วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Confirmation Bias : อคติที่เกิดจากการรับฟังเฉพาะข้อมูลที่ตัวเองเชื่อและอยากจะฟังเท่านั้น จะปิดกั้นข้อมูลที่ไม่อยากฟัง

            อคติตัวนี้จัดได้ว่าเป็นอคติยอดนิยมที่เราท่านมักพบได้ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัพเพเหระทั่วไปในบ้าน ที่ทำงาน ไปจนถึงเรื่องการเมืองระดับโลก

เป็นเรื่องปกติที่คนทุกคนย่อมจะมีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่และคิดว่าข้อมูลนั้นถูกต้องและเป็นอย่างงั้นเสมอ

แม้จะมีข้อมูลใหม่ ๆ มาว่าเรื่องที่เราเคยรับรู้นั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เราก็ยังไม่เชื่อและไม่ยอมฟัง

เช่น เราเคยไปกินข้าวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่เพิ่งเปิดใหม่แล้วพบว่าร้านนี้อาหารราคาแพงมาก อาหารไม่อร่อย บริการก็ไม่ดี คิดเงินก็ช้า ฯลฯ เราไม่ประทับใจกับร้านนี้เลย

เมื่อเวลาผ่านมาอีก 5 ปี เพื่อนของเรานัดเลี้ยงวันเกิดแล้วบอกว่าจะเลี้ยงที่ร้านอาหารแห่งนี้โดยบอกว่าร้านนี้อาหารอร่อยสมราคา บริการดี ฯลฯ เราจะไม่เชื่อไม่รับฟัง

ยิ่งถ้าเป็นเรื่องการเมือง ลัทธิ ทฤษฎีทางวิชาการ ฯลฯ เราจะยิ่งเห็นอคติประเภทนี้ชัดเจนมากขึ้น

ถ้าเป็นเรื่องการเมืองก็เช่น เวลามีการประชุมสภาแล้วมีนักการเมืองมาอภิปรายกัน

เราก็จะพบว่าคนที่เชียร์ฝ่ายรัฐบาลก็จะเลือกรับฟังแต่ข้อมูลที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอและจะเชื่อข้อมูลนั้นทั้งหมดเพราะมันตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอข้อมูลอะไรเราก็จะเห็นด้วยไปหมดและจะมองข้ามเรื่องที่เป็นปัญหาต่าง ๆ ไปเพราะมันตรงกับสิ่งที่เราเชื่อว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ดีที่สุดในความคิดของเรา

แต่พอฝ่ายค้านอภิปรายข้อมูลทางฝั่งของตัวเอง คนที่เชียร์ฝ่ายรัฐบาลก็จะไม่ฟังข้อมูลและเหตุผลของฝ่ายค้านโดยบอกว่าเป็นข้อมูลที่บิดเบือน เป็นข้อมูลเท็จ ฯลฯ หรืออาจปิดวิทยุหรือเปลี่ยนช่องทีวีทันทีที่ฝ่ายค้านอภิปราย เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ แม้ว่าข้อมูลของฝ่ายค้านจะมีเหตุผลมีหลักฐานที่ชัดเจน แต่คนที่เชียร์รัฐบาลก็จะสรุปแบบง่าย ๆ ว่าเป็นหลักฐานปลอม

ในทางกลับคนคนที่เป็นกองเชียร์ฝ่ายค้านก็จะพร้อมฟังและเชื่อข้อมูลของฝ่ายค้านทันทีเพราะตรงกับความเชื่อของตัวเองซึ่งตัวเองก็อยากจะฟังอยู่แล้ว

และจะไม่ยอมรับฟังหรือเปลี่ยนช่องทีวีหนีเมื่อฝ่ายรัฐบาลแถลง แม้ฝ่ายรัฐบาลจะมีหลักฐานประกอบการนำเสนอที่ชัดเจนยังไง ก็จะสรุปทันทีว่าเป็นหลักฐานปลอมเช่นเดียวกัน

การปิดใจไม่รับฟังนี้ก็จะเรียกว่า “Information Avoidance” ซึ่งก็เป็นตัวที่ตรงกันข้ามกับ Confirmation Bias

นั่นคือถ้าเป็น Confirmation Bias ก็จะหมายถึงเราจะเลือกรับฟังแต่เฉพาะข้อมูลหรือเรื่องที่เราอยากจะฟัง

แต่ถ้าเป็น Information Avoidance ก็หมายถึงเราไม่ฟัง (และไม่อยากฟัง) ข้อมูลหรือเรื่องที่เราไม่อยากฟังครับ

ลองมาดูตัวอย่างที่ชัด ๆ เกี่ยวกับอคติตัวนี้กับตัวเราเองก็ได้ครับ

ทุกคนมีไลน์กลุ่มอยู่ใช่ไหมครับ

เคยไหมครับที่เพื่อนโพสเรื่องบางเรื่อง บทความบางบทความโดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งเรื่องที่โพสก็ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเชื่อ เราก็จะไม่อยากอ่านต่อเพราะอคติว่าเรื่องนี้ไม่จริง

บางคนก็จะโพสข้อมูลหรือเรื่องที่ตัวเองเชื่อตอบกลับไปในไลน์กลุ่มเพื่อโต้กลับ

ซึ่งแน่นอนว่าเพื่อนที่โพสที่เขามีความเชื่อหรือมีอคติว่าข้อมูลของเขาถูกมากกว่า ก็จะปิดใจไม่ยอมรับข้อมูลที่เพื่อนโพสโต้มาเช่นเดียวกัน

บ่อยครั้งที่มีการทะเลาะกันเองในกลุ่มไลน์ เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อในข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ โดยมีอคติแบบ Confirmation Bias และ Information Avoidance

แล้วก็มีการออกจะกลุ่ม Left the Chat ไปแบบตัวใครตัวมัน

บางที่คบกันเป็นเพื่อนกันมากว่า 20 ปี ต้องมาโกรธกันเพราะอคติแบบ Confirmation Bias นี่แหละครับ

                                    ............................