วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568

ความลับในงาน HR รั่วที่ใคร?

             ผมเคยเขียนเรื่อง HR กับจรรยาบรรณในเรื่องความลับไปแล้ว ก็เลยอยากจะเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับเรื่องความลับในงาน HR เป็นตอนต่อจากคราวที่แล้วว่ามันรั่วได้ที่ใครหรือจุดไหนจะได้ระมัดระวัง

            เพราะความลับถ้าหลุดออกไปแล้วมันก็ไม่ใช่ความลับจริงไหมครับ

            ความลับในงาน HR มีอยู่หลายเรื่อง เช่น

1.      ในช่วงที่กำลังพิจารณาขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือจ่ายโบนัสหลายคนก็อยากจะรู้ว่าตัวเองและลูกน้องจะได้ขึ้นเงินเดือนหรือได้โบนัสเท่าไหร่ก็จะโทรมาถาม HR ก่อนที่จะมีการสรุปเพื่อแจ้งให้พนักงานทราบ

2.      อยากรู้ว่าตัวเองหรือลูกน้องจะได้เลื่อนตำแหน่งตามที่หัวหน้าเสนอไปหรือไม่

3.      อยากรู้ว่าผลการสอบสวนความผิดของลูกน้องตัวเองเป็นยังไงบ้าง จะถูกลงโทษหรือไม่ ขั้นไหน

4.      จะมีการปิดบางแผนกจริงไหม หรือใครบ้างจะถูกเลิกจ้าง

5.      การประชุมที่มีเรื่อง Off record เกี่ยวกับพฤติกรรมของพนักงานหรือผู้บริหารบางคนที่ผู้บริหารนำมาวิพากษ์วิจารณ์กันในที่ประชุมซึ่งไม่ควรจะนำออกมาภายนอกห้องประชุม

ฯลฯ

ความลับต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นจรรยาบรรณของคนทำงาน HR ไม่นำออกมาเม้าท์มาเล่าให้คนอื่นทราบก่อนกำหนด (เช่นผลการพิจารณาขึ้นเงินเดือนหรือผลการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง) หรือบางเรื่องก็ต้องเก็บเอาไว้ไม่เอามาพูดให้คนอื่นรู้ (เช่นการประชุม Off record)

แน่นอนว่าเมื่อไหร่ที่นายใหญ่ (CEO/MD) รู้ว่าข้อมูลเรื่องลับเหล่านี้รั่วไหลก็มักจะเพ่งโทษมาที่ HR ก่อนคนอื่นพร้อมกับคำถาม (แบบไม่ไว้ใจ) ว่า HR ทำไมไม่รักษาความลับ ทำไมถึงเอาเรื่องลับไปพูดต่อ

ก็เลยอยากจะตอบคำถามตามที่จั่วหัวเรื่องในวันนี้ว่ารั่วที่ใครได้บ้างตามนี้ครับ

1.      รั่วจากนายใหญ่ : หลายครั้งที่นายมัวแต่เพ่งโทษไปที่ HR หรือคนอื่นโดยลืมไปว่าเวลาที่นายขึ้นรถประจำตำแหน่งแล้วระหว่างทางมีคนที่นายสนิทสนมแล้วคิดว่าไว้ใจได้ว่าจะไม่เอาเรื่องไปพูดต่อโทรมาสอบถาม แกก็เผลอพูดบอกไปโดยลืมไปว่าคนขับรถก็ขับไปฟังไปอย่างเงียบ ๆ

2.      รั่วจากคนขับรถนาย : เมื่อคนขับรถรู้ก็มีโอกาสที่โลกจะรู้ด้วยจริงไหมครับ

3.      รั่วจากเลขานาย : เรื่องนี้ก็คล้ายกับข้อ 1 บางครั้งที่นายพูดโทรศัพท์อยู่ เลขาเข้ามาจัดเอกสารหรือกำลังอยู่ระหว่างนายเรียกมาสั่งงาน แล้วก็มีโทรศัพท์เข้ามาคุยกันเรื่องลับ ๆ นายก็เชื่อว่าเลขาคงไม่เอาไปเม้าท์ต่อ แต่เลขาบางคนที่เป็นประเภทฉันรู้โลกรู้ก็มี

4.      รั่วจาก HR : อันนี้ก็ต้องยอมรับว่ามีจริงปฏิเสธไม่ได้ ผมถึงต้องเขียนว่าเรื่องนี้เป็นจรรยาบรรณที่สำคัญของคนทำงาน HR ถ้าเป็นคนประเภทฉันรู้โลกรู้ ชอบเม้าท์กับเพื่อน ๆ ทำตัวเป็น Insider เพื่อให้เพื่อนเห็นว่าตัวเองเป็นคนวงในกำความลับไว้เยอะ ชอบให้คนมายกยอปอปั้นว่าเป็นคนแสนรู้ อย่างงี้คงไม่เหมาะกับการมาทำงาน HR แล้วล่ะครับ

5.      รั่วจากฝ่าย IT : เรื่องนี้ผมว่าหลายคนอาจเข็มขัดสั้น (คาดไม่ถึง) เพราะผมเคยทำงานในองค์กรแห่งหนึ่งที่มีคนในฝ่าย IT ที่ถูกเลิกจ้างเพราะความผิดร้ายแรง แอบมาแฮ็คข้อมูลเงินเดือนคนทั้งบริษัทออกไปจาก HR แล้วก็ปล่อยข้อมูลดังกล่าวกลับเข้ามาในบริษัทให้พนักงานทุกคนรู้ เรื่องนี้ผมเคยเขียนบทความเตือน HR ไว้แล้วว่ามีระบบความปลอดภัยด้าน Payroll ที่ดีแล้วหรือยังไปแล้วนะครับ

ที่เล่ามานี้แหละครับที่ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้ข้อมูลความลับด้าน HR รั่วไหลได้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องระวังป้องกันได้เช่น ข้อ 4 ข้อ 5 แต่ถ้าเป็นข้อ 1-3 นี่ HR ก็ต้องแน่ใจว่ามีหลักฐานชัดเจนพอที่จะ Feedback ให้นายทราบนะครับ และเป็นศิลปะเฉพาะตัวของ HR แต่ละคนที่จะ Feedback ยังไงให้เจ็บตัวน้อยที่สุด 5555

                              ............................