วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เมื่อเกิดความผิดร้ายแรง..บริษัทควรทำยังไง ?

          ทุกองค์กรจะต้องมีข้อบังคับการทำงานโดยหัวข้อหนึ่งในนั้นจะต้องระบุไว้คือเรื่องวินัยและโทษทางวินัย

            ตรงนี้แหละครับที่บริษัทต่าง ๆ มักนำไปเขียนไว้ในข้อบังคับการทำงาน เช่น พนักงานที่ดีควรจะประพฤติปฏิบัติตนยังไงบ้าง ไม่มาสาย, ไม่ขาดงาน, ไม่เกเร, ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชารวมไปถึงการระบุความผิดทางวินัยที่เป็นกรณีร้ายแรงเอาไว้ในข้อบังคับการทำงาน เช่น ทุจริตลักทรัพย์สินของบริษัทหรือของพนักงานด้วยกัน, ด่าทอทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันภายในบริษัท, นำยาเสพติดเข้ามาในบริษัท, พกพาอาวุธเข้ามาในบริษัท ฯลฯ

ถ้าหากพนักงานกระทำความผิดร้ายแรงเหล่านี้บริษัทจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ เพราะเป็นความผิดที่ร้ายแรงกว่าความผิดมโนสาเร่ทั่ว ๆ ไป

            ก่อนจะมีการลงโทษถึงขึ้นเลิกจ้างนั้น เมื่อเกิดความผิดทางวินัยร้ายแรงเหล่านี้ก็ยังมีหัวหน้างานตลอดจนผู้บริหารอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้ว่าจะต้องมีขั้นตอนยังไงบ้าง เลยตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานที่สงสัยว่าจะกระทำความผิดออกไปก่อนโดยไม่มีการสอบถาม (หรือสอบสวน) ให้ได้ความชัดเจนว่าเขาทำผิดจริงหรือไม่

บางครั้งการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกมาคิดและตัดสินใจแบบทันทีทันใดแทนข้อเท็จจริงและเหตุผล ก็อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับตัวพนักงานเองและนำไปสู่ปัญหาการฟ้องศาลแรงงานเรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามมาในที่สุด

          เรามาลองดูกันดีไหมครับว่า ถ้าเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นควรจะทำยังไง

1.      หัวหน้างานหรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานที่เกิดความผิดร้ายแรง จะต้องรีบแจ้งเรื่องให้ฝ่าย HR ทราบในทันที

2.      HR ทำคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน (บางแห่งอาจจะเรียกว่าคณะกรรมการวินัยพนักงาน) ขึ้นชุดหนึ่งซึ่งมักจะประกอบด้วย ผู้บริหารในหน่วยงานที่เกิดเรื่องนั้น ๆ เช่นหัวหน้างาน, ผู้จัดการในหน่วยงาน, ผู้บริหารในฝ่าย HR, ผู้บริหารจากหน่วยงานอื่นซึ่งเป็นคนกลางและเคยเป็นกรรมการสอบสวนมาแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีหน้าที่เฉพาะกิจครั้งนี้คือมีอำนาจในการสอบสวนผู้เกี่ยวข้อง และสรุปเรื่องทั้งหมดตลอดจนมติของคณะกรรมการสอบสวนเสนอ MD ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนี้ก็จะลงนามโดย MD

3.      คณะกรรมการสอบสวนจะเชิญผู้ถูกล่าวหา (ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดนะครับ) ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา โดยพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อสรุปเรื่องนี้และนำเสนอผลการสอบสวนต่อ MD

4.      เมื่อ MD ได้รับผลการสอบสวนแล้ว MD จะตัดสินใจว่าจะดำเนินการตามมติของคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ ยังไงก็ว่ากันไป เช่น คณะกรรมการสอบสวนมีมติว่าเห็นสมควรเลิกจ้างพนักงานที่ทำความผิดร้ายแรงโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามอายุงาน เมื่อ MD ตัดสินใจตามมติฯ บริษัท (โดยทั่วไปจะเป็นผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานที่เกิดเรื่องนั้น ๆ ร่วมกับฝ่าย HR) ก็จะเชิญพนักงานที่กระทำความผิดร้ายแรงมาแจ้งผลการสอบสวนให้ทราบว่าบริษัทจะเลิกจ้าง เป็นต้น

5.      พนักงานที่กระทำความผิดร้ายแรงยังมีสิทธิร้องทุกข์ได้อีกได้นะครับ ซึ่งในเรื่องนี้บริษัทก็ต้องไปเขียนในข้อบังคับการทำงานว่าจะมีขั้นตอนวิธีการให้พนักงานร้องทุกข์ได้ยังไง และบริษัทจะพิจารณาข้อร้องทุกข์ให้เสร็จสิ้นภายในกี่วัน เป็นต้น ซึ่งบริษัทก็จะต้องพิจารณาการร้องทุกข์ของพนักงาน หากตัดสินใจอย่างไรก็จะถือว่าเรื่องนี้ยุติครับ

6.      บริษัทจะต้องเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน และบันทึกรายงานการสอบสวนอย่างรัดกุมครบถ้วน ซึ่งปกติฝ่าย HR จะทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการสอบสวนในการบันทึกการสอบสวนและเก็บพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อนำเสนอ MD และเมื่อตัดสินเรื่องนี้แล้วก็ตาม เรื่องการสอบสวนทั้งหมดจะเก็บไว้ที่ฝ่าย HR ครับ

7.      กระบวนการสอบสวนทั้งหมดนี้คนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสอบสวนควรจะต้องถือเป็นความลับ ไม่ควรนำเรื่องการสอบสวนออกไปแฉแต่เช้า หรือแฉยันเย็นให้พนักงานในบริษัทได้รู้และเม้าท์มอยกันสนุกปากนะครับ ที่ต้องบอกกันอย่างนี้เพราะจะมีบางคนที่แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารแต่ยังขาดวุฒิภาวะแล้วนำเรื่องเหล่านี้ออกไปวิพากษ์วิจารณ์กันจนเกิดความเสียหายในด้านแรงงานสัมพันธ์ในบริษัทน่ะสิครับ

อ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริหารที่เป็น Line Manager ได้ทราบขั้นตอนกระบวนการดำเนินการทางวินัยกรณีเกิดความผิดร้ายแรงแล้วนะครับ

ถ้าบริษัทไหนที่เกิดความผิดกรณีร้ายแรงแล้วไม่ได้ทำตามที่ผมบอกมาข้างต้น แต่ใช้วิธี “จับได้ ไล่ออกทันที” แบบปุ๊บปั๊บรับโชคโดยไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็น Document Support ที่หนักแน่นพอ ก็คงต้องไปลุ้นกันเอาเองว่าจะถูกพนักงานฟ้องเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมในอนาคตกันอีกหรือไม่

แล้วถ้ามองในมุมของผู้พิพากษาล่ะ ระหว่างการเห็น Document Support ที่ชัดเจน กับคำบอกเล่าจากฝั่งบริษัทแบบลอย ๆ อะไรจะดูน่าเชื่อถือกว่ากัน ?

ฝากไว้ให้คิดเผื่อเป็นประโยชน์นะครับ