วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อะไรคือค่าจ้างอะไรคือสวัสดิการ?


            เมื่อไหร่ที่จั่วหัวมาแบบนี้รับรองได้ว่าจะเป็นประเด็นเรียกแขกได้ทุกที เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ผมยกตัวอย่างเช่น บริษัทจ้างวิศวกรเข้ามาที่เงินเดือน 25,000 บาท และมี “ค่าวิชาชีพ” เนื่องจากวิศวกรต้องใช้วิชาชีพด้านวิศวกรรมอีกเดือนละ 3,000 บาท

ตกลงว่า “ค่าจ้าง” ของวิศวกรคนนี้เป็นเท่าไหร่ครับ 25,000 บาท หรือ 28,000 บาท?

ที่ต้องมาเคลียร์กันตรงนี้ให้ดีว่าถ้าหากวิศวกรคนนี้ทำงานล่วงเวลา ฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาควรจะเป็น 25,000 บาท หรือ 28,000 บาท ถ้าใช้ฐานคำนวณไม่ถูกต้องแล้ววิศวกรคนนี้ไปร้องเรียนแรงงานเขตพื้นที่ หรือไปฟ้องศาลแรงงานว่าบริษัทใช้ฐานคำนวณการจ่ายค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องก็จะทำให้บริษัทแพ้คดีแล้วต้องมาจ่ายเงินย้อนหลังแถมเสียชื่อเสียงอีกต่างหาก

เพราะในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “เงินเดือน” มีแต่คำว่า “ค่าจ้าง” น่ะสิครับ !

เราถึงต้องมาดูนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ตามมาตรา 5 ของกฎหมายแรงงานดังนี้

ค่าจ้าง  หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้

เมื่อดูจากนิยามข้างต้นค่าจ้างก็คือเงินที่เป็นค่าตอบแทนการทำงานที่จ่ายให้ลูกจ้างในเวลาทำงานปกติครับ ถ้ามีเงินใดที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเข้าข่ายนี้ก็เป็นค่าจ้างครับ

หรือค่าล่วงเวลาก็ไม่ถือเป็นค่าจ้างครับเนื่องจากเป็นค่าตอบแทนการทำงานที่จ่ายนอกระยะเวลาเวลาทำงานปกติ

ตัวอย่างของวิศวกรที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้น ถ้าท่านเข้าใจคำนิยามของคำว่า “ค่าจ้าง” ดีแล้ว ท่านจะตอบได้เลยนะครับว่าตกลงค่าจ้างของวิศวกรคนนี้คือเท่าไหร่กันแน่
ผมให้เวลาท่านลองคิดดูก่อนนะครับ....ติ๊กต่อก..ติ๊กต่อก...

คำตอบคือ ค่าจ้างของวิศวกรคนนี้คือ 28,000 บาทครับ เพราะว่าค่าวิชาชีพ 3,000 บาท ถือว่าเป็นค่าจ้างด้วยเนื่องจากเป็นค่าตอบแทนการทำงานในตำแหน่งวิศวกรที่จำเป็นต้องใช้วิชาชีพวิศวกรรมในการทำงาน ถ้าหากเป็นตำแหน่งงานอื่นที่ไม่ต้องใช้วิชาชีพด้านวิศวกรรม บริษัทก็ไม่ได้จ่ายค่าวิชาชีพให้นี่ครับ

จากตัวอย่างข้างต้นผมเชื่อว่าหลายบริษัทยังคงใช้ 25,000 บาทเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลาอยู่เลยใช่ไหมครับ?

จึงสรุปเรื่องค่าจ้างได้ตรงนี้ว่าเงินเดือนเป็นค่าจ้าง แต่ค่าจ้างไม่ได้มีเฉพาะเงินเดือน!!

เงินอื่นที่เข้าข่ายค่าจ้างตามมาตรา 5 เช่น ค่าครองชีพ, ค่าภาษา, ค่าวิชาชีพ, ค่าตำแหน่ง, เงินที่จ่ายเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่มีเงื่อนไข, ค่าคอมมิชชั่นที่จ่ายให้โดยคิดจากเปอร์เซ็นต์ของยอดขายเพื่อตอบแทนการทำงาน, ค่าน้ำมันรถที่จ่ายให้เป็นประจำทุกเดือนโดยไม่มีเจตนาให้เป็นสวัสดิการ เป็นต้น

สำหรับเงินอื่นที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างนอกเหนือจากที่ผมบอกไปข้างต้นก็ต้องมาดูข้อมูลรายละเอียดอื่นประกอบกันอีกทีนะครับว่าอะไรเข้าข่ายค่าจ้างตามมาตรา 5 หรือไม่

ถ้าจะถามว่าสวัสดิการถือเป็นค่าจ้างหรือไม่?

ตอบได้ว่าตามกฎหมายแรงงานถือว่าสวัสดิการไม่ใช่ค่าจ้างครับเพราะไม่ใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน แต่จ่ายให้ลูกจ้างเพื่อช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้าง

ที่สำคัญคือ “ค่าจ้าง” จะใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอีกหลายเรื่อง เช่น ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด, ค่าล่วงเวลาในวันหยุด, ค่าชดเชย, ค่าชดเชยพิเศษ, ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นต้น

ส่วนเงินที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างโดยมีระเบียบสวัสดิการและการปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น สวัสดิการค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน, ค่าเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพของลูกจ้าง, เงินช่วยเหลือค่าน้ำประปา, ค่าไฟฟ้า, เงินช่วยเหลือคลอดบุตร ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านสวัสดิการความเป็นอยู่ของลูกจ้างและมีการปฏิบัติที่เป็นการให้สวัสดิการจริง ๆ อย่างนี้แล้วก็ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

มาถึงตรงนี้ท่านคงจะเข้าใจชัดเจนมากขึ้นแล้วนะครับว่าอะไรคือสวัสดิการและอะไรคือค่าจ้าง

อ้อ..แล้วก็อย่าลืมใช้ "ค่าจ้าง" เป็นฐานในการคำนวณในเรื่องต่าง ๆ ให้ถูกต้องจะได้ไม่มีปัญหาในอนาคตนะครับ

………………………..