วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Crossing the Rubicon – เดินหน้าไปไม่คิดถอยกลับ

             เมื่อ 52 ปีก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นกงสุลแห่งโรมซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการทหารและการเมืองสูงสุดของโรมันคู่กับปอมปีย์ (Pompeius Magnus) ที่ก็เป็นกงสุลเหมือนกันและต่างฝ่ายต่างก็หวังจะชิงความมีอำนาจสูงสุดด้วยกันทั้งคู่ เปรียบไปก็เหมือนเสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกัน

            ซีซาร์นำกองทัพโรมันอันเกรียงไกร 60,000 นายไปรบกับพวกกอล (Gaul) ซึ่งมีที่มั่นอยู่ที่เมืองอลิเชีย (Alesia) ปัจจุบันอยู่ทางตอนเหนือของอิตาลี การสู้รบครั้งนี้ดุเดือดรุนแรงแต่ด้วยการวางแผนการรบที่เข้าขั้นอัจฉริยะของซีซาร์จึงทำให้สามารถพิชิตพวกกอลได้ในที่สุดแถมยังขยายดินแดนข้ามไปถึงเกาะบริเตนคือประเทศอังกฤษในปัจจุบัน

            เรียกว่าชีซาร์ได้รับความนิยมชื่นชอบจากประชาชนชาวโรมันมากชื่อเสียงของซีซาร์ขจรขจายไปถึงกรุงโรมที่ปอมปีย์รักษาการผู้นำอยู่ในขณะนั้น

            ซีซาร์จึงถูกปอมปีย์สกัดดาวรุ่งด้วยการกล่าวหาเขาต่อสภาสูง (Senate) ในโรมว่าเขาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและออกคำสั่งให้ซีซาร์กลับกรุงโรมเพื่อมาแก้คดีความ

            คุ้น ๆ ไหมครับกับการเมืองทำนองนี้ที่มีมากว่าสองพันปีจนกระทั่งถึงยุคนี้ก็ยังมีการกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีทำนองนี้อยู่เหมือนเดิม

            ซีซาร์รู้ตัวดีว่าตัวเองถูกเล่นงานแน่นอน ถ้ากลับเข้ากรุงโรมตามคำสั่งก็มีหวังติดคุกหัวโตหรือเผลอ ๆ อาจถูกประหารชีวิตเพราะปอมปีย์แกล็อบบี้สภาสูงเอาไว้หมดแล้ว

            ซีซาร์ก็เดินทัพมาถึงริมฝั่งแม่น้ำรูบิคอนซึ่งเป็นแม่น้ำตื้นสายเล็ก ๆ ก่อนจะเข้ากรุงโรม มีกฎหมายของโรมันว่าห้ามนำกองทัพข้ามแม่น้ำรูบิคอนเข้ากรุงโรม

ถ้าใครทำเช่นนั้นจะถือว่าเป็นกบฎ!

            ตรงนี้แหละครับที่ซีซาร์ตัดสินใจนำทัพข้ามแม่น้ำรูบิคอนแห่งนี้แล้วบุกเข้ายึดกรุงโรม ในขณะที่เมื่อปอมปีย์ทราบข่าวการเดินทัพข้ามแม่น้ำรูบิคอนของซีซาร์ แกก็หนีตายออกจากโรมไปตั้งหลักที่ประเทศกรีกเพราะทหารของซีซาร์เป็นทหารที่ชำนาญการศึกเป็นที่น่าเกรงขามสุด ๆ แล้วในยุคนั้น

          จากเหตุการณ์ครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของสำนวนคำว่า “Crossing the Rubicon” ที่หมายถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญ ๆ ที่เด็ดขาดแบบเดินหน้าไปไม่คิดถอยหลังกลับและต้องพร้อมรับกับผลทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา

            เชื่อว่าหลายท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็คงเคยผ่านสถานการณ์ที่เป็น Crossing the Rubicon กันมาบ้างใช่ไหมครับ

            ข้อคิดในเรื่องนี้คือก่อนที่จะตัดสินใจข้ามแม่น้ำรูบิคอนคือไม่ควรตัดสินใจในตอนที่เราขาดสติ กำลังเซ็ง กำลังท้อ กำลังเศร้า หรือกำลังโกรธ หรือตัดสินใจในขณะที่สุขภาพจิตเราไม่ปกติ

            เพราะการตัดสินใจนี้อาจเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาลก็เป็นได้

                                                            ……………………………….