วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Blind Spot Bias : อคติที่คิดว่าเราไม่มีจุดบอด แต่คนอื่นต่างหากที่มีจุดบอดกับเรา

           คำว่า Blind Spot” หมายถึงจุดบอดที่ทุกคนคงรู้จักคำนี้ดี ดังนั้นจึงแปลอคติตัวนี้แบบตรงตัวว่าเป็นอคติที่มองไม่เห็นจุดบอดหรือจุดบกพร่องของตัวเราเอง

แถมยังไปคิดว่าเราไม่ได้มีจุดบอดหรือมีข้อบกพร่องอะไร คนอื่นต่างหากที่บกพร่อง !

อคติตัวนี้จึงถือว่าเป็นอคติในการหลอกตัวเอง (Self-Deception) อย่างหนึ่ง แล้วยกตัวเองว่าเหนือกว่าคนอื่น

ถ้าเกิดการยอมรับว่าสิ่งที่รับรู้ทั้งหลายนั้นอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงก็ได้ (Perception is no reality) ก็จะลด Blind Spot Bias ตัวนี้ลงและทำให้เกิดการเปิดใจยอมรับความเป็นจริงได้มากขึ้น

บางครั้งอคติประเภทนี้จะทำให้เรามองเห็นความบกพร่องผิดพลาดหรือเห็นจุดบอดของคนอื่นได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน แต่กลับกันเราจะไม่เห็นจุดบอดของเราซะงั้น

ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเห็นว่าเพื่อนเรามีกลิ่นตัวแรงที่เป็นจุดบอดของเพื่อน แต่เรากลับไม่เห็นจุดบอดในตัวเราว่าเราก็มีกลิ่นตัวแรงเช่นเดียวกับเพื่อน แม้มีเพื่อนมาบอกบางคนก็ยังไม่ยอมรับเพราะคุ้นชินกลิ่นตัวของตัวเอง

ผมมีข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับอคติตัวนี้คืออคติตัวนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับอคติอีกตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Dunning & Kruger Effect” ซึ่งผมเคยเขียนบทความนี้ไว้ในหนังสือ “สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก” ที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีในบล็อกของผม

ก็เลยขอนำกลับมาอธิบายกันอีกครั้งดังนี้ครับ

            สมัยผมยังเด็ก ๆ เคยเรียน “โคลงโลกนิติ” (คำ ๆ นี้อ่านออกเสียงว่า “โคลง-โลก-กะ-นิด นะครับไม่ใช่ “โคลง-โลก-กะ-นิ-ติ”) บทหนึ่งบอกไว้ว่า....

          “รู้น้อยว่ามากรู้           เริงใจ

          กลกบเกิดอยู่ใน          สระจ้อย

          ไป่เคยเห็น                 ชเลไกล กลางสมุทร

          ชมว่าน้ำบ่อน้อย         มากล้ำ ลึกเหลือ”

            ผมว่าโคลงโลกนิติข้างต้นนี่แหละอธิบายเรื่องของ Dunning-Kruger Effect ของฝรั่งข้างต้นได้อย่างชัดเจน

            แล้วก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าข่าย Dunning-Kruger Effect นี้คือ “หลง” เชื่อมั่นในตัวเองอย่างสูงคิดว่าตัวเองมีความสามารถมีความเก่งไปหมดทุกเรื่อง และใครก็ตามที่คิดไม่เหมือนตัวเองคือคนที่ผิดไปหมด

            จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับคนหลงตัวเองในบุคลิกภาพแบบ Narcissism ที่ผมเคยเขียนไปก่อนหน้านี้แล้วนั่นแหละครับ

          เพียงแต่นี่เป็นการหลงในความรู้ความสามารถที่ตัวเอง(คิดว่า)มีเยอะ แต่ที่จริงแล้วกลับไม่มีจริง !

            เรามาดูที่มาของเรื่องนี้กันดีกว่านะครับว่าคำ ๆ นี้มีที่มายังไง....

            เมื่อปี 1999 (พศ.2542) มีนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Cornell 2 คนคือ ดร.เดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) และ ดร.จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) เกิดมีข้อสงสัยแปลก ๆ ขึ้นมาว่า....

          “คนที่ไม่มีความสามารถจะไม่มีวันรู้หรอกว่าตัวเองไม่มีความสามารถนั้นอยู่จริง

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะความสามารถที่เขาจะต้องใช้เพื่อเรียนรู้ว่าตัวเองไม่มีความสามารถนั้นมันไม่มี”

            เป็นไงครับ ตรรกะนี้ถ้าอ่านผ่าน ๆ เร็ว ๆ แล้วคิดตามไม่ทันก็จะงง ๆ ใช่ไหมครับ ?

            ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เข้าใจอย่างนี้ดีกว่า เช่น..

            ชวนพิศชอบร้องเพลงมาก ทุกครั้งที่ไปคาราโอเกะเธอก็จะต้องยึดไมค์ไว้แล้วร้องเพลงโปรดด้วยความมั่นใจในพลังเสียงที่เธอคิด(เอาเอง)ว่าเธอร้องเพลงเพราะขนาดถ้าไปประกวด The Voice เธอต้องชนะเลิศแน่นอน

            แต่เพื่อน ๆ ล่ะ..พอฟังชวนพิศร้องเพลงแล้วก็ล้วนแต่ส่ายหน้าเป็นพัดลมกันเป็นแถว เพราะทุกคนลงความเห็นตรงกันว่าชวนพิศร้องเพี้ยนแถมคล่อมจังหวะบ่อยอีกต่างหาก

            ถ้าสมศรีเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มจะใจกล้าพอที่จะไปบอกชวนพิศว่าเธอร้องเพี้ยน ชวนพิศก็จะโกรธและหาว่าสมศรีหูไม่ถึงขนาดแก้มเดอะสตาร์ก็ยังร้องสู้เธอไม่ได้เลยนะเนี่ยะ สงสัยสมศรีคงอยากจะแย่งเธอร้องล่ะสิถึงได้มาหาเรื่องว่าเธอร้องเพี้ยน

            อนิจจา..ชวนพิศเองก็ไม่มีความสามารถที่จะรับรู้ความจริงได้เลยว่าเธอร้องเพลงไม่ได้เรื่องจริง ๆ เพราะว่าเธอขาดความทักษะและสามารถด้านการร้องเพลงมากพอที่จะรู้ว่าเธอไม่มีความสามารถด้านการร้องเพลงอยู่จริง

            เพราะเธอไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะได้ออกระหว่างคนที่ร้องเพี้ยนคีย์กับคนที่ร้องถูกต้องเป็นยังไงเนื่องจากเธอขาดความสามารถด้านการร้องเพลงนั่นเองครับ

            ตัวอย่างของชวนพิศข้างต้นนี่แหละคือคำอธิบายของ Dunning-Kruger Effect

            โดยในการวิจัยทดสอบครั้งนี้ Dunning และ Kruger ได้มีการทดลองให้คนที่เข้าร่วมโครงการซึ่งเป็นนักศึกษาของ Cornell ได้ประเมินความสามารถของตัวเองในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านที่คิดว่าตัวเองมีอารมณ์ขัน, ความสามารถด้านตรรกะ, ความสามารถด้านไวยากรณ์ภาษาอังกฤษก่อนที่จะให้นักศึกษาเหล่านี้ทำแบบทดสอบจริง

          ผลการทดลองออกมาปรากฎว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีความสามารถต่ำที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์จะประเมินความสามารถของตัวเองเอาไว้ว่าเก่งกว่าความเป็นจริงถึง 50 เปอร์เซ็นต์ (คือประเมินว่าตัวเองเก่งมากกว่าความเป็นจริงถึงเท่าตัวครับ)

          ในขณะที่คนที่มีความสามารถสูงที่สุด 25 เปอร์เซ็นต์กลับประเมินความสามารถของตัวเองต่ำกว่าที่ตัวเองมีถึง 15 เปอร์เซ็นต์ !!

            สรุปก็คือคนที่ไม่มีความสามารถมักจะคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองดี ตัวเองมีความสามารถมากกว่าความสามารถจริงที่ตัวเองมีอยู่

          หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่าคนที่เป็น Dunning-Kruger Effect คือคนที่โง่แล้วอวดฉลาด (โดยไม่รู้ว่าตัวเองโง่) ก็คงไม่ผิดก็คงจะได้แหละครับ

            แต่..คนที่เก่งจริงมีความสามารถจริงกลับประเมินความสามารถของตัวเองต่ำจนเกินไป เพราะคิดว่าในเมื่อตัวเองทำได้ก็น่าจะมีคนที่เก่งกว่าตัวเองทำได้เช่นเดียวกัน

          เลยมีคำพูดหนึ่งว่า “Little knowledge can be dangerous” หรือการรู้อะไรแล้วไม่รู้จริงนี่เป็นสิ่งอันตราย

            ผมเคยเห็นคนที่เป็นที่ปรึกษาด้านควบคุมคุณภาพไปให้คำแนะนำเรื่องของกฎหมายแรงงานที่ไม่ถูกต้องกับผู้บริหารของบริษัทมาแล้ว (ผมเคยเขียนเรื่องจรรยาบรรณของการเป็นที่ปรึกษาไปแล้วก่อนหน้านี้)

            ซึ่งกรณีนี้ผมก็ว่าที่ปรึกษาคนนี้อาจจะคิดว่าตัวเองมีความรู้เรื่องระบบคุณภาพเป็นอย่างดีก็เลยคิด(เข้าข้างตัวเอง) ว่าตัวเองมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายแรงงานที่ดีตามไปด้วย (มั๊ง)

          โดยที่ตัวของแกเองก็ไม่รู้หรอกว่ากฎหมายแรงงานที่แกคิดว่ารู้ดีและให้คำแนะนำกับลูกค้าไปน่ะคือสิ่งที่ไม่แกไม่รู้จริงและไม่ถูกต้อง

          แถมตัวแกเองก็ยังมั่นใจด้วยว่าคำแนะนำของแกถูกอีกต่างหาก !

            จึงอธิบายตามทฤษฎีนี้ได้ว่าที่ปรึกษาคนนี้ขาดความสามารถในการรับรู้ว่าตัวเองไม่มีความรู้กฎหมายแรงงานและก็ยังเชื่อ (แบบเข้าข้างตัวเอง) ว่าตัวเองมีความรู้กฎหมายแรงงานเป็นอย่างดี ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานหรือเคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน

            สาเหตุที่แกขาดความสามารถที่จะรับรู้ว่าตัวเองไม่มีความรู้กฎหมายแรงงาน ก็เพราะตัวเองไม่มีความรู้ด้านกฎหมายแรงงานจริง ๆ อยู่ในตัวน่ะสิครับ เมื่อไม่มีภูมิรู้เรื่องกฎหมายแรงงานในตัวก็เลยไม่รู้ว่าอะไรคือถูกอะไรคือผิดกฎหมายแรงงาน แถมคิดเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่แนะนำลูกค้าไปน่ะมันถูกแล้ว

ทั้ง ๆ ที่เป็นคำแนะนำที่ผิด!!

            ผมจึงมาถึงบทสรุปในเรื่องของ Dunning-Kruger Effect ก็คือเราคงเคยเห็นคนที่หลงคิดว่าตัวเองรู้ทุกเรื่องและ Ego จัด Self จัด ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ขืนมาวิจารณ์ก็จะหัวร้อนสวนกลับ

หรือยิ่งถ้าคนประเภทนี้มี FC แฟนคลับเยอะ ๆ ที่เป็นสาวกแบบงมงายใครมาแตะต้องมีหวังสวนกลับกันมาบ้างแล้ว ถ้าคนเหล่านี้ยังดันทุรังไม่ปรับปรุงตัวเอง และคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลดาวทุกดวงต้องมาโคจรรอบ ๆ ฉันก็ปล่อยเขาไปเถอะครับวันหนึ่งเขาก็จะเจอกับสัจธรรมของเขาเองแหละ

          ต่อไปเวลาเราจะพูดถึงคนพวกนี้ก็ให้พูดโค้ดลับว่าพวกนี้เป็นพวก “DKE” ดีไหมครับ

            แต่ก็ให้ระวังตัวเราเองอย่าตกเป็นเหยื่อของ DKE ด้วยล่ะครับ

            พอพูดถึงเรื่องของคนที่คิดว่าตัวเองเก่ง แต่ที่แท้ก็ไม่เก่งจริงแบบ Dunning & Kruger Effect ไปแล้ว ผมก็อดคิดถึงอคติที่ทำให้เกิดพฤติกรรมตรงกันข้ามกับ DKE ไม่ได้

            ก็เลยขอนำเอาอคติอีกตัวหนึ่งที่ตรงกันข้ามมาเล่าต่อไปเลยนะครับ

            ความคิดที่ตรงกันข้ามกับ DKE คือ “Imposter Syndrome” หรือที่ผมแปลเป็นไทยว่า “รู้สึกด้อยค่า..ในสายตาตัวเอง” ครับ

            เรื่องของ Imposter Syndrome นี้ผมก็เขียนเอาไว้ในหนังสือ “สนุกไปกับพฤติกรรมคนด้วยจิตวิทยาและเทวดากรีก” ด้วยเหมือนกัน

            ขอนำมาเล่าสู่กันฟังตามนี้ครับ

เราได้เรียนรู้เรื่องของคนโง่แต่คิดว่าตัวเองฉลาดหรือ Dunning-Kruger Effect หรือ DKEกันไปแล้ว

มาตอนนี้เราจะมาพูดถึงคนอีกพวกหนึ่งที่มีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับพวก DKE คือพวกที่เราเรียกว่ารู้สึกด้อยค่าในสายตาตัวเอง หรือ Impostor Syndrome” ครับ

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1978 (พศ.2521) มีนักจิตวิทยาจาก Georgia State University คือ Pauline Rose และ Suzanne Imes ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารสตรีที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จได้เพราะอะไร

คำตอบของผู้บริหารหญิงเหล่านั้นคือเธอไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะความสามารถของเธอที่ทำให้มาประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ แต่เป็นเพราะกระบวนการสรรหาคัดเลือกที่ดีหรือเป็นเพราะโอกาสหรือจังหวะหรือเป็นเพราะโชคต่างหากที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จ !

คือพูดง่าย ๆ ว่าคนเก่งกลับไม่ยอมรับว่าตัวเองเก่งจริง มีความสามารถจริงแต่กลับไปให้เครดิตกับเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ความสามารถของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เป็นความสามารถของตัวเองโดยแท้

ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับความรู้สึกของเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นนะครับ ผู้ชายหลายคนก็เป็นแบบนี้ !

จะบอกว่าคนเหล่านี้ถ่อมตัวก็ไม่ใช่นะครับ ถ้ามีอาการแบบนี้น้อย ๆ ก็อาจจะดูว่าคน ๆ นั้นถ่อมตัว

แต่คนที่อยู่ในอาการ Impostor Syndrome จะไม่ได้คิดแบบคนถ่อมตัวน่ะสิครับ

คราวนี้ถ้าใครมีอาการแบบนี้มาก ๆ ก็จะทำให้เป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง จะมองตัวเองในแง่ลบ มองว่าตัวเองด้อยค่าในสังคม

เรามันไม่เห็นจะได้เรื่องอะไรเลย มองตัวเองว่าไม่มีความสามารถอะไรเลย เราไม่ยังไม่เก่งจริงสักอย่าง (ทั้ง ๆ ที่เก่งและมีความสามารถอยู่จริง ๆ) แถมถ้าเป็นคนเครียดมาก ๆ เพื่อนน้อยไม่มีทางระบายความรู้สึกให้ใครได้ฟังก็อาจเป็นโรคซึมเศร้าและคิดสั้นเอาง่าย ๆ นะครับ

จะเห็นว่าพฤติกรรมแบบ Impostor Syndrome กลับทางกับ DKE เลยก็ว่าได้

ถ้าจะถามว่าแล้วจะแก้อาการแบบนี้ได้ยังไง ?

ในความเห็นของผมคงเสนอแนะอย่างนี้ครับ

1. ไม่ควรเก็บตัวอยู่แต่ในที่ทำงานหรือที่บ้าน ควรจะหาโอกาสเข้าสังคมกับเพื่อนฝูงบ้างมีการสังสรรค์เฮฮากันบ้างตามโอกาสที่เหมาะสม หรือไปออกกำลังกายตามที่ตัวเองชอบก็ได้

2. ในระหว่างการสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ก็ซักถามสารทุกข์สุกดิบดู แล้วจะพบว่าคนที่ดีกว่าเราก็มี เพื่อนที่ยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างเราก็มี อย่างน้อยก็จะทำให้เราเห็นว่าเราไม่ได้เป็นคนที่แย่ที่สุด เรายังมีอะไรดี ๆ ที่จะอวดให้เพื่อนรู้สึกทึ่งในตัวเราได้อีกตั้งหลายอย่าง จะได้ลดการดูถูกตัวเราเองลงไป

3. หาเวลาท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนฝูงบ้างตามโอกาสที่เหมาะสม เรื่องนี้ก็จะมีผลคล้าย ๆ กับข้อ 2 คือจะทำให้เราได้สติได้คิดอะไรดี ๆ ขึ้นมาได้อีกตั้งหลายอย่างระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อน

4. ไปปฏิบัติธรรมหรือปฏิบัติศาสนกิจในศาสนาที่ตัวเองเคารพนับถือ เพื่อรับฟังคำสอนที่ดี ๆ จากครูบาอาจารย์ทำให้เกิดสติได้ข้อคิดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนานั้น ๆ จะทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองเพิ่มมากขึ้น

5. ไปช่วยเหลือสังคมเช่นไปทำบุญกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า, สถานเลี้ยงเด็กพิการซ้ำซ้อน แล้วเราจะเห็นว่าคนที่ลำบากกว่าเราก็ยังมีอยู่ไม่น้อย เรายังมีโอกาสที่ดีกว่าคนอีกหลาย ๆ คน ยังมีความสามารถมีคุณค่าในตัวเองมากพอที่จะมาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ให้เขามีความสุขขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็จะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นได้

6. เขียนบันทึกผลงานหรือสิ่งที่เราทำสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจเอาไว้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้าเราจะพบว่าเราก็มีความสามารถสร้างผลงานหรือสิ่งดี ๆ มาไม่น้อยเหมือนกันแถมยังเก็บไว้เป็น Portfolio ของตัวเราเอง

เท่าที่ผมคิดได้เร็ว ๆ ในตอนนี้ก็คงมีเท่านี้สำหรับวิธีแก้อาการแบบนี้ถ้าใครมีวิธีอะไรที่ดี ๆ ก็แชร์มาได้นะครับ แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่เก็บตัวหมกมุ่นอยู่กับความคิดว่าเราด้อยค่าด้อยความสามารถและจะต้องเปิดตัวออกไปสู่สังคมให้มากขึ้นครับ