วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2561

จะเตรียมรับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้ายังไงดี?


            ผมเคยเขียนเรื่องผลกระทบของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ไปแล้วโดยชี้ให้เห็นว่าเมื่อเราเปรียบเทียบระหว่างเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรวมกับอัตราเงินเฟ้อแล้วจะมีมากกว่าเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีโดยเฉลี่ยของบริษัทดังภาพนี้
            จากภาพข้างต้นในช่องขวาสุดท่านจะเห็นได้ว่าพนักงานจะได้รับการขึ้นเงินเดือนจริง (เมื่อหักเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเฟ้อ) ในปี 2560=1 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2561= -1 เปอร์เซ็นต์ (ผมปัดเศษนะครับเพราะ 0.8 ก็คือ 1 เปอร์เซ็นต์นั่นแหละ) 

            เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำมีหลายอัตราผมก็เลยขอใช้อัตราในกทม.เป็นหลักในการอ้างอิงนะครับ

          สำหรับในปี 2562 คือปีหน้าผมก็พยากรณ์ว่าเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนประจำปีเฉลี่ยของบริษัทต่าง ๆ ก็จะใกล้เคียงกับหลายปีที่ผ่านมานี้คือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม ส่วนเปอร์เซ็นต์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็น่าจะอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์และอัตราเงินเฟ้อก็ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

            ถ้าจะถามว่าทำไมถึงพยากรณ์แบบนี้?

            ก็ตอบได้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในบ้านเราก็ไม่ได้มีอะไรที่หวือหวาแตกต่างไปจากปีที่แล้วมากนัก ไม่ได้ดีขึ้นแบบหน้ามือเป็นหลังมือและยังมีทุกอย่างอยู่ในลักษณะ Sideways แบบทรง ๆ ตัว

            ดังนั้นทุกอย่างจึงมีแนวโน้มจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วแหละครับ

            นี่หมายถึงว่าถ้าไม่มีการหาเสียงแบบประชานิยมที่สัญญาว่าจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบกระโดดขึ้นไป 40 เปอร์เซ็นต์เหมือนเมื่อปี 2554-55 นะครับ อันนั้นเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากเหตุผลปกติแล้วครับ

            ที่ผมบอกมานั้นจะจริงหรือไม่..ใช่หรือมั่วก็ต้องมาดูกันในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้รู้กัน

          และถ้าเป็นอย่างที่ผมคาดการณ์ท่านก็จะเห็นว่าช่องขวามือสุดเมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วพนักงานก็จะได้รับการขึ้นเงินเดือนประปี 2562 ในอัตราติดลบ 1 เปอร์เซ็นต์เหมือนปี 2561 ครับ

            แล้วบริษัทจะมีวิธีรับมือเรื่องเหล่านี้ยังไง?

1.      ขึ้นเงินเดือนประจำปีให้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด เช่น 8-9 เปอร์เซ็นต์เพื่อรักษาคนที่มีผลการปฏิบัติงานตามค่าเฉลี่ย (คือผลประเมินเกรด C) ส่วนใหญ่เอาไว้ถ้าบริษัทมีขีดความสามารถในการจ่ายไหว ซึ่งก็จะทำให้โดยเฉลี่ยพนักงานจะได้รับเงินติดกระเป๋ามากกว่าตลาด 2-3 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทก็จะต้องมี Staff Cost เพิ่มขึ้น ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทไหนมีขีดความสามารถในการจ่ายซักแค่ไหน

2.      ปรับเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษให้กับพนักงานที่ทำงานในตำแหน่ง Key Position ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อรักษาพนักงานเหล่านี้เอาไว้ ถ้าหากลาออกไปก็จะหาคนมาทดแทนได้ยากหรือต้องใช้เวลานานในการฝึกและพัฒนาเพื่อให้เข้าใจงานและสามารถปฏิบัติได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะมีผลกระทบคือต้องระวังว่ามีการใช้อคติในการปรับเงินเดือนให้กับบางคนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมแต่ได้ปรับเพราะเป็น “ลูกรัก” ของผู้บริหารบางคน หรือใช้ระบบเส้นสาย และพนักงานที่ไม่ได้รับการปรับเงินเดือนก็จะมีปัญหาไม่พอใจ

3.      เพิ่มเงินช่วยเหลืออื่น ๆ นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค่าครองชีพ, ค่าอาหาร, ค่าจูงใจ, ค่าพาหนะ, ค่าตำแหน่ง ฯลฯ เพื่อชดเชยเปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินเดือนที่ติดลบ ในทางจิตวิทยาพนักงานก็จะรู้สึกว่าบริษัทยังมีเงินช่วยเหลืออื่น ๆ ที่มากกว่าตัวเงินเดือนมูลฐานเพียงตัวเดียว แต่วิธีนี้ก็จะทำให้บริษัทมี Staff Cost เพิ่มขึ้น อีกเรื่องหนึ่งคือเงินอื่น ๆ เหล่านี้บางตัวอาจจะถูกตีความเป็น “ค่าจ้าง” ตามกฎหมายแรงงานซึ่งจะต้องนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณโอที, ค่าชดเชย, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยครับ

4.      เพิ่มโบนัสแบบ Incentive ตามผลงานซึ่งจะไม่ผูกพันกับเงินเดือนและจะมีผลในเชิงจิตวิทยาสำหรับพนักงานว่าจ่ายโบนัสเยอะ ซึ่งวิธีการจ่ายโบนัสมากแต่ฐานเงินเดือนต่ำมักจะเป็นกลยุทธ์ด้านค่าตอบแทนของหลายบริษัท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานของพนักงานเป็นรายบุคคลตามการประเมินของหัวหน้า และไม่ถูกตีความเป็นค่าจ้าง รวมทั้งอาจจะใช้วิธีการจ่ายโบนัสที่บ่อยกว่าการจ่ายปีละครั้ง เช่น การจ่ายโบนัส 2 ครั้งต่อปี 3 ครั้งต่อปี (ทุก 4 เดือน) หรือจ่ายแบบรายไตรมาส เป็นต้น

            ทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ คนที่เป็น Compensation Manager จะต้องไปดูว่ามีผลกระทบไปถึงอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิต่าง ๆ สำหรับคนจบใหม่แล้วหรือยัง ควรจะต้องปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิให้หนีผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ ถ้าปรับอัตราเริ่มต้นตามคุณวุฒิใหม่จะมีผลทำให้ Staff Cost ในการรับคนใหม่ในปีงบประมาณหน้าเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่

            จากผลกระทบดังกล่าวจะต้องมีการปรับเงินเดือนพนักงานเก่าที่เข้ามาด้วยอัตราจ้างเดิมหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องปรับเงินเดือนคนเก่าเพื่อรักษาคนเก่าเอาไว้จะปรับด้วยสูตรไหนวิธีไหน มีหลักเกณฑ์ในการปรับยังไง ฯลฯ

            จากที่ผมยกตัวอย่างมาทั้งหมดนี้คงจะพอทำให้ท่านที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มีไอเดียนำไปคิดต่อยอดเพื่อวางแผนรับมือกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและขึ้นเงินเดือนประจำปีของบริษัทในปีต่อไปได้บ้างแล้วนะครับ

………………………………….