วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565

พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตลอดวัน..ช่วงอายุของคนกับการทำงาน

             มีคำพูดหนึ่งที่เป็นสัจธรรมกล่าวไว้ว่า “พระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตลอดวัน”

            ชีวิตการทำงานของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการเริ่มต้นเข้าสู่การทำงานแล้วถึงวันหนึ่งก็ต้องมีลง

            ผมก็เลยเอาสัจธรรมนี้มาเปรียบเทียบว่าในแต่ละช่วงอายุของคนทำงานจะมีอะไรบ้าง โดยให้ดูภาพด้านล่างประกอบคำอธิบายไปด้วยนะครับ

ช่วงอายุ ตั้งแต่จบการศึกษา – 30 ปี : แรกเริ่ม

            โดยทั่วไปคนที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะมีอายุประมาณ 22-23 ปี ก็ต้องเริ่มหางานทำถ้าตัดสินใจเป็นลูกจ้างหรือเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือถ้าจะเลือกเดินสายประกอบอาชีพอิสระก็อาจจะมาค้าขาย มาเป็น Youtuber มาขายของออนไลน์ ทำอาชีพอิสระ ฯลฯ ก็ว่ากันไป

            คนในช่วงอายุ “แรกเริ่ม” จะเป็นช่วงวัยที่ทำงานเพื่อค้นหาตัวตน ค้นหาความชอบ ความถนัด ความสามารถ ความเหมาะของตัวเองว่าอยากจะทำงานแบบไหน จะเดินเส้นทางไหนดี

            ในช่วงวัยแรกเริ่มนี้เป็นช่วงสำคัญมาก ถ้าใครสำรวจค้นหาความสามารถของตัวเองเจอได้เร็วก็จะตั้งหลักได้เร็วและมักมีโอกาสประสบความสำเร็จก้าวหน้าในช่วงอายุต่อไปได้เร็ว

            จะมีโอกาสเป็น Young Talent หรือดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วงอายุถัดไป ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นลูกจ้างมืออาชีพหรือเป็นผู้ประกอบการเองก็ตาม

            แต่ถ้าใครหาความสามารถของตัวเองได้ช้าหรือไม่เจอสักที ลองทำงานนี้ก็ไม่ชอบ ทำงานไม่ได้นานก็อยากจะเปลี่ยนงานใหม่และบ่อย บอกกับตัวเองและคนรอบข้างว่างานที่นั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ยังอยากจะค้นหาตัวเองต่อไป ค้นไปจนอายุ 30 แล้วก็ยังไม่เจอ

            ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับคนที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยแรกเริ่มนี้ว่าถ้าเริ่มต้นทำงานด้วยทัศนคติแบบที่ว่า “ให้เงินเดือนแค่นี้จะให้ทำอะไรกันนักหนา” คือมองเงินมาก่อนการได้เรียนรู้งาน ก็เห็นมาหลายรายแล้วว่ามักจะโตแบบกลวง ๆ และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าในช่วงอายุถัดไปหักหัวลงได้ในที่สุด

            บางครั้งการทำงานในช่วงวัยนี้เราอาจจะต้องยอมรับเงินน้อยกว่าที่คาดหวัง (แต่ไม่ได้หมายความว่าเงินน้อยจนครองชีพอยู่ไม่ได้นะครับ เพราะการรู้จักจัดสรรการใช้จ่ายให้เพียงพอกับรายรับไม่ให้ฟุ้งเฟ้อเกินตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ)

แต่ถ้าเราได้มีโอกาสเรียนรู้งานมีประสบการณ์ในงานนั้น ๆ แบบ “รู้ลึกรู้จริง” เพื่อนำไปเป็นต้นทุนเพื่อเพิ่มรายได้ของเราในวันข้างหน้าก็ถือได้ว่า “ขาดทุนในวันนี้คือกำไรในวันหน้า” นะครับ

ช่วงอายุ 31-40 ปี : สร้างเสริมความก้าวหน้า

            ในมุมมองของผม ๆ มองว่าคนที่มีอายุในช่วงนี้จะเป็นคนที่สามารถสะสมความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาในระดับที่มากเพียงพอที่จะใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาเกือบสิบปี สร้างผลงานที่ดี น่าสนใจ เรามักจะพบว่าคนที่มีผลงานดี เด่น ดัง หรือระเบิดฟอร์มออกมาได้แบบสุด ๆ ก็มักจะอยู่ในคนวัยประมาณช่วงนี้แหละครับ

จะเรียกคนทำงานในช่วงวัยนี้ว่าเป็น “ช่วงวัยยุคทองของคนทำงาน” เลยก็ว่าได้ ซึ่งผลงานที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ก็จะกลายเป็น Portfolio หรือเป็นตำนานของคน ๆ นั้นต่อไปที่ทำให้คนจดจำในอนาคต

ช่วงอายุ 41-50 ปี : สรรหาความมั่นคง

            คนทำงานในช่วงอายุนี้จะเป็นช่วงที่ได้รับอานิสงส์จากผลงานที่ตัวเองทำเอาไว้ในช่วงอายุก่อนหน้านี้ ถ้าในช่วงอายุ 31-40 ปี มีผลงานที่เป็นที่ยอมรับเป็นที่รู้จักกันในวงการ Portfolio เหล่านั้นก็จะกลายมาเป็นฐานให้เกิดความน่าเชื่อถือยอมรับจากวงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นชื่อเสียง เครดิต รวมถึงทรัพย์สินเงินทอง

            แต่ถ้าคนในช่วงอายุนี้ไม่สั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ดี โตมาแบบกลวง ๆ อย่างที่ผมบอกมาในตอนต้นคือช่วงอายุน้อย ๆ แล้วคิดจะโตแบบ Job Hopper คือยังไม่ทันจะเรียนรู้งานให้มีประสบการณ์ให้มากพอก็หลงไปกับเงินที่มาล่อใจแทนที่จะอดทนเพื่อเรียนรู้หาประสบการณ์ให้รู้จริง ก็จะทำให้คนในช่วงอายุนี้มี Career Path ที่หักหัวร่วงลงไปได้

            และที่สำคัญคือถ้า Career Path ในช่วงอายุนี้หักหัวลงแล้วจะพบว่าโอกาสที่จะ Turn around กลับมาก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้วล่ะครับ

ช่วงอายุ 51-60 ปี : เตรียมลงจากเวที

คนในช่วงอายุนี้จะมีความมั่นคงในชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากช่วงอายุก่อนหน้านี้ จะพบว่าคนในช่วงอายุช่วงนี้จะมีความเชี่ยวชาญความชำนาญในด้านที่ตัวเองมีประสบการณ์มาสูงมาก หลายคนเป็นผู้บริหารกิจการ หลายคนเป็นเจ้าของกิจการ เป็นช่วงอายุที่ควรจะต้องคิดและวางแผนที่จะต้องมี “ทายาท” หรือ “Successor” เพื่อมาทดแทนในอนาคต

สำหรับในแง่ขององค์กรควรจะต้องวางแผนให้คนที่เป็นผู้บริหารหรือคนที่มีความเชี่ยวชาญที่มีอายุอยู่ในช่วงนี้ให้รับบทบาทหน้าที่ของ “ครู” หรือเป็นโค้ชให้กับ Successor ที่จะขึ้นมาทดแทนในอนาคตอีกหน้าที่หนึ่ง เพราะการพัฒนา Successor ไม่ใช้เวลาแค่ปีสองปีนะครับ ดังนั้นคนในช่วงอายุนี้จึงมีความสำคัญในบทบาทนักพัฒนาคนเพื่อมาทดแทนเมื่อตัวเองต้องเกษียณอายุไปด้วย

เมื่ออายุหลังจาก 60 ปีไปแล้วก็คงขึ้นอยู่กับศักยภาพและสุขภาพของแต่ละคนแล้วล่ะครับว่าคนที่ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็อาจจะผันตัวไปเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ หรือไปเป็นที่ปรึกษาให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ในกิจการที่ตัวเองก่อตั้งมาก็ว่ากันไป

และคนในช่วงอายุนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการ Career Path หักหัวลงแบบเดียวกับช่วงอายุ 41-50 ปีได้เหมือนกัน ซึ่งก็เป็นผลมาจากพื้นฐานที่ไม่มั่นคงในช่วงอายุก่อนหน้านี้

ทั้งหมดที่ผมสรุปมานี่ก็คือช่วงอายุของคนกับการทำงาน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่จะนำไปทบทวนตัวเองดูว่าเราอยู่ในช่วงอายุไหนและควรจะวางแผนชีวิตเพื่อกำหนดเส้นทางเดินของเรายังไงต่อไป

เพราะพระอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นตลอดทั้งวันครับ