วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Stereo Typing : อคติในการคิดแบบเหมารวม

             Stereo Type มาจากคำว่า “Stereos” แปลว่าแข็ง และคำว่า “Tupos” แปลว่าแน่นหรือเป็นรอย คำนี้คิดมาโดยช่างพิมพ์ชาวฝรั่งเศสชื่อ Firmin Didot (แฟร์แมง ดิโดท์) หมายถึงภาพพิมพ์จากต้นฉบับที่นำมาใช้ในการพิมพ์แทนที่จะใช้ต้นฉบับเป็นต้นแบบโดยตรง (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ต่อมานักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันคือ Walter Lippmann นำคำนี้มาใช้อุปมาว่าเป็นภาพพจน์ในสมองของคน เป็นจินตนาการของคนที่เป็นรูปแบบรูปร่างขึ้นมาจากสิ่งที่ประสบ ทำให้เกิดการเหมารวมว่าเป็นอย่างนั้นทั้งหมด

Stereo Type มักจะเกิดจากประสบการณ์หรือทัศนคติรวมถึงการรับรู้ในอดีตที่สั่งสมมาในตัวคน ๆ นั้นจนกระทั่งเกิดเป็นกรอบความคิดแบบเหมาเข่งรวมไปทั้งหมดว่าถ้า.....จะต้อง....เป็นอย่างนี้แหง ๆ ซึ่งความจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดเหมารวมนั้นก็ได้นะครับ

            ท่านเคยเจอคนที่มีความคิดแบบสรุปเหมารวมบ้างไหมครับ ?

            เป็นความคิดที่มีต่อกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งว่าคนกลุ่มนั้นจะต้องเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ไปทั้งหมด เช่น....

            นักบัญชีจะต้องเป็นคนละเอียดรอบคอบ, เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง, คนจีนทำการค้าเก่ง, ญี่ปุ่นเป็นคนมีวินัย, เจองูกับแขกให้ตีแขกก่อน, ฯลฯ

            วันนี้เราก็คงเห็นข่าวคนเอเชีย (ทั้งจีนทั้งไทย) ถูกฝรั่งอเมริกันทำร้ายเพราะมองแบบเหมารวมว่าคนเป็นคนแพร่เชื้อโควิด โดยเชื่อและคิดอคติแบบเหมารวมตามคำพูดของโดนัล ทรัมป์

            จะเห็นได้ว่าความคิดแบบนี้เป็นความคิดแบบเหมารวมทั้งหมดทั้งกลุ่มโดยไม่ได้คิดว่าจะมีรายละเอียดที่แตกต่างระหว่างบุคคลในกลุ่มนั้นหรือไม่

            จริงหรือครับที่ทรัมป์มาเหมารวมว่าคนจีนเป็นต้นตอไวรัสโควิด ?

            จริงหรือครับที่แขกจะไว้ใจไม่ได้เสียทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น ?

            จริงหรือครับที่นักบัญชีจะเป็นคนละเอียดรอบคอบทุกคน ?

            ดังนั้น ถ้าใครที่มีความคิดแบบเหมารวมประเภท Stereo Type มาก ๆ เช่น ฝ่ายของเราเป็นฝ่ายที่หาเงินเข้าบริษัทเป็นฝ่ายที่สำคัญที่สุดกว่าทุก ๆ ฝ่าย เพราะฝ่ายเรามีแต่คนขยันตั้งใจทำงาน ฝ่ายอื่นมีแต่พวกที่คอยใช้เงินเป็นพวกหลังบ้าน และพวกหลังบ้านก็ห้ามมาหือกับฝ่ายเราและควรสำนึกบุญคุณของฝ่ายเราอีกต่างหาก

            ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วก็จะเกิดการหลงกลุ่มหลงหมู่คณะของตัวเองว่าดีเลิศประเสริฐศรีเหนือกว่าทุกหมู่เหล่า ก็จะเริ่มดูถูกดูแคลนคนในหมู่คณะอื่นว่าไม่ได้เป็นเทพเหมือนคนในหมู่คณะตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดแล้วคนในหมู่คณะของตัวเองก็ไม่ได้เทพไปเสียทุกคนเสียเมื่อไหร่

            ดังนั้น สิ่งที่เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับ Stereo Type ก็คือเราจะต้องระมัดระวังอย่าให้อคติแบบคิดเหมาเข่งอย่างนี้เข้ามามีอิทธิพลกับเราให้มากจนเกินไป โดยมองเรื่องต่าง ๆ ตามข้อเท็จจริงและไม่คิดแค่เพียงมองภาพรวม ๆ แล้วสรุปแบบคร่าว ๆ เหมารวม แต่ควรจะต้องดูรายละเอียดที่ลึกลงไปด้วยว่าเป็นยังไงเพื่อจะได้นำมาคิดและตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ถูกต้อง

            สมัยสงครามโลกครั้งที่สองภายหลังจากที่เยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่มาก ฮิตเลอร์ก็ปราศรัยกับคนเยอรมันโดยหาศัตรูร่วมกัน คือโทษว่าชาวยิวเป็นผู้ทำให้ศักดิ์ศรีของชาวเยอรมันตกต่ำ ทำให้คนเยอรมันในยุคนั้นมองชนชาติยิวว่าเป็นศัตรูที่ต้องกำจัด 

        แถมฮิตเลอร์มีความคิดว่าพวกนาซีเท่านั้นคือเผ่าอารยันที่ประเสริฐกว่าทุกเผ่าพันธุ์ และมองพวกยิวว่าจะต้องเป็นพวกที่ถูกกำจัดให้หมด

            นี่ก็เป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบ Stereo Type ที่เลวร้ายแบบสุดขั้วที่ทำให้เกิดสงครามและเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์แบบที่โลกลืมไม่ลงเลยแหละครับ

          ดังนั้น Stereo Typing จึงเป็นอคติอีกตัวหนึ่งที่เราควรจะต้องมีสติเท่าทันกับมันให้ได้