วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

คาดการณ์แนวโน้มการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2565 และผลกระทบ

             เห็นข่าวการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มโชยมาผมก็เลยขอนำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาพร้อมทั้งคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ (ถ้ามี) เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ HR และฝ่ายบริหารในองค์กรต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือในเรื่องนี้กันนะครับ

            บอกกันก่อนว่าการคาดการณ์แนวโน้มค่าจ้างขั้นต่ำในบทความนี้ ผมคาดการณ์จากสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง 14 ปี จากปี 2550 ถึง 2564 (เราปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดคือ 1 มค.63) เกี่ยวกับความน่าจะเป็นในการปรับครั้งต่อไป ไม่ได้คาดการณ์จากปัจจัยในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามตำรา เช่น อัตราเงินเฟ้อ, ค่าครองชีพ, ราคาสินค้า ฯลฯ เพื่อดูความเป็นไปได้ในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและผลกระทบสำหรับครั้งต่อไป

เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันมี 10 อัตราแบ่งตามจังหวัดต่าง ๆ ผมก็เลยขอใช้อัตราในกทม.และปริมลฑลที่วันละ 331 บาท และคิดเป็นต่อเดือนคือใช้ 30 คูณคือเดือนละ 9,930 บาท แล้ววิเคราะห์แบบจำลองการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราต่าง ๆ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าจะมีผลกระทบกับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิยังไงบ้างโดยสรุปดังนี้

1.      จากสถิติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลัง 14 ปี (ตามภาพสถิติค่าจ้างขั้นต่ำ-อัตราเงินเฟ้อ-%ขึ้นเงินเดือนประจำปี 2550-2563) จะเห็นว่าถ้าเราไม่รวมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2555-56 ที่ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 40% เราจะมีค่าเฉลี่ยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ประมาณปีละ 3% แต่เมื่อรวมการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555-56 เข้าไปแล้วเราจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยปีละประมาณ 8-9%


1.      ปัจจุบันอัตราเริ่มต้นตามวุฒิของปวช.(11,000 บาท) ในปัจจุบันจะห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบัน (วันละ 331 บาท เดือนละ 9,930 บาท) อยู่ประมาณ 11% (ตามภาพวิเคราะห์แบบจำลองการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราต่าง ๆ และผลกระทบ)


1.      ถ้าหากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มมีผลกระทบต่ออัตราเริ่มต้นตามวุฒิ บริษัทก็จะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิใหม่ไล่ลำดับไปทั้งหมดคือปรับปวช., ปวส., ปริญญาตรี, ปริญญาโท, ปริญญาเอก (ถ้ามี)

2.      กรณีมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 3% จะเป็นวันละ 341บาท (เดือนละ 10,228 บาท) จะทำให้ความห่างระหว่างคุณวุฒิปวช.กับค่าจ้างขึ้นต่ำลดลงจากเดิมที่ 11% เหลือ 7.5%

ดังนั้นถ้ามีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรานี้บริษัทอาจจะยังไม่ต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิเพื่อหนีค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ก็ได้ แต่ต้องระวังไว้ว่าถ้าคู่แข่งปรับอัตราเริ่มต้นตามวุฒิ (ทุกคุณวุฒิ) หนีค่าจ้างขั้นต่ำใหม่แล้วบริษัทเราไม่ปรับ เราก็อาจจะไม่ได้คนจบใหม่ตามที่ต้องการ

3.      การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 5% ขึ้นไปจะมีผลทำให้บริษัทควรจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิทั้งหมด เนื่องจากความห่างระหว่างอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิปวช.กับค่าจ้างขั้นต่ำจะห่างกันเพียง 5.5% (เทียบจากปัจจุบันที่อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.ห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ 10.8%)

4.      การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 10% ขึ้นไปจะมีผลกระทบกับการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิมากขึ้นไปเรื่อย ๆ (ตามภาพ) ซึ่งต้องถามขีดความสามารถในการจ่ายของฝ่ายนายจ้างว่าจะรับไหวแค่ไหน

5.      นอกจากการปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิต่าง ๆ สำหรับคนจบใหม่แล้ว องค์กรยังต้องมีการปรับเงินเดือนคนเก่าที่เข้ามาด้วยอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิเดิมแล้วถูกคนจบใหม่ (หรือลูกจ้างที่เข้ามาด้วยค่าจ้างขั้นต่ำใหม่) มีเงินเดือนไล่หลังเข้ามา จะทำให้องค์กรมีต้นทุนในการปรับคนเก่าเพื่อหนีคนใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนตัวนี้ยังไม่รวม Staff Cost อื่น ๆ ที่คำนวณจากฐานเงินเดือน เช่น ค่าโอที, เงินสมทบประกันสังคม, เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ค่าชดเชย (กรณีถูกเลิกจ้าง) เป็นต้น

6.      การปรับค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่ 10% ขึ้นไปจะมีผลกระทบรุนแรงกับบริษัทต่าง ๆ มากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามเปอร์เซ็นต์การปรับที่เพิ่มขึ้น (ตามภาพวิเคราะห์แบบจำลองการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราต่าง ๆ และผลกระทบ)

7.      ถ้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 40% (เท่ากับเมื่อปี 2555-56) จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 463 บาท (เพิ่มขึ้นวันละ 132 บาท) และจะทำให้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.= 15,400 บาท ปวส.= 17,500 บาท ปริญญาตรี = 22,400 บาท ปริญญาโท = 28,000 บาท (จริง ๆ แล้วจะมีวิธีปรับปลีกย่อยหลายแบบแต่ในที่นี้ผมขอคิดแบบเร็ว ๆ คือใช้ 40% คูณเข้าไปในทุกคุณวุฒิก็แล้วกันนะครับ)

8.      ถ้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 492 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 48.64%) จะทำให้อัตราเริ่มต้นตามวุฒิปวช.=16,346 บาท ปวส.= 18,575 บาท ปริญญาตรี = 23,776 บาท ปริญญาโท = 29,720 บาท ถ้ามองฝั่งลูกจ้างก็คงแฮปปี้ดีใจแหละครับ แต่ถ้ามองจากฝั่งนายจ้างล่ะจะเป็นยังไง

จากที่วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ผมคาดว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้น่าจะอยู่ในช่วง 3-5 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อ 1 มค.60 คือ 3% เมื่อ 1 เมย.61 ประมาณ 4-5% และครั้งล่าสุดคือ 1 มค.63 ประมาณ 2%

ดังนั้นตัวเลข 492 ผมเชื่อว่ายังห่างไกลกับอัตราที่จะประกาศจริงไปเยอะเลยครับ