วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2565

ทำไมต้องกำหนดให้ลาพักร้อนไม่เกินกี่วัน ?

             คงด้วยเนื่องจากวันนี้เป็นโลกออนไลน์ทุกเรื่องก็เลยถูกนำขึ้นไปตั้งกระทู้แล้วก็จะมีผู้คนเข้าไปอ่านเข้าไปตอบกระทู้นั้น ๆ ตามความคิดเห็นของแต่ละคน

            เรื่องนี้ก็มีอยู่ว่าเมื่อบริษัทกำหนดให้พนักงานมีสิทธิลาพักร้อนแล้วทำไม่ต้องมาบังคับกันด้วยว่าให้ลาพักร้อนไม่เกินกี่วัน จะลาพักร้อนรวดเดียวยาว ๆ เต็มสิทธิไม่ได้เลยเหรอ

            เช่นพนักงานมีสิทธิลาพักร้อนได้ปีละ 10 วัน แต่หัวหน้าบอกว่าให้ลาพักร้อนได้ไม่เกินครั้งละ 3 วัน ลูกน้องก็บอกว่าอยากจะลา 5 วันเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะลาแค่ 3 วันมันไม่พอน่ะ

            เรื่องอย่างนี้ถ้าเอามาตรา 30 ของกฎหมายแรงงานมาคุยกันก็คงจบยากแหละครับ

            แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายคิดแบบใจเขา-ใจเราในมุมของอีกฝ่ายหนึ่งและมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็ไม่ควรจะต้องเอาข้อกฎหมายมาพูดเอาชนะคะคานกันให้เสียความรู้สึก

            เรื่องนี้ถ้ามองในมุมของหัวหน้า เหตุผลหลัก ๆ ที่ไม่อยากให้ลูกน้องลาพักร้อนหลาย ๆ วันติดกันก็คือ

1.      กลัวว่าไม่มีคนมาทำงานแทน ถ้าหากลูกน้องลาพักร้อนไปหลาย ๆ วันเดี๋ยวงานจะสะดุดหรือมีปัญหา

2.      ลูกน้องที่ใช้สิทธิลาพักร้อนหลายวันมักจะใช้สิทธิรวมกับวันหยุดแบบ Long Weekend พอเปิดทำงานมาก็จะไม่มีคนทำงาน ทำให้งานมีปัญหา

3.      ถ้าอนุญาตให้ลูกน้องคนนี้ลาพักร้อนหลาย ๆ วันติดกัน เดี๋ยวคนอื่นขอใช้สิทธิบ้างก็จะทำให้งานมีปัญหา

            คือถ้าตัดเหตุผลเรื่องที่หัวหน้าไม่ชอบขี้หน้าลูกน้องเป็นการส่วนตัวออกไป ผมก็เชื่อว่าเหตุผลหลักของคนเป็นหัวหน้าคือมองในแง่ของงานทั้งหัวหน้าและลูกน้องรับผิดชอบอยู่โดยกลัวว่าจะมีปัญหาถ้าให้ลูกน้องลาพักร้อนหลาย ๆ วันเป็นหลัก

            อันนี้เป็นมุมมองจากคนที่เป็นหัวหน้ามาก่อนอย่างผมนะครับ

            แล้วถ้ามองในมุมลูกน้องล่ะ ?

            แน่นอนว่าลูกน้องก็จะมีเหตุผลว่า

1.      การลาพักร้อนเป็นสิทธิของเขา ก็เขามีสิทธิปีละ 10 วัน เขาขอลาไปเที่ยว 5 วันยังไม่เกินสิทธิสักหน่อย

2.      ช่วงที่เขาลาพักร้อนอยู่เพื่อนก็สามารถทำงานแทนเขาได้ หรือถ้ามีปัญหามากจริง ๆ เดี๋ยวนี้ก็สามารถติดต่อเขาไม่ว่าทางโทรศัพท์หรือทางสื่อโซเชียลได้ไม่มีปัญหาอะไรหรอก

เมื่อมองในมุมของแต่ละฝ่ายอย่างนี้แล้วทั้งหัวหน้ากับลูกน้องคงต้องมาคุยกันแหละครับ

            โดยดูข้อเท็จจริงที่หน้างานกันว่าลูกน้องจะสร้างความมั่นใจให้หัวหน้าได้มากน้อยแค่ไหนว่าถ้าหัวหน้าอนุมัติให้ลาหยุดพักร้อนไปหลาย ๆ แล้วจะทำให้งานที่รับผิดชอบอยู่สะดุดชะงักหรือมีปัญหาใด ๆ ไหม

            มีใครสามารถทำแทนหรือแก้ปัญหาเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงถ้ามีเรื่องฉุกเฉินเร่งด่วนจริง ๆ ที่จำเป็นจะต้องติดต่อลูกน้องจะติดต่อกันยังไงเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน (ถ้ามี)

            ในขณะที่หัวหน้าก็อาจจะใช้การลาพักร้อนหลาย ๆ วันของลูกน้องเป็นโอกาสในการซ้อมแผนฉุกเฉิน (Contingency Plan) โดยคิดใหม่อีกมุมหนึ่งว่าถ้าลูกน้องคนนี้เกิดมีปัญหากระทันหัน เช่น อุบัติเหตุ, ป่วย, ลาออกทันทีทันใด ฯลฯ จะทำยังไงไม่ให้งานที่ลูกน้องคนนี้รับผิดชอบอยู่มีปัญหา ใครจะเข้ามาทำแทนได้ ฯลฯ

          เพราะไม่ควรมีใครที่เก็บงานเอาไว้กับตัวมากเสียจนถ้าขาดคน ๆ นั้นแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบหนัก ๆ กับหน่วยงานหรือองค์กรนะครับ

             ไม่งั้นจะเกิดปัญหาการจับงานเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองเงินเดือนกันในอนาคตได้ แถมยังจะเกิดปัญหาการทำ Career Path หรือการทำผังทดแทน (Succession Plan) ก็จะมีปัญหาตามมาเพราะคนที่ชอบเก็บงานเก็บความสำคัญไว้กับตัวเองไม่ชอบสอนงานใครหรอกครับ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวตัวเองจะเสียอำนาจในการต่อรองไป

            ข้อคิดอีกเรื่องหนึ่งคือบางครั้งจะพบว่าการที่พนักงานไม่เคยใช้สิทธิลาพักร้อนเลย จะเจ็บจะป่วยยังไงก็ยังกระเสือกกระสนมาทำงานนี่เป็นเรื่องไม่ปกตินะครับ แต่หัวหน้าหลายคนอาจจะชอบและมองว่าลูกน้องคนนี้เป็นคนขยันรับผิดชอบงานดีมากเพราะไม่เคยป่วย สาย ลา ขาดงาน ฯลฯ

            เพราะเคยเจอมาบางเคสที่พนักงานมีลักษณะแบบนี้นั่งทับปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ นี่ เวลาสอบสวนไปแล้วมักพบว่าเป็นพนักงานที่ไม่เคยลาหยุดอะไรเลย หรือลาน้อยมาก ๆ เพราะกลัวว่าถ้ามีคนมาทำแทนแล้วจะรู้ว่าตัวเองนั่งทับอะไรเอาไว้

            เมื่อเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายและพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผลแล้วก็น่าจะหาจุดที่ Win-Win ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องในเรื่องนี้ได้แล้วนะครับ