วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

บริษัทจะออกกฎระเบียบใด ๆ ก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดกฎหมายแรงงาน (100 ผิดไม่ใช่ 1 ถูก)

             ในเรื่องนี้ผมว่ายังมีผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ เข้าใจผิดกันอยู่ไม่น้อยนะครับ เพราะมักจะเข้าใจ (เอาเอง) ว่าบริษัทจะออกประกาศ คำสั่ง กฎระเบียบ ข้อบังคับอะไรมาก็ได้ เมื่อบริษัทประกาศออกมาแล้วพนักงานต้องปฏิบัติตามทั้งหมด ถ้าใครฝ่าฝืน บริษัทก็มีสิทธิจะทำตามประกาศที่ออกมาได้ทุกอย่าง

            พอ MD/CEO/เถ้าแก่ เข้าใจ (เอาเอง) อย่างงี้ ก็จะเห็นบางบริษัทมีประกาศหรือระเบียบทำนองนี้ออกมาครับ

1.      ถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบ บริษัทจะไม่จ่ายเงินเดือนงวดสุดท้ายเพราะถือว่าทำผิดกฎระเบียบและทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

2.      ถ้าพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบ บริษัทจะไม่คืนเงินค้ำประกันการทำงานเพราะถือว่าทำให้บริษัทเสียหาย

3.      บริษัทจะใช้เฉพาะเงินเดือนเท่านั้นเป็นฐานในการคำนวณค่าโอที

4.      บริษัทจะหักค่ายูนิฟอร์มตามระเบียบของบริษัท

5.      ถ้าพนักงานมาทำงานสาย 3 ครั้งใน 1 เดือน บริษัทจะหักค่ามาสาย 1 วัน

    ฯลฯ

     แล้วถ้าพนักงานไม่ทำตามระเบียบที่ว่าไว้ก็จะดำเนินการตามนั้นจริง ๆ !!

บริษัทของท่านเป็นอย่างงี้บ้างหรือเปล่าครับ ?

ผมเคยเจอบริษัทที่มีกฎระเบียบทำนองที่ว่ามานี้ พอผมบอก MD ไปว่าระเบียบพวกนี้ขัดกฎหมายแรงงานนะครับ ถ้าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานหรือไปร้องเรียนแรงงานเขตบริษัทก็แพ้นะครับ

ก็จะได้รับคำตอบมาแบบมั่นใจว่า

“บริษัทอื่น ๆ เขาก็ทำกันไม่เห็นโดนฟ้องหรือมีปัญหาอะไรเลย”

ผู้บริหารหลายคนยังคิดแบบนี้อยู่นะครับ (เผลอ ๆ ผู้บริหารในบริษัทของท่านก็อาจจะคิดแบบนี้ด้วย)

ผมก็ต้องบอกกลับไปว่าที่บริษัทอื่น ๆ เขาทำกันแล้วยังไม่มีปัญหาอะไรน่ะก็เพราะว่าเขาอาจจะยังไม่โดนฟ้องมันก็เลยไม่มีปัญหา

ต้องไม่ใช้ตรรกะที่ว่า “ทีคนอื่นเขาทำกันยังไม่เห็นเป็นไร”

เพราะ “100 ผิดไม่ใช่ 1 ถูก” นะครับ

ถ้าโดนฟ้องเมื่อไหร่ก็มีปัญหาเมื่อนั้นแหละ เพราะประกาศเหล่านี้ขัดกฎหมายแรงงาน และเมื่อคดีไปถึงศาล ศาลท่านจะต้องตัดสินด้วยกฎหมายไม่ได้ตัดสินด้วยกฎระเบียบของบริษัท

กฎระเบียบของบริษัทจะใช้ได้ตราบเท่าที่ยังไม่ขัดกฎหมายแรงงาน แต่ถ้าขัดกฎหมายแรงงานเมื่อไหร่กฎระเบียบของบริษัทก็เป็นโมฆะเสมอ

แต่ถ้า MD รู้ว่าเสี่ยงแต่ยังต้องขอลอง

ก็ลุ้นเอาตามที่สบายใจได้เลยนะครับ