วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Anchoring Bias : อคติที่เกิดจากการเชื่อข้อมูลที่ได้รับมาจนไม่คิดหาใหม่เพิ่มเติม

           อคติชนิดนี้มักมีคนนำไปเปรียบเทียบกับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพราะจะทำให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น

เช่น นักลงทุนที่ซื้อหุ้นในบริษัท A เพราะมีข้อมูลมาแต่เดิมว่าบริษัท A มีความมั่นคงสูงก็เลยมีความเชื่อว่าถ้าเราลงทุนในบริษัทที่มั่นคงอย่างนี้แล้ว มันจะมั่นคงไปเรื่อย ๆ บริษัทจะจ่ายเงินปันผลและให้ผลตอบแทนที่ดีอย่างนี้ไปตลอด

เพราะเรามีข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับบริษัท A เป็นอย่างนั้น ทำให้เราเกิดความเชื่อในด้านบวกกับบริษัท A ในขณะที่เราไม่ได้คิดหาข้อมูลใหม่ ๆ ในปัจจุบันของบริษัท A มา Update เลยว่าบริษัท A มีความเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างแล้วจากข้อมูลเดิมที่เราเคยมีอยู่

เช่น ปัจจุบันบริษัท A อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาแทนผู้ถือหุ้นเดิม มีนโยบายของผู้ถือหุ้นใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ผลการประกอบการที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

ถ้าเราลดอคติตัวนี้ลงก็อาจจะทำให้เราได้คิด และปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนในบริษัท A ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดการขาดทุนในหุ้นของบริษัท A ลงก็เป็นได้

แต่ถ้าเราเป็นเหยื่อของอคติแบบ Anchoring Bias เราก็จะเป็นหนึ่งในคนที่ติดดอยเอาง่าย ๆ เหมือนกันครับ

อคติชนิดนี้ถ้าพูดกันในเรื่องการทำงานแล้วก็อาจจะพบว่าเวลาที่เรากำลังพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครงานในตำแหน่ง Vice President ด้าน HR ที่จะต้องดูแลรับผิดชอบทั้งงานด้าน HRD และ HRM ทั้งหมดของบริษัทว่าเหมาะสมกับตำแหน่งงานนี้ไหม

ถ้า CEO ที่มีอำนาจในการรับผู้สมัครรายนี้เข้าทำงานมีอคติที่เกิดจากการเชื่อข้อมูลเดิมที่ได้รับมาจากเพื่อนว่าผู้สมัครรายนี้ซึ่งปัจจุบันเป็น HRD Manager มีผลงานด้านการพัฒนาบุคลากรเป็นที่ยอมรับของวงการ เคยทำเรื่องของ Succession Plan, Talent Management, Career Development, สร้างและพัฒนาระบบ Competency และทำ Development Roadmap ฯลฯ

พอมีอคติตัวนี้เข้ามาจับก็จะทำให้ตัดสินใจไปแล้วว่าผู้สมัครรายนี้จะต้องทำงานในตำแหน่ง VP-HR ได้ โดยไม่หาข้อมูลเพิ่มเติมเลยว่าผู้สมัครรายนี้เคยผ่านงานด้าน HRM มาบ้างหรือไม่ เคยทำงานด้าน HRM ประสบความสำเร็จหรือมีผลงานอะไรที่อ้างอิงให้น่าเชื่อถือว่าจะสามารถมาดูแลงานด้านนี้ได้ไหม

เมื่อไม่มีการหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วปล่อยให้อคติแบบ Anchoring Bias เข้าครอบงำ ก็จะทำให้ตัดสินใจรับคนเข้าทำงานที่ผิดพลาดและเกิดปัญหาต่อที่จะต้องไปตามแก้ไขกันในอนาคต

                            ...............................