วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือนแบบง่าย ๆ (ตอนที่ 2)


          ในตอนที่ 1 ผมพูดถึงหลักการในการการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนไว้แบบง่าย ๆ ว่าก่อนการทำโครงสร้างเงินเดือนควรจะต้องมีการประเมินค่างานให้เรียบร้อยเสียก่อน เมื่อประเมินค่างานเสร็จแล้วเราก็จะนำเอาตำแหน่งงานที่อยู่ในแต่ละ Job Grade ไปดูเทียบกับตลาดว่าเขาจ่ายกันอยู่เท่าไหร่เพื่อมาวิเคราะห์ดูว่าเราควรจะออกแบบโครงสร้างเงินเดือนของเราให้มีค่ากลางอยู่ใกล้เคียงกับที่ตลาดเขาจ่ายกัน (ถ้าบริษัทมีนโยบายทำโครงสร้างเงินเดือนให้อยู่ใกล้เคียงกับตลาดนะครับ) หวังว่าคงยังไม่ลืมนะครับ

            ถ้าลืมก็ต้องกลับไปอ่านตอนที่ 1 ใหม่อีกครั้งเพื่อทบทวนอีกรอบแล้วล่ะครับ

            มาในตอนนี้ผมก็จะขอพูดถึงลักษณะของโครงสร้างเงินเดือนในรายละเอียดต่ออย่างนี้

ลักษณะของโครงสร้างเงินเดือน

            เมื่อออกแบบโครงสร้างเงินเดือนเสร็จแล้ว โครงสร้างเงินเดือนจะมีลักษณะทำนองนี้

           โครงสร้างเงินเดือนที่เห็นข้างต้นจะเป็นโครงสร้างเงินเดือนแบบที่เรียกว่า Range Salary” หรือโครงสร้างเงินเดือนแบบช่วง ซึ่งเป็นโครงสร้างที่นิยมทำกัน

          แกนนอนคือกลุ่มของตำแหน่งงานหรือ Job Grade (หรือจะเรียกว่า Job Group ก็ได้) ซึ่ง Job Grade เกิดจากการที่บริษัททำการประเมินค่างานทุกตำแหน่งเสร็จสิ้นแล้วก็จะนำตำแหน่งต่าง ๆ มาเรียงลำดับความสำคัญตามคะแนนที่ได้รับจากการประเมินค่างาน

            แล้วบริษัทก็จะจัดตำแหน่งที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มเดียวกันเข้าไปอยู่ใน Job Grade เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ใน Job Grade 1 อาจจะประกอบด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล, เจ้าหน้าที่บัญชี, เจ้าหน้าที่จัดซื้อ ฯลฯ ที่มีคะแนนอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือใน Job Grade 2 ก็ประกอบด้วยผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบุคคล, ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบัญชี เป็นต้น

          ซึ่งตำแหน่งที่อยู่ใน Job Grade เดียวกันจะถือว่ามีค่างาน (Job Value) และความรับผิดชอบอยู่ในกลุ่มงานเดียวกันจึงอยู่ในกระบอกเงินเดือนเดียวกัน

          หลังจากการจัดตำแหน่งงานเข้าไปในแต่ละ Job Grade แล้ว เราจะไม่มาดูคะแนนดิบอีกนะครับไม่งั้นเดี๋ยวจะมีดราม่าเรื่องตำแหน่งนี้ทำไมคะแนนมากกว่าตำแหน่งนั้นอีก ถ้าอยู่ใน Job Grade เดียวกันก็ถือว่ามีงานและความรับผิดชอบตลอดจนมีค่างานอยู่ในระดับเดียวกัน

            หลักการที่สำคัญในการออกแบบโครงสร้างเงินเดือนในแต่ละกระบอกคือการนำตำแหน่งต่าง ๆ ในแต่ละ Job Grade ไปดูว่าในตลาดเขาจ่ายเงินเดือนมูลฐาน (Base Salary) เฉลี่ยเท่าไหร่ หรือเรียกว่าการทำ Job Matching กับตลาด ซึ่งผู้ออกแบบจะต้องมีข้อมูลการสำรวจค่าตอบแทนในตลาดมาเป็นตัวอ้างอิง

            แล้วจึงนำค่าเฉลี่ยที่ตลาดจ่ายเงินเดือนสำหรับตำแหน่งใน Job Grade นั้น ๆ มาเป็นแนวทางในกาคิดวิเคราะห์เพื่อออกแบบโครงสร้างเงินเดือนใน Job Grade นั้นต่อไป

            เอาล่ะครับในตอนที่ 2 ผมขอเล่าให้ฟังแค่นี้ก่อน และในตอนที่ 3 ผมจะมาอธิบายกายวิภาคของกระบอกเงินเดือนแต่ละกระบอกต่อไปนะครับ

            โปรดอดใจรอในตอนต่อไป....

…………………………………..