่อเอามาแฉกันแบบในยุคปัจจุบันนะครับ)

            คราวนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องที่ผมจั่วหัวเอาไว้คือจากวันนั้นถึงวันนี้คือเวลาที่เราจะส่งอีเมล์ก็จะต้องใส่ Address ของปลายทาง และจะมีตัวเลือกเพิ่มเติมคือ Cc และ Bcc

            Cc (Carbon Copy) คือเราต้องการจะส่งก๊อปปี้อีเมล์ฉบับนี้อย่างเปิดเผยและรู้กันทั้งวงว่าจะส่งไปให้ใครบ้าง ส่วน Bcc (Blind Carbon Copy) คือผู้ส่งต้องการจะส่งก๊อปปี้อีเมล์ฉบับนี้ไปแบบลับ ๆ ไปให้ผู้รับโดยไม่ให้คนอื่นรู้ บางคนอาจจะเรียกวิธี Bcc ว่าวิธีแทงข้างหลัง หรือการฟ้องแบบแอบ ๆ ก็ว่ากันไป

          เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมถึงใช้คำว่า Cc หรือคำเต็มคือ Carbon Copy มาจากไหน?

            จากที่เคยคุยกันมาเป็นเรื่องแปลกแต่จริงว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะคน Gen Y ตอนปลายหรือ Gen Z หลายคนยังไม่รู้ว่าทำไมถึงใช้คำว่า Carbon Copy ผมก็เลยขอนำเอาเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง ถ้าใครรู้แล้วก็เลื่อนผ่านไปก็แล้วกันนะครับ

            ในสมัยที่เรายังใช้พิมพ์ดีดอยู่ ถ้าใครเคยใช้พิมพ์ดีดคงจะจำได้ว่าเราจะต้องสอดกระดาษเข้าไปในลูกยางแล้วหมุนให้กระดาษตรงกับตำแหน่งที่เราต้องการจะพิมพ์ แล้วจึงพิมพ์ดีดข้อความลงไป

            แต่ถ้าเราต้องการให้มี “สำเนา” ก็ต้องใส่กระดาษ 2 แผ่นแล้วใส่แผ่นคาร์บอนกั้นเอาไว้ เวลาที่พิมพ์ดีดลงไปที่แผ่นแรกก็จะทำให้กระดาษแผ่นที่สองถูกทำสำเนาเอาไว้เหมือนกับแผ่นแรกเพราะตัวอักษรที่ตีลงไปที่แผ่นแรกจะแรงพอที่จะทำให้หมึกคาร์บอนประทับอยู่บนกระดาษแผ่นที่สอง จึงทำให้ข้อความของกระดาษทั้งสองแผ่นเหมือนกัน

            ก็เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า Carbon Copy หรือย่อว่า Cc จากวันนั้นจนถึงวันนี้ และก็เลยนำมาใช้ในอีเมล์ในเวลาต่อมาครับ

            คน Gen BB กับ Gen X คงจะอ่านแล้วผ่านไป แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ Gen Y ตอนปลายและ Gen Z จะได้เอาไว้เล่าให้ Gen Alpha กับ Beta รู้ว่า Cc มาจากไหน

            แต่ก็ไม่แน่ว่าอีเมล์ยังจะอยู่ต่อไปได้อีกนานไหมเพราะรูปแบบการสื่อสารในองค์กรยุคนี้ก็มีหลาย Application เข้ามาเป็นทางเลือกให้ใช้ และในที่สุด Cc ก็อาจจะหายไปกลายเป็นตำนานการสื่อสารในยุคเก่าตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก็เป็นไปได้นะครับ