วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ถ้าหัวหน้าไม่ประเมินผลงานลูกน้องตามความเป็นจริงจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง?

            ปกติการประเมินผลการปฏิบัติงานมักจะมี 5 ระดับประเมินคือ A,B,C,D,E หรือถ้าเป็นตัวเลขคือ 5,4,3,2,1 โดยความหมายของแต่ละเกรดคือ

A หรือ 5 = ผลงานดีเยี่ยมหรือดีเลิศ

B หรือ 4 = ผลงานดี/น่าพอใจ

C หรือ 3 = ผลงานดีได้ตามมาตรฐาน/ได้ตามค่าเฉลี่ย

D หรือ 2 = ผลงานไม่ได้ตามมาตรฐาน/ควรปรับปรุง/ต้องมีการกำหนดระยะเวลาปรับปรุงตัว

E หรือ 1 = ผลงานต่ำกว่ามาตรฐานมาก/ใช้ไม่ได้/รับไม่ได้

ซึ่งเมื่อนำผลการปฏิบัติงานดังกล่าวไปโยงกับการขึ้นเงินเดือนประจำปีหรือการจ่ายโบนัสก็จะทำให้พนักงานที่ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานได้รับการขึ้นเงินเดือนมากหรือน้อยไปตามผลการประเมินข้างต้น ซึ่งในบางบริษัทจะไม่ขึ้นเงินเดือนประจำปีให้กับพนักงานที่ได้รับการประเมินผลงานในเกรด E หรือ 1 เนื่องจากถือว่าผลการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐานมากจนไม่ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือน

แต่..แม้ว่าหัวหน้าผู้ประเมินจะรู้หลักเกณฑ์การประเมินผลงานข้างต้นก็ยังมีหัวหน้างานที่ผมเจอมาอีกไม่น้อยที่ไม่กล้าประเมินผลงานลูกน้องให้เป็นไปตามความเป็นจริง (ไม่ว่าใช้วิธีการประเมินแบบจิตสัมผัสหรือ Rating Scale คือมีหัวข้อหรือปัจจัยการประเมินแบบสำเร็จรูป 10-20 ข้อแล้วประเมินผลตามหัวข้อนั้น ๆ หรือจะมีวิธีการประเมินโดยมีตัวชี้วัดแบบ KPIs ก็ตาม)

โดยหัวหน้าดังกล่าวก็จะประเมินผลงานลูกน้องให้ได้ C เป็นอย่างต่ำ แม้แต่ลูกน้องที่มีผลงานที่ย่ำแย่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะถูกประเมินในเกรด D หรือ E ก็ตาม (ถ้าเป็นการประเมินโดยมีตัววัดหรือ KPIs หัวหน้าบางคนก็มักจะกำหนด KPIs ให้กับลูกน้องของตัวเองแบบง่าย ๆ ชนิดหลับตาทำงานยังไงก็ได้ C)

ถ้าจะถามว่าทำไมหัวหน้าเหล่านี้ถึงไม่กล้าประเมินผลการทำงานของลูกน้องแบบตรงไปตรงมา ก็ตอบได้ว่าหัวหน้ากลัวลูกน้องจะไม่แฮ๊ปปี้ กลัวลูกน้องโกรธกลัวลูกน้องไม่พอใจครับก็เลยต้องทำตัวเป็นพ่อพระแม่พระเพื่อให้ลูกน้องไม่เสียความรู้สึก

เรามาดูกันไหมครับว่าผลจากการที่หัวหน้าไม่กล้าประเมินผลการปฏิบัติงานลูกน้องแบบตรงไปตรงมาจะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง

1.      ลูกน้องที่ทำงานดีทำงานได้ตามมาตรฐานจะเกิดความรู้สึกว่าหัวหน้าไม่เป็นธรรม และเริ่มคิดว่าเราจะรับผิดชอบงานให้มากมายไปทำไมในเมื่อเพื่อนเราทำงานแย่กว่าเราตั้งเยอะหัวหน้าก็ยังประเมินให้เกรด C เท่าเราเลย ก็จะทำให้ลูกน้องที่ทำงานได้ตามมาตรฐานเริ่มเฉื่อยงาน

2.      ลูกน้องที่ทำงานไม่ดีก็ยังคงรักษาระดับผลงานแย่ ๆ ต่อไป เพราะคิด (เข้าข้างตัวเอง) ว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็คงดีอยู่แล้วแหละ เพราะหัวหน้าเขายังให้เกรด C อยู่ เราก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนเท่า ๆ กับคนอื่นตามค่าเฉลี่ยนี่นา

3.      ลูกน้องที่มีผลการปฏิบัติงานดีในเกรด B และเกรด A ที่มีผลงานดีเยี่ยมเตรียมหางานใหม่ เพราะเริ่มเห็นความไม่เป็นธรรมของหัวหน้า และมองว่าตัวเองได้รับการขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าที่คาดหวัง

4.      ใช้งบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปีที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไม่เหมาะสม คือแทนที่จะจัดสรรให้กับคนที่มีผลการปฏิบัติงานดีในระดับมาตรฐานขึ้นไป กลับมาถูกแจกจ่ายให้กับคนที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานและคนที่ผลงานย่ำแย่ที่สุด ไม่เป็นไปตามระบบ Merit ที่ควรจะตอบแทนคนที่รับผิดชอบในการทำงานที่ดีกว่าตามหลัก Equal work equal pay หรือ Pay for performance กลายเป็น Equal work not equal pay หรือ Pay for poor performer เสียอีก อย่างนี้สมควรหรือไม่ต้องถามใจคนที่เป็นฝ่ายบริหารดูนะครับ

5.      บริษัทเสี่ยงถูกพนักงานฟ้องร้อง กรณีเลวร้ายสุดหรือ Worst Case Scenario ถ้าวันหนึ่งบริษัทไม่สามารถจะรับกับผลการทำงานของพนักงานที่แย่สุดได้ แม้บริษัทจะเลิกจ้างพนักงานดังกล่าวด้วยสาเหตุคือหย่อนสมรรถภาพมีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐาน และบริษัทก็จ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายแรงงานแล้วก็ตาม

ถ้าพนักงานไปฟ้องศาลแรงงานว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเรียกร้องขอค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลก็ต้องขอดูผลการประเมินที่ผ่านมาว่าเป็นยังไง พอบริษัทนำผลประเมินย้อนหลังไปให้ศาลดูก็จะเห็นว่าพนักงานคนนี้ได้รับการประเมินผลงานในเกรด C คือทำงานได้ตามมาตรฐานมาโดยตลอดท่านคิดดูสิครับว่าศาลท่านจะเห็นด้วยกับเหตุผลของบริษัทในการเลิกจ้างหรือไม่

ซึ่งค่าเสียหายนี่ก็แล้วแต่ว่าพนักงานที่ไปฟ้องจะเรียกร้องมากแค่ไหนและศาลท่านจะพิจารณาว่าควรจะจ่ายให้พนักงานหรือไม่และจ่ายให้มากน้อยแค่ไหน

เห็นไหมครับว่าการที่หัวหน้าไม่ประเมินผลการปฎิบัติงานลูกน้องแบบตรงไปตรงมาแต่ใช้วิธีประเมินแบบถนอมน้ำใจบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น สุดท้ายอาจจะทำให้บริษัทต้องมาแพ้คดีและจ่ายค่าเสียหายได้อีกในภายหลัง

ฝากไว้เป็นข้อคิดนะครับ

                                                             …………………………..

ฟังพ็อดแคสต์คลิ๊ก