วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2565

พนักงานมีสิทธิลากิจได้ปีละ 3 วันตามกฎหมาย บริษัทต้องอนุมัติให้พนักงานลากิจจนครบสิทธิที่มี..จริงหรือ ?

           พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับที่ 7 .ศ.2562 ประกาศให้ยกเลิกมาตรา 34 ของพรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับปี 2541 ที่ว่าด้วยเรื่องการลากิจของลูกจ้างโดยให้ใช้ข้อความดังนี้แทน

          “มาตรา 34 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน”

            ตรงนี้จะมีผลที่บริษัทจะต้องปฏิบัติตามคือบริษัทไหนที่เคยให้พนักงานมีสิทธิลากิจต่ำกว่า 3 วันทำงาน ก็ต้องแก้ไขใหม่ให้พนักงานมีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานตามกฎหมายใหม่นี้

เรื่องนี้ผมว่าไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นัก เพราะจากที่ผมเห็นมาบริษัทส่วนใหญ่จะให้พนักงานมีสิทธิลากิจกันโดยเฉลี่ย 5 วันทำงานต่อปีอยู่แล้ว

          แต่ที่มักจะเจอปัญหาในทางปฏิบัติก็คือ..

          ลูกน้องมาขอลากิจกับหัวหน้าแล้วหัวหน้าไม่อนุมัติให้ลากิจ

ถามว่าหัวหน้าไม่อนุมัติได้หรือไม่ ?

            ถ้าไม่รับฟังรายละเอียดของแต่ละกรณีให้ดีแล้วด่วนตัดสินใจตอบไปก็จะผิดพลาดได้ง่าย ๆ เพราะถ้ามีคำถามทำนองนี้ก็คงต้องย้อนถามกลับไปว่า

1.      บริษัทเขียนข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับการลากิจเอาไว้ยังไงล่ะครับ เขียนระบุให้ชัดเจนไหมว่าพนักงานมีสิทธิลากิจได้แบบไหนยังไง เช่น มีสิทธิลากิจได้ปีละ 5 วันทำงาน ซึ่งการลากิจนั้นจะต้องเป็นกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นที่จะต้องไปทำด้วยตนเองไม่สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปทำแทนได้ เช่น การไปซื้อ-ขายหรือไปโอนที่ดิน, การลาไปเพื่อซ้อมใหญ่หรือรับปริญญา, ลาเพื่อการสมรส, ลาบวช, ลาเพื่อไปดูแลรักษาพยาบาลบุพการีที่ป่วยหนัก ฯลฯ เป็นต้น

2.      การลาเพื่อกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นดังกล่าวพนักงานจะต้องยื่นใบลาล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน เว้นแต่เป็นเรื่องเร่งด่วนกระทันหัน เช่น บุพการีเจ็บป่วยหนักกระทันหัน เป็นต้น

3.      ถ้าหากพนักงานลากิจไม่เข้าข่ายตามข้อ 1 บริษัทไม่ถือเป็นการลากิจและหากพนักงานไม่ปฏิบัติตามบริษัทจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและจะถือว่าเป็นความผิดทางวินัยที่จะต้องถูกตักเตือนเป็นหนังสือพร้อมทั้งบริษัทจะไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงานดังกล่าว (No work no pay)

ถ้าบริษัทไหนเขียนเรื่องของการลากิจเอาไว้ชัดเจนในข้อบังคับการทำงานอย่างที่บอกมาข้างต้นและประกาศแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบแล้ว หลักเกณฑ์ข้างต้นนี่แหละครับที่จะใช้เป็นคำตอบสำหรับคำถามข้างต้นได้อย่างมีเหตุมีผล

ทั้ง HR หรือฝ่ายบริหารก็จะไม่มีการตอบแบบเปะปะหรือใช้หลักกู !!

เพราะเมื่อลูกน้องมายื่นใบขอลากิจ หัวหน้าจะได้ตรวจสอบดูว่าลูกน้องขอลากิจเพื่อไปทำอะไร เช่น มาขอใช้สิทธิลากิจบวกกับลาพักร้อนเพื่อจะไปเที่ยว เช่น มีวันลาพักร้อนเหลืออยู่ 2 วันก็เลยขอลากิจเพิ่มอีก 1 วันคือขอลาพักร้อนวันพุธ, พฤหัสแล้วขอลากิจวันศุกร์ ส่วนเสาร์, อาทิตย์เป็นวันหยุดอยู่แล้วก็เท่ากับได้หยุดไปเที่ยว 5 วัน

อย่างนี้หัวหน้าก็ต้องไม่อนุมัติให้ลูกน้องลากิจสิครับ

เพราะใช้สิทธิลากิจไม่เป็นไปตามข้อบังคับการทำงานข้างต้น แม้จะมาหัวหมออ้างกฎหมายแรงงานว่าตามมาตรา 34 พนักงานมีสิทธิลากิจได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3 วันทำงาน

หัวหน้าก็จะตอบได้ว่า “น้องลากิจเพื่อไปเที่ยวนี่นา ไม่ได้ลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็นสักหน่อย” ถ้าลูกน้องยังดื้อดึงฝ่าฝืนหยุดไปโดยหัวหน้าไม่อนุญาต บริษัทก็ดำเนินการทางวินัยในเรื่องขาดงานไม่มีเหตุผลอันสมควรอย่างที่ผมบอกไปข้างต้น (ข้อ 3) ได้เลย

แต่ถ้าลูกน้องมาขอลากิจเพื่อไปแต่งงาน หรือลาไปจัดการงานศพบุพการีซึ่งก็เข้าข่ายลาเพื่อไปทำกิจธุระส่วนตัวที่จำเป็น

ถ้าหัวหน้าไม่อนุญาตก็ใจร้ายไปหน่อยไหมล่ะครับ

สรุปคือบริษัทควรจะต้องมีระเบียบการลากิจที่ชัดเจน, แจ้งให้พนักงานทราบ, คนที่เป็นหัวหน้าใช้สามัญสำนึกตามหลักเกณฑ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก่อนที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ ก็จะทำให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงได้ในที่สุด

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าท่านจะนำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่องลากิจได้แล้วนะครับ

เริ่มจากการปรับปรุงแก้ไขระเบียบข้อบังคับฯเรื่องการลากิจให้มีความชัดเจนดีไหมครับ