วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การบริหารงานบุคคลในภาวะวิกฤต

            ในวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ที่เราเจอกันอยู่นี้ไม่ได้มีเพียงความเสียหายจากวิกฤตให้เราเห็นเพียงด้านเดียวนะครับ แต่สำหรับผมแล้วผมได้ข้อคิดอะไรบางอย่างจากวิกฤตในครั้งนี้ที่มาเกี่ยวข้องกับวิชาชีพในงานด้านบริหารทรัพยากรบุคคลดังนี้ครับ

1.      ภาวะผู้นำในภาวะวิกฤต

เมื่อเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นทุกสายตาจะต้องหันมาจับจ้องมองผู้นำว่าจะแก้ปัญหาและตัดสินใจในวิกฤตนั้น ๆ อย่างไร ถ้าผู้นำมีการแก้ปัญหาและตัดสินใจที่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่ (ไม่ต้องตัดสินใจให้ถูกทุกครั้งหรอกนะครับ แต่ขอให้ตัดสินใจถูกเป็นส่วนใหญ่ก็ดีถมเถแล้ว) ก็จะทำให้เกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่น หรือศรัทธาจากคนรอบข้าง แต่ถ้าตัดสินใจผิดมากกว่าถูกก็จะเกิดปรากฎการณ์ตรงกันข้าม จึงเป็นข้อคิดสำหรับผู้นำในทุกระดับนะครับว่าในช่วงวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ผู้บริหารของแต่ละองค์กรตัดสินใจอย่างไรกับพนักงานในองค์กรของท่าน และท่านตัดสินใจได้อย่างถูกต้องมากกว่าผิดพลาดหรือไม่ ผมขอให้ผู้นำองค์กรของท่านตัดสินใจได้อย่างถูกต้องในวิกฤตครั้งนี้นะครับ

          จากวิกฤตครั้งนี้ผมเห็นบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งที่ฝ่ายบริหารมีภาวะผู้นำที่ชัดเจนและน่าชมเชย เช่น ฝ่ายบริหารของบริษัทหลายแห่งออกมาประกาศอย่างชัดเจนว่า “จะไม่มีการปลดพนักงานออกอย่างเด็ดขาด และบริษัทยังคงจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติแม้พนักงานจะหยุดงานไปบ้างในระหว่างเกิดเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้”

            คงไม่ต้องอธิบายให้มากความเลยนะครับว่าภาวะผู้นำแบบนี้จะทำให้คนทั้งหลายมีความรู้สึกอย่างไรกับองค์กรเหล่านี้ ถ้าใครได้ทำงานเป็นพนักงานในองค์กรเช่นว่านี้ผมว่าท่านน่าจะต้องหาทางตอบแทนบุญคุณขององค์กรให้ดียิ่งขึ้นเพื่อให้องค์กรของท่านเจริญก้าวหน้าไปในอนาคตด้วยเช่นเดียวกัน

            คนไทยเราถือเรื่องความกตัญญูรู้คุณนะครับ คนกตัญญูรู้คุณคนชีวิตไม่มีตกต่ำหรอกครับ

2.      การแก้ปัญหาและตัดสินใจต้องมาจากข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีเหตุผลและอย่างเป็นระบบ

ข้อนี้แหละครับเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเสริมภาวะผู้นำในข้อ 1 ให้โดดเด่นและเป็นที่ศรัทธาเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน มีคำพูดหนึ่งที่ผมเคยได้ยินจากที่ไหนสักแห่งหนึ่งว่า “ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสาร ถ้าใครมีข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ชัดเจนถูกต้องคนนั้นจะได้เปรียบในการแข่งขัน”

            ซึ่งปัญหาของการแก้ปัญหาและตัดสินใจของผู้นำบางคนที่มักจะเป็นไปตามอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลน่ะสิครับ ว่าไปแล้วเรายังขาดในเรื่องของการรับฟังหรือรับทราบข้อมูลอย่างรอบด้าน การกรองข้อมูลโดยหลักกาลามสูตร (ถ้าสนใจก็ไป Search ดูในกูเกิ้ลนะครับจะได้ไม่ต้องเปลืองกระดาษเพื่ออธิบาย)

คือไม่ใช่เป็นผู้นำที่หูเบาใครบอกอะไรมาก็อยู่บางซื่อ คือเชื่อเขาง่ายไปเสียทุกเรื่องโดยขาดการไตร่ตรองด้วยเหตุผล และสติปัญญาของตนเองให้ดีเสียก่อน

เมื่อมีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องแล้วก็ยังต้องรู้จักการคิดเชิงวิเคราะห์ และคิดอย่างเป็นระบบ (Analytical & System Thinking) เพื่อช่วยให้การแก้ปัญหาและตัดสินใจมีความแม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ผมยกตัวอย่างเช่น สมมุติบริษัทแห่งหนึ่งอยู่ที่แถว ๆ ถนนรามคำแหงแต่ยังไม่ถูกน้ำท่วม ผู้บริหารได้ยินข่าวจากทางการมาเป็นอาทิตย์แล้วเรื่องน้ำท่วมมาจากทางเหนือของกรุงเทพฯ เริ่มมีข้อมูลจากฝ่าย HR ว่ามีพนักงานมาทำงานสายเพิ่มมากขึ้น ผู้บริหารก็เลยสั่งการให้ผู้จัดการฝ่ายเข้มงวดกวดขันการมาทำงานของพนักงานไม่ให้มาสาย และให้ดำเนินการตามระเบียบของบริษัทกับพนักงานที่ขาดงานหรือมาทำงานสาย โดยเฉพาะพนักงานทดลองงานที่ขาดงานก็จะพิจารณาไม่บรรจุเป็นพนักงานประจำ

 ในทางกลับกัน สมมุติว่าถ้าผู้บริหารมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าพนักงานของบริษัทอยู่ในเขตน้ำท่วมเป็นส่วนใหญ่ แล้วนำมาวิเคราะห์ต่อว่าแม้ตัวบริษัทยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่พนักงานส่วนใหญ่บ้านกำลังจมน้ำทำให้ต้องมัวพะวงกับการอพยพพ่อแม่พี่น้องลูกหลานให้พ้นภัยน้ำท่วม ก็เลยมาทำงานสายหรือขาดงานกันมากในระยะนี้ บริษัทจะหามาตรการในการช่วยเหลือพนักงานยังไงบ้าง โดยคิดอย่างเป็นระบบต่อไปว่าการช่วยเหลืออาจจะทำได้เช่น

-          ไปเช่าที่พักชั่วคราวให้พนักงาน (พร้อมครอบครัว) อพยพมาอยู่จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ในระหว่างนี้ หรือ

-          บริษัทจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเช่าบ้านชั่วคราวสำหรับพนักงานที่ประสบภัยน้ำท่วมบ้านเพื่อจะได้อพยพครอบครัวหนีน้ำไปพักอาศัยในระหว่างนี้ หรือ

-          ให้พนักงานหยุดเป็นกรณีพิเศษ (โดยผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริง) สำหรับพนักงานที่ถูกน้ำท่วมเพื่อให้เขาจัดการกับปัญหาทางบ้านให้เรียบร้อยแล้วค่อยมาทำงานโดยว่ากันเป็นกรณี ๆ ไปโดยบริษัทยังจ่ายค่าจ้างเต็ม

จากตัวอย่างข้างต้นผมเชื่อว่าท่านคงจะเห็นความแตกต่างระหว่างการตัดสินใจโดยมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน วิเคราะห์และคิดอย่างเป็นระบบด้วยเหตุและผล กับ การตัดสินใจแบบใช้ความรู้สึกว่าถ้าบริษัทน้ำไม่ท่วมพนักงานก็ต้องมาทำงานตามกฎระเบียบ แบบไหนจะทำให้คนรอบข้างชื่นชม ศรัทธามากกว่ากัน

3.      “ให้” ก่อนถูก “เรียกร้อง” จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นบุญคุณมากกว่า

หลายองค์กรอีกเช่นเดียวกันที่มีผู้นำองค์กรออกมาประกาศว่าจะจ่ายโบนัสปีนี้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิมที่เคยจ่ายในเดือนธันวาคม โดยจะเลื่อนมาจ่ายให้ในเดือนพฤศจิกายน เพราะเข้าใจดีว่าพนักงานมีความเดือดร้อนจากวิกฤตในครั้งนี้มากแค่ไหน

            ท่านลองคิดดูสิครับว่าองค์กรเหล่านี้ไม่ได้จ่ายโบนัสเป็นเม็ดเงินที่มากขึ้นกว่าเดิมเลย ยังคงจ่ายเท่าเดิม แต่มีคุณค่าในความรู้สึกของพนักงานขึ้นมาทันที

            ต้องขอชมเชยผู้นำองค์กรเหล่านี้ที่ “เข้าใจ” และสามารถปรับกระบวนการต่าง ๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้ “ระบบ” เข้ามาครอบการตัดสินใจที่ถูกต้อง และถูกเวลา

            อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นผู้เขียนกฎระเบียบ หรือระบบขึ้นมา แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้เช่นเดียวกัน ไม่ควรที่จะเขียนระบบขึ้นมาแล้วก็เป็นทาสของระบบไปโดยไม่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

......................................................