วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เมื่อพนักงานเงินเดือนตัน บริษัทจึงเพิ่มค่าเดินทางและค่าอาหารให้ จะต้องนำเงินส่วนนี้ไปเป็นฐานในการคำนวณโอทีด้วยหรือไม่

             คำถามข้างต้นทำให้เห็นว่าบริษัทที่ยังไม่มีหลักในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดี เวลามีปัญหาก็คิดแค่เพียงจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยไม่ได้คิดต่อว่าจะทำให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคตให้ต้องมาตามแก้กันอีกหรือไม่

แต่ถ้ามีหลักคิดในการบริหารค่าจ้างเงินเดือนที่ดีแล้ว ปัญหาทำนองนี้ก็จะแก้ไขได้จบในช็อตเดียวแถมยังป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคตได้อีกด้วย

กลับมาที่คำถามข้างต้นนี้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเงินค่าเดินทางและค่าอาหารที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานที่มีเงินเดือนชนเพดานคือค่าตอบแทนการทำงาน

เงินเหล่านั้นก็คือ “ค่าจ้าง” ที่จะต้องนำมาคิดเป็นฐานในการคำนวณโอทีอยู่ดีแหละครับ

            ยิ่งในกรณีนี้แม้บริษัทจะอ้างว่าค่าเดินทางและค่าอาหารเป็นสวัสดิการ

คำถามก็คือพนักงานคนอื่น ๆ ได้รับสวัสดิการค่าเดินทางและค่าอาหารแบบนี้ด้วยหรือไม่ ?

หรือได้รับเฉพาะพนักงานที่เงินเดือนตัน ค่าเดินทางและค่าอาหารนี้บริษัทจ่ายให้เป็นจำนวนเงินเท่ากันทุกเดือนและจ่ายให้ไปโดยตลอดแบบไม่มีเงื่อนไขใช่หรือไม่ ?

 แล้วในข้อเท็จจริงพนักงานที่เงินเดือนตันจำเป็นต้องเดินทางไปไหนบ้าง หรือค่าอาหารจ่ายให้ในวันหยุดประจำสัปดาห์ด้วยหรือไม่ ?

            ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างที่ผมบอกมาข้างต้นนี้และตอบคำถามแบบขัดขาตัวเองอย่างนี้แล้ว ทั้งค่าเดินทางและค่าอาหารก็คือ “ค่าจ้าง” ในที่สุดแหละครับ

ข้อคิดในเรื่องนี้คือผู้บริหารจะต้องมีหลักคิดโดยตั้งคำถามเหล่านี้และตอบตัวเองให้ชัดเจนก่อนจะตัดสินใจว่าจะจ่ายค่าเดินทางและค่าอาหารให้กับพนักงานเงินเดือนตันนะครับ

            บริษัทหลายแห่งมักจะไม่นำค่าจ้างตัวอื่นเข้ามารวมกับเงินเดือนเพื่อเป็นฐานในการคำนวณโอที โดยมักจะอ้างว่าตามระเบียบบริษัทให้นำเฉพาะ “เงินเดือน” เท่านั้นมาเป็นฐานในการคำนวณโอที

            แต่บริษัทเหล่านั้นจะต้องทราบไว้นะครับว่าเมื่อไหร่พนักงานไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่หรือไปฟ้องศาลแรงงานแล้วล่ะก็บริษัทจะต้องแพ้คดีอย่างแน่นอน

เพราะในกฎหมายแรงงานไม่ได้ให้นำ “เงินเดือน” มาใช้เป็นฐานในการคำนวณโอที แต่ให้ใช้ “ค่าจ้าง” เป็นฐานในการคำนวณโอทีนะครับ เพราะในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง”

            ดังนั้นก่อนที่ผู้บริหารจึงควรจะต้องมีหลักคิดให้ดี ๆ ในเรื่องนี้ว่า

            1. ทำไมถึงต้องเพิ่มรายได้ (ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นค่าเดินทางหรือค่าอาหารหรือชื่อใดก็ตาม) ให้กับพนักงานที่เงินเดือนตัน

            2. การเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานที่เงินเดือนตันจะทำให้บริษัทมีปัญหาอะไรตามมาอีกหรือไม่

            3. วิธีการเพิ่มรายได้อย่างนี้จะเป็นวิธีแก้ปัญหาพนักงานเงินเดือนตันที่ยั่งยืนหรือไม่

            4. พนักงานที่เงินเดือนตันนั้นมีปัญหามาจากเรื่องใด

            5. มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะแก้ปัญหาพนักงานที่เงินเดือนตัน

            เช่น เกิดจากปัญหาที่ตัวพนักงานเองที่ไม่พัฒนาตัวเอง หรือเกิดจากโครงสร้างเงินเดือนที่ไม่เคย Update กันแน่หาสาเหตุของปัญหาให้เจอ

ข้อคิดที่ผมบอกมาข้างต้นนี้จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือเกาให้ถูกที่คันได้มากยิ่งขึ้นครับ