วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

อวสานโครงการ Talent

             ก่อนหน้านี้ผมพูดถึงเรื่องทำไม Talent ถึง Say Goodbye ไปแล้ว ก็เลยขอ Flash back กลับไปก่อนที่ Talent จะ Say Goodbye ซึ่งจะมีอยู่หลายปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้ Talent ตัดสินใจลาออก แถมบางปัญหาก็อาจทำให้โครงการ Talent ถึงจุดจบเสียเงินเสียเวลาในการพัฒนาคนเก่งไปแบบสูญเปล่า

เผื่อว่าองค์กรไหนที่กำลังทำโครงการพัฒนา Talent จะได้นำมาเป็นข้อคิดเพื่อหาทางลดเงื่อนไขที่จะทำให้โครงการ Talent ถึงบทอวสาน

1.      ปัญหาด้านนโยบาย แบ่งออกเป็น

1.1.1         นโยบายไม่ชัดเจน ไม่มีการกำหนดเป้าหมายและตัวบุคคลที่จะรับผิดชอบโครงการนี้ ดังนั้นถ้าจะทำโครงการนี้ก็แปลว่าฝ่ายบริหารระดับสูงเห็นความสำคัญจริง ๆ และเปิดไฟเขียวเดินหน้าเต็มตัว มีการกำหนดตัวผู้รับผิดชอบโครงการให้ชัดเจน กำหนดว่าใครบ้างที่ต้องมาประสานกับ HR ไม่ควรปล่อยให้เป็นโครงการที่ทำไปโดย HR แต่เพียงฝ่ายเดียว

1.1.2          ขาดแผนงาน เป้าหมายและตัววัดผลสำเร็จของโครงการอย่างชัดเจน ตรงนี้มักพบว่าอาจมีกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลสำเร็จก็จริง แต่บางครั้งจะเป็นเป้าหมายแบบกว้าง ๆ หรือมีตัวชี้วัดแต่ใช้วัดผลสำเร็จจริงไม่ได้ หรือไม่สอดคล้องกับหน้างาน ทำให้โครงการเปะปะเหมือนนำเรือออกจากฝั่งโดยมีเป้าหมายแบบมโนเอาเอง แบบนี้ท่านคิดว่าโครงการนี้จะไปได้ตลอดรอดฝั่งไหมครับ

1.1.3         นโยบายไม่ต่อเนื่อง เช่น MD คนปัจจุบันสนับสนุนโครงการ Talent อย่างเต็มที่ แต่พอ MD คนปัจจุบันเกษียณหรือลาออกไป MD คนใหม่มาก็ไม่เห็นความสำคัญก็เลยไม่สนับสนุนเต็มที่เหมือนคนเก่า  แถมยังตัดงบประมาณออกอีกเพียบอย่างนี้ก็มีปัญหาแล้วล่ะครับ

2.      ผู้บริหารระดับรอง ๆ ลงจาก MD มาไม่ให้ความร่วมมือ เช่น MD ให้ HR เป็นเจ้าของโครงการแต่หัวหน้าของ Talent ไม่ร่วมมือในการทำหน้าที่ Coach หรือเป็นพี่เลี้ยงให้กับ Talent แถมหัวหน้าบางคนยังอิจฉา Talent หรือไม่ร่วมมือประเมินและติดตามผลการพัฒนา Talent แล้วเมื่อฝ่ายบริหารรู้ว่ามีปัญหาทำนองนี้ก็ไม่ทำอะไรกับผู้บริหารที่ไม่ให้ความร่วมมือ อย่างนี้โครงการนี้ก็มีสิทธิ์อวสานได้เหมือนกันนะครับ

3.      ปัญหาในระหว่างการพัฒนา Talent ในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ มีดังนี้

3.1   การสรรหาคัดเลือก Talent มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ใช้เส้นสายดันลูกน้องที่ยังไม่ใช่ Talent ตัวจริงเข้ามาในโครงการ ซึ่งเรื่องนี้มักเกิดจากขาดการทดสอบที่มีมาตรฐานในการคัดเลือก Talent ก็เลยใช้ดุลพินิจหรือใช้ความรู้สึกของผู้บังคับบัญชาในการเสนอชื่อลูกน้องคนโปรดที่เป็นลูกรักเข้ามาเป็น Talent ทั้งที่ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ

3.2   ไม่มีมาตรการจัดการกับ Talent ที่มีปัญหาในระหว่างการพัฒนาอย่างชัดเจน เช่น Talent ที่ไม่เข้าอบรมแต่ฝากเพื่อนลงเวลาแทนกันเพื่อไม่ให้เสียประวัติว่าขาดการอบรม, เมื่อ Talent ได้รับมอบหมายงานมาทำกลับเอางานนั้นไปให้ลูกน้องทำให้แล้วก็เอามานำเสนอเป็นงานของตัวเอง, ในการทดสอบข้อเขียนในห้องอบรมก็ลอกคำตอบกันเหมือนนักเรียนลอกข้อสอบซึ่งเป็นพฤติกรรมทุจริต โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอยู่ไม่กล้ารายงานหรือทำอะไรเพราะตัวเองก็ตำแหน่งต่ำกว่า Talent ฯลฯ

องค์กรจึงไม่ควรวัดผลสัมฤทธิ์ของ Talent ในระหว่างการพัฒนาด้วยการทดสอบข้อเขียนเหมือนนักเรียนทำข้อสอบแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ควรจะต้องติดตามประเมินพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของ Talent บางคนเหล่านี้และคัดกรองคนเหล่านี้ออกจาก Talent Pool อีกด้วย

เพราะถ้าไม่มีมาตรการดังกล่าว ในอนาคตองค์กรนั้นก็จะมีแต่ผู้นำองค์กรที่ทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์, ทำงานเอาหน้าโดยอาศัยผลงานของลูกน้อง ฯลฯ ในที่สุด

3.3   งบประมาณในการพัฒนา Talent ไม่ต่อเนื่อง อันนี้คงเข้าใจได้ดีนะครับ เพราะการพัฒนา Talent ไม่ได้พัฒนากันแค่ปีสองปี แต่ต้องพัฒนาระยะยาว ถ้างบประมาณไม่ต่อเนื่องก็เหมือนกับส่งลูกเรียนหนังสืออยู่ดี ๆ พอมาวันหนึ่งก็เอาออกจากโรงเรียนเสียดื้อ ๆ ยังไงยังงั้นแหละครับ

3.4   ไม่มีการประเมินทบทวนผลงานของ Talent รวมถึงมีการแจ้งผล (Feedback) อย่างจริงจัง ซึ่งทำให้ Talent เองก็จะไม่ทราบว่าตนเองมีข้อบกพร่องที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขยังไงบ้าง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีแผนงานและตัวชี้วัดตลอดจนเป้าหมายในการพัฒนา Talent ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นเสียก่อน

ผมแนะนำให้ท่านนำเอาทุกหัวข้อข้างต้นมาทำเป็น Checklist เพื่อประเมินดูว่าเรามีปัญหาตรงจุดไหนบ้างจะได้เตรียมวางแผนแก้ไข (กรณียังไม่ได้เริ่มทำโครงการนี้) หรือหาทางแก้ปัญหานี้ (หากทำโครงการนี้ไปแล้ว) เพื่อไม่ให้โครงการ Talent เดินไปสู่จุดจบเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงินงบประมาณไปอย่างเปล่าประโยชน์นะครับ