วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2568

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการสลับวันหยุดชดเชย

             ยังคงมีแนวคิดที่ว่า “บริษัทอื่นเขาก็ทำกันมายังงี้แหละทำกันมาตั้งนานใคร ๆ เขาก็ทำกัน” (จำคีย์เวิร์ดใครๆเขาก็ทำกันไว้นะครับ) ก็เลยยังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (แต่คิดเอาเองว่าถูก) กันต่อมา

เมื่อเกิดปัญหาร้องเรียนหรือฟ้องร้องค่อยมาถึงบางอ้อว่าสิ่งที่ทำมาโดยตลอดนั้นไม่ถูกต้อง

บริษัทแห่งหนึ่งทำธุรกิจประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็กโทรนิกส์มีวันทำงานจันทร์ถึงเสาร์  หยุดวันอาทิตย์ เวลาทำงาน 8.00-17.00 น. ไปทำข้อตกลงร่วมกับทางสหภาพแรงงานโดยประกาศวันหยุดประเพณีประจำปีคือนำวันเสาร์ที่ 12 เมษายนซึ่งปกติจะต้องเป็นวันทำงาน ไปแลกกับวันจันทร์ที่ 7 เมษายนซึ่งเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี (วันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรีตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของบริษัท)

ดังนั้น จากประกาศของบริษัทจึงให้พนักงานหยุดงานวันเสาร์ที่ 12 เมษายน โดยให้มาทำงานในวันจันทร์ที่ 7 เมษายนแทน ซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับจะไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะเป็นการสลับวันหยุดกันซึ่งบริษัทอื่นก็ทำกันอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ ไป เรียกว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน”

แต่....

บริษัทแห่งนี้มาเกิดปัญหาตรงที่บริษัทไปเลิกจ้างพนักงานคนหนึ่งเพราะพนักงานคนนี้มาทำงานในวันที่ 7 เมษายนแค่ครึ่งวันเช้า (8.00-12.00 น.) และขาดงานไปในครึ่งวันบ่าย

ลูกจ้างเลยนำเรื่องไปฟ้องศาลแรงงาน....

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “....งานที่ลูกจ้างทำ ไม่ต้องด้วยพรบ.คุ้มครองแรงงานฯมาตรา 29 วรรคท้าย และกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ที่จะตกลงเปลี่ยนวันหยุดตามประเพณีได้ นายจ้างจึงไม่อาจประกาศให้ลูกจ้างไปทำงานในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 เพื่อชดเชยในวันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2546 มีผลเท่ากับว่าวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2546 ยังเป็นวันหยุดชดเชยวันจักรี

การที่ลูกจ้างมาทำงานในวันที่ 7 เมษายน 2546 ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 นาฬิกานับว่าเป็นคุณแก่นายจ้างแล้ว ดังนั้น การที่ลูกจ้างไม่อยู่ทำงานระหว่าง 13.00-17.00 นาฬิกาจึงไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่หรือจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย” (ฎ.4321-4323/2548) 

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้นผมขอนำมาตรา 29 วรรคท้ายมาให้ดูเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นดังนี้ครับ

มาตรา 29 “....ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้”

ตรงนี้หมายความว่า หากนายจ้างไม่สามารถให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ นายจ้างก็สามารถสลับวันหยุดแบบกรณีที่เราคุยกันตามตัวอย่างข้างต้นก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าลักษณะงานนั้นต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 ด้วย (ตามที่ผมขีดเส้นใต้ไว้)  โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 4 บอกไว้ว่าลักษณะของงานที่จะสามารถสลับวันหยุดกันได้นั้นจะต้องมีลักษณะงานดังนี้ครับ

1.      งานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพ ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล และสถานบริการท่องเที่ยว

2.      งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน

แต่บริษัทนี้เป็นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอิเล็คโทรนิกส์จึงไม่ได้มีลักษณะงานเข้าข่ายสองข้อข้างต้นตามกฎกระทรวง

บริษัทจึงสลับวันหยุดไม่ได้เพราะขัดกับกฎหมายแรงงานครับ!!

ดังนั้น ประกาศในการสลับวันหยุดดังกล่าวของบริษัทจึงเป็นโมฆะนั่นเอง

เมื่อเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับว่าพนักงานคนนี้ไม่ได้ขาดงานครึ่งวันบ่ายของวันที่ 7 เมษายน เพราะในทางกฎหมายก็ยังถือว่าวันที่ 7 เมษายน เป็นวันหยุดชดเชยวันจักรีอยู่ และการที่พนักงานมาทำงานวันที่ 7 เมษายน (ที่เป็นวันหยุดชดเชย) ตั้งครึ่งวันเช้าก็ถือว่าเป็นคุณกับบริษัทด้วยซ้ำไป

จากกรณีนี้ ผมเชื่อว่าคงจะทำให้ท่านได้ข้อคิดเพื่อนำไปใช้เรื่องการประกาศสลับวันหยุดในครั้งต่อไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าถ้าธุรกิจของเราไม่ได้มีลักษณะงานเข้าข่ายตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 สองข้อข้างต้นล่ะก็ บริษัทจะสลับวันหยุด (หรือแลกวันหยุด) ไม่ได้

และเป็นอุทาหรณ์ด้วยว่า อะไรที่ทำตาม ๆ กันมาโดยบอกต่อ ๆ กันมาว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” นั้น บางครั้งก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ถ้าไม่ศึกษาหาข้อมูลให้ดีแล้วทำไปแบบผิด ๆ ผลลัพธ์ก็จะเป็นอย่างนี้แหละ

แล้ว HR ก็อาจจะโดนตำหนิจากฝ่ายบริหารว่าทำไมไม่บอก แต่ถ้า HR บอกแล้ว แต่ฝ่ายบริหารยังดื้อทำ HR ก็รอดตัวไปครับ

……………………..