วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565

Turnover Rate มากหรือน้อย..ดูยังไง ?

             “อัตราการลาออก” หรือ Turnover Rate เป็นเรื่องหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเพราะถ้ามีการลาออกเมื่อไหร่ก็หมายถึงว่าบริษัทจะมีต้นทุนที่สูญเสีย (Turnover Cost) เพิ่มขึ้น

            ผมยกตัวอย่างต้นทุนการลาออกของพนักงาน (Turnover Cost) ให้ดูตามภาพข้างล่างนี้นะครับ

            ลองกลับไปใส่ตัวเลขจริงของบริษัทท่านในช่องต่าง ๆ ดูนะครับว่ามีต้นทุนการลาออกเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่เท่าไหร่

            คราวนี้มาว่ากันต่อเรื่องของสูตรการหาอัตราการลาออก

          อัตราการลาออก (Turnover Rate) = จำนวนพนักงานที่ลาออก หาร จำนวนพนักงานเฉลี่ยในเดือนนั้น คูณ 100

            ตัวอย่าง : จำนวนพนักงานลาออกเดือนมกราคม = 58 คน ต้นเดือนมีพนักงาน = 680 คน ปลายเดือนมีพนักงาน = 782 คน จำนวนพนักงานเฉลี่ยเดือนมกราคม = (782+680)/2 = 731 คน

            Turnover Rate = (58/731)*100 = 7.9%

            บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่ใช้จำนวนพนักงานต้นเดือนหรือปลายเดือนมาเป็นตัวหาร ?

ตอบได้ว่าในระหว่างเดือนจะมีทั้งพนักงานลาออกและมีพนักงานเข้าทำงานจึงควรใช้จำนวนพนักงานเฉลี่ยถึงจะเหมาะสมกว่าครับ

ถ้าจะถามต่อไปว่า “แล้วพนักงานลาออกกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะถือว่าผิดปกติหรือมีปัญหา ?”

            เพราะบางคนก็อาจจะตอบว่าถ้าเกิน 10% ถือว่าผิดปกติ หรือ เกิน 20% ถือว่ามีปัญหา

            แต่ผมอยากจะแนะนำอย่างนี้ครับ

1.      ดูข้อมูลการลาออกโดยเฉลี่ยในตลาดแข่งขันเปรียบเทียบกับบริษัทเรา HR ควรจะต้องหาข้อมูลทั้งตลาดภาพรวมและตลาดในธุรกิจเดียวกับเราว่ามีอัตราการลาออกกันกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น ถ้าตลาดมีอัตราการลาออก 15% เทียบกับบริษัทเราคือ 12% ก็ยังถือว่ายังไม่ถึงกับต้องตกใจว่าทำไมถึงเกิน 10% แต่ก็ต้อง Aware เอาไว้และหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหานี้

2.      เปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การลาออกย้อนหลัง HR ควรหาข้อมูลการลาออกย้อนหลังของบริษัท 3 ปี เช่น ปี 2562 มีเปอร์เซ็นต์การลาออก 9% ปี 2563 = 10% และปี 2564 ที่ผ่านมา = 12% เพื่อมาหารายละเอียดดูว่าบริษัทเรามีสถิติของเปอร์เซ็นต์การลาออกเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพราะอะไร เกิดจากอะไรเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อป้องกันและแก้ปัญหานี้

3.      ไม่ควรดูข้อมูล Turnover Rate แบบภาพรวมเพียงอย่างเดียว แต่ควรดูข้อมูลแบบเจาะลึกลงไปด้วย เช่น หน่วยงานไหนที่มีอัตราการลาออกมาก, คนที่ลาออกอยู่ในกลุ่มงานไหน, คนที่ลาออกเป็นคนที่เป็น Key Person หรือไม่, คนที่ลาออกมีอายุงานมากน้อยแค่ไหน ฯลฯ เพื่อประกอบการวิเคราะห์เพื่อวางแผนแก้ปัญหา

4.      การแก้ปัญหาการลาออกไม่ควรเป็นหน้าที่ของ HR แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายบริหาร และ Line Manager ในทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง การกำหนดตัวชี้วัดการลาออกและการรักษาคนเอาไว้จึงควรจะต้องเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้ง HR และ Line Manager เพราะถึงแม้ว่า HR จะคิดหาทางแก้ปัญหานี้ยังไง แต่ถ้า Line Manager ไม่ร่วมมือไม่ช่วยกันหาทางรักษาพนักงานที่ดีมีฝีมือเอาไว้ ก็ยากที่จะทำให้อัตราการลาออกลดลง

พูดมาถึงตรงนี้ก็เชื่อว่าท่านน่าจะมีไอเดียนำไปจัดการเกี่ยวกับ Turnover Rate กันบ้างแล้วนะครับ