วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2568

ไม่ยื่นใบลาออกล่วงหน้าต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทล้านกว่าบาทจริงหรือ?

             เห็นลงข่าวกันในสื่อออนไลน์ว่าพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งไม่ยื่นใบลาอออกตามระเบียบซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ยื่นใบลาออกล่วงหน้า 90 วันก็เลยทำให้บริษัทฟ้องพนักงานว่าทำผิดระเบียบของบริษัท เมื่อบริษัทนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงานทำให้พนักงานต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัท 1.3 ล้านบาท

            ก็เลยทำให้เกิดการพูดต่อ ๆ กันไปว่าถ้าไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบนี่มีสิทธิโดนเรียกค่าเสียหายได้เป็นล้านบาทเลยเชียวนะ

            จริงหรือครับ?

            เรามาตั้งหลักกันเรื่องการลาออกก่อนดีไหมครับ

            ตามมาตรา 17 ของกฎหมายแรงงาน (ขอพูดแบบง่าย ๆ โดยไม่ใช้ภาษากฎหมายนะครับ) บอกไว้ว่าถ้านายจ้างจะแจ้งเลิกจ้างหรือลูกจ้างจะยื่นใบลาออกทั้งสองฝ่ายสามารถบอกกล่าวกันล่วงหน้าได้แต่ไม่ต้องเกิน 3 เดือน

            ถ้าบริษัทไหนจะยึดมาตรานี้แบบเป๊ะก็มักจะมีระเบียบการลาออกว่าถ้าพนักงานจะลาออกก็ต้องยื่นใบลาออกล่วงหน้า 3 เดือน ก็เรียกว่าใส่กันเต็มแม็กเช่นบริษัทที่เป็นข่าวนี้

            แต่บริษัทส่วนใหญ่เท่าที่ผมเห็นมามักจะกำหนดให้พนักงานยื่นใบลาออกล่วงหน้า 1 เดือน

          แต่..ถ้าจะถามว่าพนักงานจะยื่นใบลาออกโดยมีระยะเวลาน้อยกว่าที่บริษัทกำหนดได้ไหม?

            เช่น ยื่นใบลาออกวันที่ 15 พฤษภาคมมีผล 1 มิถุนายน คือ 15 วัน หรือหนักกว่านั้นคือยื่นใบลาออกวันที่ 15 พฤษภาคมมีผลวันที่ 16 พฤษภาคม คือยื่นใบลาออกวันนี้มีผลวันพรุ่งนี้ แทนที่จะเป็นยื่นใบลาออกล่วงหน้า 3 เดือนตามระเบียบบริษัทที่เป็นข่าว

          คำตอบคือ “ได้ครับ” เพราะหลักของการลาออกคือเมื่อลูกจ้างระบุวันที่มีผลลาออกในวันไหนเมื่อถึงวันที่ระบุเอาไว้ก็มีผลได้ทันที ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาอนุมัติแต่อย่างใดทั้งสิ้น

            ถ้าจะถามว่าการยื่นใบลาออกไม่เป็นไปตามระเบียบของบริษัทผิดกฎหมายแรงงานไหม?

            ก็ตอบได้ว่าไม่ผิดครับ

          แต่ผิดระเบียบของบริษัท

            ดังนั้น การไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบของบริษัท แล้วทำให้เกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นบริษัทก็มีสิทธิฟ้องร้องโดยนำพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการที่พนักงานทำผิดระเบียบของบริษัทไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบครั้งนี้ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกี่บาทกี่สตางค์ และบริษัทต้องการจะให้พนักงานชดใช้ความเสียหายเท่าไหร่ก็ว่ากันไป

            ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและศาลว่าจะตัดสินออกมายังไง

            ต้องไม่ลืมว่าเมื่อพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบบริษัทจะต้องเกิดความเสียหายขึ้นจริง และบริษัทก็ต้องมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลท่านเชื่อได้ว่าเกิดความเสียหายขึ้นจริง

          แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อพนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบบริษัทแล้วจะต้องมาจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทเป็นหลักล้านบาทเหมือนเคสนี้ทุกครั้งนะครับ

            เพราะถ้าบริษัทไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่จะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อได้ โอกาสที่บริษัทจะชนะคดีแล้วพนักงานจะต้องมาจ่ายค่าเสียหายก็จะมีน้อยหรือไม่มีเลยครับ

            ที่ผมเล่ามานี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้พนักงานไม่ยื่นใบลาออกตามระเบียบบริษัทนะครับ เพียงแต่ไม่อยากให้ฝ่ายนายจ้างยกเอาเรื่องนี้มาขู่ฝ่ายลูกจ้าง และก็ไม่ได้สนับสนุนให้ลูกจ้างละเมิดฝ่าฝืนระเบียบกฎเกณฑ์ของบริษัทด้วยเช่นเดียวกัน

โดยอยากให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเข้าใจหลักการที่ถูกต้องตรงกัน ไม่ตีความแบบฉาบฉวยด้วยการอ่านแค่เพียงพาดหัวสื่อไม่ดูบริบทไม่ดูรายละเอียด   แล้วด่วนสรุปไปด้วยความเข้าใจแบบผิด ๆ แล้วบอกต่อ ๆ กันไปแบบผิด ๆ

ก็เท่านั้นแหละครับ