วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนแบบง่าย ๆ (ตอนที่ 4)


            สำหรับในตอนที่ 4 นี้เรามาพูดกันในเรื่องของค่ากลางหรือ Midpoint กันต่อเลยดังนี้ครับ

Midpoint-MP ค่ากลาง
            ค่ากลางคืออะไร?
            ค่ากลางก็คือค่าที่อยู่กึ่งกลางกระบอกเงินเดือนน่ะสิครับ ตอบซะแบบกำปั้นทุบดินกันไปเลย ;-)
            สูตรการหาค่ากลางง่าย ๆ ก็คือ Max+Min หาร 2


            เช่นตามตัวอย่างข้างบน ค่ากลาง=24,000+12,000 หาร 2 = 18,000 บาท

            อย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นแหละครับว่า หลักการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนเราควรจะออกแบบแต่ละกระบอกให้มีค่ากลางอยู่ประมาณใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยที่ตลาดเขาจ่ายให้กับตำแหน่งต่าง ๆ ใน Job Grade นั้น ๆ ซึ่งคนทำโครงสร้างเงินเดือนจะต้องไป Match Job ให้ดี ๆ แล้วหาค่าเฉลี่ยของตลาดออกมาให้ได้ว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม

            สำหรับบริษัท (ส่วนใหญ่ที่ผมเจอมา) ฝ่ายบริหารก็มักจะมีนโยบายในการทำโครงสร้างเงินเดือนให้มีค่ากลางของแต่ละกระบอกเงินเดือนอยู่ประมาณค่าเฉลี่ยที่ตลาดเขาจ่ายกัน

            เช่นในกรณีนี้สมมุติว่าค่ากลางของ Job Grade นี้เท่ากับ 18,000 บาท ก็หมายความว่าตลาดเขาจ่ายเงินเดือน (Base Salary) ให้กับตำแหน่งต่าง ๆ ที่อยู่ใน Job Grade นี้ประมาณ 18,000 บาทครับ อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยตลาดได้บ้างแต่ค่ากลางที่ออกแบบในแต่ละกระบอกก็มักอยู่ประมาณแถว ๆ ค่าเฉลี่ยของตลาดนั่นแหละครับ

            จึงพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า....

          ค่ากลาง (Midpoint) เป็นค่าที่ยุติธรรมหรือเป็นค่าที่เสมอภาคและเป็นธรรมในการจ้างคนเข้ามาทำงานใน Job Grade นี้ เพราะตลาดเขาก็จ่ายกันอยู่ประมาณนี้แหละ

            ถ้าดูจากตัวอย่างข้างต้นก็คือใครก็ตามที่ทำงานอยู่ในตำแหน่งใดใน Job Grade นี้แล้วได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 18,000 บาท ก็หมายถึงคน ๆ นั้นทำงานให้กับบริษัทอย่างเต็มที่สมราคา ในขณะที่บริษัทก็จ่ายเงินเดือนให้กับคน ๆ นี้อย่างยุติธรรมแล้วเช่นเดียวกัน เพราะตลาดภายนอกโดยทั่ว ๆ ไปเขาก็จ่ายกันอยู่ประมาณ 18,000 บาท

          เรียกว่าการจ่ายเงินเดือนที่ค่ากลางนั้น ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง!!

            เป็นราคาที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย หรือทางเศรษฐศาสตร์อาจจะเรียกว่าเป็น “ราคาดุลยภาพ” หรือ “Equilibrium Price” ก็ได้ครับ

          แล้วถ้าใครที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าค่ากลางก็แปลว่าบริษัทเอาเปรียบเขาอยู่หรือเปล่า?

            เช่นสมมุติตอนนี้มีพนักงานที่อยู่ในกระบอกเงินเดือนนี้รับเงินเดือนอยู่ที่ 12,000 บาท ก็หมายถึงว่าพนักงานคนนี้อาจจะยังมีความรู้ ทักษะหรือมีประสบการณ์ในงานที่ทำยังไม่เท่ากับคนที่ได้เงินเดือน 18,000 บาท บริษัทก็เลยเห็นสมควรที่จะให้เงินเดือนที่ 12,000 บาท (เท่ากับ Min ใน Job Grade นี้) ซึ่งเมื่อพนักงานคนนี้พัฒนาตัวเองให้มีความรู้ความสามารถในการทำงานเพิ่มมากขึ้น มีผลงานที่ดีขึ้นมากขึ้นก็จะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนต่อไปได้เรื่อย ๆ จนไปสูงสุดไม่เกิน 24,000 บาท

            แม้ว่าพนักงานคนนี้จะได้รับเงินเดือน 12,000 บาทอยู่ก็จริง แต่งานและความรับผิดชอบหรือค่างานในตำแหน่งที่พนักงานคนนี้ทำอยู่จะต้องรับผิดชอบเหมือนกับคนที่ได้เงินเดือน 24,000 บาทครับ เพราะถือว่าทุกตำแหน่งในกระบอกเงินเดือนนี้อยู่ใน Job Grade ที่มีค่างานเดียวกัน

            ดังนั้น ถ้ามองในมุมนี้ก็จะดูเหมือนว่าบริษัทจะได้เปรียบพนักงานคนนี้อยู่เพราะใช้งานเขาเต็มที่เหมือนกับจ้าง 24,000 บาท แต่จ่ายเพียง 12,000 บาท

          ซึ่งก็จะมีศัพท์เทคนิคเรียกการจ่ายแบบนี้ว่าบริษัทจ่ายเงินเดือนให้พนักงานคนนี้ “ต่ำกว่า” ที่ตลาดเขาจ่ายกัน หรือ “Under Paid” ครับ

            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจ่ายต่ำมากจนเกินไปเพราะกรอบการจ่ายของตำแหน่งต่าง ๆ ใน Job Grade นี้จะต้องไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท ซึ่งก็หมายถึงในตลาดเขาก็จ่ายกันประมาณนี้เช่นเดียวกัน

            เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไปจ้างให้คนทุกคนที่มาทำงานใน Job Grade นี้ได้เงินเดือนเท่ากันที่ Midpoint ใช่ไหมล่ะครับ?

            เนื่องจาก Performance ของแต่ละคนไม่เท่ากันนี่นา บางคนมีผลงานมีฝีมือมีความรู้ความสามารถมาก็อาจจะได้เงินเดือนสูงกว่าคนที่มีความรู้ความสามารถน้อยกว่าเป็นธรรมดาของการจ้างจริงไหมครับ

            แต่บริษัทก็ไม่ได้จ้างแบบกดเงินเดือนต่ำจนพนักงานรับไม่ได้ ซึ่งนั่นก็คือการกำหนดอัตราจ้างต่ำสุดของ Job Grade นี้เพื่อรองรับเอาไว้ในที่นี้ก็คือ Min เท่ากับ 12,000 บาทแล้วยังไงล่ะครับ

            ถ้าบริษัทไหนไปจ้างใครที่ทำงานใน Job Grade นี้ต่ำกว่า Min ก็แสดงว่าบริษัทนั้นไปเอาเปรียบเขามากจนเกินงามแล้วล่ะครับ

            ในทางกลับกัน ถ้าบริษัทจ้างพนักงานตำแหน่งใดก็ตามใน Job Grade นี้สูงกว่าค่ากลาง เช่น จ้างอยู่ที่ 23,500 บาท ก็หมายถึงบริษัทจ่ายเงินเดือนให้แพงกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกัน ในขณะที่พนักงานคนนี้ทำงานให้กับบริษัทไม่คุ้มกับที่บริษัทจ่ายให้เขา

          การจ่ายแพงกว่าที่ตลาดเขาจ่ายกันนี่ก็เรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า “Over Paid” หรือจ่ายแพงเกินไปครับ!

            ถ้าพูดกันแบบตรงไปตรงมาก็คือพนักงานที่บริษัทจ่ายแบบ Over Paid ทำงานใน Job Grade นี้มานาน ทำงานเหมือนเดิม ความรับผิดชอบเท่าเดิม แต่ไม่สามารถจะเลื่อนตำแหน่งให้ขึ้นไปอยู่ใน Job Grade ที่สูงขึ้นต่อไปอีกได้ บริษัทก็จำเป็นที่จะต้องควบคุมเพดานเงินเดือนเอาไว้ไม่ให้สูงมากเกินไปในกรณีนี้คือเงินเดือนที่ Max เท่ากับ 24,000 บาท

          แปลว่าพนักงานคนนี้จะได้รับการปรับฐานเงินเดือนขึ้นไปอีกได้ไม่เกิน 500 บาท ถ้าพนักงานไม่สามารถจะเลื่อนตำแหน่ง เพิ่มงานและความรับผิดชอบให้ขึ้นไปอยู่ใน Job Grade ต่อไปได้ก็ต้องยอมรับว่าเงินเดือนของตัวเองจะต้องตัน!

          เพราะค่าของงานใน Job Grade นี้มีอยู่เพียงเท่านี้เอง

            ถ้ามองอย่างเป็นกลางมีใจเป็นธรรมไม่เข้าข้างตัวเอง ลองคิดย้อนกลับมาว่าถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการ เราจะขึ้นเงินเดือนให้กับพนักงานที่ทำงานเหมือนเดิมไปเรื่อย ๆ โดยที่พนักงานคนนั้นก็ทำงานแบบนี้มาหลายปีแล้วก็ยังทำอยู่แบบนั้น ไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ทำงานได้มากขึ้น มีความรู้ความสามารถที่จะรับผิดชอบงานที่มีค่างานสูงขึ้น ไม่มีความเติบโตก้าวหน้าได้ต่อไป อยู่ในตำแหน่งไหนก็อยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อย ๆ จนเกษียณ แต่บริษัทจะต้องปรับขึ้นเงินเดือนไปเรื่อย ๆ แบบ อันลิมิต (Unlimited) อย่างนี้บริษัทก็จะมีค่าใช้จ่ายเรื่องเงินเดือน (และ Staff Cost อื่น ๆ ที่คิดจากฐานเงินเดือนเช่น ค่าล่วงเวลา, เงินสมทบ Provident Fund, เงินสมทบประกันสังคม, กองทุนเงินทดแทน) เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ และไม่รู้จะไปสิ้นสุดตรงไหน

            แล้วถ้าพนักงานคนอื่น ๆ เห็นแล้วเอาเป็นตัวอย่างทำแบบเดียวกัน คือทำงานเหมือนเดิมไม่อยากจะรับผิดชอบอะไรให้มากไปกว่านี้ แต่เรียกร้องให้ปรับขึ้นเงินเดือนไปเรื่อย ๆ ทุกปีอย่างนี้บริษัทจะสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้หรือไม่ล่ะครับ

            ในตอนนี้คงพูดได้เรื่องเดียวคือเรื่องของค่ากลางเพราะมีรายละเอียดพอสมควร ส่วนในตอนที่ 5 เราค่อยมาว่ากันต่อนะครับ

..................................................