วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Cognitive Dissonance : อคติที่คิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบแถ ๆ เพื่อให้สบายใจ

             ท่านคิดว่าการที่มนุษย์มีเหตุผลในการตัดสินใจทำอะไรก็ตามไหมครับ ?

ถ้าท่านใดตอบว่า “ใช่” ผมคงต้องถามย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าแน่ใจหรือครับ ?

ผมจะเล่าเรื่องในชีวิตประจำวันและอยากให้ท่านคิดตามไปด้วยอย่างนี้ครับ

หลายท่านคงชอบช้อปปิ้งซื้อของออนไลน์โดยกด CF CF CF กันจนเพลินมือ

สังเกตไหมครับว่าเวลาที่เราซื้อของออนไลน์โดยตัดผ่านบัตรเครดิตแล้วเรา CF (Confirm หรือย่อว่า CF) เพื่อยืนยันการซื้อสินค้าแต่ละตัว

เราจะรู้สึกว่าไม่ได้จ่ายเงินเยอะสักเท่าไหร่เพราะตัดบัตรเครดิตจึงไม่เห็นตัวเงินที่จ่ายออกไปเป็นรูปธรรม

บางทีที่เรากด CF ก็จะพบว่าสินค้าที่เราซื้อไม่ใช่สินค้าที่ “จำเป็น” ต้องใช้

แต่เป็นเพราะเรา “อยาก” ซื้อ อยากกด CF เพราะเขาลดราคาตั้ง 40%

แต่ถ้าเราไปเดินห้างแล้วต้องจ่ายเงินสดเพื่อซื้อของอย่างเดียวกันในวงเงินเท่ากัน ผมว่าหลายคนจะซื้อน้อยลงเพราะเราจะรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าลดลงทุกครั้งที่เปิดกระเป๋าตังค์เพื่อจ่ายเงิน

นี่คือปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดในการรับรู้ของคนที่ทำให้การใช้เหตุผลลดลงไปแบบไม่รู้ตัว

ถ้าใครมีสติเท่าทันข้อจำกัดในการรับรู้ของเรามากเท่าไหร่ ก็จะลดปัญหาการตัดสินใจที่ผิดพลาดแบบไม่มีเหตุผลลงได้มากขึ้นเท่านั้นแหละครับ

หรือ....

เคยเจอไหมครับที่คนบางคนซื้อรองเท้าแบบเดียวกัน รุ่นเดียวกันแต่คนละสี เช่น ในคอลเลคชั่นนี้มี 4 สีคือ แดง เขียว ดำ ฟ้า ก็จะซื้อมา 4 คู่ ทั้ง ๆ ที่บางสีก็ไม่ได้ใส่เลยเพราะหาเสื้อผ้าเข้ากับสีของรองเท้าไม่ได้

พอเพื่อนมาเที่ยวบ้านแล้วถามว่าทำไมซื้อมาตั้ง 4 คู่ ทำไมถึงไม่ซื้อเฉพาะสีที่ใส่เป็นประจำสัก 2 คู่ล่ะ จะได้เอาเงินไปซื้อรองเท้ายี่ห้ออื่นที่สวย ๆ แทน

คำตอบคือ “ก็คอลเลคชั่นนี้มันมี 4 สี ฉันก็อยากจะซื้อให้ครบน่ะสิ”

อย่างงี้เรียกว่าเป็นการตัดสินใจแบบมีเหตุผลไหมครับ ?

ตรงนี้แหละครับบางคนอาจจะบอกว่า “เหตุผลของเขา อาจไม่ใช่เหตุผลของเรา และ เหตุผลของเรา ก็อาจไม่ใช่เหตุผลของเขา”

ผมเชื่อว่าหลายท่านก็คงจะเจอว่าพอเราฟังเหตุผลของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเราจะรู้สึก “ยี้”

ในขณะที่เมื่อเราบอกเหตุผลของเราแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็อาจจะรู้สึก “ยี้” ได้เช่นเดียวกัน

ตรงนี้ผมก็เลยนำมาสู่เรื่องของ Cognitive Dissonance เลยนะครับ

ปกติคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองอยู่เสมอ ๆ และคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันถูกอยู่แล้วมันมีเหตุผลอยู่แล้ว

ท่านว่าจริงไหมครับ ? เช่น....

ถ้าไปถามนาย A ว่าทำไมถึงไม่สวมหมวกนิรภัยเข้าพื้นที่ทั้ง ๆ ที่มีกฎของบริษัทว่าพนักงานที่เข้าพื้นที่ทุกคนจะต้องใส่หมวกนิรภัย

นาย A ก็จะตอบว่า “ก็คนอื่นเขายังไม่เห็นใส่หมวกนิรภัยกันเลย”

หรือถ้าไปถามนส.B ว่าทำไมถึงไปจอดรถในที่ห้ามจอด คำตอบก็คือ “ทีคนอื่นเขายังจอดกันได้เลย”

นี่คือตัวอย่างของการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองแบบแถ ๆ หรือ Cognitive Dissonance ครับ

เพราะถ้าจะถามต่อไปว่า “แล้วที่คนอื่นเขาทำน่ะมันผิดหรือเปล่า, ถ้ารู้ว่าผิดแล้วทำไมต้องไปทำผิดให้เหมือนเขาด้วยล่ะ” คนเหล่านี้ก็คงจะหาเหตุผลอื่นที่เข้าข้างตัวเองมาแถต่อไปเรื่อย ๆ แหละ จริงไหมครับ

เพราะการคิดหาเหตุผลเพื่อบอกตัวเองและบอกคนอื่นอย่างนี้จะทำให้คน ๆ นั้นไม่เครียด ไม่ตำหนิตัวเองว่าตัวเองเป็นคนผิด จัดเป็นกลไกปกต้องตัวเองหรือ Defense Mechanism แบบหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของทุกคน

ถ้าความคิดแบบ Cognitive Dissonance เป็นความคิดเพื่อปลอบใจตัวเองและไม่มีผลกระทบในด้านลบด้านร้ายต่อคนอื่นหรือต่อสังคมส่วนรวมก็ไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย เช่น..

เมื่อเราถูกแฟนบอกเลิก แล้วเราก็บอกตัวเองว่าโชคดีที่ถูกบอกเลิกตอนนี้ ดีกว่าแต่งงานอยู่กินกันไปมีลูกแล้วถูกบอกเลิก ในอนาคตเราอาจจะมีบุพเพสันนิวาสได้เจอคนที่ดีที่เหมาะกับเรามากกว่าแฟนคนนี้

ถ้าคิดอย่างนี้ก็จะทำให้เราหายเครียดและใช้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี....ฯลฯ

ดีกว่าที่เราจะมาคิดตำหนิตัวเองว่าเราไม่ดีพอหรือไง แฟนถึงได้มาขอเลิกถ้าคิดโกรธโทษตัวเองอย่างงี้มาก ๆ เข้าก็มีหวังเครียดจนไปฆ่าตัวตายประชดความรักเหมือนที่เราได้อ่านข่าวหน้าหนึ่งกันอยู่บ่อย ๆ แหง ๆ ผมถึงได้บอกว่าความคิดแบบ Cognitive Dissonance นี้ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้างในด้านดีที่ช่วยลดความเครียดให้กับเรา ถ้าไม่มีผลกระทบกับคนอื่นหรือสังคมในทางลบทางร้าย

แต่ความคิดแบบ Cognitive Dissonance จะมีผลเลวร้ายมากถ้าคน ๆ นั้นไปทำอะไรที่เลวร้ายต่อคนอื่นหรือต่อสังคม แล้วก็มาหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เช่น....

คนที่ทุจริตคอรัปชั่นก็จะบอกกับตัวเองว่า “นี่เรายังคิดเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าคนก่อนหน้าเราซะอีกนะ....”

โจรผู้ร้ายที่จะลักวิ่งชิงปล้นก็จะบอกว่า “เพราะฉันต้องหาเงินเลี้ยงลูกฉันถึงต้องทำแบบนี้....”

คนที่ขับรถหรือขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรแล้วไปชนรถที่วิ่งมาถูกเลน ก็พูดว่า “คนอื่นเขาก็ทำอย่างงี้กันทั้งนั้นแหละจะให้อ้อมไปยูเทิร์นมันไกลไม่มีใครเขาทำกันหรอก รถที่วิ่งมาก็ต้องรู้จักหลบให้ทางและมีน้ำใจกันบ้างสิ....”

ฯลฯ

ผมว่าถ้าใครมีความคิดแถ ๆ แบบนี้แถมขาด “หิริ-โอตัปปะ” หรือขาดความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปแล้วก็ความคิดแบบนี้เป็นอันตรายและมีผลกระทบออกไปรอบข้างมาก ยิ่งถ้าใครมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ๆ แล้วคิดแบบนี้ก็จะทำอะไรแบบหลงในอำนาจและเกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวมได้ง่าย

คำถามปิดท้ายเรื่องนี้คือ....

ตอนนี้สังคมในที่ทำงานและสังคมส่วนรวมของเรามีความคิดแบบ Cognitive Dissonance ในขั้นไหนกันแล้วครับ?

ความมี “สติ” และ “หิริ โอตัปปะ” เท่านั้นที่จะหยุดความคิดแถ ๆ แบบนี้ลงได้

Cognitive Dissonance ความคิดของสมองที่ย้อนแย้งกัน

ท่านคงทราบอยู่แล้วว่าคนเรามักจะคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพราะคนทุกคนจะมีกลไกป้องกันตัวเองเพื่อลดความเครียดลง

 เช่น คนที่ไปลักวิ่งชิงปล้นบางคนก็จะบอกว่าที่ต้องทำอย่างงั้นเพราะต้องเอาเงินไปเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็กให้ได้เรียนหนังสือ เพราะถ้าคิดว่าตัวเองทำผิดนิสัยไม่ดีที่เป็นโจรก็จะทำให้เกิดความเครียดยิ่งถ้าใครคิดตำหนิตัวเองมาก ๆ เข้าก็อาจจะถึงขั้นคิดสั้นขึ้นมาได้

ก็เลยต้องคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเพื่อลดความเครียดอย่างที่ผมยกตัวอย่างมาซึ่งก็จะทำให้คนรอบข้างที่ฟังเหตุผลแล้วก็คงจะส่ายหน้าเป็นพัดลมว่าคิดมาได้ยังไง

หรือเราท่านคงเคยได้ยินข้อแก้ตัวของคนที่ทำความผิดว่า “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” จนกระทั่งมีคำพูดอำกันเล่น ๆ ว่ารู้อะไรไม่สู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำนองนั้นแหละครับ

นี่คือความคิดของคนแบบ Cognitive Dissonance ในรูปแบบหนึ่ง

ยังมีเรื่องเล่าของความคิดย้อนแย้งในตัวเองแบบที่เรียกว่า Cognitive Dissonance ที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้อย่างนี้ครับ

ครั้งหนึ่งมีการทดลองโดยการแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม โดยทั้ง 3 กลุ่มจะให้ทำงานเหมือนกันคือการใช้เม้าส์ลากวงกลมที่อยู่ทางซ้ายมือของจอภาพไปใส่ไว้ในกล่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ด้านขวาของจอภาพให้ได้มากที่สุดในเวลา 5 นาที

โดยมีการบอกกับทั้ง 3 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 จะได้รับค่าแรง US$ 5 เป็นค่าตอบแทน กลุ่มที่ 2 จะได้รับค่าแรง 50 Cent เป็นค่าตอบแทน

และกลุ่มที่ 3 ไม่ได้รับค่าแรงโดยบอกว่าการทดลองครั้งนี้จะเป็นสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษาให้ดีขึ้นโดยไม่หวังผลกำไร

            ผลปรากฎว่ากายใน 5 นาที

กลุ่มที่ 1 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 159 วง

กลุ่มที่ 2 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 101 วง และ

กลุ่มที่ 3 สามารถลากวงกลมไปใส่กล่องสี่เหลี่ยมได้เฉลี่ย 168 วง ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ 1 และ 2 เสียอีก

            ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

            แน่นอนครับว่ากลุ่มที่ 2 จะมีผลงานที่ต่ำกว่ากลุ่มแรกเพราะความรู้สึกที่ว่าตัวเองได้รับค่าแรงที่น้อยกว่า แต่ที่น่าสนใจคือผลงานของกลุ่มที่ 3 ที่สูงที่สุดทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ

            ตรงนี้นักจิตวิทยาอธิบายเรื่องนี้ว่าเวลาที่คนเราจะทำอะไรให้กับคนอื่นก็มักจะตัดสินใจเอาไว้ก่อนแล้วว่าตัวเองคาดหวังผลตอบแทนแบบไหนระหว่างผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หรือผลตอบแทนเชิงสังคม

            ถ้าคนคิดว่าตัวเองคาดหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินหรือเป็นเชิงพาณิชย์ ก็จะคิดเล็กคิดน้อยเกี่ยวกับค่าตอบแทนเป็นพิเศษ

          แต่ถ้าคนคิดว่าตัวเองทำสิ่งนั้นเพราะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม ก็จะทำอย่างเต็มใจโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงิน หรือมามัวคิดเล็กคิดน้อยในเรื่องค่าตอบแทนเลย

            การทดลองข้างต้นจะเห็นได้ว่าคนใน 2 กลุ่มแรกคาดหวังค่าตอบแทนเป็นหลัก กลุ่มที่ 1 จึงทำงานตามค่าตอบแทนที่คาดหวัง ส่วนกลุ่มที่ 2 คิดเล็กคิดน้อยว่าค่าตอบแทนของตัวเองต่ำกว่ากลุ่มที่ 1 ก็รู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบจึงทำงานไปตามค่าแรงที่ได้น้อยกว่า

            ส่วนกลุ่มที่ 3 แม้ไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่เกิดความรู้สึกภูมิใจที่ตัวเองมีส่วนร่วมสำคัญที่จะทำการทดลองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ เป็นการได้รับค่าตอบแทนทางใจ (เกิดความภาคภูมิใจ)

          จึงสรุปได้ว่าเมื่อไหร่ที่คนเราคิดว่าเขาทำงานใด ๆ เพื่อผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็จะทำงานไปในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก และจะคิดเล็กคิดน้อยเมื่อไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างที่คาดหวังเอาไว้

            แต่ถ้าเมื่อไหร่คนเราคิดว่าเขาทำงานใด ๆ เพื่อประโยชน์ของสังคม ก็จะยินดีทำงานนั้น ๆ อย่างเต็มที่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนเป็นตัวเงิน และจะมีความสุขใจภาคภูมิใจในงานที่ตัวเองทำอีกด้วยแม้ไม่ได้รับค่าตอบแทน

            อีกตัวอย่างหนึ่งเพื่อยืนยันเรื่องนี้คือ

            สมมุติว่าท่านกำลังเดินข้ามถนน ทันใดนั้นมีรถยนต์พุ่งเข้ามาหาท่านอย่างรวดเร็วแล้วก็มีใครคนหนึ่งพุ่งเข้ามารวบตัวท่านให้พ้นจากการถูกรถชนได้อย่างหวุดหวิด

            ลองคิดดูสิครับว่าถ้าท่านบอกกับพลเมืองดีคนนั้นว่า “ที่คุณช่วยผมไว้เมื่อตะกี๊นี้ คุณต้องการเงินเท่าไหร่ ?”

            ท่านคิดว่าพลเมืองดีคนนั้นเขาจะมองจะคิดยังไง หรือจะพูดอะไรกับท่าน?

          จะเห็นได้ว่าพลเมืองดีคนนั้นทำไปด้วยจิตสำนึกเชิงสังคมที่ต้องการช่วยชีวิตคน ๆ หนึ่งเอาไว้โดยไม่ได้หวังค่าตอบแทนเป็นตัวเงิน ถ้าขืนไปรับเงินค่าช่วยชีวิตเอาไว้เขาก็จะเกิดความขัดแย้งในความคิดตัวเองขึ้นมาทันทีแบบที่เรียกว่า Cognitive Dissonance นั่นเอง

            ในขณะที่พลเมืองดีที่สละชีวิตมาช่วยเราคนนี้อาจจะเพิ่งหงุดหงิดกับหัวหน้าที่ขึ้นเงินเดือนให้เขาน้อยกว่าเพื่อนร่วมงาน 200 บาทก็เป็นได้

            จากที่ผมเล่าให้ฟังมานี้เราสามารถได้ประโยชน์จากการคิดที่ย้อนแย้งของคนข้างต้น เช่น หัวหน้าที่สามารถจูงใจให้ลูกน้องเกิดความคิดว่างานที่เขารับผิดชอบอยู่มีความสำคัญ เป็นงานที่ท้าทายความสามารถ และเมื่องานนี้เสร็จจะเป็นผลงานที่เป็นเครดิตและจะสร้างความภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับตัวของลูกน้องเองที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้

            ลูกน้องก็จะมุ่งไปสู่ผลสำเร็จของงานมากกว่าการมองแค่ตัวเงิน

            อ่านมาถึงตรงนี้แล้วผมเชื่อว่าท่านจะเข้าใจความคิดแบบแถ ๆ ของคนประเภท Cognitive Dissonance กันบ้างแล้วนะครับ