วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นักบริหารค่าตอบแทนคือใคร และควรมีคุณสมบัติอย่างไร

          ตำแหน่งงานนี้อาจจะเรียกว่า “เจ้าหน้าที่บริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ” หรือถ้าเป็นผู้บริหารขึ้นมาอีกสักหน่อยก็อาจจะเรียกชื่อตำแหน่งนี้ว่า “ผู้จัดการแผนกบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ” หรือ “ผู้จัดการฝ่ายบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ”

          บางคนก็อาจจะเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Com & Ben” ก็หมายถึง Compensation and Benefits ก็คือคนดูแลด้านค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการนั่นแหละครับ

          ผมก็เลยขอเรียกรวม ๆ ว่าเป็นนักบริหารค่าตอบแทนก็แล้วกัน

          ซึ่งตำแหน่งงานนี้ก็จะเป็นตำแหน่งที่อยู่ในฝ่าย HR ซึ่งมักจะมีในบริษัทใหญ่ ๆ ที่เห็นความสำคัญของคนที่จะต้องมาดูแลและบริหารจัดการรับผิดชอบเรื่องค่าตอบแทนโดยตรง

          แต่ในบริษัทเล็ก ๆ หรือบริษัทที่ยังไม่เห็นความสำคัญของงานด้านนี้ก็มักจะยังไม่มีตำแหน่งงานนี้ และก็มักจะเหมา ๆ แบบรวม ๆ เข้าไปอยู่กับงาน Payroll ซึ่งเป็นลักษณะงานที่เป็นคนละอย่างกับงาน Com & Ben เลยนะครับ

         นักบริหารค่าตอบแทนควรมีคุณสมบัติยังไงบ้างล่ะ ?

         ตอบตรง ๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คือคนที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการบริหารค่าตอบแทนน่ะสิครับ

          ถ้าจะถามว่าแล้วเขา (หรือเธอ) คนนี้จะต้องเรียนจบอะไรมาล่ะ ต้องมีไอคิวใกล้เคียงไอน์สไตน์ไหม ?

          ก็ตอบได้ว่าไม่ต้องเลิศเลอขนาดนั้นหรอกครับ จะเรียนจบอะไรไม่สำคัญเท่ากับคนที่จะทำงานด้านนี้รักและสนใจงานด้านค่าตอบแทนหรือไม่

ถ้าสนใจงานด้านนี้และอยากจะทำและพร้อมจะพัฒนาตัวเองไปในงานด้านนี้ผมว่าสามารถทำได้ทุกคนแหละครับ

          เพียงขอให้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1.      ไม่เป็นภูมิแพ้ตัวเลข คือไม่ใช่ว่าพอเห็นตัวเลขเข้าหน่อยแล้วพาลจะวิงเวียน หรือเกิดอาการหน้ามืดตาลาย ฯลฯ อย่างนี้ล่ะก็ทำงานด้านนี้ได้ยากแล้วล่ะครับ คือไม่จำเป็นต้องเก่งเลขขนาดทำแคลคูลัสได้แบบชิล ๆ หรือถอดสมการยกกำลังสิบในใจได้ภายใน 3 วินาทีหรอกนะครับ ขอเพียงแค่เป็นคนชอบตัวเลข ช่างสงสัย ชอบคิดเลข สนุกกับการแก้ปัญหาหรือหาคำตอบจากโจทย์ต่าง ๆ เอาเป็นว่าไม่เป็นคนไม่เกลียดไม่กลัวตัวเลขก็ใช้ได้แล้วล่ะ

2.       ชอบการวิเคราะห์ นี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็นข้อถัดมา คือนอกจากเป็นคนที่ไม่เป็นภูมิแพ้เลขแล้วยังต้องเป็นคนชอบคิดเชิงวิเคราะห์ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่าเป็นพวกที่ชอบคิดแบบ Analytical Thinking หรือมีวิธีคิดเชิงวิเคราะห์ได้อย่างเป็นระบบอย่างมีเหตุมีผลหรือเป็นพวกที่มี “หลักเกณฑ์” ในการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบมากกว่าการใช้ “หลักกู”

พูดง่าย ๆ ว่าต้องไม่ใช่คนที่เห็นตัวเลขแล้วก็จบแค่ตัวเลข

หรือใช้อารมณ์ความรู้สึกลอย ๆ โดยไม่มีเหตุผลรองรับ!

แต่ต้องสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่าความหมายของตัวเลขนั้น ๆ มันหมายถึงอะไร และจะเกิดผลอย่างไรต่อไป เช่น พอได้ผลลัพธ์ของโครงสร้างเงินเดือนออกมาว่าอัตราต่ำสุด (Minimum) อยู่ที่12,000 บาท และสูงสุด (Maximum) อยู่ที่ 24,000 บาท ก็ต้องสามารถวิเคราะห์ต่อไปได้เองว่าโครงสร้างแบบนี้จะมีผลกระทบอะไรบ้างกับพนักงานที่เงินเดือนต่ำ หรือสูงกว่าโครงสร้างเงินเดือนนี้ และควรจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้ ฯลฯ

คือไม่ใช่ว่าพอได้ตัวเลขออกมาแล้วจบ นักบริหารค่าตอบแทนจึงต้องเป็นคนที่ช่างคิดช่างวิเคราะห์ สามารถแยกแยะและตีความหมายจากตัวเลข หรือค่าต่าง ๆ และเชื่อมโยงหาความสัมพันธ์ได้ด้วยครับ

3.       ละเอียดรอบคอบ อันนี้คงไม่ต้องอธิบายมากนะครับ เพราะถ้าทำงานด้านนี้ไม่ละเอียดรอบคอบแล้ว จะเกิดความไม่น่าเชื่อถือจากทุก ๆ ฝ่ายทันที เช่น พอทำโครงสร้างเงินเดือนเสร็จออกมา ปรากฏว่าทำตัวเลขผิดเนื่องจากความประมาทเผลอเรอ หรือไม่ละเอียดรอบคอบ หรือใจร้อนรีบ ๆ ทำงานจนขาดการตรวจสอบที่ดี แถมพอไม่ละเอียดรอบคอบแล้วนำเสนอตัวเลขที่ผิดพลาดเข้าไปในที่ประชุมฝ่ายบริหารแล้วมาพบภายหลังว่าเกิดความผิดพลาด ลองนึกภาพตามสิครับว่าฝ่ายบริหารเขาจะคิดกับเรายังไง

ผมว่าถ้าเป็นเป็นคนผิดพลาดบ่อย ๆ แบบนี้ก็คงจะทำงานด้านนี้ได้ลำบากแล้วครับ

4.       ความคิดสร้างสรรค์ ควรเป็นคนที่ชอบคิดสร้างสรรค์แบบไม่ติดกรอบน่ะครับ เพราะคำว่ามีความคิดสร้างสรรค์ก็หมายถึงคิดในสิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งทำให้เกิดผลดีขึ้นกว่าเดิม โดยที่ความคิดสร้างสรรค์นี้จะต้องไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎระเบียบ หรือก่อให้เกิดความเสียหายนะครับ

5.       ใฝ่เรียนรู้ นักบริหารค่าตอบแทนควรเป็นคนมีความรู้รอบตัวดี ดังนั้นควรจะต้องเป็นคนสนใจใฝ่เรียนรู้ ชอบดูหนัง ฟังข่าว แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รู้ เข้าอบรม สัมมนา หรือชอบอ่านหนังสือหลากหลายประเภท ซึ่งความรู้รอบตัวเหล่านี้จะนำมาประยุกต์ใช้ในงานได้เสมอครับ นักบริหารค่าตอบแทนจึงไม่ควรอ่านหนังสือพิมพ์เพียงหน้ากีฬา หรือหน้าบันเทิง แต่ควรจะต้องอ่านให้หมดทุกด้าน เช่น เศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, เทคโนโลยี, การเกษตร, เหตุการณ์ในต่างประเทศ ฯลฯ และต้องเป็นคนที่หูตาไว เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะมีผลกระทบต่องานหรือเรื่องค่าตอบแทนก็ควรจะต้องนำกลับมาคิดวิเคราะห์ผลกระทบและเตรียมระวังป้องกัน หรือนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาได้ทันสถานการณ์จากความใฝ่เรียนรู้นี่แหละครับ

6.       ไม่กลัวปัญหาและกล้าตัดสินใจ นักบริหารค่าตอบแทนต้องไม่ใช่คนหนีปัญหา หรือเป็นคนประเภทลอยตัว ไม่คิดแก้ปัญหา หรือไม่กล้าตัดสินใจนะครับ เพราะเมื่อหลักเกณฑ์หรือหลักการต่าง ๆ ผ่านการนั่งคิดคำนวณตัวเลข จากความละเอียดรอบคอบ ผ่านการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลรองรับแล้ว ในที่สุดก็จะต้องนำมาสู่การตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหา แม้ว่าการตัดสินใจนั้น ๆ อาจจะทำให้คนที่เสียประโยชน์ไม่พึงพอใจ แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ อย่างที่ผมบอกมาแล้วบนหลักการเหตุและผลที่ชัดเจนแล้ว นักบริหารค่าตอบแทนก็ต้องกล้าตัดสินใจและประเมินผลภายหลังการตัดสินใจว่าจะต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขอย่างไรต่อไปในอนาคต ซึ่งนี่แหละครับจะเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ในตำราเรียนเลยแหละ

7.       ไม่เบื่อเรื่องการสื่อสาร นักบริหารค่าตอบแทนต้องพร้อมที่จะไปเจรจาต้าอ่วยกับผู้คนทุกคน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นพนักงานระดับล่างสุด หรือจะเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดในเรื่องของแนวคิดทฤษฎี หรือการปฏิบัติด้านค่าตอบแทน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันอย่างไม่มีอคติ ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนที่ทำงานด้านนี้ครับ

เพราะถ้าเอาแต่ทำงานอยู่กับโต๊ะแถมไม่ชอบเจอผู้คนไม่ชอบอธิบายว่าสิ่งที่เราคิดและนำมาใช้ปฏิบัติ (ในเรื่องค่าตอบแทน) นี้น่ะมันมีที่มาที่ไปยังไง มีข้อดีข้อเสียยังไง ใครอยากรู้ก็ไปถามสาวยาคูลท์กันเอาเองก็เอวังน่ะสิครับ

     คุณสมบัติทั้งหมดที่ผมเล่ามาข้างต้นไม่จำเป็นว่าจะต้องมีเต็มร้อยในทุกข้อนะครับขอให้มีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่บ้างในตัวแล้วก็ค่อยไปพัฒนาให้เพิ่มขึ้นในภายหลังก็ได้

 แต่ถ้าองค์กรของท่านได้นักบริหารค่าตอบแทนที่มีคุณสมบัติเต็มร้อยในแต่ละข้อเหล่านี้แล้วก็ถือว่าโชคดีมาก ๆ เลยแหละครับ และรักษาเขาไว้ให้ดี ๆ อย่าให้ใครฉกตัวไปเสียล่ะ

         ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะยังสงสัยต่อไปอีกว่า “อ้าว..แล้วคุณสมบัติที่ต้องรู้ในเรื่องทฤษฎีหรือปฏิบัติในศาสตร์การบริหารค่าตอบแทนล่ะ ไม่ต้องมีหรือ ?”

          ตอบได้ว่าเรื่องของความรู้ในเชิงทฤษฎีหาไม่ยากหรอกครับ มีตำรับตำราทั้งภาษาไทยและ Text book ของฝรั่งให้ศึกษาอยู่มากมายหลายหลาก หรือแม้แต่หลักสูตรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารค่าตอบแทนที่จัดโดยองค์กรหรือบริษัทจัดฝึกอบรมต่างๆ  ก็มีอยู่ไม่น้อย

          แต่ความเห็นส่วนตัวของผม ๆ ว่าทฤษฎีให้เพียงแค่ความรู้เบื้องต้น

ประสบการณ์ในการลงมือทำจริงต่างหากที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแบบ How to ในชีวิตจริงแบบรู้ลึกรู้จริง!

ประสบการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับนักบริหารค่าตอบแทน

ต้องเล่นจริงเจ็บจริง คลุกฝุ่นมาจริงๆ ถึงจะเชี่ยวชาญชำนาญ

ถ้าเราแค่อ่านหนังสือเราจะมีความรู้เพียงเท่าที่หนังสือบอกไว้

แต่ถ้าเราลงมือทำเราจะมีความรู้และทักษะจากประสบการณ์ที่ทำจริงมากกว่าในหนังสือแบบทวีคูณครับ

อยากจะบอกว่าในปัจจุบันค่าตัวของนักบริหารค่าตอบแทนที่มีความรู้และประสบการณ์โดยตรงในด้านนี้ในตลาดจะสูงไม่น้อยเลยนะครับ

เรียกว่า “เนื้อหอม” ไม่เบาเลยเหมือนกัน

องค์กรที่เขาเห็นความสำคัญด้านนี้ก็มักจะแวะเวียนกันมาจีบนักบริหารค่าตอบแทนฝีมือดีไปร่วมงานแบบหัวกระไดไม่แห้งเลยนะครับ

เพราะ Staff Cost จะบวมหรือไม่ จะแก้ยังไงดีก็ขึ้นอยู่กันนักบริหารค่าตอบแทนที่จะช่วยดูแลและคอยส่งสัญญาณ

คนที่เข้ามาทำงานด้าน HR ยุคใหม่ ๆ นี่น่ะ ผมไม่ค่อยเห็นใครสนใจงานด้านการบริหารค่าตอบแทนกันสักเท่าไหร่นัก ทั้งที่งานด้านนี้เป็นวิชาชีพด้าน HR ที่จะเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองในระยะยาว แต่ผมก็เห็นคนที่ทำ HR ยุคใหม่ยังชอบที่จะไปทำงานด้าน HRD มากกว่า ก็เลยทำให้คนที่รู้และเข้าใจสามารถทำงานด้านการบริหารค่าตอบแทนมีน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ลองคิดดูสิครับว่าถ้าองค์กรของท่านจะจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาทำโครงสร้างเงินเดือนให้น่ะ ก็จะมีค่าที่ปรึกษาอย่างน้อย ๆ ก็หกหลักขึ้นไป

แต่ถ้าองค์กรของท่านมีนักบริหารค่าตอบแทนที่สามารถทำโครงสร้างเงินเดือนเป็น และบริหารจัดการได้ ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ไม่ต้องเสียเพราะสามารถทำได้เองจริงไหมครับ?

นี่ยังไม่รวมว่าเมื่อโครงสร้างเงินเดือนทำไปถึงจุดหนึ่งในอนาคตจะต้องมีการ Update ปรับปรุงให้สามารถแข่งขันกับตลาดค่าตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าทำเองไม่เป็นก็ต้องไปเสียเงินเพื่อจ้างที่ปรึกษาเข้ามา Update ให้อีก

ยิ่งถ้ามองยาว ๆ ไปข้างหน้าแล้วองค์กรของท่านจะประหยัดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Staff Cost ได้ไม่น้อยเลยนะครับ

ยังไม่ทันไรก็ประหยัดได้เห็น ๆ อย่างนี้ท่านคิดว่าคุ้มไหมล่ะครับ ?